จากสวนผลไม้เก่า เปิดใจ ‘สมรพรรณ สมนาม’ กว่าจะเป็นรีสอร์ตหรูภูเก็ต

สมรพรรณ สมนาม

“กีมาลา” ไม่ใช่เพียงแค่รีสอร์ตที่มีรูปลักษณ์ที่แปลกและแตกต่างออกไป แต่ยังเป็นรีสอร์ตที่มีคอนเซ็ปต์ที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก

รีสอร์ตกีมาลาถือเป็นที่พักผ่อนที่ใกล้ชิดธรรมชาติที่สุดและการออกแบบที่กลมกลืนกับธรรมชาติ ทำให้กีมาลาเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายที่นักเดินทางอยากมาสัมผัสกับบรรยากาศที่รายล้อมไปด้วยสุมทุมพุ่มไม้ทั้งเล็กและใหญ่ พร้อมสรรพไปด้วยพืชพรรณธัญญาหารประหนึ่งเป็นสวนพืชผักผลไม้ก็ว่าได้

ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีทำให้ชื่อเสียงของกีมาลา ที่กล่าวกันว่าเหมือนที่นอนลอยฟ้า กับบ้านรังนกที่ออกแบบมาอย่างสร้างสรรค์นี่เองที่เป็นจุดขายให้รีสอร์ตใน จ.ภูเก็ต ที่ห่างไกลจากชายหาด แต่กลับมียอดจองเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย

ความสำเร็จของกีมาลา เกิดจากความร่วมมือร่วมแรงของ 2 พี่น้อง “โน้ต-ธนพงศ์ สมนาม” ตำแหน่ง Executive Director-Hotel Operations และ “ตาล-สมรพรรณ สมนาม” ตำแหน่ง Executive Director-Marketing โรงแรมกีมาลา ที่ระดมสมองช่วยกันคิดช่วยกันออกแบบจากประสบการณ์การบริหารโรงแรมในเมืองย่านป่าตอง ชื่อว่า เดอะกี รีสอร์ทแอนด์สปา ที่รีโนเวตจากโรงแรมเก่าช่วยกันบริหาร 7-8 ปี ก่อนจะมีไอเดียมาสร้างโรงแรมกีมาลา โรงแรมแห่งที่ 2 ในพื้นที่สวนผลไม้เก่า ที่ตอนนี้กลายเป็นรีสอร์ตที่ยังคงความเป็นธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน โดยยึดหลักไม่โค่นต้นไม้ ไม่ขวางทางน้ำ แถมยังกักเก็บน้ำจากธรรมชาติมาใช้ในโรงแรมได้ดีด้วย

Advertisement

บรรยากาศภายในรีสอร์ตก็อุดมไปด้วยต้นไม้และสวนผลไม้มีทั้งกล้วย เงาะ ทุเรียน มะม่วง แถมยังมีผักสวนครัวปลูกเป็นหย่อมๆ ให้เชฟนำมาปรุงอาหารสดๆ ให้ลูกค้ารับประทานได้อีกด้วย และแน่นอนว่าผักที่นี่ปลอดสารพิษ

อย่างที่ทราบกันดีว่างานบริการเป็นเรื่องที่จุกจิกและมีปัญหาให้แก้ทุกวัน ตาล-สมรพรรณ สมนาม ตำแหน่ง Executive Director-Marketing โรงแรมกีมาลา คือ ผู้บริหารรับผิดชอบงานขาย เธอต้องเรียนรู้ทุกอย่างด้วยตัวเอง เพราะเป็นสิ่งที่เธอมุ่งมั่นและตั้งใจเรียนรู้ประกอบการด้านโรงแรมกับการเป็นคนเปิดรับและรับฟังคนทุกระดับ ทำให้เธอได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ รวมถึงการวางแผนตั้งแต่เรียนจบเลือกงานที่ชอบและหาสิ่งที่ใช่ จากนั้นก็ลุยเต็มที่ ไม่เกี่ยงตำแหน่งขอให้อยู่ในสายงานที่ชอบคือ งานโรงแรมพร้อมความถนัดทางด้านภาษาได้ทั้งภาษาจีน และภาษาอังกฤษ

เรียกได้ว่าผ่านงานหน้าด่านของโรงแรมมาหลายตำแหน่งทำให้รู้วิธีรับมือกับสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายและหาทางอุดช่องโหว่นั้น เมื่อเกิดไอเดียที่จะมาร่วมกันสร้างกีมาลาให้เป็นรีสอร์ตของคนไทยที่ได้มาตรฐานและที่สำคัญเป็นโรงแรมของคนภูเก็ตจริงๆ ซึ่งมีอยู่น้อยมากในตอนนี้

