คอลัมน์ สุวรรณภูมิในอาเซียน : ลาวเวียง บ้านหนองแขม ต.ท่าแค อ.เมืองฯ จ.ลพบุรี

ลาวเวียง เป็นกลุ่มคนลาวกลุ่มหนึ่งจากหลายๆ กลุ่ม เช่น ลาวพวน ลาวโซ่ง ไทยเบิ้ง ที่อพยพโยกย้ายถิ่นฐานมาจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เข้ามาพึ่งบรมโพธิสมภารพระเจ้าแผ่นดินสยาม ตั้งแต่สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ราวปี พ.ศ. 2322 เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (ร.1) ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระยา มหากษัตริย์ศึก และเจ้าพระยาสุรสีห์ยกทัพไปตีหัวเมืองล้านช้าง อันได้แก่ เมืองหลวงพระบาง เมืองเวียงจันทน์ และเมืองจำปาศักดิ์ แล้วได้กวาดต้อนชาวลาวทั้งสามเมืองมาด้วยจำนวนมาก

พระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดให้นำชาวลาวไปตั้งบ้านเรือนอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ ที่มีพลเมืองอยู่น้อย เช่น สระบุรี, ราชบุรี, จันทบุรี, สุพรรณบุรี, การญจนบุรี, สิงห์บุรี และลพบุรี

ลาวเวียงจันทน์

เมื่อครั้งเกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์ ช่วงปี พ.ศ. 2361-2370 ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.3) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ยกทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์ และหัวเมืองใกล้เคียง พร้อมกับกวาดต้อนชาวลาวลงมาตั้งถิ่นฐานอยู่หัวเมืองชั้นในเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นการเคลื่อนย้ายชาวลาวครั้งใหญ่

ชาวลาวเวียง ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณภาคกลางประเทศไทยหลายจังหวัด ได้แก่ สระบุรี, ลพบุรี, สิงห์บุรี และนครสวรรค์

Advertisement

ในจังหวัดลพบุรี มีลาวเวียงตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยกระจัดการะจายใน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเมืองเมืองลพบุรี อำเภอบ้านหมี่ และอำเภอโคกสำโรง

อำเภอบ้านหมี่ ได้แก่ ลาวเวียงบ้านหนองทรายขาว บ้านลาด บ้านโคกสุข บ้านโคก บ้านสระตาแวว บ้านคลอง บ้านหนองเมือง บ้านห้วยกรวด และบ้านนาจาน

อำเภอโคกสำโรง ได้แก่ ลาวเวียงบ้านวังจั่น บ้านห้วยวัวตาย บ้านสระพรานนาค บ้านสระพรานจันทร์ บ้านสระพานขาว บ้านห้วยโป่ง บ้านหนองจับเขียด บ้านหนองงิ้ว และบ้านหนองแขม

Advertisement

อำเภอเมืองลพบุรี ได้แก่ ลาวเวียงบ้านท่าแค บ้านหนองแขม บ้านหนองบัวขาว บ้านโนนหัวช้าง บ้านดอนประดู่ บ้านเขาพระงาม บ้านดงสวอง บ้านหนองบัวขาว บ้านสระมะเกลือ และบ้านโคกลำพาน

ทางเข้าบ้านหนองแขม ม.1-ม.2
คุณยายแสง สุขคุ้ม อายุ 97 ปี/62 และใบลานที่จารอักษรไทยน้อย ปัจจุบันหอจดหมายเหตุแห่งชาติกำลังอ่าน/แปล

ลาวเวียง บ้านหนองแขม

ชาวลาวเวียงบ้านหนองแขม (ชื่อเดิมบ้านท่าแค หมู่ 1 และหมู่ 2) จะเรียกตนเองว่า “ลาวเวียง”

