ย่ำร่องสวน ย้อนกาลเวลา ณ คุ้งลิ้นจี่ หลงเสน่ห์มหรสพโบราณ วัดแก้วไพฑูรย์

มหรสพอันงดงามเนื่องในงานวัดย้อนยุค วัดแก้วไพฑูรย์ เสน่ห์จอมทอง-บางขุนเทียน เมื่อเร็วๆ นี้

ยังคงเป็นพื้นที่เปี่ยมเสน่ห์ไม่เสื่อมคลาย สำหรับเรือกสวนเขียวขจีย่านบางขุนเทียนซึ่งเป็นที่ตั้งของ คุ้งลิ้นจี่ แหล่งเพาะปลูกลิ้นจี่โบราณอันมีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ กระทั่งได้รับการขึ้นทะเบียนจีไอ หรือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ไม่เพียงเท่านั้น ยังได้รับเลือกเป็น “รุกข มรดกแผ่นดินปี 2560” อีกด้วย

บ่ายวันหนึ่ง บรรยากาศเงียบสงบในย่านดังกล่าวถูกแทนที่ด้วยความคึกคัก เมื่อ วีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) และคณะ พร้อมด้วยศาสตราจารย์เกียรติคุณ คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ อดีตรัฐมนตรีว่าการ วธ. เดินทางไปเยี่ยมเยือนถึงร่องสวน เพื่อเปิดกิจกรรม “วัฒนธรรมสู่การท่องเที่ยวต้นไม้ใหญ่ รุกข มรดกของแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี สวนลิ้นจี่โบราณ”

เริ่มต้นอย่างเป็นมงคลด้วยการเข้ากราบนมัสการ พระมหาโพธิวงศาจารย์ เจ้าอาวาสวัดราชโอรสารามฯ เพื่อมอบหนังสือ “รุกข มรดกของแผ่นดิน” จากนั้นลงเรือหางยาว มุ่งสู่ ภูมิใจการ์เด้น สวนอนุรักษ์พันธุ์ลิ้นจี่โบราณซึ่งฟูมฟักโดย พรทิพย์ เทียนทรัพย์ เจ้าของสวนผู้เป็นชาวบางขุนเทียนโดยกำเนิด

พื้นที่สวนแห่งนี้มีประวัติความเป็นมายาวนานย้อนไปถึง พ.ศ.2424 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ลิ้นจี่บางขุนเทียนปลูกด้วยเมล็ด จึงแข็งแรง มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ เมล็ดเล็ก รสหวาน ไม่มีรสฝาดเจือ ชอบอากาศหนาว เก็บผลผลิตระหว่างเดือนมีนาคมถึงเมษายน ใช้พะองไม้ไผ่ปีนเก็บ ขายเป็นลูก ไม่ชั่งกิโล ต้นที่เก่าแก่ที่สุดสูงถึง 20 เมตร มีภูมิปัญญาชาวบ้านคือ ตะขาบ ทำจากไม้ไผ่ สำหรับกระตุกหรือชักให้เกิดเสียงดังเพื่อไล่ค้างคาวและหนูที่มากินผลไม้ เจ้าของสวนเล่าอย่างภูมิใจสมกับชื่อสวน

Advertisement
ถวายหนังสือ “รุกข มรดกของแผ่นดิน” แด่ พระมหาโพธิวงศาจารย์ เจ้าอาวาสวัดราชโอราสารามฯ
เปิดกิจกรรม “วัฒนธรรมสู่การท่องเที่ยวต้นไม้ใหญ่ รุกข มรดกของแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี สวนลิ้นจี่โบราณ”
ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรมลงเรือล่องคลองบางขุนเทียน

อาหารพื้นบ้านของชาวสวนถูกลำเลียงมาเสิร์ฟเต็มโต๊ะ ทั้งเมนูปลา เมี่ยง และเมนูที่สร้างสรรค์จากตะลิงปลิงเด็ดจากต้น รสชาติสดชื่น

คณะผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรมลิ้มรสพร้อมกวาดสายตาชมภาพถ่ายเก่าสีขาวดำที่บันทึกวิถีชีวิตอันจริงแท้ ไม่ปรุงแต่งของผู้คนย่านคุ้งลิ้นจี่เมื่อกว่าครึ่งศตวรรษเป็นต้นมา แม้ซีดจาง ทว่ามากมายด้วยเรื่องราวอันมีสีสัน การพูดคุย ย่ำเท้า พายเรือ ชักตะขาบ ราวกับส่งเสียงแจ่มชัดจากกระดาษอัดรูป

สองพัน สำราญชัยธรรม ประธานชุมชนสามง่ามพัฒนา ซึ่งเป็นที่ตั้งของสวนภูมิใจการ์เด้นเล่าว่า เดิมพื้นที่ตรงนี้ขึ้นอยู่กับอำเภอบางขุนเทียน ปัจจุบันคือเขตจอมทอง เมื่อ 50-60 ปีก่อน ปลูกลิ้นจี่เป็นหลัก มีชื่อเสียงมาก มีลิ้นจี่สองฝั่งคลอง ออกผลปีละครั้ง แต่ระยะ 10 กว่าปีที่ผ่านมาไม่ค่อยออกผล เพราะสภาพอากาศไม่อำนวย ทว่าชาวบ้านส่วนหนึ่งยังดูแลต้นเก่าแก่กว่าร้อยปีไว้

Advertisement

จากการสำรวจเมื่อ พ.ศ.2560 พบว่าคงเหลือ 500 ต้น โดยสวนภูมิใจการ์เด้นมีมากที่สุดคือ ราว 100 ต้น

17 นาฬิกาเศษ ได้ฤกษ์ชักตะขาบ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อเปิดงานอย่างเป็นทางการ

กระตั้วแทงเสือ การละเล่นที่ได้รับความนิยมมากในชุมชนฝั่งธนบุรี
ชิงช้าสวรรค์นั่งฟรี ได้บรรยากาศงานวัดยุควันวาน

ในงานนี้ ยังครึกครื้นด้วยการแสดงพื้นบ้านอย่าง “กระตั้วแทงเสือ” โดย คณะสุพล เจริญพร ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในชุมชนฝั่งธนบุรีตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ละลานตาด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ถูกคัดสรรมาจัดแสดงให้เรียนรู้ อาทิ การปลูกต้นเคราฤๅษี, พะอง สำหรับปีนเก็บลิ้นจี่, การสาธิตเมนูดอกไม้ทอด กระเพาะปลาวัดหนัง, ข้าวเกรียบว่าวย้อนยุค และขนมเบื้องญวน เป็นต้น

จากนั้น ถึงเวลาก้าวข้ามผ่านกาลเวลาย้อนไปในอดีตอีกครั้งยัง วัดแก้วไพฑูรย์ บนถนนเอกชัยซึ่งทุกวันนี้มีผู้คนมากมายเดินทางมาเยี่ยมชม ศาลาการเปรียญ ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์อย่างไม่ขาดสาย หลังมติชน พร้อมพันธมิตรร่วมบูรณะจากสภาพทรุดโทรมจนกลับมางดงามมีชีวิตอีกครั้ง

เมื่อเสียงฆ้องลั่น 3 ครั้ง ก็นับเป็นการแกรนด์โอเพนนิ่ง งานวัดย้อนยุค “วัดแก้วไพฑูรย์ เสน่ห์จอมทอง-บางขุนเทียน” ซึ่งมีชาวบ้านเดินเท้าและพายเรือเข้าร่วมอย่างล้นหลามจนบันไดท่าเรือของวัดแทบไม่แห้ง

