ไขความลับ ‘ถ้ำหลวง-ถ้ำทรายทอง’ ศึกษาสำรวจ ‘จุดเชื่อม’ ด้วยธรณีวิทยาและน้ำบาดาล

หากยังจำกันได้ ถ้ำทรายทอง คือสถานที่สำคัญในการสูบน้ำเพื่อช่วยพร่องน้ำจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ในการช่วยเหลือ 13 ชีวิตหมูป่าอะคาเดมี่ ภารกิจครั้งประวัติศาสตร์ที่โลกต้องจารึก

ไม่นานมานี้ มติชน ได้รับโอกาสลงพื้นที่ถ้ำทรายทอง อ.แม่สาย จ.เชียงราย ร่วมสังเกตการณ์ โครงการศึกษาสำรวจธรณีวิทยาและอุทกธรณีวิทยาเทือกเขาหินปูนวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน มีระยะเวลาดำเนินงาน 2 ปี ตลอดปีงบประมาณ 2562-2563

อีกหนึ่งภารกิจสำคัญที่จะช่วยไขปริศนาว่า ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนและถ้ำทรายทองมีความเชื่อมต่อกันหรือไม่?

จากความสนใจและเริ่มสำรวจถ้ำนานหลายสิบปี ชัยพร ศิริพรไพบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านถ้ำ ระบุว่า ถ้ำทรายทองเป็นเพียงปลายติ่งเท่านั้น เชื่อว่าน่าจะเป็นส่วนที่เชื่อมไปยังถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนได้ เนื่องจากพบระยะห่างกันประมาณ 50 เมตร ที่สำคัญคือทั้งสองถ้ำนี้มีระบบน้ำเชื่อมต่อกัน เพียงแต่การศึกษาสำรวจครั้งนี้ต้องการจัดทำแผนผังถ้ำอย่างละเอียด และหาว่ามีทางเชื่อมที่คนสามารถมุดเข้าไปได้หรือไม่ เพราะคุณสมบัติภายในของถ้ำคือมนุษย์ต้องสามารถมุดเข้าไปในโพรงที่เกิดจากธรรมชาติได้

Advertisement
ชัยพร ศิริพรไพบูลย์

แน่นอนว่า การศึกษาสำรวจถ้ำทรายทองและถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนเป็นเพียงจุดเริ่มต้นการสำรวจถ้ำทั่วประเทศไทยอย่างเป็นทางการเท่านั้น

ทว่าหากการสำรวจครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ซึ่งหมายถึงถ้ำทั้งสองมีความเชื่อมต่อกัน จะทำให้ความยาวถ้ำเพิ่มเป็น 1.2 กิโลเมตร จนมีลุ้นว่าวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนจะขยับสถิติความยาวขึ้นเป็นที่ 1 ของประเทศ

ตามข้อมูลของกรมทรัพยากรธรณี พบว่าปัจจุบันถ้ำที่มีความยาวที่สุดในประเทศไทยคือ ถ้ำพระวังแดง จ.พิษณุโลก มีความยาว 13,761 เมตร รองลงมาคือ ถ้ำแม่ละนา จ.แม่ฮ่องสอน มีความยาว 12,720 เมตร อันดับที่ 3 คือ ถ้ำใหญ่น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ มีความยาว 10,631 เมตร อันดับที่ 4 คือ ถ้ำหลวง จ.เชียงราย มีความยาว 10,316 เมตร และ 5.ถ้ำน้ำลาง จ.แม่ฮ่องสอน มีความยาว 8,550 เมตร และถ้ำอื่นๆ ตามลำดับ

Advertisement

จดจารเป็นประวัติศาสตร์ครั้งที่ 2

โครงการนี้เกิดจากความร่วมมือของหลายหน่วยงานภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ไม่ว่าจะเป็น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรน้ำบาดาล นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสำรวจและจัดทำแผนที่ถ้ำทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ทั้ง มาร์ติน เอลลิส (Martin Ellis) นักสำรวจถ้ำชาวอังกฤษ ผู้วาดแผนที่ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนคนแรก มาพร้อมกับ เวิร์น อันสเวิร์ธ (Vern Unsworth) นักสำรวจถ้ำชาวอังกฤษ และ โจชัว เดวิด มอร์ริส (Joshua David Morris) นักสำรวจถ้ำและปีนผาชาวอเมริกัน

ภารกิจรวบรวมคนคุณภาพซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นส่วนสำคัญในการช่วยชีวิตทีมหมูป่ามาแล้ว

