ขัดสนในศิวิไลซ์ ‘คนจนเมือง’ เสียงจากซอกหลืบของมหานคร

เกือบ 6 ทศวรรษ ของเส้นทางการพัฒนา นับตั้งแต่มีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ในปี พ.ศ.2504 ที่มุ่งสร้างความเจริญเพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ และลดความเหลื่อมล้ำ แต่ปัจจุบันกลับพบว่าแผนนี้กลายเป็นฟันเฟืองขนาดใหญ่ที่ขับให้ความเหลื่อมล้ำเคลื่อนไปในหลายมิติ ชนิดที่คาดไม่ถึง

ประเทศไทยติดอันดับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงสุดในโลก ความเหลื่อมล้ำยังคงมีอยู่ และจะยังคงผุดใหม่ขึ้นเรื่อยๆ ตราบเท่าที่การพัฒนายังมุ่งเป้าไปเพียงด้านเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้ย้อนมองว่าเราหลงลืมอะไรไว้บ้าง

ในบางมุม เมื่อแง้มดูเบื้องหลังของเมืองที่ดูศิวิไลซ์ จะเห็นกลุ่ม คนจน ที่ถูกบดบังไว้ใต้ฉากหน้าที่สวยงามและมั่งคั่ง กลุ่มคนเหล่านี้ถูกนิยามว่าเป็น “คนจนเมือง” ผู้เดินทางเข้าสู่เมืองใหญ่เพื่อแสวงหาโอกาสให้คุณภาพชีวิตและครอบครัวดีขึ้น แต่โอกาสไม่ได้เป็นของทุกคน จึงต้องเริ่มจากการช่วยเหลือตัวเอง ปากกัดตีนถีบ ซึ่งการเติบโตของคนจนเมืองต้องสัมพันธ์กับภาคเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ทำให้ได้รับผลกระทบต่อการประกอบอาชีพ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำ

นี่คือเหตุผลที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สนับสนุนชุดโครงการวิจัย “ความเหลื่อมล้ำและคนจนเมือง” โดยร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เพื่อมุ่งสังเคราะห์ประเด็นความเหลื่อมล้ำในมิติต่างๆ ที่กระทบต่อคนจนโดยเฉพาะในเขตเมือง

Advertisement

ไม่เพียงรายได้ แต่ยังหมายถึงอำนาจ ศักดิ์ศรี สิทธิ และโอกาส ที่เหลื่อมขั้นทับซ้อนกันจนยากจะสละออก

แล้วคนจนเมืองหน้าตาเป็นแบบไหน เป็นใครได้บ้าง?

Advertisement

“คนจนเมือง อาจหมายถึงคนที่ไม่ได้ส่งเงินให้พ่อแม่เพราะไม่พอใช้ หรืออาจหมายถึงคนที่มีความสามารถ แต่จนโอกาส คนหาบเร่แผงลอยที่หาเช้ากินค่ำ คนที่ภาวนาให้แต่ละวันมีงานเข้ามา หรือเราจะเรียกคนที่ทำงานกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน ว่าเป็นคนจนเมืองได้หรือไม่” รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล รองผู้อำนวยการด้านการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ให้คำจำกัดความนี้ ในเวทีเสวนา “เมืองซ่อนคน คนจนในซอกหลืบของเมือง” เมื่อวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

คนจนอยู่ตรงไหนใน’เศรษฐกิจพิเศษ’?

“เรามีเขตเศรษฐกิจพิเศษ 84 แห่ง แต่กระบวนการมีส่วนร่วมมีปัญหาเพราะเป็นการประชาพิจารณ์แบบทางเดียว” ผศ.ดร.สักริทร์ แซ่ภู่ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ ม.มหาสารคาม วิเคราะห์ถึงความเหลื่อมล้ำในเมืองเศรษฐกิจพิเศษ ก่อนจะอธิบายเพิ่มเติมว่า

“ประเทศไทยกำลังเคลื่อนเข้าสู่ประชาคมอาเซียน รัฐบาลผลักดันนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกระตุ้นความมั่นคงของประเทศ แต่ยังมีเสียงสะท้อนจากชาวบ้านในหลายพื้นที่ว่านี่คืออีกต้นตอของความเหลื่อมล้ำ เป็นความคิดของระบบทุนที่สร้างวาทกรรมในการพัฒนา แต่คนระดับล่างจะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง เพราะปัจจุบันมีทุน 4 ลูก คือ ทุนเศรษฐกิจ การเมือง สังคมวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม แต่เราพูดได้แค่ 2 ทุนแรก”

