ประวัติศาสตร์ใต้ผิวถนน ‘สถานีสนามไชย’ สุดยอดการก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน

ลึกลงไป 32 เมตรย่านใจกลางพื้นที่อนุรักษ์เกาะกรุงรัตนโกสินทร์ บริเวณถนนสนามไชย กรุงเทพมหานคร สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีสนามไชย ซ่อนอยู่ ณ ที่แห่งนั้นอย่างกลมกลืนลงตัว

ได้รับการขนานนามว่าเป็นสถานีรถไฟฟ้าที่สวยที่สุดในประเทศไทย ด้วยฝีมือการออกแบบของ รศ.ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) ประจำปี พ.ศ.2537 ราชบัณฑิต รังสรรค์ภายในสถานีด้วยสถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น วางผังตามแบบสถาปัตยกรรมไทยโบราณ มีเสาสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่สีขาวเรียงรายขนาบข้างทางเดิน บัวหัวเสาปิดทองคำเปลวเป็นสีทองอร่าม มีองค์และฐานเสาตามธรรมเนียมสถาปัตยกรรมไทย

อีกทั้งพื้นและผนังจำลองมาจากกำแพงพระบรมมหาราชวัง ลวดลายประจำยามประดับข้างเสา เพดานตกแต่งลายไทยเป็นลายฉลุแบบดาวล้อมเดือน ปิดด้วยทองคำเปลว ตลอดจนการออกแบบเพดานให้สูงกว่าปกติ มีความโปร่งโล่ง เสมือนท้องพระโรงมากยิ่งขึ้น

ไม่เพียงแต่ความสง่างามเท่านั้น สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสนามไชยยังเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในไทยที่ใช้เทคนิคการก่อสร้างอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาด้วยกลวิธีดำเนินงานที่บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) สุดจะภาคภูมิใจ

Advertisement

อรรถพล นิลละออ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายประสานงานและประชาสัมพันธ์ บมจ.ช. การช่าง อธิบายว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายเป็นส่วนต่อขยายจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หรือสายเฉลิมรัชมงคล ซึ่งเปิดให้บริการแล้วเมื่อปี พ.ศ.2547 โดยส่วนต่อขยายที่กำลังเกิดขึ้นต่อเนื่องจากปลายทางเดิมคือสถานีหัวลำโพงไปสถานีหลักสอง รวมทั้งปลายทางสถานีบางซื่อ ไปยังสถานีเตาปูน ซึ่งตอนนี้เปิดบริการแล้ว  สำหรับเชื่อมต่อกับสายสีม่วง ก่อนจะเปิดอีกเส้นหนึ่ง คือช่วงบางซื่อ-ท่าพระ มาบรรจบกันเป็นวงกลม

Advertisement

ทั้งนี้ เส้นทางเดินรถที่วิ่งผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาในโครงการนี้มี 2 จุด คือ สถานียกระดับ บริเวณสถานีบางโพข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปเชื่อมกับสถานีบางอ้อ และอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสถานีสนามไชยซึ่งจะลอดใต้แม่น้ำไปยังสถานีอิสรภาพ

“เราเป็นหนึ่งในผู้ร่วมสร้างทั้งหมด 6 สัญญาโครงการ สัญญาที่ 1 และ 2 เป็นเรื่องงานใต้ดิน ดูแลจากหัวลำโพงไปสนามไชย โดย ช. การช่าง รับผิดชอบการทำงานส่วนสัญญาที่ 2 คือบริเวณสถานีสนามไชยถึงท่าพระ บริเวณนี้รถไฟฟ้าจะเปลี่ยนจากใต้ดินเป็นยกระดับเข้าสู่สถานีท่าพระ ก่อนวิ่งไปทางจรัญสนิทวงศ์จนถึงหลักสอง ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของสัญญาที่ 4 โดยบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เราเรียกว่าส่วนต่อขยายด้านใต้ ตามแผนแล้วจะเปิดให้บริการช่วงเดือนกรกฎาคม 2562”