Advertisement

“เรามาเจอที่ตรงนี้เป็นสวนผลไม้ เราเห็นที่ตรงนี้ว่าน่าจะทำอะไรได้ จะพัฒนาพื้นที่ตรงนี้ยังไง จากการสำรวจแถบนี้ก็พบว่าที่พักอยู่หน้าชายหาด และมีความหรูหราอยู่แล้ว เราจึงเริ่มมองหาความแตกต่าง แต่เรามีโจทย์ยากคือ พื้นที่ไม่ติดชายหาด เราจึงมองที่คอนเซ็ปต์ ในเมื่อเราไม่ได้ติดหาดเรามาสร้างสตอรี่ดีมั้ย ประกอบกับคุณแม่เป็นคนชอบธรรมะและรักธรรมชาติ เราจึงเน้นอะไรที่เป็นธรรมะและธรรมชาติ จะเห็นว่าเรามีถ้ำจำลองให้นั่งสมาธิได้ และเราเน้นความเป็นธรรมชาติ”

นอกจากเรื่องของธรรมะกับธรรมชาติแล้วที่นี่ยังมีชูวัฒนธรรมของคนภูเก็ตไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกินการออกแบบรวมถึงการบำบัดโดยธรรมชาติ เช่น การนวดผ่อนคลายที่ต้องบอกว่าเป็นสปาที่เจ้าของลงรายละเอียดมาก ตั้งแต่ห้องสปา เทอราปิส รวมไปถึงอุปกรณ์ต่างๆ ที่คัดสรรและเลือกผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติแต่ต้องเป็นธรรมชาติที่ไม่ละเมิดสิทธิของสัตว์ด้วย

แต่กว่าทุกอย่างจะออกมาเป็นรูปเป็นร่างที่แปลกและแตกต่างกลายเป็นจุดขายที่ยังไม่มีที่ไหนทำได้ธรรมชาติแบบ Luxury ได้ขนาดนี้ โดยเฉพาะการสร้างบนสวนผลไม้ที่มีต้นทุเรียน เงาะ ต้นมังคุด ภายในหุบเขา ซึ่งที่ตรงนี้ซื้อไว้ตั้งแต่ยุคคุณพ่อ

“เราก็ต้องมานั่งดูว่าความ Luxury กับธรรมชาติ เรามีจุดกึ่งกลางตรงไหน กว่าจะออกมาเป็นดีไซน์แบบที่เห็นนี้ไม่ง่าย แต่ก็ใช่ว่าจะทำไม่ได้ โดยเฉพาะสิ่งที่เราทำคือ ใช้ดีไซเนอร์คนไทยทั้งหมดช่วยกันเนรมิตพื้นที่ 18 ไร่ ให้กลายเป็นที่พักสุดหรูที่อิงแอบกับธรรมชาติแบบไม่เบียดเบียนกัน จะเห็นได้ว่าห้องพักบางห้องมีต้นไม้แทงขึ้นมากลางห้องนอนก็มี เพราะเรายึดถือเป็นหลักว่าเราจะไม่ตัดต้นไม้ใหญ่ แม้ว่ามันจะเป็นอุปสรรคใหญ่ของการก่อสร้างก็ตาม”  อธิบายถึงความยากของการก่อสร้างและออกแบบคือต้นไม้ที่เขียวชอุ่มอยู่เต็มพื้นที่

ในส่วนของสตอรี่ห้องพักเกิดจากไอเดียการสร้างให้เป็นเหมือนเส้นทางสายไหม เสมือนเรือลำหนึ่งแล่นมาถึงแล้วมาจอดตรงนี้ ซึ่งบนเรือก็มีคนหลากหลายเชื้อชาติ มีนิสัยที่แตกต่างกัน โดยแบ่งเป็น 4 ชนเผ่า เข้ามาอยู่ในชุมชนกีมาลา เช่น

“บ้านดิน” มี 16 หลัง เกิดจากไอเดียชนเผ่าปฐพี ชอบทำเกษตร ทำประมง เป็นชาวเมืองเก่า ใกล้เคียงชาวภูเก็ตมากที่สุด ซึ่งจะเห็นว่าหลังคาเป็นจาก ซึ่งไม่ใช่จากทั้งหมดแต่ก็หาวัสดุที่ใกล้ที่เคียงจากที่มีความทนทานกว่า ถ้าใช้ของจริงความ Luxury มันก็จะหายไป เผื่อลูกค้านอนอยู่มีแมลงตกใส่ลูกค้ามันก็ไม่ได้ และเรื่องของการดูแลรักษามันค่อนข้างที่จะสูง เราก็เลยต้องใช้วัสดุที่มันใกล้เคียงกับจากมากที่สุด แล้วก็อย่างตัวบ้านก็ดูเหมือนจะเอาดินมาปั้น และมีการปั้นเป็นรูปต่างๆ บนฝาผนังด้วย

