หรือบ่ายนี้ไม่มีความหมาย เมื่อเสียงจากผู้สูญหาย และ 15 ปี ของทนายสมชาย ยังไร้ซึ่งความจริง

ภาพวาดผู้สูญหาย โดย จิตรกร แก้วอะโข

ไม่ว่าจะ 3 เดือน 10 ปี หรือ 15 ปี ไม่เป็นที่น่ายินดีนักหากจินตนาการถึงวันเวลาที่คนในครอบครัวถูกทำให้สูญหาย ในขณะที่ข้อสมมุตินี้เกิดขึ้นแล้วกับหลายครอบครัว ผู้เป็นเป็นสามี หรือพ่อ ถูกอุ้มหายจากการพยายามเปล่งเสียงและเคลื่อนไหวในสังคมที่กระบวนการยุติธรรมมีเครื่องหมายคำถาม

ค่ำวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2547 สมชาย นีละไพจิตร ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนที่มีชื่อเสียง หายตัวไปหลังถูกชายนิรนามผลักขึ้นรถยนต์ในย่านรามคำแหง จากนั้นมาไม่มีผู้ใดพบเห็นเขาอีก ไม่มีใครล่วงรู้ชะตากรรมหรือแม้แต่ถิ่นพำนัก

บ่ายวันที่ 12 มีนาคม 2562 วันที่งานรำลึกถูกจัดขึ้นอีกครั้ง ที่สถานทูตเนเธอร์แลนด์คลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่มาร่วมย้อนมองอดีต ด้วยมุ่งหวังว่าวันข้างหน้าตราชั่งจะตรงขึ้นบ้าง

“15 ปี ของสมชาย และเสียงจากผู้สูญหาย” นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของการจัดงานรำลึก เป็นเวลา 15 ปี แล้ว ที่ อังคณา นีละไพจิตร ต่อสู้เพื่อไขปริศนาการหายตัวไปของสามี ทั้งวิ่งหาหลักฐาน เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อเรียกร้องให้ความจริงกระจ่าง

Advertisement
ทนายสมชาย

น่ายินดี ที่เมื่อปี 2555 รัฐบาลไทยได้ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนให้พ้นจากการถูกบังคับให้หายสาบสูญ โดยมีเจตจำนงที่จะให้สัตยาบันเพื่อทำให้กฎหมายป้องกันบุคคลจากการถูกบังคับให้สูญหาย มีอยู่ในแผ่นดินไทย

น่าเศร้า เมื่อ 3 ปีให้หลัง ก่อนที่ทุกคนเตรียมจะฉลองปีใหม่ ศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้องตำรวจ 5 นาย ผู้ก่อเหตุลักพาตัวทนายสมชาย นีละไพจิตร เหตุเพราะ “พยานหลักฐานไม่มีความน่าเชื่อถือ” ไม่มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงยืนยันความถูกต้องของเอกสาร ซ้ำครอบครัวของผู้สูญหายไม่มีสิทธิในการดำเนินคดีเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมเนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานว่าทนายสมชายได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต คดีนี้จึงมีผู้เสียหายมีเพียงคนเดียว คือทนายสมชาย

“เมื่อไม่มีศพ คือยังไม่ตาย” ผลคือไม่มีผู้เสียหาย เพราะผู้เสียหายไม่รู้อยู่ที่ไหน

นี่คือตัวอย่างของครอบครัวของเหยื่อที่ต้องประสบปัญหาในการอำนวยความยุติธรรม

82 กรณีในไทยที่สหประชาชาติบันทึกไว้ ซึ่งรวมถึงกรณีของ พอละจี บิลลี่ รักจงเจริญ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มชาติพันธุ์เชื้อสายกะเหรี่ยง ที่ถูกพบเห็นครั้งสุดท้ายว่าอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นายทนง โพธิ์อ่าน อดีตประธานสภาองค์การลูกจ้าง สภาแรงงานแห่งประเทศไทย ที่ถูกลักพาตัวไปในปี พ.ศ.2534 และกรณีของสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ (แซ่ด่าน) ที่หายตัวไปร่วม 3 เดือนแล้ว จนถึงวันนี้เสียงของผู้สูญหายเหล่านี้ยังไม่มีใครได้ยิน ทุกครอบครัวยังคงรอคอยให้การสืบสวนดำเนินไปอย่างอิสระและเป็นธรรม

อังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของทนายสมชาย นีละไพจิตร
ทนายสมชาย

“ฉันเริ่มมีความหวังอีกครั้ง นับตั้งแต่วันที่ 24 พ.ค.2559 คณะรัฐมนตรีมีการให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยการถูกบังคับให้สูญหาย แล้วให้กระทรวงยุติธรรมนำร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ส่งต่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นำเข้าพิจารณา

แต่สิ่งที่กังวลคือ กระบวนการพิจารณากฎหมาย ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน หรือคนทำงานด้านการบังคับสูญหาย

การเขียนกฎหมายจึงเป็นเหมือนการเขียนด้วยความกลัว หวาดระแวงว่ากฎหมายฉบับนี้จะมุ่งเอาผิดเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐ และอาจขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้จึงเทน้ำหนักไปที่การปกป้องเจ้าหน้าที่รัฐ มากกว่าที่จะคุ้มครองและปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน” อังคณากล่าว

อย่างไรก็ตาม เธอยังคงรอคอย หวังว่าสักวันประเทศไทยจะมีกฎหมายที่สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยการปกป้องและคุ้มครองการถูกบังคับให้สูญหายของสหประชาชาติ ในการคลี่คลายคดีคนหายในประเทศไทย

เธอยังรอคอยความยุติธรรม และคาดหวังว่าวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา สนช.จะมีการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ แต่ทว่าไม่มีใครทราบว่าเหตุใด ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จึงถูกถอดออกไป

“สิ่งที่ได้เรียนรู้คือ 15 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่ารัฐบาลไหน การดำเนินการไม่เคยเกิดขึ้นจริง และการอุ้มหายยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

สิ่งที่เหยื่อและครอบครัวต้องการคือ ความรับผิดชอบของรัฐจากการเปิดเผยที่อยู่และชะตากรรมของผู้สูญหาย และการสร้างความมั่นใจว่าจะไม่มีใครสูญหายอีก

“รัฐต้องไม่มืดบอดในการรับรู้ความทุกข์ยากของประชาชน ไม่ใช่กระทำเพียงการสงเคราะห์ แต่จะต้องเอาตัวคนผิดมาดำเนินคดี” อังคณากล่าว และเสริมด้วยว่า สิ่งที่ได้ทำไปตลอด 15 ปีที่ผ่านมาจะทำให้คนรุ่นใหม่เห็นคุณค่า เห็นศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เราจะไม่ยอมให้รัฐใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมอีกต่อไป

น่าเสียใจว่านอกจากการสูญหายของคุณสมชาย ยังได้ยินเหยื่อของผู้สูญหายอีกหลายราย ไม่เว้นแม้แต่ นักต่อสู้เชื้อสายกะเหรี่ยง

พอละจี บิลลี่ รักจงเจริญ เป็นอีกรายที่ถูกทำให้หายตัวไปเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 พิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของเขาเล่าว่า บิลลี่เป็นชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่งที่ไม่มีตำแหน่งอะไร ตั้งแต่เด็กพยายามค้นหาความรู้เพื่อช่วยหมู่บ้านของตัวเองที่อยู่ในเขตอุทยานฯ จนวันหนึ่งหมู่บ้านถูกเผา ไม่มีอะไรเหลือ บิลลี่พยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ได้รับความยุติธรรม จนสมัครเป็นสมาชิก อบต.ห้วยแม่เพรียง แต่เป็น สมาชิก อบต.ได้เพียงปีกว่า บิลลี่ก็หายตัวไป

“17 เม.ย. ปี 2557 มีชาวบ้านบอกว่าเจ้าหน้าที่อุทยานควบคุมตัวไป น่าจะเพราะน้ำผึ้งป่าที่เอาลงมาด้วย แต่ก็ไม่เป็นอย่างที่คิด ไม่มีใครติดต่อบิลลี่ได้อีก”

เช้า 19 เมษายน มาแจ้งความ ที่ สภ.แก่งกระจาน เจ้าหน้าที่บอกว่า “คนถูกจับตัวไปไม่ใช่คนหาย จะมาแจ้งความได้อย่างไร” บ่ายวันเดียวกัน “เจ้าหน้าที่บอกว่าได้ประสานงานกับหัวหน้าอุทยานในพื้นที่แล้ว จับตัวจริง แต่ปล่อยไปแล้ว ไม่ได้ทำอะไร”