“เหตุการณ์ถ้ำหลวงถือเป็นประวัติศาสตร์ ดังนั้น ความสำเร็จจากการร่วมมือกันของหลายหน่วยงานในการศึกษาสำรวจเพื่อเป็นฐานข้อมูลเรื่องถ้ำ และเพื่อสนับสนุน พร้อมเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการถ้ำทั่วประเทศครั้งนี้ ควรบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ครั้งที่ 2” นิวัติ มณีขัติย์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณีกล่าว

แผนที่ถ้ำหลวง โดย มาร์ติน เอลลิส

ก่อนจะยอมรับว่า มุมมองเรื่อง “ถ้ำ” ของกรมทรัพยากรธรณีมองเป็นรูในภูเขาเท่านั้น แต่ด้วยเหตุการณ์ถ้ำหลวงทำให้กรมไม่สามารถมองถ้ำเป็นแค่รูในภูเขาได้อีก หากแต่ต้องลงในรายละเอียด ประกอบกับนโยบายของ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ทส. เมื่อครั้งถอดบทเรียน โดยเฉพาะการเน้นเรื่องถ้ำหลวงซึ่งมีประเด็นสำคัญคือต้องฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวและดูแลรักษาความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว ควบคู่กับการทำวิจัยและพัฒนา

ขณะเดียวกันในการประชุมร่วมระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวง ทส.ได้เล็งเห็นความสำคัญของ “ถ้ำ” ซึ่งเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวได้ ดังนั้น ถ้ำจึงเป็นอีกมิติหนึ่งในการเพิ่มรายได้ให้การท่องเที่ยว

“เราได้รับความอนุเคราะห์ด้านงบประมาณจากกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล ทั้งส่วนธรณีวิทยา น้ำบาดาล และส่วนอุทยานฯ แต่สิ่งสำคัญมากกว่างบประมาณคือบุคลากรที่ทุกหน่วยพร้อมให้สรรพกำลังมาอย่างเต็มที่ รวมทั้ง ‘ผู้สื่อข่าว’ ที่เฝ้าจับตาการทำงานตลอดระยะเวลา 2 ปีของพวกเราอยู่”

เวทีเสวนา “แนวทางการสำรวจถ้ำในประเทศไทย” จากซ้ายไปขวาคือ สุวรรณา บุญกล่ำ ผู้ดำเนินรายการ, โจชัว เดวิด มอร์ริส, มาร์ติน เอลลิส, เวิร์น อันสเวิร์ธ, นิวัติ มณีขัติย์, ชัยพร ศิริพรไพบูลย์ และภาสกร ปนานนท์

จากวิกฤต ‘ทีมหมูป่า’ ถึงการสำรวจธรณีวิทยา
และอุทกธรณีวิทยาเทือกเขาหินปูน

โจชัว เดวิด มอร์ริส หรือที่หลายๆ คนเรียกเขาว่า “จอร์ช” บอกกับทุกคนเป็นภาษาไทยว่า เขาขอบคุณและรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเห็นหลายหน่วยงานบูรณาการร่วมกัน จนเกิดเป็นแผนงานทั้งด้านน้ำบาดาล ระบบน้ำในถ้ำ การสำรวจถ้ำแบบดั้งเดิมและ 3 มิติ ซึ่งจะกลายเป็นฐานข้อมูลเพื่อใช้ในการศึกษา พัฒนา รวมทั้งสร้างโอกาสในการเป็นแหล่งท่องเที่ยวต่อไป

“ความจริงเราอาจต้องขอบคุณทีมหมูป่าที่สร้างโอกาสนี้ให้เกิดขึ้น แม้จะไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นก็ตาม แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วและยังเป็นข่าวที่ทุกคนให้ความสนใจ ดังนั้น นี่เป็นโอกาสดี เพราะอาจารย์ชัยพรและนักสำรวจถ้ำหลายๆ คนอยากทำแบบนี้มานานแล้ว เราเป็นนักสำรวจถ้ำ อยากหาจิ๊กซอว์ที่เชื่อมต่อกัน หาว่าน้ำเข้าตรงนี้แล้วจะไปออกที่ไหน และนี่อาจเป็นโอกาสร่วมพัฒนาเชิงนิเวศและกีฬา คนจะได้ออกจากบ้าน ออกจากช้อปปิ้งมอลล์ ออกจากโทรศัพท์ เพื่อไปรักธรรมชาติ ไปอยู่กับสิ่งแวดล้อม เมื่อไปอยู่กับสิ่งแวดล้อมแล้วอาจรักธรรมชาติมากยิ่งขึ้น เพื่อรักษาธรรมชาติให้มีความยั่งยืน และผมไม่ได้หมายถึงแค่ประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นทั่วโลก”

