ผันน้ำล้น ช่วยนาแล้ง แดนอีสาน จากพระราชดำริ สู่โครงการประตูระบาย ‘น้ำพุง-น้ำก่ำ’

พื้นที่ก่อสร้างประตูระบายน้ำ ต.ตองโขบ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร

ชีวิตขาดน้ำในหน้าแล้ง และอุทกภัยในช่วงมรสุม คือสองปัญหาหลักของภาคอีสาน โดยเฉพาะในจังหวัดหนึ่งซึ่งต้องเผชิญปัญหานี้อย่างรุนแรง ทั้ง 2 ประการ นั่นคือ “สกลนคร” โดยในบางช่วงเวลาชาวบ้านลุ่มน้ำก่ำต้องอยู่ในภาวะแห้งแล้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะเดียวกัน ก็กลับต้องเผชิญน้ำท่วมหนักหน่วงดังเช่นที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อปี 2560 โดยมีต้นตอมาจากพายุและฝนตกบริเวณเทือกเขาภูพานส่งผลให้น้ำไหลลงมายัง หนองหาร แหล่งน้ำสำคัญของ จ.สกลนคร เมื่อมากเข้าก็รองรับทั้งหมดไม่ไหว มวลน้ำเอ่อทะลักเข้ามาในแหล่งชุมชน สร้างความเสียหายกับประชาชนทั้งภาคเกษตรหรือแม้กระทั่งในตัวเมือง

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2535 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เสด็จฯไปทอดพระเนตรสภาพพื้นที่บริเวณฝั่งตะวันออกของห้วยน้ำพุงและลำห้วยอื่นๆ ใน ต.ตองโขบ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร ก็ทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับการก่อสร้างประตูระบายน้ำ เนื่องจากพื้นที่บริเวณหนองหารเป็นที่ราบตอนล่างซึ่งมักเกิดน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้งในฤดูฝน และขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภคในช่วงหน้าแล้ง

ทางกรมชลประทานจึงได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าและแก้มลิงในเขตพื้นที่ อ.เมือง อ.โพนนาแก้ว อ.โคกศรีสุพรรณ และ อ.เต่างอย จ.สกลนคร หวังแก้ปัญหาให้ได้ทั้งหมด แต่ก็สามารถทำได้เพียงบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งได้ในพื้นที่บางส่วนเท่านั้น

สุดท้ายฝันของชาวบ้านไม่ได้สลาย เมื่อโครงการประตูระบายน้ำ ลำน้ำพุง-น้ำก่ำฯ ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2561 และคณะรัฐมนตรีก็ได้เห็นชอบให้ดำเนินโครงการนี้ ไปเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562

Advertisement
แผนขับเคลื่อนโครงการสำคัญ จ.สกลนคร
โมเดลเส้นทางน้ำ จ.สกลนคร

สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. จึงจับมือกับ จ.สกลนคร เร่งศึกษาและทำแผนงานในทิศทางที่มีกรอบและแนวทางการพัฒนาที่ชัดเจน จนได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน อีกทั้งยังได้ลงมือวิเคราะห์พื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งอย่างเป็นระบบ (Area Based) ซึ่งหากมองในสเกลที่กว้างขึ้นก็จะพบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่ประสบปัญหาถึง 14 พื้นที่ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ภัยแล้ง 1 แห่ง และอีก 13 พื้นที่ ต้องเจอทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม ซึ่ง จ.สกลนคร ก็เป็นหนึ่งในนั้น

ในขณะเดียวกัน ทางฝั่ง กรมชลประทาน ก็เดินหน้าปักหลักเขตชลประทาน พร้อมรังวัดที่ดิน และดำเนินการขอใช้ที่ดินกับภาคส่วนต่างๆ มีการจัดทำรายงาน ศึกษาการวางโครงการมาอย่างละเอียด ตั้งแต่การสำรวจและออกแบบรายละเอียดทั้งหมดจนเข้าสู่ขั้นตอนการศึกษาด้านสังคม ซึ่งเป็นจุดที่จะชี้ว่าโครงการนี้จะมอดดับลงหรือไม่

แต่แล้วชาวบ้านในพื้นที่กลับรู้สึกตื่นเต้นดีใจที่จะได้เห็นการมาของประตูระบายน้ำนี้ ทั้งยังขอให้เร่งดำเนินการก่อสร้างอย่างเร็วที่สุด เพราะอยากหนีจากปัญหาน้ำท่วมที่ต้องเผชิญในทุกขวบปี

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ไม่นิ่งนอนใจในปัญหานี้ ดึงมือหลายฝ่ายที่เชี่ยวชาญด้านน้ำมาร่วมคิดร่วมคุย ทั้ง สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมชลประทาน และอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง จังหวัดสกลนคร

