จากไอดอลยุค 70 ถึงคุณแม่ลูกสาม ‘แอกเนส ชาน’ ลัดฟ้ามาไทย เปิดใจเลี้ยงลูกอย่างไรได้เข้าสแตนฟอร์ด

แอกเนส ชาน เล่าเคล็ดลับการเลี้ยงลูกที่มติชนอคาเดมี

การเลี้ยงลูกสักคนให้เป็นคนดี ใฝ่รู้ สามารถยืนอยู่บนลำแข้งตนเองได้โดยได้รับการยอมรับจากสังคมรอบข้าง อาจไม่ยากสักเท่าใดนัก แต่การจะเลี้ยงลูกถึงสามคนจนสามารถเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด มหาวิทยาลัยระดับโลก แน่นอนว่า ไม่ง่าย

และยากยิ่งนักถ้าเป็นคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องทำงานไปด้วยเลี้ยงลูกไปด้วย บอกเลยว่า ยากมาก!

เธอทำได้อย่างไรกัน เมื่อใครๆ ก็ทักก็ถาม จึงเป็นที่มาของการลุกขึ้นมาเขียนหนังสือเล่มนี้ “50 วิธีสอนลูกทั้งสามเข้าเรียนสแตนฟอร์ด” แปลโดย เกวลิน สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ภูมิใจนำเสนอและเปิดตัวอย่างเป็นทางการในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ปีนี้ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม ถึง 7 เมษายน 2562 พร้อมกับหนังสืออีกเล่มซึ่งเป็นผลงานของเธอ “อัตชีวประวัติแอกเนส ชาน : บันทึกการเดินทาง ทวนความจำ จากเด็กน้อยขี้อายสู่สุดยอดนักร้องระดับเอเชีย”

เป็นหนังสือ 2 เล่มในบรรดาหนังสืออีกราว 90 เล่ม ที่เธอเขียน

Advertisement

‘แอกเนส ชาน’ มากกว่าซุปเปอร์สตาร์ยุคเบบี้บูม

แอกเนส ชาน คือใคร?

คนรุ่นใหญ่ยุคอาบน้ำร้อนมาก่อนรู้จักดี เป็นนักร้องเพลงป๊อปชาวฮ่องกงยุคเซเวนตี้ ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุเพียง 17 ปี ไม่เพียงแต่ออกเทป แสดงคอนเสิร์ต ยังมีงานแสดงภาพยนตร์ เธอโด่งดังกระทั่งค่ายเพลงในญี่ปุ่นทาบทามให้ไปร่วมงาน และกลายเป็นไอดอลที่วัยรุ่นทั่วทั้งเอเชียคลั่งไคล้ แม้แต่ในประเทศไทย วัยรุ่นหลายต่อหลายคนหยิบกีตาร์ร้องเพลงก็เพราะ “เฉิน เหม่ยหลิง” คนนี้

ทว่า ความเป็นส่วนตัวของเธอถูกรุกรานอย่างหนัก พ่อซึ่งเกรงว่าเธอจะเสียการเรียนจึงเสนอทางเลือกให้ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยโทรอนโท ประเทศแคนาดา หลังจบการศึกษาเธอกลับเข้าสู่วงการอีกครั้ง แต่ครั้งนี้มุ่งมั่นใช้เสียงเพลงสร้างสันติภาพ ในช่วงนั้นประเทศจีนเพิ่งเปิดประเทศใหม่ๆ เธออยากกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดของแม่ และกลายเป็นแรงผลักดันให้เกิดโครงการระดมทุนจัดคอนเสิร์ตขึ้นที่ประเทศจีนและก็สำเร็จลุล่วงอย่างงดงาม

แอกเนส ชาน ยังได้รับการทาบทามเป็นทูตสันถวไมตรีขององค์การยูนิเซฟ เธอเดินทางไปยังประเทศต่างๆ อย่าง เอธิโอเปีย ซีเรีย ซูดาน ไปสัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กๆ ท่ามกลางภัยสงคราม และนำประสบการณ์มาบอกเล่า ผลักดันให้เกิดการระดมทุนช่วยเหลืออย่างแข็งขัน รวมทั้งการยื่นมือเข้าช่วยเหลือเด็กที่เป็นเหยื่อค้ามนุษย์จากทั่วทุกมุมโลก ช่วยผลักดันกฎหมายห้ามการค้าประเวณีและสื่อลามกอนาจารเด็กในประเทศญี่ปุ่น