แม้จะเป็นรถไฟฟ้าใต้ดิน แถมยังลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา ทว่าส่วนลึกที่สุดของโครงการมิได้อยู่ใต้น้ำแต่อย่างใด หากแต่อยู่ระหว่างรอยต่อสถานีสนามไชยและอิสรภาพ ใกล้กับวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร นั่นคือ ปล่องระบายอากาศที่ 3 (IVS3) หรือพื้นที่อพยพฉุกเฉิน

ในเรื่องนี้อรรถพลอธิบายว่า ตามข้อกฎหมายเรื่องการก่อสร้าง หากสถานีอยู่ห่างกันตามระยะที่กำหนด และทั้ง 2 สถานีนี้สามารถเดินขึ้นได้ ต้องมีการสร้างปล่องระบายอากาศเพื่อย่นระยะอพยพในกรณีฉุกเฉิน โดยปล่องระบายอากาศที่ 3 เป็นจุดที่ลึกที่สุดของโครงการ ประมาณ 38 เมตรจากพื้นดิน

นอกเหนือจากการเป็นจุดที่ลึกที่สุดแล้ว ปล่องระบายอากาศแห่งนี้ยังใช้เป็นพื้นที่รับน้ำในระบบ โดยระบบรางน้ำทั้งหมดจะพาน้ำไหลมาที่นี่โดยธรรมชาติ ซึ่งปล่องระบายอากาศมีระบบปั๊มน้ำที่สามารถสูบออกได้โดยอัตโนมัติ

“ตัวสถานีสนามไชยมีการก่อสร้าง 2 อุโมงค์ ซึ่งเป็นอุโมงค์คู่ขนาน อุโมงค์โดยสารจากฝั่งพระนครมาฝั่งธนบุรีคืออุโมงค์เวสต์บาวด์ (Westbound) อีกอุโมงค์คืออีสต์บาวด์ (Eastbound) ซึ่ง ช.การช่าง ส่งงานไปแล้วตั้งแต่เดือนกันยายน 2559 ขณะนี้อยู่ในช่วงดำเนินการเรื่องระบบเพื่อเดินรถ อย่างไรก็ตาม สถานีสนามไชยอยู่ใต้ถนนสนามไชย มีจุดสำคัญใกล้เคียง อาทิ โรงเรียน ปากคลองตลาด แม่น้ำเจ้าพระยา ตัวสถานียาว 270 เมตร ลึกประมาณ 32 เมตร มีทางขึ้นลง 5 จุด หนึ่งในนั้นคือหน้ามิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ ที่สำคัญคือพื้นที่บริเวณนี้เป็นเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ ดังนั้น ก่อนเริ่มก่อสร้างทางกรมศิลปากรได้กำกับมาว่าต้องมีการสำรวจทางโบราณคดีก่อน”

จากนี้ไปจะเป็นการนำผู้โดยสารร่วมขบวนรถไฟผ่านอุโมงค์แม่น้ำเจ้าพระยา พาไปเรียนรู้การสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีสนามไชยพร้อมๆ กัน

อุโมงค์ทางลอดแม่น้ำเจ้าพระยา

ประวัติศาสตร์ใต้ผิวถนน

“เราพบแนวอิฐต่ำ ลักษณะเป็นชั้นค่อนข้างหนา เชื่อว่าน่าจะเป็นส่วนหลงเหลือจากการรื้อป้อมฝั่งหนึ่ง”

เมธินี จิระวัฒนา นักโบราณคดีชำนาญการ กลุ่มวิจัยและพัฒนางานโบราณคดี กองโบราณคดี กรมศิลปากร พุ่งประเด็นสำคัญ พร้อมอธิบายอย่างละเอียดว่า การขุดสำรวจทางโบราณคดีพื้นที่สถานีสนามไชยอยู่ในช่วงประมาณปี พ.ศ.2554-2555 โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ว่าจ้างบริษัทเอกชน และให้กรมศิลปากรเป็นผู้ควบคุมงาน แบ่งการขุดออกเป็น 2 ฝั่งถนน คือ ฝั่งมิวเซียมสยามและฝั่งโรงเรียนมัธยมวัดราชบพิธ ปัจจุบันจึงมีทางขึ้น-ลงในบริเวณนั้น

