‘พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า’ พิพิธภัณฑ์มีชีวิต หนึ่งเดียวในอาเซียน ยิ่งใหญ่ระดับโลก

แหล่งเรียนรู้แห่งใหม่ของเยาวชนไทย กำลังเป็นความจริง

เพราะเหลือเวลาแค่ไม่กี่เดือน พิพิธภัณฑ์พระราม เก้า ภายใต้การดำเนินการขององค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์

ทุกคนจะได้รู้ว่านับตั้งแต่มนุษย์เราเกิดมาในยุคแรกๆ พวกเขาต้องต่อสู้กับธรรมชาติอย่างไรบ้างกว่าจะถึงปัจจุบัน

พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตในประเทศไทย ซึ่งกำลังจะกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่ดีที่สุด และยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียนนั้นเป็นอย่างไร

Advertisement

พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รักษาการรัฐมนตรี วท. กล่าวว่า ขณะนี้การดำเนินการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์พระรามเก้าคืบหน้าไปมากกว่า 90% คาดว่าปลายเดือนมีนาคม 2562 จะแล้วเสร็จทั้งหมด และในเดือนมิถุนายน 2562 จะมีการเปิดพิพิธภัณฑ์อย่างไม่เป็นทางการ ให้ประชาชนเข้าชม เพื่อทดสอบระบบการให้บริการต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์ ก่อนที่จะเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบในช่วงปลายปี 2562 นี้

Advertisement

“พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะเป็นสถานที่เรียนรู้ขนาดใหญ่ที่สำคัญของประเทศไทย ด้านนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญ จะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต มีเนื้อหาสาระที่นำเสนอผ่านนิทรรศการที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม นำเสนอผ่านหลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ใน 3 ส่วนสำคัญ ประกอบด้วย 1.บ้านของเรา นำเสนอการก่อกำเนิดจักรวาล ระบบสุริยะและโลก วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตจนถึงกำเนิดมนุษย์ 2.ชีวิตของเรา นำเสนอสิ่งแวดล้อมและการปรับตัวของมนุษย์ให้เข้ากับระบบนิเวศ และ 3.พระราชาของเรา เพื่อแสดงให้เห็นถึงหลักคิด วิธีการทรงงาน และกระบวนการค้นหาคำตอบตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของพระองค์ที่ทรงนำไปแก้ปัญหาหรือพระราชทานแก่พสกนิกรพื้นที่ต่างๆ เพื่อการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืน”

รักษาการรัฐมนตรี วท.กล่าวอีกว่า พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า ยังจะเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 3 ของโลก ด้วยมีเนื้อที่กว่า 47,400 ตารางเมตร ดังนั้น วท.จะผลักดัน ยกระดับให้พิพิธภัณฑ์พระรามเก้ากลายเป็นศูนย์กลางหรือฮับ (Hub) การเรียนรู้ด้านนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมของอาเซียน เพราะเรื่องราวภายในพิพิธภัณฑ์ได้ทำการร้อยเรียงความคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์และความสมดุลของชีวิตบนโลก นับตั้งแต่การเกิดขึ้นของจักรวาลซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสรรพสิ่งไปจนถึงวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม การเรียงร้อยเรื่องราวดังกล่าวดำเนินอยู่บนแกนความคิดซึ่งถอดมาจากแนวพระราชดำริ ทั้งยังเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่รวบรวมนำเสนอข้อมูลทรัพยากรน้ำในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมทั้งการจัดแสดงระบบนิเวศของไทยและของโลกที่สมบูรณ์ที่สุดอีกด้วย

พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์

“เราพยายามให้บริเวณคลอง 5 เทคโนธานี เป็นเหมือนศูนย์รวมของพิพิธภัณฑ์ เนื่องจากมีพิพิธภัณฑ์ต่างๆ มากมายไปตั้งอยู่ รวมถึงหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ และที่สำคัญจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงกับอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) ทำให้เกิดเป็นเมืองวิทยาศาสตร์ ในพื้นที่ จ.ปทุมธานี ซึ่งจะเป็นแห่งแรกของประเทศไทย

