ความทรงจำมีชีวิต ‘เหมืองความหลังในหนังอาจินต์’

เอ่ยคำว่า “หนังอาจินต์” หลายคนคงนึกไปถึงภาพยนตร์ปี พ.ศ.2548 เรื่อง มหา’ลัยเหมืองแร่ ที่สร้างมาจากเรื่องสั้นชุดเหมืองแร่อันโด่งดังของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ และเล่าถึงชีวิตคนงานเหมืองของอาจินต์ ก่อนที่จะกลายมาเป็นนักเขียนและบรรณาธิการคนสำคัญระดับเสาหลักของวงการวรรณกรรมไทย

แต่สิ่งหนึ่งที่นักอ่านทั่วไปอาจยังไม่เคยทราบก็คือ ไม่ใช่แค่เรื่องราวในวัยหนุ่มของอาจินต์จะได้รับการถ่ายทอดบนแผ่นฟิล์ม หากแต่อาจินต์เองก็เคยใช้ฟิล์มภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตของเขามาก่อน แม้จะเป็นเพียงภาพยนตร์สมัครเล่น แต่ก็ถือเป็นความทรงจำอันมีชีวิตที่ไม่อาจประเมินค่าได้

อาจินต์ ปัญจพรรค์ เริ่มซื้ออุปกรณ์สำหรับถ่ายภาพยนตร์สมัครเล่น เมื่อราว พ.ศ.2510 ด้วยเหตุผลสำคัญคือ ต้องการบันทึกภาพเคลื่อนไหวของเพื่อนพ้องนักเขียนทั้งหลาย อย่างที่เขาเคยกล่าวไว้ในข้อเขียนรำลึกถึง เหม เวชกร ว่า

“วันที่ 8 ธันวาคม 2511 นักเขียนรุ่นใหญ่ ได้นัดกันเที่ยวเรือสองฝั่งเจ้าพระยา ข้าพเจ้าจึงได้พบกับพี่เหมอีกครั้งหนึ่ง… …ข้าพเจ้าถ่ายภาพยนตร์สี 8 มิลลิเมตรกราดทั่วทุกคนที่ไปในเรือนั้นและเจาะจงถ่ายเขา ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว ทั้งเข้าไปถ่ายใกล้ๆ ยาวกว่าคนอื่นเป็นพิเศษ ฟิล์มสองม้วนที่มีติดไปนั้นจบลงที่ภาพพี่เหม”

Advertisement

งานอดิเรกด้านนี้ของอาจินต์ดำเนินอยู่ได้ราว 10 ปี ก่อนที่เทคโนโลยีใหม่อย่างวิดีโอเทปจะเข้ามาแทนที่ฟิล์มภาพยนตร์ในช่วงต้นทศวรรษ 2520 เวลาผ่านไปกว่า 30 ปี พ.ศ.2553 อาจินต์ได้มอบหนังสมัครเล่น หรือ “หนังบ้าน” ที่เขาเก็บรักษาไว้ รวมไปถึงอุปกรณ์ เช่น กล้องถ่ายและเครื่องฉายภาพยนตร์ 8 มม. ให้แก่หอภาพยนตร์นำมาอนุรักษ์

หนังบ้านเหล่านี้ เป็นฟิล์มขนาด 8 มม. มีจำนวน 40 ม้วน แบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นม้วนเล็กๆ มีลักษณะเป็นเหมือนภาพแทนสายตาและความรู้สึกนึกคิดของอาจินต์ มีทั้งที่ถ่ายเล่นที่บ้าน ถ่ายกิจกรรมทางสังคม เช่น งานศพ งานทอดผ้าป่า หรือถ่ายระหว่างเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งส่วนมากมักไปกับกลุ่มนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ ทั้งหมดล้วนแสดงให้เห็นถึงอุปนิสัยที่ชอบเฝ้ามองเฝ้าสังเกตผู้คนและความเป็นไปต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว อันเป็นคุณสมบัติสำคัญในการเป็นนักเขียนของอาจินต์