ปกครอง พลเมือง ผู้อำนวยการเขตจอมทอง เปิดหลักฐานทางประวัติศาสตร์มาชี้ให้เห็นว่า ย่านบางขุนเทียนรวมถึงพื้นที่เขตจอมทอง เป็นพื้นที่สำคัญมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ถึงรัตนโกสินทร์ ปรากฏในเอกสารโบราณ มีคลองสำคัญหลากหลาย อาทิ คลองด่าน คลองบางประทุน คลองบางขุนเทียน คลองดาวคะนอง คลองสนามไชย วิถีชีวิตชาวบ้านผูกพันกับสายน้ำ มีการทำสวนผลไม้ วัดวาอารามเก่าแก่ นอกจากนี้ ยังมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมทั้งไทยจีนมอญ สะท้อนผ่านภูมิปัญญา ความเชื่อ การจัดงานครั้งนี้จึงถือเป็นนิมิตหมายอันดีในการทำนุบำรุงรักษาสิ่งเหล่านี้ให้คงอยู่สืบไป

“งานวันย้อนยุคในครั้งนี้เป็นนิมิตหมายอันดี ที่จะทำนุบำรุงมรดกทางวัฒนธรรม รวมถึงเป็นแบบอย่างที่ดีให้อีกหลายชุมชนใน กทม. ได้อนุรักษ์ให้กลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้งอันจะนำมาซึ่งการพัฒนาต่อไปในอนาคตโดยภาครัฐก็มีแผนงานที่ใช้เป็นแนวทางขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมเพื่อให้สืบสานต่ออย่างยั่งยืน” ผอ.เขตจอมทองกล่าว

ด้าน ผศ.อำไพ วิทยวิโรจน์ ประธานสภาวัฒนธรรมเขตบางขุนเทียน เปิดไมค์ย้ำชัดถึงทุนทางวัฒนธรรม ในย่านนี้ที่สามารถสร้างรายได้ให้คนในพื้นที่ อีกทั้งเพิ่มสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่จะนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน กิจกรรมนี้สะท้อนความเจริญแห่งมรดกภูมิปัญญา ทั้งยังสร้างความตระหนักในคุณค่าของศาลาการเปรียญ เรือนไม้อันวิเศษของวัดแก้วไพฑูรย์ ซึ่งเป็นหนึ่งเดียวในสยาม

ค่ำคืนนั้น วิหารหลวงปู่บุญ ไม่ว่างเว้นจากชาวบ้านที่เข้ากราบสักการะ ขอพรให้เกิดสิ่งดีๆ ในชีวิต

ผศ.อำไพ วิทยวิโรจน์
ผู้คนเข้าเยี่ยมชมศาลาการเปรียญยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ไม่ขาดสาย

ศาลาการเปรียญ สว่างไสว มากมายด้วยผู้คนที่พากันเดินขึ้นบันไดชมศิลปะในจุดต่างๆ เช่น ภาพสุธนุชาดกบนฝาปะกนด้านนอก ซึ่งเครือ “มติชน” ได้จัดทำป้ายข้อมูลอย่างละเอียดพร้อมภาพลายเส้นแสดงไว้ให้เรียนรู้อย่างเพลินใจ รวมถึงแผ่นป้ายนิทรรศการขั้นตอนการอนุรักษ์ซึ่งประกอบด้วยภาพลายเส้นแบบศาลาฯที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสรับสั่งให้พระนวการโกวิท (เกลื่อน หงสกุล) ถ่ายแบบไว้ เมื่อ พ.ศ.2459, ภาพถ่ายเก่าเมื่อ พ.ศ.2529 ขณะอยู่ในสภาพทรุดโทรม, ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2555 ในวันบวงสรวงก่อนการปฏิสังขรณ์กระทั่งแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2558 ภายใต้โครงการแบ่งปันความรู้ เชิดชูศาสนา พัฒนาแหล่งน้ำลำคลองซึ่งเครือ “มติชน”