ที่สำคัญ ขณะนี้ประเทศไทยกำลังมีเชื่อมโยงระบบเครือข่ายสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะระบบขนส่งคมนาคม รถไฟฟ้าถึงรังสิต คลองหลวง ทำให้สะดวกต่อการเดินทางเข้าสู่พิพิธภัณฑ์พระรามเก้าและอื่นๆ ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกันได้สะดวกยิ่งขึ้น ไม่ต้องพูดถึงการจะมีสวนสัตว์ดุสิตที่จะเสร็จสมบูรณ์ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้บริเวณคลอง 5 กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศแห่งหนึ่ง” นายพิเชฐกล่าว และว่า อพวช.ยังมีความร่วมมือกับพิพิธภัณฑ์ทั่วโลก ซึ่งจะเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายการเรียนรู้ขนาดใหญ่ผ่านระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งจะทำให้เกิดการหมุนเวียนระหว่างพิพิธภัณฑ์อีกด้วย”

ด้าน ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการ อพวช.กล่าวว่า ภายในปี 2562 เราจะได้เห็นและสัมผัสกับพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า ที่ทันสมัยและสมบูรณ์ที่สุด

ทั้งเรื่องของเนื้อหา การนำเสนอและระบบเทคโนโลยี ที่สำคัญพวกเราจะได้เป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมกันสืบทอดตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หรือในหลวงรัชกาลที่ 9 ของเรา พระองค์ทรงงานหนักมากมายเพื่อประโยชน์สุขของเราชาวไทยมาเป็นเวลายาวนานตลอด 70 ปีที่ทรงครองราชย์

ผอ.อพวช.กล่าวต่อว่า สำหรับระบบขนส่งมวลชนมีความสำคัญมากในการนำผู้เข้าชมให้เข้ามาเรียนรู้และร่วมกิจกรรมของ อพวช. ซึ่งมีกิจกรรมหมุนเวียนตลอดทั้งปี ขณะนี้ อพวช.กำลังเจรจากับจังหวัดปทุมธานี เพื่อเตรียมแผนการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนไว้รองรับพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่

โดยในระยะแรกจะพัฒนาปรับปรุงเส้นทางรวมทั้งการเข้ามาร่วมให้บริการจาก ขสมก. ส่วนในระยะยาวจะได้หารือกับ สนข. เพื่อพัฒนาระบบรางสายรอง เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายหลักต่อไป


 

ตัวอย่างนิทรรศการที่ไม่ควรพลาดชม

Evolution and Mass Extinction Human Odyssey

ในห้วงเวลาแห่งวิวัฒนาการอันยาวนานของสิ่งมีชีวิต สายพันธุ์มนุษย์ได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อใด มีชีวิตและความเป็นอยู่อย่างไร และเผ่าพันธุ์ของเราจะเป็นอย่างไรต่อไป เป็นคำถามสำคัญที่สามารถหาคำตอบได้จากส่วนจัดแสดงนี้ ผ่านตัวอย่างมนุษย์สายพันธุ์หลักๆ ที่แสดงถึงวิวัฒนาการทางกายภาพ จนกระทั่งมนุษย์สามารถยืนตัวตรงเดินสองขาได้อย่างมั่นคง รวมไปถึงการใช้มือที่มีลักษณะพิเศษ และสติปัญญาในการสร้างสรรค์วัฒนธรรมเพื่อปรับตัวและอยู่รอดตามสภาพแวดล้อมของโลกที่แตกต่างกันออกไป

Human Odysse OUR LIFE

แสดงสภาพแวดล้อมและการปรับตัวของสิ่งมีชีวิตรวมถึงมนุษย์ ภายในชีวนิเวศต่างๆ ได้แก่ เขตขั้วโลกเหนือ เขตขั้วโลกใต้ เขตทุนดราป่าเขตหนาว ทะเลทราย เขตอบอุ่น และเขตป่าฝนตลอดจนอิทธิพลของมนุษย์ต่อสภาพแวดล้อมนั้นๆ ซึ่งบางกิจกรรมก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบต่อระบบนิเวศ นอกจากนี้ยังจัดแสดงเขตภูมินิเวศของประเทศไทย ที่จำลองป่าไม้ที่มีความแตกต่างกัน 4 แห่ง ได้แก่ ป่าดิบเขา ป่าเต็งรัง ป่าดิบชื้น และป่าพรุ สำหรับพื้นที่ภายนอกอาคารทำการจำลองพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งเป็นระบบนิเวศดั้งเดิมของทุ่งรังสิต