ครอบครัวพอละจี บิลลี่ รักจงเจริญ

ถึงอย่างนั้นพิณนภายังคงคาใจ เพราะบิลลี่ไม่ได้กลับไปหาครอบครัวที่บ้าน และเธอเองก็ไม่กล้าหาข้อมูลตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่

“ครั้งสุดท้าย บิลลี่ออกจากบ้านไปทำหน้าที่ อบต. ขี่มอเตอร์ไซค์สีเหลืองดำ ป้ายทะเบียน ขพง 988 เอากระเป๋าเป้เสื้อผ้า มือถือ และกล้องไปด้วย” พิณนภาเล่ากับเจ้าหน้าที่ ก่อนจะเผยว่า “หนูเล่าจบและเริ่มต้นใหม่ วนไปวนมา เขาบอกว่า ‘หนูใจเย็นๆ ค่อยๆ คิดค่อยๆ พูด’ หนูนึกในใจว่าทำไมต้องถามอย่างนั้นเพราะหนูไม่ได้งง ทำไมต้องถามวนไปวนมา”

นอกจากนี้ พิณนภายังไปยื่นหนังสือที่ศาลอาญา จ.เพชรบุรี ให้หัวหน้าอุทยานออกนอกพื้นที่เพื่อความโปร่งใสในการค้นหาตัวบิลลี่ แต่ก็ไม่มีหลักฐานเพียงพอ จึงไปกองพิสูจน์หลักฐาน และเดินหน้าขึ้นศาล

“ไปศาลชั้นต้นก็ยกคำร้อง ยื่นศาลอุทธรณ์ก็ยกคำร้อง ยื่นศาลฎีกาก็ยกคำร้อง เพราะไม่มีหลักฐานเพียงพอ”

อดิศร โพธิ์อ่าน ลูกชาย ทนง โพธิ์อ่าน

ด้าน อดิศร โพธิ์อ่าน พูดถึงผู้เป็นพ่อว่า ประเทศไทยมีกฎหมายแรงงานและประกันสังคมเพราะ ทนง โพธิ์อ่าน เนื่องจากเป็นผู้นำแรงงานที่มีบทบาทสูงมากในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ

“พ่อของผมถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ.2534 หลังจากนั้นครอบครัวเหมือนตกนรก ชีวิตที่เคยดีก็พังทุกอย่างเพราะหัวหลักไม่อยู่ ผมไม่ได้เรียนหนังสือ น้องคนกลางเป็นเนื้องอกในสมอง คุณแม่เป็นพยาบาลได้เงินเดือน 8,000 บาท ต้องมาเลี้ยงลูกถึง 3 คน ตกนรกมาถึง 12 ปี ทั้งที่มีข้อมูลหลักฐานทุกอย่าง ถามว่ารัฐบาลช่วยเหลือเยียวยาอะไรหรือไม่ ล่าสุดเมื่อเดือนก่อนกระทรวงยุติธรรมติดต่อเข้ามาช่วยเหลือ ผมตอบกลับไปว่า ‘ควรช่วยผมในวันที่ผมลำบาก ไม่ใช่เอาข้าวมาให้กินในวันที่เขาอิ่มแล้ว’ วันนี้สิ่งที่ต้องการคือนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ อย่างอื่นไม่เอาแล้ว”

กระนั้นคดีก็ไม่มีความคืบหน้า อดิศรได้เพียงตัดพ้อว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” จึงต้องพึ่งตัวเองในทุกวิถีทาง เพราะรัฐบาลไม่ได้ใส่ใจและเยียวยา

นี่เป็นอีกแรงจูงใจให้อดิศรลงเล่นการเมือง ด้วยมุ่งมั่นผลักดันกฎหมายผู้สูญหายและผู้ถูกกระทำ ในประเทศไทยให้เกิดขึ้นจริง

ซุยเม็ง เอิง ภรรยา สมบัด สมพอน

อีกหนึ่งภรรยาของเหยื่ออุ้มหาย ซุยเม็ง เอิง นักสิทธิมนุษยชนชาวลาว ภรรยาของ สมบัด สมพอน กล่าวในฐานะของผู้ที่ถูกบังคับให้สูญเสียสามีว่า “ฉันเข้าใจดีว่าคุณอังคณาและครอบครัวอื่นๆ ต้องผ่านอะไรมาบ้างในช่วง 15 ปี เพราะฉันก็ต้องผ่านความเจ็บปวดเช่นเดียวกัน”

