ชุมทางการค้าแห่งขุนเขา พื้นที่ร่วมพุทธ-ผี ยุคล้านนา ที่อมก๋อย เชียงใหม่

ยอดเขาใกล้ๆ นั้นคือ ดอยแบแล ภูเขาศักดิ์สิทธิ์แห่งอำเภออมก๋อย

ชื่อเสียงของอำเภออมก๋อยในปัจจุบันอาจจะคุ้นหูคนทั่วไปในฐานะของแหล่งปลูกกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้าชั้นเยี่ยม แต่หากย้อนกลับไปเมื่อราวเกือบๆ 40 ปีที่แล้ว เทือกเขาในเขตอมก๋อยเป็นแหล่งลักลอบขุดหาบรรดาเครื่องถ้วยสังคโลกของไทย เครื่องลายครามจีน และลูกปัดจากหลุมฝังศพบนยอดดอยที่มีอยู่นับรวมๆ แล้วน่าจะหลายร้อยถึงพันหลุม ชุมชนหลายแห่งเป็นทั้งแหล่งจัดหาและรับซื้อแหล่งใหญ่ จนแทบจะเรียกว่าเศรษฐกิจในแถบนี้เฟื่องฟูเกินกว่าที่ใครจะคาดคิด

แม้ว่าสภาพปัจจุบันของเนินดินฝังศพในพื้นที่นี้จะแทบไม่เหลือเค้าดั้งเดิมจากการขุดหาสมบัติกันอย่างเข้มข้น แต่ร่องรอยของหลุมลักขุด เศษภาชนะข้าวของที่แตกหักและไม่มีราคา และการสัมภาษณ์ชุมชนในท้องถิ่นก็ทำให้เราพอมองเห็นเค้าลางของอดีตอันรุ่งเรืองของชุมทางการค้าโบราณบนเทือกเขาแห่งนี้ ซึ่งสัมพันธ์กับบ้านเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสุโขทัย เชียงใหม่ และพม่า

อมก๋อย แหล่งเครื่องถ้วยชั้นดีในหลุมศพ

ถ้าใครเคยไปพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ พิพิธภัณฑ์เครื่องถ้วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ม.กรุงเทพ และพิพิธภัณฑ์เอกชนอีกหลายๆ แห่งจะพบว่าเครื่องถ้วยชามสังคโลก ล้านนา และจีนชั้นดีราคาแพง ที่บางใบมีราคาหลักล้านนั้น ส่วนหนึ่งมีแหล่งที่มาจาก อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

คำถามสำคัญคือ ทำไมเครื่องถ้วยชั้นดีจึงไปพบที่นั่น?

Advertisement

ในช่วงสมัยล้านนาหรือสุโขทัยนั้น พื้นที่บนภูเขาของเทือกเขาถนนธงชัยมีกลุ่ม “ชาวเขาโบราณ” อาศัยอยู่ กลุ่มชนพวกนี้ยังมีความเชื่อเรื่องผี แต่ในขณะเดียวกันก็ได้รับศาสนาพุทธเข้ามาด้วย ซึ่งเป็นผลมาจากการติดต่อกับรัฐในพื้นที่ราบ หรือเมืองในหุบเขาที่อยู่ใกล้เคียงกัน

นินดินฝังศพรูปวงกลมที่ อ.อมก๋อย

เราไม่รู้ว่าศาสนาหรือความเชื่อของพวกเขาเรียกว่าอะไร แต่คงนับถือผี เพราะมีพิธีกรรมการบรรจุอัฐิผู้ตายลงในไห และอุทิศเครื่องถ้วยชามชั้นดี ลูกปัด และอาวุธให้กับผู้ตายด้วย โดยทั้งหมดจะฝังอัฐิของผู้ตายไว้บนยอดเขาสูง

ไม่ห่างจากยอดเขาฝังศพ ยังพบว่ามีพิธีกรรมความเชื่อหลังความตายด้วยการทำเนินดินรูปวงกลมไว้บนยอดดอยสูง เท่าที่พบ ยอดดอยที่เป็นเนินดินรูปวงกลมมักจะตั้งอยู่บนทำเลหรือ “ฮวงจุ้ย” ที่โดดเด่น สูง และสามารถมองวิวได้โดยรอบ