น้ำเสียงของจอร์ชเปี่ยมด้วยความขอบคุณ เขายิ้ม พร้อมกล่าวส่งท้าย

“เมื่อไหร่ที่เข้าใจธรณีวิทยาและสภาพการสร้างของถ้ำ ย่อมเป็นสิ่งที่น่าสนใจต่อการศึกษาเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังใช้ในการบริหารน้ำและการท่องเที่ยว เหมือนที่ผมบอกว่า การพัฒนาเชิงนิเวศและกีฬาอาจช่วยให้คนมีสุขภาพดีขึ้น เพราะทุกวันนี้เราติดมือถือมากเกินไป การศึกษาสำรวจครั้งนี้จะเป็นโอกาสดึงน้องๆ ที่โรงเรียนมาเรียนรู้ อาจมีบางคนที่ติดใจถ้ำเหมือนคุณเวิร์น กลายเป็นนักสำรวจถ้ำคนถัดไปที่อีก 40 ปีข้างก็ได้เป็นฮีโร่เหมือนเวิร์นและมาร์ติน

“โครงการนี้มีคุณค่าด้านวิทยาศาสตร์ แถมยังช่วยพัฒนาคน เปิดโอกาสให้มีอาชีพใหม่ เป็นแหล่งท่องเที่ยว และทุกคนจะได้ผลประโยชน์ร่วมกัน”

เจ้าหน้าที่ชุดสำรวจถ้ำร่วมถ่ายภาพบริเวณสระขุนน้ำมรกต หน้าถ้ำทรายทอง ก่อนจะเริ่มปฏิบัติภารกิจสำคัญ

แพคอุปกรณ์ พร้อมสำรวจถ้ำ

ในโครงการนี้ ชัยพรบอกว่า เขามีทีมงานจากกรมทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และกรมอุทยานฯ ที่ฝึกให้สำรวจถ้ำนานหลายปีเข้าร่วมสำรวจด้วย ส่วนหนึ่งเพราะต้องการเพิ่มจำนวนบุคลากรด้านการศึกษาถ้ำอย่างเป็นระบบ

อย่างไรก็ตาม ชัยพรและทีมงานได้เข้าไปสำรวจถ้ำทรายทองในเบื้องต้นแล้ว พบว่าบริเวณปากถ้ำมีลักษณะคล้ายหลุม พื้นถ้ำมีกองหินถล่มอยู่จำนวนมากซึ่งเกิดจากการพังทลายของเพดานและผนังถ้ำ ทั้งนี้ หากศึกษาอย่างละเอียดจะสามารถเชื่อมโยงไปถึงการเกิดแผ่นดินไหวในอดีต เพราะเมื่อหินถล่มลงมาสามารถเกิดหินงอกได้ เราสามารถนำหินงอกนั้นไปตรวจหาอายุเพื่อหาว่าแผ่นดินไหวเกิดขึ้นอย่างไร รวมทั้งการศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากอดีตจนถึงปัจจุบันได้ด้วย

“นอกจากการสำรวจถ้ำต่างๆ แล้ว ผมมั่นใจว่าถ้ำทรายทองและถ้ำหลวงมีระบบน้ำเชื่อมกันอยู่ใต้ดิน เพราะการเจาะบ่อน้ำบาดาลที่หน้าถ้ำและปากถ้ำทรายทอง เจอทั้งโพรงแห้งและโพรงน้ำ ที่สำคัญคือมีน้ำผุด น้ำพุ แสดงว่าต้องมีทางออก จึงแนะนำให้มีการสำรวจตั้งแต่โถงแรกของถ้ำหลวง โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาลและกรมทรัพยากรธรณีจะติดตั้งสถานีวัดน้ำฝนตั้งแต่หลังคาถ้ำหลวงและส่วนอื่นโดยรอบ จากนั้นวัดอัตราการไหลของน้ำในแต่ละจุด ตั้งแต่น้ำเข้าจนน้ำออกจากถ้ำ บางจุดที่ยังสงสัย เรามีเทคนิคที่เรียกว่า Tracing Techniques โดยใช้สารเรืองแสงปล่อยลงไป แล้วดักรอตามรูออกต่างๆ ก่อนจะใช้เครื่องจับเวลาที่สามารถคำนวณได้ว่าน้ำที่เข้ามาในถ้ำมีปริมาณแค่ไหน ใช้เวลาเท่าไหร่ และออกทางไหนบ้าง”