คุณยายแสง สุขคุ้ม อายุ 96 ปี (ณ ปี พ.ศ.2560) เป็นผู้อาวุโสสูงสุดคนหนึ่งในหมู่บ้านที่ยังมีชีวิตอาศัยอยู่บ้านหนองแขมตั้งแต่เกิด และอ่านอักษรไทยโบราณ (ไทยน้อย) ที่จารลงในใบลานได้เพียงคนเดียวในหมู่บ้าน ได้รับคำบอกเล่าจากบรรพบุรุษรุ่นสู่รุ่น ว่า

ลาวเวียงบ้านหนองแขมสืบเชื้อสายจากลาวเวียงที่มาจากเมืองเวียงจันทน์ ประเทศลาว เดิมรวมกลุ่มสร้างบ้านเรือนอยู่บริเวณเนินบ้านท่าแค ซึ่งเป็นที่สูงเหมาะแก่การสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยและมีแหล่งน้ำอยู่ใกล้ (หนองอิสาป) ในพื้นที่มีต้นแคทราย (แคป่า) ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก จึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านท่าแค”

เมื่อถึงฤดูน้ำหลากชาวบ้านละแวกใกล้เคียงจะใช้เนินท่าแคเป็นท่าเรือสัญจรไปมาหาสู่กัน (เมื่อก่อนยังไม่มีระบบชลประทาน)

ต่อมาเมื่อประชากรและบ้านเรือนเพิ่มขึ้น ชาวลาวเวียงบ้านท่าแคบางส่วนได้พากันอพยพครอบครัวไปตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยแห่งใหม่ ซึ่งมีลักษณะพื้นที่เนินอยู่ทางทิศตะวันออก ห่างจากหมู่บ้านเดิมประมาณ 1.5 กิโลเมตร มี หนองแขม เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติเหมาะสำหรับใช้บริโภคและเลี้ยงสัตว์อยู่ใกล้ และยังเรียกชื่อหมู่บ้านเช่นเดิม

เมื่อปี พ.ศ. 2454 ทางราชการจัดระบบการปกครองขึ้นใหม่เป็นหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด จึงกำหนดให้บ้านท่าแค เป็นบ้านท่าแค หมู่ 1 และหมู่ 2 ขึ้นการปกครองกับตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี

โดยมีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าคนบ้านท่าแคเป็นชนชาติลาวเวียง เช่น

ฉโนฎเลขที่ 809 ออกให้กับ หมื่นศรีทา นางผม เป็นคนชาติลาว (พ่อ-แม่ นาย เหมนหม้าชาย) คนในบังคับสยาม สังกัดกรมช้าง ตั้งบ้านเรือนอยู่ตำบลท่าแค ที่ 1 อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ทำนาทุ่งหนองแขม ณ ศักราช 1245

ต่อมายกเลิกระบบทาส หมื่นศรีทา เปลี่ยนชื่อเป็น “นายทา” ต้นสกุล “สุขศรี” ชาวไทยลาวเวียง บ้านหนองแขม หมู่ที่ 2 ในปัจจุบัน

เดือน 3 ทำบุญข้าวหลาม
เดือน 6 บวงสรวงศาลปู่เทพ-แม่สไบแพร แล้วทำบุญกลางบ้าน

วัดหนองแขม

เมื่อหมู่บ้านลาวเวียงบ้านหนองแขม (ท่าแค หมู่ 1, หมู่ 2) มั่นคงเป็นปึกแผ่นดีแล้ว ชาวบ้านได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างวัดหนองแขม เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจ โดยมีพระอาจารย์ชม เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก ได้รับพระราชวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2420

ชาวไทยลาวเวียงบ้านหนองแขมร่วมกันบริจาคทรัพย์ และร่วมแรงขนหินจากเขาดิน (ที่ตั้ง พล.ป. ในปัจจุบัน) มาสร้างอุโบสถ แล้วเสร็จประมาณ พ.ศ. 2458