Advertisement

คำให้การจากนักลักลอบขุดบอกว่า เนินประเภทนี้มักไม่พบเครื่องถ้วยที่สวยงาม บางครั้งเลยเรียกกันว่า “ชามข้าวหมา” เครื่องถ้วยพวกนี้มักฝังที่กึ่งกลางของเนิน มีบ้างที่ฝังในพื้นที่รอบๆ เนิน ถึงจะมีข้อมูลจากคำให้การอยู่บ้าง แต่ก็ไม่แน่ใจว่า เนินแบบนี้ได้พบไหที่บรรจุอัฐิหรือไม่

อย่างไรก็ดี เป็นไปได้สูงว่าชาวเขาโบราณพวกนี้ มีความเชื่อเรื่องฟ้าหรือสวรรค์ เพราะฝังศพบนยอดเขาสูง และ เนินดินรูปวงกลมนี้คงเป็นลานพิธีเพื่อใช้ส่งวิญญาณผู้ตายไปสู่เมืองฟ้า

โดยประเพณีการฝังศพในเนินดินรูปวงกลมของชาวเขาโบราณนี้ ถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่ 2 พันปีจนถึงพุทธศตวรรษที่ 23 เป็นอย่างน้อย

ในขณะเดียวกันรูปแบบของการฝังศพบนยอดเขาที่เราสำรวจพบนี้ก็ไม่สามารถเหมารวมว่าเป็นรูปแบบเดียวได้ บางแห่งก็เป็นเนินดินรูปวงกลม บางแห่งก็เป็นเพียงเนินดินไร้รูปร่างตายตัว บางแห่งก็มีเพียงหลักหินปักไว้ ทำให้เราเชื่อว่ารูปแบบของเนินดิน และตำแหน่งที่พบแตกต่างกันนี้เองบ่งบอกว่ามีคนหลายวัฒนธรรมหรือหลายชาติพันธุ์อาศัยอยู่ร่วมกันในเขตอมก๋อย

ไหจากแหล่งเตาสันกำแพง ใช้สำหรับเก็บอัฐิของคนโบราณ

ดอยแบแล ความสัมพันธ์ระหว่างผีกับพุทธ

“วัฒนธรรมเนินดินรูปวงกลม” ไม่ได้พบเฉพาะที่อมก๋อย แต่พบไปทั่วภาคเหนือ ภาคตะวันตก เรื่อยไปจนถึงภาคกลางซีกตะวันตก ทว่าที่ อมก๋อยมีความพิเศษกว่าที่อื่นอยู่อย่างหนึ่งคือ ใกล้กันกับเนินดินรูปวงกลมและแหล่งฝังศพบนยอดเขา มักพบวัดเก่าและเจดีย์ขนาดเล็ก-ใหญ่ อยู่ไม่ห่างกันด้วยเสมอ

ที่ดอยแบแล ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ และเป็นแหล่งปลูกกาแฟอมก๋อยด้วยนั้น ความจริงแล้ว ในสมัยโบราณ ดอยนี้ถือว่าเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ เพราะบนยอดเขาเต็มไปด้วยแหล่งฝังศพและเนินดินรูปวงกลม บางเนินมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 30 เมตร โดยพบอยู่ที่ชั้นความสูงระดับ 1,200-1,400 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล

ความคิดเรื่องภูเขาศักดิ์สิทธิ์นี้เรายังคงสามารถสืบค้นได้จากชาวเขาในปัจจุบันหลายๆ กลุ่มที่ยังมีเรื่องเล่าและความเชื่อเกี่ยวกับภูมิทัศน์สำคัญรอบตัว เช่น ชาวกะเหรี่ยง และชาวลัวะ

ชาวกะเหรี่ยง (ปกากะญอ) ระหว่างทางขึ้นดอยแบแล

ดอยแบแลเองก็มีคุณสมบัติที่เข้าข่ายจะเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ได้ เพราะเป็นยอดเขาที่สามารถมองเห็นได้ในระยะไกลจากหุบเขาของตัวเมืองอมก๋อย รวมไปถึงหมุดหมายกำหนดทิศทางในการเดินทางของคนในท้องถิ่นซึ่งยังคงสืบทอดมาในปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นต้นน้ำอีกด้วย

ส่วนในระดับชั้นความสูงที่ต่ำลงมาของยอดเขาแบแลได้พบวัดโบราณ ซึ่งคาดกันว่าเป็นศิลปกรรมแบบล้านนา