โดยได้วางแผนที่จะดำเนินการ สร้างประตูระบายน้ำหัวงานและอาคารประกอบ สำหรับบังคับปริมาณน้ำ ทำคลองผันน้ำและอาคารประกอบ จำนวน 3 สาย โดยขยายและเพิ่มประสิทธิภาพในการรับน้ำให้มากขึ้น เพื่อรับน้ำจากลำน้ำพุงลงมารวมที่ห้วยยางและขยายต่อให้รับน้ำลงไปที่น้ำก่ำ เข้าสู่ระบบระบายน้ำตามปกติ วิธีการนี้จะตัดน้ำออกเพื่อไม่ให้เข้าสู่หนองหารได้ถึง 40 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้ยังทำ คลองส่งน้ำ สำหรับกรณีที่ต้องการให้หนองหารมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นในช่วงหน้าแล้ง ซึ่งหากลำน้ำทั้ง 3 เส้นมีปริมาณน้ำมากขึ้น ประชาชน 53 หมู่บ้าน 10,857 ครัวเรือนในบริเวณนี้ ก็จะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากน้ำเพื่อทำการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 รับสั่งไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 ว่าต้องขยายลำน้ำและทำอาคารบังคับน้ำเพื่อไม่ให้น้ำลงไปเติมหนองหารในกรณีที่น้ำจากภูพานลงมามาก ตอนนี้พี่น้องประชาชนรอมามากกว่า 27 ปีแล้ว อยากเห็นพื้นที่ได้รับการแก้ไขปัญหา เราจึงได้น้อมนำแนวทางของพระองค์มาร่วมคิดและปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมตามสภาวะภูมิประเทศที่มีการใช้พื้นที่ที่เปลี่ยนไป” พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว พร้อมเปิดเผยด้วยว่า ขณะนี้โครงการได้ผ่านการประมูลและเข้าสู่กระบวนการก่อสร้าง ซึ่งใช้วงเงินประมาณ 2,100 ล้านบาท โดยมีการเตรียมพื้นที่และกำหนดขอบเขตงานไว้เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 5 ปี เริ่มในปีนี้และจบที่ปี 2566

“หนองหารเป็นแหล่งน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ ถ้ามีน้ำที่สะอาด อุดมสมบูรณ์ก็เชื่อว่าจะเป็นอีกเป้าหมายของผู้คน ซึ่งตอนนี้ยังไม่สามารถเป็นแหล่งดึงดูดได้เต็มที่ ถ้าพัฒนาให้เกิดขึ้นจริง จ.สกลนคร จะอีกเป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่สร้างประโยชน์ให้กับประชาชนในพื้นที่” พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว

ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นวิธีจัดการปัญหาอุทกภัยและฤดูแล้ง โดยเบี่ยงน้ำจากลำน้ำพุงมาลงลำน้ำก่ำ ในขณะเดียวกันก็สามารถใช้ประโยชน์จากการทำอาคารบังคับควบคุมน้ำไว้สำหรับเก็บกักน้ำได้อีกทาง อีกส่วนคือการทำประตูควบคุมน้ำที่จะเข้าคลอง ต้องใช้อาคารประกอบในการยกระดับน้ำให้ไหลไปตามระบบ ทำให้เกิดประโยชน์กับพื้นที่ต่างๆ ที่ได้รับน้ำจากระบบดังกล่าวกว่า 78,358 ไร่ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำจะมีการควบคุมปริมาณให้สอดคล้องกัน ทำให้ได้ประโยชน์ทั้งสองฟากฝั่ง

ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน

“นี่คือหลักในการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์ เพราะจะทำให้กักเก็บน้ำได้มากกว่าเดิม 3-4 เท่า จากเดิมไม่เกิน 10 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในเรื่องของการชะลอ กักเก็บ และระบายน้ำ”

นายทองเปลวอธิบายเพิ่มเติมว่า ประตูระบายน้ำในโครงการนี้มีทั้งหมด 7 ช่อง สามารถระบายน้ำได้ถึงประมาณ 963 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มีการออกแบบให้สอดรับปริมาณน้ำที่มีอยู่เพื่อลดต้นทุนในการก่อสร้าง และยังเหมาะสมกับภูมิประเทศ

โดยหน้าตาของประตูระบายน้ำก็เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดสกลนคร เพราะออกแบบเป็นปราสาทผึ้ง ซึ่งคาดว่าจะเป็นแลนด์มาร์กอีกแห่งของ จ.สกลนคร

ประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำฯ

ด้านคนในพื้นที่ บรรจง ศรีคำมูล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 ต.ดงชน อ.เมือง จ.สกลนคร ให้ความเห็นว่า ถ้าโครงการนี้เสร็จจะเป็นประโยชน์อย่างมากกับชาวบ้าน “ที่ผ่านมาเจอน้ำท่วมน้ำแล้งบ่อย เวลาที่น้ำท่วมจะท่วมหนัก ชาวบ้านเดือดร้อนเพราะข้าวตายหมด พอหน้าแล้งก็แล้งแบบไม่มีน้ำเหลือ อยู่กับน้ำ น้ำไหลตลอดเวลาแต่ใช้ไม่ได้ ชาวบ้านต้องการน้ำมาตลอดแต่ไม่เคยมีโอกาส ขอบคุณในหลวง รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณช่วยเหลือชาวบ้าน ดูแลพสกนิกรที่ยากลำบาก”

ในมุมของลูกบ้าน วรรภา วิระพัด เจ้าของที่ดินติดถนน ใน ต.ดงชน อ.เมือง จ.สกลนคร ก็ถูกเวนคืนเพื่อสร้างโครงการ แต่กระนั้นนางวรรภาไม่คัดค้าน ซ้ำยังยินดีให้ความร่วมมือเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยเหลือเพื่อนบ้าน

วรรภาเล่าทั้งน้ำตาว่า ที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมและน้ำแล้งอย่างหนัก โดยในปี 2560 น้ำท่วมถึง 3 ครั้ง

ศรีคำมูล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 ต.ดงชน
วรรภา วิระพัด

“ตายทุกอย่าง ไม่เว้นแม้แต่หญ้าหรือวัชพืช เวลาแล้งข้าวก็ตายไม่ได้เกี่ยว อยากได้โครงการนี้มาก พอทราบว่าเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของในหลวง รัชกาลที่ 9 ก็ยิ่งรู้สึกตื้นตันใจ เป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่ง ที่พระองค์ทำให้ลูกหลานสกลนครได้สบาย ตัวเราเองก็ไม่ลำบาก ต่อไปนี้ไม่ว่าจะน้ำท่วมน้ำแล้งอีกกี่ปีก็จะไม่ต้องอดอยากอีกต่อไป”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image