ร่วมกับมูลนิธิ ดร.โกวิทย์ วรพิพัฒน์ และมูลนิธิบรรจง พงศ์ศาสตร์ พร้อมด้วยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน

ธรรมนูญ เสือแย้ม อายุ 81 ปี คือหนึ่งในผู้เข้าเยี่ยมเยือนโดยสวมชุดผ้าไทย นุ่งโจงกระเบนเข้าบรรยากาศ

เป็นคนบางขุนเทียนนี่แหละ ปู่ย่าตายายก็อยู่อาศัยในย่านนี้ สมัยก่อนไปไหนมาไหนด้วยเส้นทางคลอง พายเรือไป เคยเห็นศาลาการเปรียญหลังนี้มาตั้งแต่เด็ก ตอนหลังทรุดโทรมมาก มีโจรมาขโมยบานหน้าต่างจนวัดต้องเอาสังกะสีมาปิดไว้แทนบานที่หายไป วันนี้ปลื้มใจมากที่ศาลากลับมาสวยอย่างนี้ รู้สึกเป็นบุญของตัวเองที่ได้มีโอกาสทำบุญและบริจาคเงินตอนบูรณะด้วย

มองในมุมสูงจากศาลาการเปรียญ มีแสงไฟสีสวยจากชิงช้าสวรรค์ หนังกลางแปลง และร้านรวงขายสินค้าอีกทั้งอาหารพื้นบ้านจากสภาวัฒนธรรมเขตต่างๆ อาทิ ข้าวเม่าหมี่ ขนมเกสรลำเจียก จากเขตบางกอกน้อย, มะม่วงน้ำปลาหวาน จากเขตปทุมวัน, ขนมฝรั่งกุฎีจีน และสำรับอาหารบ้านสกุลทอง จากเขตธนบุรี, ทองม้วนรสดี จากเขตตลิ่งชัน เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีการสาธิตการสร้างงานประณีตศิลป์ จากบ้านศิลปะไทย การแสดงโขนวัดกก การแข่งขันเตะตะกร้อลอดบ่วงที่เร้าใจด้วยลีลาเรียกคะแนนจากกรรมการและผู้ชมรอบสนาม

เด็กๆ เพลินใจกับงานประณีตศิลป์ที่จับต้องได้
กวนกะละแมขายดีเหมือนเทน้ำเทท่า

อีกหนึ่งไฮไลต์คือการปรากฏตัวของ ชาย เมืองสิงห์ นักร้องลูกทุ่งชื่อดัง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ปี 2538 ซึ่งขึ้นเวทีด้วยรถเข็น เพราะอาการป่วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ โดยมีบุตรชายร่วมร้องเพลง และดูแลตลอดเวลา แม้ไม่แข็งแรงเหมือนเก่า แต่สุ้มเสียงยังคงเอกลักษณ์ ทรงพลังไม่เปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับ แม่ผ่องศรี วรนุช ที่อ้อนแฟนเพลงทุกวัยด้วยเสียงใสๆ แทบไม่ต่างจากวัยสาว พร้อมหยอดถ้อยความชวนอิ่มใจว่า ผ่องศรีไม่เคยลืมบุญคุณของทุกคน ครอบครัวยากจน หากไม่มีแฟนเพลง ไม่รู้ชีวิตจะเป็นอย่างไร ทำเอาผู้ชมหลายรายขึ้นไปให้กำลังใจถึงบนเวที

ยังมีโนราห์ หุ่นกระบอก และลิเกแสนสนุกที่เหล่าแม่ยกพกมาลัยธนบัตรมาติดเข็มกลัดบนเสื้อผ้าอาภรณ์ของเหล่านักแสดงจนเต็มตัว

นับเป็นกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่สร้างทั้งสีสันและการเรียนรู้ ชวนให้ตกหลุมรักย่านเก่าแก่แห่งนี้ได้อย่างง่ายดาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image