“บ้านเต็นท์” มี 7 หลัง ของชนเผ่าคนจร อุปนิสัยชอบย้ายถิ่นฐาน ชอบการค้าขาย เร่ร่อนแบบมีสไตล์คล้ายชาวยิปซี ภายในห้องพักตกแต่งเป็นแนวซาฟารี มีกลิ่นอายจากแอฟริกา ถ้าสังเกตในบ้านแต่ละบ้านจะมีหมอนที่เป็นลายของแต่ละหลัง ในบ้านแต่ละประเภทลายหมอนจะไม่เหมือนกัน

“บ้านต้นไม้” มี 7 หลัง ของชนเผ่าเวหา ชอบการอยู่กับท้องฟ้า เป็นพวกนักออกแบบ นักประดิษฐ์คิดค้น ด้วยทรงบ้านจะแตกต่าง มีสองชั้น ถ้าหากมองจากด้านล่างขึ้นไปจะเหมือนบ้านลอยอยู่ในอากาศ

“บ้านรังนก” มี 8 หลัง ชนเผ่ารังนก เป็นกลุ่มคนที่รักในชีวิตที่หรูหรา ต้องการความเป็นส่วนตัว และอยู่พื้นที่ที่ดีที่สุด จะเป็นพวกนักปราชญ์ ชนเผ่ารังนกจะมีความเชื่อเรื่องดาราศาสตร์ ของตกแต่งจะมีความเป็นดวงดาว และกาเเล็กซี่ภายในห้องพัก

“จริงๆ วิลล่าแบบเดียวกัน บางทีต้องดีไซน์ตั้งหลายแบบ เพราะเห็นบางหลังมีต้นไม้โผล่แต่ละที่ไม่เหมือนกัน อย่างบ้านรังนกหรือบ้านต้นไม้ก็จะมีต้นไม้โผล่ออกมาจากสระ หรือบางหลังก็โผล่ในบ้านเลย”

สำหรับตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เข้าพักไม่เฉพาะคนต่างชาติเท่านั้น คนไทยติด Top 5 เลยทีเดียว คนไทยที่มาพักส่วนใหญ่จะเลือกบ้านต้นไม้ หรือไม่ก็บ้านรังนก เพราะว่าเหมือนกับคนไทยเราชอบพูลวิลล่าอยู่แล้ว เวลาไปไหนก็อยากพักพูลวิลล่าเพราะมันเป็นส่วนตัว นอกจากนั้นก็จะเป็นชาวอเมริกัน ยุโรปจะมี อังกฤษ เยอรมัน ถ้าเอเชียจะเป็นญี่ปุ่น จีน และเกาหลี

นอกจากไอเดียและคอนเซ็ปต์สุดบรรเจิดที่ต้องทำให้เกิดขึ้นจริงให้ได้ ภายใต้ข้อจำกัดของการอนุรักษ์ธรรมชาติไว้โดยไม่ตัดต้นไม้ที่ว่ายากแล้วนั้น ความยากที่สองคือ พื้นที่สโลปที่ยากในการก่อสร้าง แต่ทุกอย่างก็จบภายใน 1 ปีครึ่ง ด้วยงบประมาณเกือบพันล้านบาท เพื่อสร้างรีสอร์ตแห่งนี้ขึ้นมา เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่กำลังมองหาความแตกต่าง

และสร้างความภูมิใจให้กับผู้สร้างโรงแรมกีมาลา ในฐานะชาวภูเก็ตตัวจริงที่ยังรักและหวงแหนในสิ่งที่บรรพบุรุษสร้างมา เพื่อคงไว้ซึ่งความน่ารักในแบบฉบับเจ้าบ้านคอยต้อนรับแขกซึ่งชาวต่างชาติทำเหมือนเราไม่ได้

เหนือสิ่งอื่นใดคือ ความฮือฮา ฮือฮาตั้งแต่ระดับประเทศไปจนถึงระดับโลก เพราะยังไม่มีใครกล้าที่จะทำแบบนี้ เพราะกีมาลาสร้างค่อนข้างยาก แต่ถ้าไม่เข้ามาคลุกคลีกับงานก่อสร้าง ไม่มีทางสำเร็จ ความยากคือมันมีเดดไลน์ และดีเทลอีกเพียบ เหมือนเราปลูกบ้านมากกว่าทำเป็นห้องๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image