“สมบัด สมพอน ถูกบังคับให้สูญหายเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2012 เกือบ 7 ปี แล้ว ที่คุณอังคณาได้ยื่นมือเข้ามาในช่วงที่ฉันอยู่ในภาวะเศร้าอย่างมาก และมืดบอดหนทาง”

ซุยเม็งเปิดเผยความรู้สึกว่า เวลาที่เห็นครอบครัวของบุคคลที่สูญหายนั่งอยู่รอบตัว ก็รู้สึกโมโหกับกระบวนการยุติธรรมที่ไม่มีกับเหยื่อและครอบครัว และอาชญากรรมเช่นนี้ยังสามารถดำเนินต่อไปได้ ประชาชนทั่วไปคาดหวังให้รัฐสนับสนุนและปกป้อง ไม่ใช่ทำให้รู้สึกว่าคนที่เรารักยืนอยู่ตรงข้ามกับกฎหมาย

“สมชาย นีละไพจิตร เป็นทนายความนักสิทธิมนุษยชนที่มีชื่อเสียง เป็นผู้รณรงค์สิทธิทางด้านกฎหมายให้ชาวมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนใต้ ต่อต้านหน่วยงานรัฐเพื่อให้ยุติการทรมาน แล้วเขาก็ถูกบังคับให้สูญหายไป สมบัด สมพอน เป็นนำชุมชนที่ได้รับความนับถืออย่างมาก เป็นผู้รณรงค์อย่างแข็งขันเพื่อการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสิทธิที่ดินสำหรับคนยากจนในประเทศลาว และ พอละจี บิลลี่ รักจงเจริญ คือนักกิจกรรมชาวกะเหรี่ยงที่ต่อสู้เพื่อสิทธิชนกลุ่มน้อยชาวกะเหรี่ยง เพื่อให้มีสิทธิและเข้าถึงที่ดินในผืนป่าที่บรรพบุรุษได้อยู่มาอย่างยาวนาน รวมถึงทรัพยากรสิ่งแวดล้อม คำถามคือบุคคลเหล่านี้เป็นอาชญากรอย่างนั้นหรือ หรือเขาเป็นเพียงคนที่มีความสนใจทางสังคม และพร้อมยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิของบุคคล ในสังคมที่ไม่มีสิทธิไม่มีเสียง”

“นี่คืออาชญากรรมและความอยุติธรรมของการบังคับให้บุคคลสูญหาย และนี่คือเหตุผลที่ขอยืนหยัดเป็นพันธมิตรกับคุณอังคณาและครอบครัวอื่นๆ เพื่อร่วมต่อสู้อย่างไม่มีวันเหนื่อยกับกระบวนการศาลไทย เพื่อทำให้เสียงของเราได้ยิน เพื่อความจริง เพื่อความยุติธรรม” ซุยเม็งย้ำ

ประทับจิต นีละไพจิตร, จิตรกร แก้วอะโข, ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์

ก่อนที่ ประทับจิต นีละไพจิตร ลูกสาวของทนายสมชาย จะกล่าวส่งท้ายด้วยว่า

“ความทรงจำเป็นสิ่งเดียวที่ฆ่าไม่ตาย ทำอย่างไรก็ไม่มีวันสูญหายไป ทุกครอบครัวเล่าเรื่องได้ราวกับว่ามันเกิดขึ้นเมื่อเช้า

การบังคับบุคคลสูญหาย เอาทุกอย่างไปจากพวกเรา แต่ไม่มีวันพรากความกล้าหาญไปจากทุกครอบครัวได้”

“คงมีสักปีที่ไม่มีดนตรีเศร้าๆ คงมีสักปีที่เรามาร่วมกันฉลอง เพราะทุกครอบครัวได้รู้ความจริงแล้วว่าคนในครอบครัวเราหายหรือตายไปเพราะอะไร ขอให้มีสักปี ที่มีกฎหมายป้องกันคนในครอบครัวของเราให้ไม่ถูกบังคับสูญหายอีก”

ภาพวาดครอบครัวพอละจี บิลลี่ รักจงเจริญ โดย ชุมพล คำวรรณะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image