Futuration เปลี่ยนปัจจุบันให้ทันโลก หนังสือต้องมี เพื่ออยู่รอดใน ‘อนาคต’

“โลกอนาคต” ฟังแล้วอาจจะเครียด งง มองไม่เห็นภาพและหาคำตอบยากเหลือเกิน คงคล้ายๆ กับสมัยปู่ย่าตายายและพ่อแม่เรา ย้อนหลังไป 30-40 ปีที่แล้ว เขาเหล่านั้นอาจจะตั้งคำถามและเกิดอาการคล้ายกันกับผู้คนในวันนี้ เมื่อพบกับโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วแทบตั้งตัวไม่ติด จึงพะวงว่าโลกในอนาคตจะเป็นเช่นไร แล้วจะอยู่กันได้หรือไม่? อย่างไร?

ตามการกำหนดของนักวิทยาศาสตร์และนักอุตสาหกรรม แบ่งช่วงความเป็นไปของโลกโดยยึดโยงกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้เป็น 4 ยุค เริ่มจาก ยุค 1.0 คือยุคการผลิตด้วยเครื่องจักรกลไอน้ำ ประดิษฐ์เครื่องทุ่นแรงงานคน/สัตว์ ปรับปรุงพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ยุค 2.0 เป็นการนำวิทยาศาสตร์และการวิจัยมาใช้กับวงการอุตสาหกรรม เกิดพลังงานใหม่ๆ อาทิ ไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน เพื่อทดแทนเครื่องจักรกลไอน้ำ ทำให้ผลิตสินค้าที่เร็วขึ้น เกิดการผลิตแบบเอาปริมาณ (Mass Production) ยุค 3.0 เป็นยุคเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ดิจิทัล กระบวนการผลิตทุกอย่างเริ่มอัตโนมัติมากขึ้น มีการนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้แทนแรงงานมนุษย์ และ ยุค 4.0 เป็นระบบที่นำการติดต่อสื่อสารของข้อมูลมาประยุกต์ใช้ ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เป็นยุคใหม่ของการรวมพลังระหว่างเทคโนโลยีดิจิทัลควบคุมเครื่องจักร ให้เครื่องจักรสื่อสารข้อมูลกันเอง ถ้าหากเป็นไปตามการแบ่งที่กล่าวแล้ว ในอีก 20 ปีข้างหน้าโลกเราอาจจะเป็นแบบที่เห็นในหนังไซไฟทั้งหลายก็เป็นได้ ถามว่าแล้วจะทำอย่างไร?

เพื่อเป็นการตั้งรับกับโลกอนาคตที่ใกล้เข้ามา “ต้นสน-สันติธาร เสถียรไทย” นักเศรษฐศาสตร์ภาคเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ปัจจุบันรับตำแหน่ง Group Chief Economist ของกลุ่มบริษัท Sea Limited กลุ่มบริษัทที่ทำงานด้าน Digital Transformation ในภูมิภาคเอเชีย ได้รวบรวมความรู้และประสบการณ์หลายสิ่งหลายอย่าง ออกมาในรูปหนังสือเล่ม ชื่อ “Futuration เปลี่ยนปัจจุบันให้ทันโลก” พ็อคเก็ตบุ๊ก ที่เจ้าตัวบอกว่าเป็นเล่มแรกในชีวิตที่กล้าจรดปลายปากกาออกมาเป็นตัวอักษร