พร้อมกับขุดบ่อน้ำบาดาลไว้ใช้บริโภคและอุปโภค 3 บ่อ อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือห่างจากโบสถ์ 50-80 เมตร หนึ่งบ่อ อยู่ทางบริเวณกลุ่มบ้านใต้ และกลุ่มบ้านกลางทางทิศตะวันตกเฉียงใต้โบสถ์ หนึ่งบ่อ และอยู่บริเวณกลุ่มบ้านต้นโพธิ์อยู่ทางทิศเหนือห่างโบสถ์ประมาณ 50 เมตร หนึ่งบ่อ

ถูกเวนคืนพื้นที่

ต่อมา พ.ศ. 2475 คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง และปี พ.ศ. 2479 พล.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา ออกพระราชบัญญัติเขตหวงห้ามอันเป็นที่ดินของรัฐฯ ในพื้นที่อำเภอเมืองลพบุรี อำเภอโคกสำโรง อำเภอบ้านเช่า (บ้านหมี่) จังหวัดลพบุรี และอำเภอปากเพรียว อำเภอหนองโดน และอำเภอชัยบาดาล จังหวัดสระบุรี

พ.ศ. 2481 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ออกพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ในท้องที่อำเภอเมืองลพบุรี เมื่อ 1 ตุลาคม 2481

จากพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับ ส่งผลกระทบต่อชาวลาวบ้านหนองแขม (ท่าแค หมู่ 1, หมู่ 2 เดิม) เป็นอย่างมาก เนื่องจากพื้นที่หมู่บ้านทั้งหมดประมาณ 273-0-17 ไร่ อยู่ในเขตประกาศพระราชบัญญัติที่สงวนหวงห้ามฯ พ.ศ. 2479 และเวนคืน พ.ศ. 2481 เพราะทางราชการต้องการพื้นที่สำหรับตั้งหน่วยทหาร (ร.31 พัน 2 รอ.)

เมื่อกฎหมายกำหนดมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ผู้นำหมู่บ้านในครั้งนั้น ได้นำพาลูกบ้านอพยพครอบครัวออกจากที่อยู่อาศัยเดิม มาสร้างบ้านเรือนใหม่ทางทิศเหนือของหมู่บ้าน ซึ่งก็เป็นพื้นที่เรือกสวนไร่นาที่ชาวลาวเวียงบ้านหนองแขมใช้ทำมาหากินสืบต่อจากบรรพบุรุษ

ปัจจุบันคือที่ตั้งบ้านหนองแขม หมู่ที่ 1 ประกอบด้วย กลุ่มต้นโพธิ์ กลุ่มต้นงิ้ว กลุ่มกลาง กลุ่มท้ายบ้าน และหมู่ที่ 2 ได้แก่ กลุ่มใต้ กลุ่มท่าแคน้อย กลุ่มเขาดิน กลุ่มคลองมะขามเทศ

วัดหนองแขมทรงธรรม
ศาลปู่เทพมงคลและศาลแม่สไบแพร ในวัดหนองแขมทรงธรรม

ย้ายวัด

ถึงแม้ว่าชาวบ้านเริ่มอพยพราวปี 2481 แล้วก็ตาม แต่วัดหนองแขมยังคงตั้งอยู่ที่เดิมมิได้ย้ายตามมาด้วย และชาวบ้านยังคงเข้าไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเช่นที่ผ่านมา

ต่อมาเมื่อ 17 ธันวาคม 2486 วัดหนองแขมได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นธรณีสงฆ์จำนวน 8,700 ตารางเมตรให้กับกระทรวงกลาโหม และโรงเรียนบ้านหนองแขมได้ย้ายออกมาอยู่ที่ตั้งปัจจุบันเมื่อ พ.ศ. 2491 และ พ.ศ. 2496 วัดจึงได้ย้ายจากที่เดิมมาอยู่ทางทิศเหนือตรงข้ามโบสถ์หลังเก่าปัจจุบันคือ วัดหนองแขมทรงธรรม

ปัจจุบันไทยลาวเวียงบ้านหนองแขม หมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 2 สำรวจปี 2560 มีประชากรรวม 5,096 คน ครัวเรือน 2,053 ครัวเรือน

บ้านท่าแค
สถานีรถไฟท่าแค
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image