ผศ.ดร.สักริทร์ แซ่ภู่

ผศ.ดร.สักรินทร์จึงแนะว่า ให้ตั้งกองทุนที่มาจากผลกำไรบางอย่าง เพื่อให้ประโยชน์กลับมายังท้องถิ่นมากขึ้น โมเดลคือ ใส่กำไร 5 เปอร์เซ็นต์ จากการผลิตของภาคอุตสาหกรรมเข้าไปในกองทุน เพื่อให้ชาวบ้านนำไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ให้ดีจนสามารถแข่งขันกับตลาดได้ โดยคนในชุมชนจะต้องมีสิทธิร่วมตัดสินใจ ร่วมนิยามความหมาย ร่วมบริหารจัดการ โดยสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ และกระจายการถือครอง

“ไม่ต้องไปบอกเขาว่าพิเศษอย่างไร เพราะชุมชนพิเศษเองได้” ผศ.ดร.สักรินทร์กล่าว

เมืองอุตสาหกรรม อำนาจต่อรองที่ประชาชนไม่มี

ในขณะที่ ผศ.ดร.ปนายุ ไชยรัตนานนท์ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เปิดเผยว่า เมื่อมองเมืองอุตสาหกรรมจะเห็นความเหลื่อมล้ำหลายด้าน ทั้งการมีส่วนร่วม ที่ดิน ผังเมือง สังคม แรงงาน โครงสร้างพื้นฐาน และทรัพยากรธรรมชาติ

ยังมีความเหลื่อมล้ำ ด้านข้อมูลข่าวสารและกระบวนการยุติธรรม ทำให้กลุ่มทุนมีบทบาทในการต่อรองเพื่อเป้าหมายในการพัฒนาพื้นที่ต่างๆ การเกิดเมืองอุตสาหกรรมจึงเป็นรูปแบบ ท็อปดาวน์ ประชาชนไม่มีอำนาจต่อรอง

4 ทางแก้ คือ “ประชาชนต้องมีส่วนร่วมกับเข้ามาของอุตสาหกรรมในพื้นที่ชุมชน” “ต้องทำข้อมูลที่ดินเพื่อนำไปสู่การวางผังเมือง” และเพื่อรู้ว่าแต่ละพื้นที่ถือครองในลักษณะใดบ้าง “ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการวางผังเมือง” มีมาตรการชดเชยการลดภาษี และจำกัดการถือครองที่ดินของกลุ่มทุน “หากจะตั้งโรงงานอุตสาหกรรมจะต้องเปิดเผยข้อมูลการผลิต” เพื่อที่ประชาชนจะสามารถวางแผนป้องกันเมื่อเกิดอันตรายได้

ผศ.ดร.ปนายุ ไชยรัตนานนท์

เมืองศูนย์กลาง มูลค่าคนไม่เท่ามูลค่าเมือง

อีกหนึ่งนักวิจัยอิสระ ดร.กฤษณะ แพทย์จะเกร็ง เปิดเผยว่า เราพบความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงที่อยู่อาศัยของแรงงานนอกระบบในเมืองท่องเที่ยว คนจนเมืองในเมืองท่องเที่ยว เป็นคนจนทางด้านสิทธิและโอกาส เพราะ เมืองท่องเที่ยวเติบโตด้วยเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ทำให้ต้องการแรงงาน คนอพยพเข้าทำงาน แต่ไม่มีความมั่นคงทางด้านที่อยู่อาศัย ที่ดินแพง แรงงานนอกระบบไม่มีความมั่นคงทางรายได้ จึงกลายเป็นเรื่องยากในการเข้าถึงที่อยู่อาศัย เพราะไม่สามารถยื่นขออนุมัติซื้อบ้านได้

ดร.กฤษณะแนะว่า มี 3 ทางที่จะอุดช่องว่างนี้ได้คือ ต้อง พัฒนาสมรรถนะแรงงานนอกระบบให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เสริมสร้างโอกาสในการเข้าถึงที่อยู่อาศัย และ พัฒนาคุณภาพชีวิตและสวัสดิการ เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน

โดย เพิ่มรูปแบบที่อยู่อาศัย เพื่อให้เหมาะกับกลุ่มแรงงานที่มีสถานะที่แตกต่าง สร้างระบบการเงินที่มีความยืดหยุ่น เพื่อลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนด้านรายได้ ต่อด้วยการติดตามและประเมินผล เพื่อทราบถึงสถานการณ์และสร้างความโปร่งใส

มาถึงประเด็นที่พลาดไม่ได้ อย่างชุมชนย่านประวัติศาสตร์ที่สุดท้าย หลายต่อหลายแห่งถูกทำลายลงอย่างน่าเสียดาย

“ผลักคนออกจากพื้นที่ประวัติศาสตร์ แต่บอกว่ากรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีความหลายหลาย งดงาม อุดมไปด้วยวิถีชีวิตและประวัติศาสตร์ ความย้อนแย้งนี้ปรากฏต่อเนื่อง”

ดร.กาญจนา เหล่าโชคชัยกุล

คือคำกล่าวของ ดร.กาญจนา เหล่าโชคชัยกุล อาจารย์จากวิทยาลัยนวัตกรรม ม.ธรรมศาสตร์ ซึ่งนำเสนอว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจสำคัญกว่าคุณค่าของคน เพราะคนทำให้เมืองเติบโต แต่เศรษฐกิจกลับหักคนทิ้งออกไป

“ปัญหาหนักสุดคือชุมชนวัฒนธรรมและย่านประวัติศาสตร์ ในอนาคตอาจหลงเหลือเพียงตัวอักษร 50 ปีที่ผ่านมา เมื่อมีนโยบายเกี่ยวกับเมืองศูนย์กลางและคาบเกี่ยวกับเศรษฐกิจ ชุมชนเก่าจำนวนมากถูกขับโดยการพัฒนาคมนาคมและพื้นที่เศรษฐกิจ เรากลายเป็นผู้ขัดขวางการพัฒนาเมือง แต่ถ้าสนับสนุน เท่ากับว่าเรากำลังสูญเสียคุณค่าที่ไม่เคยถูกนิยาม”

“เราพร้อมที่จะขายประวัติศาสตร์อันยาวนาน แต่เราไม่พร้อมที่จะให้พื้นที่ในการอนุรักษ์ จะต้องรวมเอาวิถีชีวิตเข้าไปในการพัฒนา คนในชุมชนต้องไม่เพียงนั่งฟังเฉยๆ แต่ต้องมีส่วนร่วม ต้องผลักดันโครงสร้างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการนิยามตัวเอง” ดร.กาญจนาย้ำแนวทาง ก่อนจะกล่าวส่งท้าย

“เมื่อวันหนึ่งเราเห็นคุณค่าคนได้ท่ากับมูลค่าของเมือง เมืองศูนย์กลางจะมีความหลากหลาย มีทั้งมูลค่าเศรษฐกิจ และมูลค่าของความเป็นคนด้วย”

ความเห็นของนักวิชาการท่านนี้สอดคล้องกับเสียงของตัวแทนชาวบ้านจากชุมชนป้อมมหากาฬซึ่งถูกรื้อทำลายลงเมื่อเดือนเมษายน 2561

พรเทพ บูรณบุรีเดช

พรเทพ บูรณบุรีเดช อดีตรองประธานชุมชนป้อมมหากาฬ มองว่า ในการพัฒนาเมือง คนต้องอยู่รวมกับเมืองด้วย ไม่ใช่เหลือแค่วัตถุ การพัฒนาต้องไปควบคู่กัน ชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ

“เขาบอกว่าคนในชุมชนไม่ใช่คนรัตนโกสินทร์จึงอยู่ที่ป้อมมหากาฬไม่ได้ เราไม่ใช่คนรากเหง้าเดิมเพราะเขาย้ายออกไปหมดแล้ว แต่เรามีวัฒนธรรม มีการเรียนรู้ บางคนไม่เข้าใจว่าเราอยู่ได้อย่างไร รกมีแต่ขยะ ต้องใช้กฎหมายเวนคืน ปี 2535 จัดการอย่างเดียว ที่ดินของตัวเองและที่ดินวัดก็อาจต้องถูกโดนเวนคืน ทั้งที่การพัฒนาเมืองต้องเห็นคนสำคัญ อย่าทำลายล้างคนออกให้เหลือแต่วัตถุ”