เมื่อชัยพรและทีมงานแพคกระเป๋าเตรียมพร้อมสำรวจถ้ำ ทั้งหมดเริ่มนับจำนวนคน ก่อนจะทยอยเดินเข้าถ้ำทรายทองจนหายลับไปจากสายตา

ทีมสำรวจทยอยเข้าด้านใน โดยงานนี้ผู้ไม่เกี่ยวข้องห้ามเข้า

อาณาจักรล่มสลายกลายเป็นหนองน้ำ

เป็นที่เข้าใจกันว่า แหล่งกำเนิดของแผ่นดินไหวมาจาก “รอยเลื่อนมีพลัง” จึงไม่แปลกหากครั้งหนึ่ง (หรือมากกว่านั้น) จะเคยเกิดแผ่นดินไหวในถ้ำขึ้น

รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณีเปิดเผยว่า กลุ่มรอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทยมีทั้งสิ้น 15 กลุ่ม อาทิ รอยเลื่อนแม่ลาว รอยเลื่อนพะเยา รอยเลื่อนแม่อิง รวมทั้ง รอยเลื่อนแม่จัน ซึ่งพาดผ่าน อ.แม่จัน และ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เคลื่อนตัวครั้งล่าสุดเมื่อ 1,500 ปีมาแล้ว อีกทั้งเคยเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2550 เวลา 15.56 น. ขนาด 6.3 ศูนย์กลางอยู่ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และมีอาฟเตอร์ช็อกขนาดตั้งแต่ 2.5-4.5 ริกเตอร์ กว่า 88 ครั้ง สั่นสะเทือนเรื่อยไปจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม ปีเดียวกัน

สร้างความเสียหายแก่บ้านเรือนประชาชนและสถานที่ราชการใน อ.เมือง เชียงของ เชียงแสน แม่จัน แม่สาย เทิง และ อ.ดอยหลวง จ.เชียงราย ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนและกรุงเทพมหานครรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม อ.เชียงแสน และ อ.แม่จัน จัดเป็นพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหว ดังนั้น อาคารสาธารณะ ตึกสูง และบ้านเรือนจำต้องออกแบบมาให้ต้านแรงแผ่นดินไหวขนาด 7.0 ได้

หากย้อนเวลากลับไปอีกสักนิด ค่ำคืนของวันเสาร์ เดือน 7 แรม 7 ค่ำ พ.ศ.1003 ตามพงศาวดารโยนกได้บันทึกการเกิดแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุด ทำให้อาณาจักรโยนกล่มสลายกลายเป็นหนองน้ำใหญ่ ปัจจุบันชาวบ้านเรียกบริเวณนั้นว่า “หนองหล่ม (ล่ม)” ตั้งอยู่ใน ต.จันจว้า อ.เชียงแสน

แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงเมื่อปี 1003 ทำให้อาณาจักรโยนกล่มสลายกลายเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ ปัจจุบันเรียกว่า “หน่องหล่ม (ล่ม)”

ในส่วนของกรมทรัพยากรธรณีได้ดำเนินการเจาะหลุมสำรวจบริเวณเวียงหนองหล่ม พร้อมเก็บตะกอนตัวอย่าง โดยทั้งหมดนี้ได้ประสานข้อมูลกับกรมศิลปากรอยู่ตลอดเวลา

สุวิทย์ โคสุวรรณ ผู้อำนวยการส่วนธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี แกนนำคนสำคัญในการสำรวจเวียงหนองหล่มบอกว่า พื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณนี้พบฐานเจดีย์กระจัดกระจายอยู่จำนวนมาก โดยฐานเจดีย์ที่ว่านี้ถูกก่อขึ้นมาจากพื้นดิน เมื่อขุดออกพบอิฐเรียงกันเป็นฐานอยู่มากมาย

“เราเก็บตัวอย่างออกมาจากฐานเหล่านั้น โดยอิฐตัวนี้เราวิเคราะห์วัดขนาดอายุอยู่หลายครั้ง ล่าสุดได้ให้สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ตรวจวัดอายุ ผลที่ได้คืออิฐเหล่านี้มีอายุกว่า 1,800 ปี นอกจากนี้ยังพบเศษถ้วยชามแตกละเอียดอยู่กันแบบกระจัดกระจาย จนเชื่อได้ว่าที่นี่คือเมืองและเป็นเมืองใหญ่มาก่อน”

เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องทางวิทยาศาสตร์ที่ยังรอให้มาศึกษาสำรวจต่อไป

ภายในถ้ำหลวง ณ ปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ยังคงเก็บกู้อุปกรณ์กู้ภัยเมื่อครั้งภารกิจช่วยชีวิตทีมหมูป่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image