“ต้องบอกว่าเป็นความตั้งใจที่ผมอยากมีหนังสือเป็นของตัวเองสักเล่ม เรื่องนี้จึงเป็นเล่มแรกในชีวิต แรงบันดาลใจที่อยากเขียนเรื่องในอนาคตแบบนี้ มาจากความคิดที่ว่าตอนนี้ผมเป็นพ่อของลูกสองคน จึงอยากเห็นและอยากบอกลูกๆ ไว้แต่เนิ่นๆ ว่าหน้าตาของโลกในอนาคต โลกที่ลูกของผมจะเติบโตขึ้นมาจะเป็นอย่างไร ผมควรเตรียมตัวเตรียมใจและเตรียมความพร้อมให้ลูกๆ อย่างไรบ้าง…” เขาบอกว่าด้วยว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องน่าเกรงกลัวไม่น้อย เพราะไม่ใช่เพียงการเปลี่ยนแปลงระดับพื้นผิวของโลกปัจจุบันนี้เท่านั้น แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ลึกลงไปถึงระดับแก่นของเศรษฐกิจโลกเลยทีเดียว

Advertisement
สันติธาร เสถียรไทย

ในหนังสือบอกเล่าถึงเรื่องความเก่ากับความใหม่ คนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปจากปัจจุบัน มีบางอย่างค่อยๆ เปลี่ยน แต่บางอย่างก็แทบพลิกฝ่ามือ ไม่ว่ากระแสเทคโนโลยี การเงิน เศรษฐกิจ และการเมือง สันติธารเห็นว่าถึงโลกแปรผันแค่ไหน สุดท้ายหัวใจของการปรับตัวให้ทันก็ยังอยู่ที่ “คน” ทั้งคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่

การเชื่อมโยงระหว่างโลกยุคเก่าและโลกยุคใหม่ ที่กำลังมาในรูปแบบของ “ดาต้า” ขนาดมหาศาล ที่กลายเป็นปัจจัยการผลิตล้ำค่า จนทำให้ธุรกิจต่างๆ แย่งชิงมาอยู่ในครอบครองเสมือนดั่งทรัพยากรธรรมชาติในสมัยก่อน

“ทุกคนมีความเห็นคล้ายกันว่า การทำ Digital Transformation หลายครั้งมากที่ต้องล้มเหลวไม่เป็นท่า แม้จะใช้เงินลงทุนไปมหาศาล สาเหตุสำคัญที่ทำให้ล้มเหลวเป็นเรื่องของช่องว่างระหว่างรุ่น นี่คือกำแพงขนาดยักษ์ จากประสบการณ์ไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาครัฐหรือเอกชนก็ตาม มักมีช่องว่างระหว่างรุ่น ซึ่งทำให้เกิดความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงอย่างมากในยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่คนรุ่นเด็ก จะคุ้นเคยคล่องแคล่วกับเทคโนโลยีใหม่ๆ และชอบใช้ดาต้าบวกกับหลักวิชาที่เรียนมา นำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือกระบวนการใหม่ๆ แต่หลายครั้งเทคโนโลยีและวิธีการใหม่นี้ไม่สามารถนำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เพราะถูกคนรุ่นใหญ่เหยียบเบรกไว้ ที่น่าสนใจคือคนรุ่นใหญ่มักมีหลายเหตุผลที่ทำเช่นนั้น แต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะยังไม่คุ้นเคย และไม่แน่ใจถึงความเสี่ยงของวิธีการใหม่ว่าจะดีกับองค์กรจริงหรือไม่..” เจ้าของหนังสือกล่าว

เมื่อเป็นเช่นนั้น สิ่งที่ต้องปรับคือ “คนรุ่นใหม่และคนรุ่นใหญ่ต้องจับมือกัน” เขาว่าองค์กรจะมีประสิทธิภาพสูงสุดหากสามารถทำให้คนรุ่นใหญ่และรุ่นเด็กทำงานร่วมกันได้ จริงอยู่ที่ว่าหลายครั้งคนรุ่นใหม่ไฟแรง อาจคิดว่าความรู้ของคนรุ่นใหญ่นั้นล้าสมัยและถ่วงองค์กร แต่ความคิดแบบนี้ก็เป็นสิ่งไม่ดีเช่นกัน เพราะอาจทำให้คนรุ่นเด็กนั้นประมาทและไม่ฟังความคิดต่างมุมที่มาจากรุ่นอื่น