“แนวด้านพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ เรากำหนดตำแหน่งการขุดค้นตั้งแต่หัวมุมวัดพระเชตุน หรือหัวมุมถนน อีกด้านหนึ่งเป็นพระบรมมหาราชวัง ยาวไปจนถึงด้านสถานีตำรวจนครบาล (สน.) พระราชวัง ตรงส่วนนั้นเราพบแนวอิฐต่ำ ลักษณะเป็นชั้นค่อนข้างหนา ทั้งนี้ การก่อสร้างในสมัยก่อน นอกจากจะมีเสาเข็มแล้ว การทำให้เสาเข็มแน่นลงไปในเนื้อดินจะมีการตำอิฐให้เป็นเม็ดเพื่อแทรกลงไปตามเสาเข็ม แต่ที่เราพบนั้นมีลักษณะเป็นชั้น เชื่อว่าน่าจะเป็นส่วนที่หลงเหลือจากการรื้อป้อมฝั่งหนึ่ง

การขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณโซน 5 มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้

“หากศึกษาเรื่องกรุงเทพฯจะพบว่า มีป้อมที่สร้างฝั่งตรงข้ามกับป้อมพระราชวังเดิมในปัจจุบัน ซึ่งเป็นวังของกรุงธนบุรี อีกฝั่งหนึ่งเป็นป้อมที่สืบเนื่องมาจากปลายสมัยอยุธยา สร้างสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช คือมีป้อม 2 ฝั่ง ป้อมหนึ่งอยู่ฝั่งธนบุรี อีกฝั่งอยู่แถวๆ สน.พระราชวัง คิดว่าน่าจะเป็นซากของส่วนนั้น อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถตรวจสอบต่อไปได้ เนื่องจากพื้นที่ขุดค่อนข้างจำกัด”

ส่วนด้านข้างวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ เมธินีกล่าวว่า มีการพบแนวถนนเดิม หรือแนวแผ่นหินทรายปูไปกว่าครึ่งของถนน นึกภาพง่ายๆ คือฟุตปาธที่เราเดินอยู่ในปัจจุบันมีแนวของแผ่นหินทรายนี้อยู่ ลักษณะดังกล่าวทำให้เชื่อว่าเป็นการกำหนดพื้นที่เดิมของวัดซึ่งต่างจากตำแหน่งในปัจจุบันนี้ นั่นหมายถึง ขอบเขตของวัดในอดีตน่าจะกว้างกว่านี้ ยังไม่รวมกับภาพถ่ายเก่าที่แสดงแนวกำแพงวังกับวัดพระเชตุพน เพราะหากนำภาพมาขยายจะพบว่าแนวที่คณะกำลังขุดค้นเคยผ่านการใช้งานมาแล้ว

โบราณวัตถุต่างๆ ที่ขุดค้นพบบริเวณสถานีสนามไชย

ตลอดจนพื้นที่ของวัดเลยไปถึงมิวเซียมสยามที่เมธินีให้ข้อมูลว่า บริเวณนี้เคยเป็นพื้นที่วังของตระกูลกิติยากร เดิมทีเป็นวังของตระกูลกรมพระจันทบุรีนฤนาถ ก่อนจะเปลี่ยนไปเป็นที่ทำการกระทรวงเศรษฐการ หรือกระทรวงพาณิชย์