Antarctica

ชีวนิเวศบริเวณขั้วโลกใต้ที่ไม่มีมนุษย์อาศัยอยู่อย่างถาวรยกเว้นนักวิทยาศาสตร์ที่เข้าไปศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโลกและสิ่งมีชีวิตเนื่องจากมีความหนาวเย็นมาก อุณหภูมิต่ำสุดอยู่ระหว่าง 48-49 องศาเซลเซียส อย่างไรก็ตามมีสิ่งมีชีวิตบางชนิดทั้งพืชและสัตว์ที่สามารถปรับตัวและดำรงชีวิตอยู่ได้ท่ามกลางสภาพอากาศอันรุนแรงนี้ แม้ Antarctica ไม่มีมนุษย์อาศัยอย่างถาวรแต่ผลกระทบจากพฤติกรรมของมนุษย์จากชีวนิเวศอื่นก็สร้างปัญหาให้เกิดขึ้นได้โดยเฉพาะปัญหารอยรั่วของชั้นโอโซน

Antarctica Arctic

เป็นชีวนิเวศที่เต็มไปด้วยน้ำแข็งและเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์ที่ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมแบบนี้ได้ เช่น วาฬ หมีขาว วอลรัส แมวน้ำ รวมทั้งมนุษย์ เช่น ชาวอินูอิท (Inuit) ซึ่งสร้างที่อยู่อาศัยชั่วคราวจากก้อนน้ำแข็ง เรียกว่า igloo ปัจจุบัน Arctic เป็นพื้นที่หนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาโลกร้อน ทำให้เกิดปรากฏการณ์น้ำแข็งละลาย

Arctic Tundra

เป็นชีวนิเวศที่มีความหนาวเย็น มีช่วงอากาศอบอุ่นสั้นมาก ประมาณ 50-60 วัน พืชส่วนใหญ่จึงเป็นพืชขนาดเล็ก เช่น หญ้ามอสส์ ดอกไม้ต่างๆ มีมนุษย์อาศัยอยู่หลายเผ่าพันธุ์ เช่น ชาว Nuatak ชาว Yupik ซึ่งดำรงชีพด้วยการเลี้ยงเรนเดียร์ความโดดเด่นที่ไม่เหมือนชีวนิเวศเขตอื่นคือการเกิดขึ้นของฝูงยุงนับล้านตัวในช่วงฤดูร้อน

Tundra Taiga

ความโดดเด่นของชีวนิเวศเขตนี้คือ แนวป่าสนขนาดใหญ่เป็นชีวนิเวศบนบกที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศแบบสุดโต่งคือมีฤดูหนาวยาวนานและมีฤดูร้อนช่วงสั้นๆ เป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อปัญหาสภาพแวดล้อม เช่น ไฟป่า การบุกรุกจากแมลง

Taiga Desert

มีสภาพภูมิอากาศแบบสุดโต่งในอีกลักษณะหนึ่งคือเต็มไปด้วยความแห้งแล้ง สิ่งมีชีวิตต่างๆ จึงต้องมีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด เช่น อาศัยในหลุมหรือรูการเปลี่ยนใบให้เป็นหนามของต้นกระบองเพชร