อีกส่วนหนึ่งนั้น เป็นหนังม้วนใหญ่ที่ถ่ายแบบเป็นงานเป็นการ ซึ่งอาจินต์ได้มอบหมายให้ผู้อื่นถ่ายให้ ประกอบด้วยเรื่อง งานมงคลสมรส แน่งน้อย-อาจินต์ เป็นภาพบันทึกวันแต่งงานของอาจินต์กับ แน่งน้อย ปัญจพรรค์ ที่นับเป็นสารคดีพิธีการแต่งงานของคนไทยในสมัย 2520 ได้อย่างดี

อีกเรื่องหนึ่ง คือ “ฟ้าเมืองไทย” ปี 2519 เป็นการบันทึกงานฉลองปีที่ 8 ของนิตยสาร “ฟ้าเมืองไทย” ที่เขาก่อตั้งขึ้น ซึ่งมีนักเขียนรวมทั้งบุคคลสำคัญในวงการต่างๆ มารวมตัวสังสรรค์กันอย่างสนุกสนาน มีไตเติลซึ่งอาจินต์เขียนด้วยลายมือบอกฉากทีละชั่วโมง ตั้งแต่หกโมงเย็นไปจนถึงเที่ยงคืน และปิดท้ายว่า “ปีหน้าพบกันใหม่ครับ” โดยขึ้นเครดิตผู้ถ่ายทำว่า “ธาดา” ผู้ตัดต่อว่า “เกษรา”

หนังบ้านของอาจินต์เหล่านี้ จึงมีคุณค่าในฐานะมรดกทางประวัติศาสตร์สำคัญของวงการวรรณกรรมไทย ทั้งในแง่ที่เป็นหนังบ้านของนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งเท่าที่เคยมีมา และในแง่ที่เป็นสื่อภาพเคลื่อนไหวที่ได้บันทึกนักเขียนทั่วฟ้าเมืองไทยในยุคนั้นเอาไว้ได้อย่างมีชีวิตชีวา ทั้ง รงค์ วงษ์สวรรค์, รัตนะ ยาวะประภาษ, นพพร บุณยฤทธิ์, สุวรรณี สุคนธา, สง่า อารัมภีร, ชอุ่ม ปัญจพรรค์ ฯลฯ สมดังคำที่อาจินต์เคย

กล่าวไว้เมื่อคราวมาร่วมงานวันหนังบ้าน ปี พ.ศ.2553 ของหอภาพยนตร์ว่า “ภาพยนตร์ทำให้เราได้ดูคนตายแล้วฟื้นขึ้นมา”

เพื่อเป็นการรำลึกถึง อาจินต์ ปัญจพรรค์ ผู้จากไปเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2561 หอภาพยนตร์จึงขอขุดเหมืองแห่งความหลังของอาจินต์ ปัญจพรรค์ ที่บรรจุอยู่ในบรรดาหนังบ้านเหล่านี้ให้กลับมีชีวิตขึ้นมาใหม่ ในกิจกรรมภาพยนตร์สนทนา “เหมืองความหลังในหนังอาจินต์” กับวิทยากร ธาดา เกิดมงคล อุปนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ผู้ถ่ายหนังเรื่องฟ้าเมืองไทย ในวันเสาร์ที่ 30 มีนาคม 2562 ณ โรงภาพยนตร์ศรีศาลายา หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

ทั้งนี้ กำหนดการภาพยนตร์สนทนา “เหมืองความหลังในหนังอาจินต์” จะเริ่มจากการฉายภาพยนตร์ “มหา’ลัยเหมือนแร่” เวลา 13.00 น. ต่อจากนั้นเวลา 15.00 น. จะเป็นการฉายหนังบ้านของอาจินต์ และสนทนากับ ธาดา เกิดมงคล

ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมกิจกรรม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image