หลังสมรสกับ ชิการะ คาเนโกะ โปรดิวเซอร์ของเธอ และให้กำเนิดลูกคนแรก การพาลูกเล็กไปเลี้ยงดูด้วยที่ทำงานกลายเป็นจุดข้อวิพากษ์ของสังคมญี่ปุ่นอย่างหนัก รู้จักกันในชื่อ “ข้อวิพากษ์เหม่ยหลิง” ด้วยประเพณีของชาวญี่ปุ่นที่ถือว่า ที่ทำงานไม่ใช่ที่อยู่ของ “แม่” รวมทั้งค่านิยมในยุคนั้นที่ผู้หญิงควรเลี้ยงลูกอยู่กับบ้านเท่านั้น

ประเด็นข้อวิพากษ์นี้เองที่ทำให้ ดร.ไมรา สโตรเบอร์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เชิญเธอไปเป็นวิทยากรด้านการศึกษา และแนะนำให้เธอศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้เพื่อให้เข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้น กระทั่งสำเร็จดุษฎีบัณฑิต

ลูกทั้งสามเข้า ม.สแตนฟอร์ดคือผลพลอยได้

“มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด” ชื่อนี้ไม่มีพ่อแม่คนไหนไม่อยากให้ลูกตัวเองเข้าเรียน ถ้าไม่นับฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดนับเป็นสถาบันการศึกษาที่มีการแข่งขันสูงที่สุดเลยทีเดียว แต่เธอรวมทั้งลูกๆ ทั้งสามคนล้วนผ่านการศึกษาจากสถาบันแห่งนี้

แอกเนส ชาน เปิดใจถึงการเลี้ยงลูกทั้งสามของเธอ ซึ่งเรียกกันว่า “วิธีการสอนแบบแอกเนส” ว่า ไม่ได้ตั้งเป้าให้ลูกๆ ต้องเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด แต่การที่ลูกเข้าที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้เป็นผลลัพธ์จากการเลี้ยงดู ซึ่งไม่ใช่เป้าหมายหลัก

“ฉันสอนให้ลูกเป็นคนใฝ่เรียน แต่ไม่ได้หมายถึงต้องเรียนเก่งเพราะการเรียนเก่งหมายถึงการทำข้อสอบเก่ง”

และบอกเคล็ดลับของการเลี้ยงลูกทั้งสามว่า การสอนให้ลูกมีความเชื่อมั่นในตัวเอง (Self Esteem) คือต้องทำให้ลูกรู้จักชื่นชมตัวเอง ยอมรับจุดดีจุดด้อยของตัวเอง เพราะเมื่อเข้าใจตัวเองได้ก็จะเข้าใจผู้อื่นเป็น

“สิ่งที่สำคัญคือ พ่อแม่ต้องไม่เอาลูกตัวเองไปเปรียบเทียบกับลูกของคนอื่น ต้องมอบความรักให้ลูกร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม และทำให้เขารู้ว่าเรารักเขาในตัวตนที่เขาเป็นอยู่ เมื่อเขาสัมผัสได้ถึงสิ่งที่เรามอบให้จะทำให้เขารู้จักรักตนเอง นี่เป็นเพียงหนึ่งใน 50 วิธีของการเลี้ยงลูกที่เขียนลงในหนังสือเล่มนี้”

มีเวลาน้อย ไม่สำคัญเท่ากับให้ ‘เวลาคุณภาพ’

เป็นอีกประเด็นสำคัญสำหรับคุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่ ในฐานะคุณแม่ลูกสาม เธอบอกว่า สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่เป็นเวิร์กกิ้งแมนเวิร์กกิ้งวูแมน อย่าเพิ่งบอกว่าไม่มีเวลา เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่จำนวนชั่วโมง แต่ขึ้นอยู่กับเวลาที่ใช้ร่วมกันต้องทำอย่างเต็มที่ทุกครั้ง