“ตรงวังเดิมด้านที่เราขุดต่อมา บริเวณฟุตปาธหน้ามิวเซียมสยาม เราพบหลักฐานบางส่วนซึ่งเป็นท่อน้ำแบบรางระบายน้ำ มีไม้ตีประกบเรียงอยู่ตลอดแนว ลักษณะที่เจอนี้เป็นส่วนต่อออกมาตอนขุดค้นกระทรวงพาณิชย์เดิม ทางด้านฝั่งโรงเรียนมัธยมวัดราชบพิธ เราพบชั้นขยะทับถมซ้อนกันหนาป็นเมตร ในจำนวนนั้นเราพบเศษหนังสัตว์ที่ใช้เป็นพื้นรองเท้าเปื่อยอยู่จำนวนมาก เมื่อไปตรวจสอบข้อมูลพบว่าที่แห่งนี้เคยเป็นที่ทำการของกองพลาธิการในสมัยก่อน ดังนั้น การปรากฏของสิ่งเหล่านี้แสดงว่าเคยเป็นพื้นที่ที่ถูกใช้งานในอดีต หรือใช้งานเป็นหน่วยทหาร เพราะเราเจอข้าวของที่เกี่ยวข้องกับทหารในพื้นที่ตรงนั้น”

คมนาคมล้ำสมัย บนถนนสายวัฒนธรรม

ช. การช่าง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า คณะขุดค้นได้ขุดสำรวจทั้งหมด 5 โซน รวมทั้งสิ้น 138 หลุม ในจำนวนนี้ค้นพบเปลือกหอยมุก กระดูกโครงม้า เกือกม้า แปรงขนม้า ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาประเภทเครื่องเคลือบ ฯลฯ โดยบางส่วนจะนำมาจัดแสดงภายในสถานีสนามไชย

นอกจากนี้ยังมีเหรียญและภาชนะอื่นๆ ซึ่งเมธินียืนยันว่า สิ่งของเหล่านั้นเป็นเพียงชิ้นเล็กๆ ส่วนใหญ่เป็นเศษเท่านั้น มิได้สมบูรณ์แบบ อย่างไรก็ตาม ของบางส่วนจะถูกเลือกมาจัดแสดงที่มิวเซียมสยามและบริเวณสถานีสนามไชย ซึ่งมิวเซียมสยามเป็นสถานที่หนึ่งที่กรมศิลปากรฝากเก็บของไว้

นอกเหนือจากการก่อสร้างสถานีสนามไชยด้วยเทคนิคพิเศษ แถมยังขุดพบของล้ำค่ามากมาย ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายยังมีอีก 3 สถานีที่แล่นผ่านเขตเมืองเก่า ซึ่งมีความโดดเด่นแตกต่างกัน

อรรถพล นิลละออ

ประกอบด้วย สถานีวัดมังกร ตั้งอยู่บริเวณถนนเจริญกรุงตัดกับถนนพลับพลาไชย และถนนแปลงนาม ภายในตกแต่งให้มีความกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมโดยรอบ สะท้อนถึงชุมชนชาวจีนย่านเยาวราช สถานีสามยอด ด้านในได้รับการตกแต่งสถาปัตยกรรมแบบย้อนยุคในสมัยรัชกาลที่ 6 เพื่อให้กลมกลืนกับอาคารบ้านเรือนโดยรอบ

และ สถานีอิสรภาพ สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินแห่งแรกของฝั่งธนบุรี ด้านในประดับด้วย “หงส์” สัตว์ในวรรณคดีไทยที่มีความเป็นสิริมงคลและศักดิ์สิทธิ ทั้งยังเป็นตัวแทนเชิงสัญลักษณ์ในพื้นที่อย่างวัดหงส์รัตนารามราชวรวิหารอีกด้วย

สถานีวัดมังกร

ทั้งหมดนี้ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ ตกแต่งแล้วเสร็จ 100 เปอร์เซ็นต์ เหลือเพียงติดตั้งระบบเดินรถซึ่งอีกไม่นานเกินรอ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้รับสัมปทานการให้บริการเดินรถจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะรับมอบขบวนรถ พร้อมทดสอบระบบอาณัติสัญญาณ ก่อนเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการภายในเดือนกันยายน 2562 นี้

แล้วพบกันกับการเดินทางเชื่อมต่อกรุงเทพฯ-ฝั่งธนบุรี  

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image