แหล่งฝังศพ เนินดินรูปวงกลม และวัดนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างขัดเจน เพราะจากการสำรวจได้พบเศษภาชนะเคลือบ หรือที่เรียกกันว่าเครื่องถ้วยในยุคเดียวกัน ได้แก่ เครื่องถ้วยจากเตาล้านนา (เช่น เวียงกาหลง และสันกำแพง) เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง และสังคโลกจากสุโขทัย กำหนดอายุคร่าวๆ อยู่ระหว่าง พ.ศ.2000-2200

ดังนั้น จะว่าไป ดอยแบแลจึงไม่ใช่แค่แหล่งปลูกกาแฟ หากแต่ยังเป็นแหล่งประวัติศาสตร์โบราณคดีสำคัญที่ควรพัฒนาในอนาคต

แม่ตื่น เมืองปลายทางของเส้นทางการค้าบนภูเขา

คำถามต่อมาที่เราพยายามตั้งกันคือ ทำไมจึงพบเครื่องถ้วยชั้นดีมากมายในเขตอมก๋อย

ที่เมืองแม่ตื่น ซึ่งอยู่ห่างออกไปทางทิศใต้ของอำเภออมก๋อย เดิมทีเป็นเมืองล้านนาขนาดใหญ่ มีแม่น้ำตื่นซึ่งไหลไปเชื่อมต่อกับแม่น้ำปิง และถ้าข้ามเทือกเขาไปทางทิศตะวันตกก็จะสามารถเดินทางไปยังชุมชนบนที่สูงในเขตบ้านแม่ระเมิงที่เราไปสำรวจกันมาก่อนหน้า และเมืองโบราณแม่ต้านที่ริมน้ำเมย อ.ท่าสองยาง หรือสามารถเลือกที่จะไปยังแม่สอดได้

ระหว่างการสำรวจนี้เองเรายังพบชุมชนโบราณในยุคสมัยเดียวกันนี้ในพื้นที่หุบเขา หรือที่ราบระหว่างหุบเขาเล็กๆ ก่อนถึงหัวน้ำของลำน้ำสาขา กระจายอยู่ใกล้ๆ กับชุมชนที่อยู่ตามแนวเทือกเขา ทำให้พอมองเห็นภาพได้ว่าการไหลเวียนของสินค้านี้น่าจะมีจุดกระจายสินค้าขนาดย่อยที่อยู่บริเวณต้นน้ำในแนวเทือกเขา

ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจเลยที่บนภูเขาของเขตแม่ตื่นเองได้พบกับหลุมฝังศพบนยอดเขาเช่นกัน

ขวาสุด นายจำลอง ปันดอน นายก อบต.แม่ตื่น ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์
ชามใบเล็กใบน้อยจากแหล่งเตาสันกำแพง เชียงใหม่ พบจากหลุมฝังศพบนยอดเขาที่อมก๋อย
ชามเขียนลายสีดำ สมัยล้านนา จากแหล่งเตาเวียงกาหลง พบบนหลุมฝังศพบนยอดเขา

คณะสำรวจของเราโชคดีที่ได้พบกับนายก อบต.แม่ตื่น นายจำลอง ปันดอน ซึ่งอดีตเป็นพ่อค้าวัว ครู และเคยสะสมเครื่องถ้วยที่ได้จากบนยอดเขาไว้อีกด้วย ปัจจุบันเครื่องถ้วยเหล่านั้นก็นำมาจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ของ อบต.แม่ตื่น ที่มีจุดประสงค์เพื่อให้เป็นสาธารณประโยชน์ อีกทั้งยังเพื่อให้ความรู้กับคนในท้องถิ่นและประชาชนทั่วไปได้เข้าไปเยี่ยมชม

จำลองได้เล่าให้ฟังอย่างละเอียดถึงข้อมูลเส้นทางการเดินเท้าในยุคเมื่อเกือบ 50 ปีที่แล้ว เมื่อยังไม่มีเส้นทางรถตัดผ่าน ซึ่งก็ดูเหมือนจะซ้อนทับกันได้ดีกับเส้นทางการค้าสมัยโบราณ และลักษณะของหลักฐานที่พบในหลุมฝังศพ

จำลองได้เล่าว่า ที่หลุมฝังศพพวกนี้มักพบก้อนหินปักตั้งไว้ด้วย ซึ่งหินที่นายจำลองว่านี้ก็คือ หินตั้งปักหลุมฝังศพ ที่เป็นพิธีกรรมความตายดั้งเดิมของคนในอุษาคเนย์ และอาจเกี่ยวข้องกับชาวลัวะโบราณด้วย