จนโอกาส ขาดสิทธิ ขาดเสียง

มาถึงปากเสียงของผู้ร่วมฟังในงานอย่าง “พี่เกียว” ซึ่งออกตัวเน้นย้ำว่า “มาเอง ไม่ได้เป็นชุมชนจัดตั้ง”

“เมื่อดูๆ แล้วพวกเราจนเหมือนกัน ไม่ได้จนเพราะขัดสนเงินทองหรือโอกาสทำมาหากินเท่านั้น แต่เราขัดสนโอกาสและขัดสนสิทธิเสียงบางอย่าง

ที่ผ่านมาไม่เคยเห็นว่าประชาชนเจ้าของประเทศได้ประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหรือพัฒนาเมือง ยิ่งพัฒนาเหมือนเราจะยิ่งจน

ค่าใช้จ่าย 1 ใน 3 หมดไปกับค่าเดินทาง ข้าวแกงริมถนนที่เคยกิน 20-30 บาท ก็ถูกกวาดล้างไปเรื่อยๆ ชุมชนเล็กๆ ที่เคยเป็นแหล่งข้าวปลาอาหารถูกไร่ลื้อ ไม่แน่ใจว่าเราอยู่ในประเทศของเรา หรือเราเป็นเชลยกันแน่เพราะต้องถูกไล่ที่”

“ทุกการพัฒนาตอบสนองผู้มีอำนาจและทุนนิยม ทำไมรถไฟฟ้าต้องเข้าย่านสุขุมวิท หรือสีลม บ้านเล็กเมืองน้อยต้องหายกลายเป็นคอนโดตึกสูง ชุมชนที่เคยอยู่ก็ถูกไล่รื้อ” พี่เกียวย้ำ และยังตั้งคำถามด้วยว่า การพัฒนาเมืองคืออะไรกันแน่ ถนนเส้นเล็กๆ ก็สามารถเอาห้างยักษ์ไปยัดลงได้ สร้างสถานีรถไฟฟ้า 3 สถานีเพื่อขนคนมาเข้าห้าง นี่หรือคือการพัฒนาเพื่อประโยชน์ประชาชน ความจนไม่ใช่เพราะขัดสนเงินทอง แต่จนเพราะขาดโอกาส ขาดการเข้าถึง ขาดสิทธิ ขาดเสียง

อีกหนึ่งเสียงที่สนับสนุนความเห็นข้างต้น คือ รัฐศักดิ์ นาคมณี ประชาชนคนหนึ่งซึ่งบอกว่า “จริงอย่างยิ่ง ที่การพัฒนานำไปสู่ความจน”

“วันนี้เรากำลังเดินหน้าไปสู่หายนะ แม้แต่กะเพราสักกำก็หยิบซื้อไม่ได้ ผมคือคนหนึ่งที่จน แต่ถูกหุ้มด้วยเสื้อผ้า ผมคือกลุ่มก้อนของประชาชนที่พวกท่านไม่เอา เพราะท่านต้องการเศรษฐกิจและความเจริญรุ่งเรือง แต่ลืมประชาชนที่เป็นรากเหง้าของประเทศ วันนี้ทุกคนกำลังก้าวไปสู่เมืองที่ใหญ่โตยิ่งขึ้น แต่เงิน 30 บาท กินข้าวไม่ได้

ถ้าวันนี้ทุกคนกินข้าว แต่ทำไมเราโหยหาอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมทำให้คนที่ควรจะได้ประโยชน์ ไม่มีที่ดินทำกินพวกท่านพัฒนา แต่ลืมดูคนอย่างพวกผมว่าอยู่ตรงไหนและจะไปอย่างไร กลุ่มทุนเอาตัวเองเป็นแกนว่าจะนำพาประเทศไปสู่ความรุ่งโรจน์รุ่งเรือง แต่เรากินข้าว แผ่นดินหนัก เงินเบา วันนี้เงินหมด แต่ถ้ามีแผ่นดิน ยังปลูกข้าวปลูกหญ้าได้ ไม่มีวันอดตาย”

เหล่านี้คือเสียงสะท้อนจากปุถุชนคนธรรมดา ที่ทุกภาคส่วนไม่ควรมองข้าม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image