Desert Temperate

ความโดดเด่นของชีวนิเวศเขตนี้คือการมี 4 ฤดูกาล คือ ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว การปรับตัวของสิ่งมีชีวิตจึงเปลี่ยนไปตามฤดูกาล ส่วนจัดแสดงนี้นำเสนอผ่าน 5 พื้นที่ ได้แก่ Central Europe, North America, South America, Australia และ East AsiaTropical : เป็นชีวนิเวศที่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นในทุกลำดับความสูงของป่า แสงแดด และน้ำฝนมีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืช เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงและมีความแตกต่างกัน ดินเป็นทุนทางธรรมชาติที่สำคัญ ส่วนนิทรรศการนี้จึงเป็นการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับดิน เช่น คุณสมบัติของดินที่เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์ต่างๆ การบริหารจัดการดินเพื่อให้เกิดความยั่งยืนและสมดุลระหว่างมนุษย์กับทรัพยากรธรรมชาติ

น้ำ คือต้นทุนทางธรรมชาติที่สำคัญต่อการดำรงชีพของสิ่งมีชีวิต นำเสนอตั้งแต่วัฏจักรของน้ำในประเทศไทย การใช้ประโยชน์จากน้ำ แนวคิดและวิธีบริหารจัดการ รวมทั้งปัญหาของน้ำและวิธีการแก้ไข

Thailand Ecoregion

ส่วนจัดแสดงนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนจัดแสดงสำหรับการอธิบายแนวคิดและความหมายของคำว่าเขตภูมินิเวศ (Ecoregion) ซึ่งเป็นการแบ่งพื้นที่ตามความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตตามชีวภูมิศาสตร์ (Biogeography) พื้นที่อีกส่วนหนึ่งเป็นการจำลองป่าที่มีความแตกต่างกัน 4 แห่ง ได้แก่ ป่าดิบเขา ป่าเต็งรัง ป่าดิบชื้น และป่าพรุสำหรับพื้นที่ด้านนอกอาคารทำการจำลองพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งเป็นระบบนิเวศดั้งเดิมของทุ่งรังสิต

นิทรรศการสุดท้ายคือเรื่อง Thailand Ecoregion OUR KING

นำเสนอหลักคิดการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่พระองค์ทรงใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการแก้ปัญหาจากที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทั่วภูมิภาคของประเทศไทยทำให้ทรงรับทราบถึงปัญหา และเข้าใจสภาพปัญหาของพสกนิกรที่มีความหลากหลายและแตกต่างไปตามสภาพภูมิศาสตร์จนนำมาสู่การแก้ปัญหาโดยอาศัยกระบวนการวิทยาศาสตร์

ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีของนักวิทยาศาสตร์ ทรงมีวิธีคิดวิเคราะห์เพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ทรงมองความสัมพันธ์ของทั้งระบบแบบองค์รวมจึงนำมาสู่โครงการพระราชดำริมากมายหลายโครงการ ซึ่งพระเกียรติคุณและพระปรีชาสามารถเป็นที่ประจักษ์ทั้งในประเทศและสากล ดังจะเห็นได้จากการได้รับการทูลเกล้าฯถวายรางวัลจากหน่วยงานต่างๆ และการทูลเกล้าฯถวายสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ


พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า

เป็นโครงการที่ริเริ่มเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เนื่องในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 โดยคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบอนุมัติงบประมาณ 1,890 ล้านบาท เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2557 ให้ดำเนินการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า ภายใต้หัวข้อหลักในการนำเสนอคือ “พระมหากษัตริย์นักพัฒนา การอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน” เพื่อแสดงให้เห็นถึงหลักการคิด วิธีทรงงาน และกระบวนการค้นหาคำตอบ ตามกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงนำไปแก้ปัญหา พระราชทานแก่พสกนิกรในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย

พิพิธภัณฑ์พระรามเก้าแห่งนี้จะเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของคนไทยและผู้สนใจจากทั่วโลกที่นำเสนอสาระที่เป็นหลักคิด หลักการ หลักปฏิบัติในเชิงกระบวนการที่เป็นสากล

สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ทุกระบบนิเวศโดยใช้การแก้ปัญหาตามสภาพภูมิสังคมที่แตกต่างกันและการอยู่อย่างยั่งยืนกับธรรมชาติอันจะนำไปสู่การมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ระบบนิเวศ ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและการเตรียมการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างรู้เท่าทันตามแนวคิดและหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานไว้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image