ในหนังสือ “Futuration เปลี่ยนปัจจุบันให้ทันโลก” จะมีตัวอย่างพฤติกรรมระหว่างคนสองรุ่น สอดแทรกให้เห็นว่าเป็นอย่างไร และเกิดอะไรขึ้นเมื่อคนสองรุ่นมองคนละมุม

“ผู้ใหญ่อาจไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง เพราะกลัวว่าจะต้องก้าวไปสู่โลกใหม่ ซึ่งความสามารถที่ตนสะสมมาอาจจะใช้ไม่ได้ หรือสุดท้ายตัวเองก็ถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี ครั้นจะกลับไปศึกษาเพิ่มเติมใหม่ ก็รู้สึกว่าอายุมากเกินไป เลยรอให้เวลาผ่านไปจนตัวเองรีไทร์ ซึ่งหากเป็นในรูปแบบอันหลังนี้ องค์กรจะเปลี่ยนได้ยาก และมีผลลบทำให้ลูกน้องที่เก่งๆ ไม่อยากอยู่เช่นกัน แต่เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้แล้วจะเข้าใจมากขึ้นก็คือ คนรุ่นใหญ่ (บางคน) ไม่ใช่ว่าไม่ใช้และไม่สนใจดาต้า เพียงแต่ว่าดาต้าของท่านเหล่านั้นถูกบันทึกลงไปในรูปแบบที่ไม่เหมือนกับคนรุ่นใหม่คุ้นเคย คือบันทึกลงไปในหัว และกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า ประสบการณ์ หรือ ความเก๋า ที่เกิดจากการสะสมมาเป็นเวลายาวนาน เพราะฉะนั้น ต้องหาทางให้คนสองรุ่นทำงานด้วยกันได้”

นอกเหนือจากเนื้อหาเกี่ยวกับการปรับตัวให้อยู่รอดในโลกอนาคต ใน “Futuration เปลี่ยนปัจจุบันให้ทันโลก” ยังรวบรวม “10 ไอเดียเตรียมสู่อนาคต” ไว้ด้วย อาทิ เรื่องของดาต้าที่เปลี่ยนขั้วอำนาจโลกไปอย่างมหาศาล หรือรัฐบาลในยุคของดาต้า และเรื่องของ Cryptocurrency เงินในโลกออนไลน์ เป็นต้น

สำหรับ “สันติธาร” เขาเริ่มต้นเขียนบทความให้กับมติชนผ่านหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ จากคนที่เขียนภาษาไทยสลับไป-มา กลับหน้ากลับหลัง ระหว่างคำนามและคำคุณศัพท์ เพราะมากกว่าครึ่งชีวิตอยู่ในต่างประเทศ แต่ด้วยความตั้งใจจริงและฝึกฝนภาษาไทยอย่างเอาเป็นเอาตาย บวกกับแรงบันดาลใจอย่างที่เขาบอก จนที่สุดทำให้เกิดหนังสือเล่มนี้ขึ้น ซึ่งเป็นเล่มแรกของชีวิต ถึงตอนนี้คงไม่ต้องเอ่ยว่าสันติธารเป็นลูกเต้าเหล่าใคร เชื้อพงศ์วงศ์ไหน สำคัญอยู่ที่ในวันที่โลกซับซ้อนมากยิ่งขึ้นนี้ “ต้นสน-สันติธาร” กล้าคิด กล้าวิเคราะห์ และพยายามมองภาพอนาคตให้ออกด้วยสติและความถ่อมตน

โลกกำลังผลัดใบ ผู้นำของเศรษฐกิจโลกก็กำลังเปลี่ยนมือเช่นกัน ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่ไม่รอใครนี้ “คน” กำลังเผชิญความท้าทายอย่างไม่เคยมีมาก่อน “Futuration เปลี่ยนปัจจุบันให้ทันโลก” หนังสือที่ต้องมี เพื่ออยู่รอดในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image