จากประสบการณ์การเดินเท้าเพื่อค้าวัวในวัยหนุ่มของคุณจำลอง ซึ่งมีโอกาศลัดเลาะเสาะหาเส้นทางจากแม่ตื่นไปจนกระทั่งถึงตัวเมืองท่าสองยางและเทือกเขาโดยรอบ ทำให้สันนิษฐานว่าเมืองโบราณในแม่ตื่นคือชุมชนทางการค้าที่สามารถเดินทางติดต่อไปยังเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแม่สอด ท่าสองยาง แม่ระเมิง และฮอด

ตามเส้นทางที่กล่าวมา พวกเราพบว่าแหล่งฝังศพบนยอดเขาบางเส้นทางนี้นั้นพบหลุมฝังศพตลอดแนวเขาคือ เส้นทางเชื่อมระหว่างแม่ตื่น-แม่ระเมิง ดังนั้น หลุมฝังศพบนยอดเขานี้จึงเป็นเส้นทางการค้าโบราณที่ใช้สืบเนื่องมาจนถึงเมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา

จิบกาแฟอมก๋อยแท้ๆ แล้วแวะเยี่ยมเยียนพิพิธภัณฑ์โรงเรียนอมก๋อย

ถ้าใครคิดจะหากาแฟอมก๋อยแท้ๆ ดื่มสักแก้ว หน้าโรงเรียนอมก๋อยวิทยาคมมีร้านกาแฟของโรงเรียน ซึ่งเม็ดกาแฟนั้นได้มาจากแปลงปลูกต้นกาแฟหลังโรงเรียน โดยเป็นโครงการที่ส่งเสริมให้เด็กนักเรียนรู้จักการปลูกกาแฟและมีรายได้เป็นของตัวเอง

แต่โรงเรียนนี้ไม่ได้มีดีแค่กาแฟเท่านั้น หากแต่ยังมีพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเครื่องถ้วยและโบราณวัตถุต่างๆ ที่ได้มาจากเนินดินรูปวงกลม แหล่งฝังศพ โบราณสถาน และแหล่งโบราณคดีอื่นๆ อีกด้วย อาคารพิพิธภัณฑ์เป็นอาคารหลังเล็กๆ ตั้งอยู่ติดกับสนามกีฬาของโรงเรียนมีชื่อว่าอาคารศูนย์ศึกษาวัชรสกุณีประสิทธิ์

ผู้ที่เป็นตัวตั้งตัวตีและทำให้เกิดพิพิธภัณฑ์นี้ขึ้นก็คือ ครูธีระเดช เรือนแก้ว และ ครูประภาพรรณ สุภา นอกจากนี้แล้ว ยังเป็นผู้ที่สำรวจแหล่งโบราณคดีในเขตอมก๋อยเป็นจำนวนมากอย่างทุ่มเท อีกทั้งยังเป็นผู้ที่นำทางและให้ข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เขียนทั้งสองอีกด้วย

โบราณวัตถุที่พบบนดอยแบแล มีทั้งเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง ภาชนะดินเผา แวดินเผา
คณะสำรวจ ซ้ายสุด ครูธีระเดช เรือนแก้ว โรงเรียนอมก๋อยวิทยาคม, ถัดมาเป็นนักเรียนสองคน, คนกลาง อุดมลักษณ์ ฮุ่นตระกูล, ถัดมาทางขวา ครูประภาพรรณ สุภา โรงเรียนอมก๋อยวิทยาคม, ขวาสุด พิพัฒน์ กระแจะจันทร์

น่าเสียดายที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังไม่มีนิทรรศการที่พร้อมสำหรับการเปิดให้เข้าชมอย่างถาวร อันเนื่องจากภาระหน้าที่ของครูและนักเรียน และยังต้องการความช่วยเหลือทั้งข้อมูลและกำลังทรัพย์อีกมาก ซึ่งหวังว่าหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ และเอกชนจะให้การสนับสนุน เพื่อ พัฒนาให้พิพิธภัณฑ์หรือศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้กลายเป็นคลังความรู้ทางประวัติศาสตร์โบราณคดีให้กับชาวอมก๋อย ประชาชนทั่วไป และนักท่องเที่ยวได้เข้าใจอมก๋อยในมิติอื่นที่ไม่ได้มีดีเฉพาะกาแฟและวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image