“ตอนที่อาเธอร์ (ลูกชายคนโต) เด็กๆ ชอบปลามาก เกมหนึ่งที่อาเธอร์ชอบคือเกมตกปลาเขาเป็นชาวประมงตัวจริง สมัยก่อนที่พักของเราจะมีเตียง 2 ชั้น เขาจะอยู่ชั้นบนทำท่าตกปลา ส่วนฉันจะแกล้งเป็นปลาว่ายไปมาอยู่ชั้นล่าง พอเขาตกปลาได้ ฉันก็จะถามว่าลูกได้ปลาอะไร อาเธอร์บอกว่าผมตกได้ปลาหมึก ฉันก็จะทำท่าเป็นปลาหมึก แล้วถามอีกว่าแล้วเธอจะกินมันยังไง เอาไปทอด ไปทำซาชิมิครับแม่ แล้วเขาก็จะทำท่าเฉือนปลา (ฉัน) ฉันก็จะบอกว่ามันจบแล้ว แต่เขาจะบอกว่า ไม่ ผมจะตกปลาอีก แล้วเราก็จะกลับมาเล่นตกปลาอีกครั้ง แม้จะเป็นเวลาแค่ 10-15 นาที แต่เขาจะมีความสุขมากๆ และทำให้หลับฝันดีตลอดทั้งคืน”

สามีของฉันก็เป็นคนชอบตกปลาเป็นงานอดิเรก เราสามคนจะออกไปตกปลา ใช้วันหยุดร่วมกัน บางครั้งทำกับข้าวด้วยกัน ซื้อไอศกรีม ช้อปปิ้งด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กขนาดไหนที่เราใช้เวลาร่วมกันล้วนมีเป้าหมายทั้งสิ้น เช่น การเล่นตกปลาก็เพื่อให้ลูกมีความสุขและลืมความเหงาช่วงเวลาที่ไม่ได้อยู่กับแม่ หรือไปซื้อของด้วยกันก็เพื่อฝึกให้ลูกได้รู้จักการบวกลบเลข

วิธีการเลี้ยงลูกแบบแอกเนส

เรามักคุ้นเคยกับคำพูดที่ว่า ผู้ใหญ่จะคุยกัน เด็กออกไปเล่นข้างนอก แต่กับแอกเนส การเลี้ยงลูกของเธอตรงกันข้ามกับความคิดนี้อย่างสิ้นเชิง

เวลาที่เธอนัดกับเพื่อนๆ เธอมักพาลูกไปด้วย ไม่เพียงให้ลูกอยู่ร่วมในวงสนทนา แต่ยังสามารถแสดงความเห็นร่วมในการสนทนานั้นๆ ได้ด้วย

“ฉันคิดว่าเด็กๆ จะได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมายจากการพูดคุยของผู้ใหญ่ และการให้ลูกแสดงความเห็นว่าคิดเห็นอย่างไรกับหัวข้อสนทนานั้นๆ คือกระบวนการฝึกการฟัง ฝึกสมองว่าเข้าใจมั้ย และฝึกการพูดการแสดงความคิดเห็น ซึ่งลูกๆ ตอนนั้นไม่ทราบหรอกว่านี่เป็นวิธีที่พยายามปลูกฝังอะไร แต่ทำตามที่คุณแม่บอก หลังจากนั้นทุกครั้งที่เห็นว่าคุณแม่พูดคุยกับเพื่อนๆ ลูกๆ ถ้าเล่นอยู่ก็จะกลับเข้ามานั่งฟังด้วย”

รักวัวให้ผูก รักลูกอย่าตี

แล้วถ้าลูกดื้อ หรือทำผิดล่ะ จะมีวิธีการลงโทษอย่างไร? เสียงคำถามจากคุณแม่ผู้ฟังท่านหนึ่งที่เรียกรอยยิ้มกว้างจากเธอ

“ฉันไม่ตีลูก ไม่ดุลูก เพราะรู้สึกว่าวิธีเหล่านั้นไม่ถูกต้อง”

แอกเนส ชาน เล่าเคล็ดลับการเลี้ยงลูกที่มติชนอคาเดมี และ “อาเธอร์” ลูกชายคนโตบอกว่า “ตอนเด็กๆ ผมก็คิดว่าผมเองโตขึ้นมาเหมือนกับเด็กคนอื่นๆ ไม่เคยรู้เลยว่าการเติบโตขึ้นมาของผมจะอยู่ในแผนการเลี้ยงลูกที่ยอดเยี่ยมของคุณแม่”

แต่จะใช้วิธีการพูดจากันด้วยเหตุผล เพราะเวลาที่ตีลูก นอกจากจะทำให้ลูกเจ็บการที่ลูกพูดขอโทษ เราก็ยังไม่รู้ว่าลูกเข้าใจจริงๆ หรือไม่ ขณะเดียวกันอาจจะทำให้ลูกคิดว่า ลูกสามารถทำเช่นนั้นได้เมื่อแม่ไม่อยู่ เท่ากับไม่บรรลุวัตถุประสงค์

ครั้งที่นานที่สุดที่เรานั่งคุยกันตอนที่อาเธอร์ทำผิดคือ 8 ชั่วโมง!

ตอนนั้นอาเธอร์เด็กมากๆ ปัญหาตอนนั้นคือเขาพูดโกหก เขาซ่อนผลสอบไว้ในกระเป๋าโดยบอกว่ายังไม่ได้จากคุณครู กระทั่งฉันค้นเจอด้วยความบังเอิญ เขาบอกว่าเขาสอบได้ 70 คะแนนจากคะแนนเต็มร้อย จึงไม่อยากให้คุณแม่ผิดหวังในตัวเขา ฟังเท่านั้นฉันก็รู้เลยว่าฉันพลาดไปแล้ว ฉันเคยบอกเขาว่าถ้าสอบได้คะแนนดีจะทำให้ฉันมีความสุข ฉันจึงต้องอธิบายให้เขาเข้าใจว่าฉันรักเขามากแค่ไหน ไม่ว่าเขาจะเป็นอย่างไร ความรักที่ฉันมีให้เขาไม่เคยเปลี่ยนแปลง ถ้ามีปัญหาอะไร เรามาแก้ไขด้วยกัน ฉันจะไม่สนับสนุนให้ลูกทำสิ่งไม่ดี แต่ก็ไม่ได้รักลูกน้อยลงเมื่อลูกทำผิด ยังรักเขาอยู่เสมอ

สร้าง ‘เบรนเพาเวอร์’ ไม่ต้องไฮเทคโนโลยี

จำนวนเซลล์สมองของทุกคนมีเท่ากัน แต่สิ่งที่ทำให้แตกต่างคือการทำให้เซลล์สมองแต่ละเซลล์เชื่อมประสานกันให้ได้มากที่สุดยิ่งเชื่อมโยงกันมากเท่าไหร่ยิ่งทำให้เราคิดได้เร็วมากขึ้น ช่วงเวลาที่สมองจะเชื่อมต่อเซลล์แต่ละเซลล์เข้ากันได้มากที่สุดคือช่วงอายุ 0-3 ขวบ

วิธีที่ดีที่สุดคือการให้เด็กได้พบเจอสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา จะช่วยให้มีพัฒนาการทางสมองดี ซึ่งเวลาที่ดีๆ เหล่านี้มีจนกระทั่งอายุ 8 ขวบ

นี่คือสิ่งที่เรียกว่า “เบรนเพาเวอร์” แอกเนสบอก และว่า ฉันจะให้ลูกๆ ได้ทำอะไรใหม่ๆ ทุกวัน เช่น ถ้าเราไปสวนสาธารณะ บางครั้งจะเดินไป บางครั้งไปด้วยรถบัส บางทีไปตอนเช้า บางทีไปตอนเย็นแม้จะดูเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ทำให้เด็กๆ ได้พบเจอกับสิ่งใหม่ๆ มากมาย

“ทฤษฎีทางจิตวิทยาเมื่อก่อนบอกว่า เป็นการดีที่จะกำหนดตารางการเลี้ยงดูเด็กที่เหมือนๆ กันทุกวัน แต่ฉันไม่เชื่ออย่างนั้น ฉันคิดว่าการทำให้เด็กได้พบเจอสิ่งที่แตกต่างทุกวันดีกว่า”

อย่างเวลาที่กลับมาจากทำงาน บางครอบครัวอาจจะดูทีวี ให้ลูกอาบน้ำ กินข้าวแล้วเข้านอน แต่สำหรับฉัน ไม่ เราจะชวนกันออกไปข้างนอกไปเตะบอลกัน หรือไปสวนสาธารณะ บางทีขับรถไปนอนดูดาวกัน เป็นการเชื่อมสัมพันธ์ในครอบครัวอีกวิธีหนึ่งด้วย

แฟนคลับที่ตามมาร่วมงานเปิดตัวหนังสือ

เหล่านี้เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ใน 50 กลยุทธ์การเลี้ยงลูก “แบบแอกเนส” ที่เธอบอกว่า ไหนๆ ก็เรียนรู้ทฤษฎีทางจิตวิทยาเด็กมาตั้งมากมาย จึงหยิบมาทดลองใช้กับลูกๆ โดยปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสม ซึ่งลูกของเธอทั้งสามเติบโตมาแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน

“เพียงแต่ตอนที่ฉันสอนเขาก็ไม่ได้บอกว่านี่คือเป้าหมายของฉัน แต่นี่คือสิ่งที่ฉันทำให้ในฐานะของแม่”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image