คอลัมน์ โลกสองวัย : จินตนาการจากก้อนเมฆ มาเป็นตัวหนังสือ

แม้เป็นฤดูร้อน หากเกิดฝนฟ้าคะนองขึ้น ณ บริเวณใดบริเวณหนึ่งอาจเกิดฟ้าผ่าได้ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อบ่ายวันที่ 31 มีนาคม 2562 ที่บริเวณสุสานเจ็งเล็ง ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา ชลบุรี

ขณะผู้ไปทำพิธีไหว้บรรพบุรุษที่สุสานบริเวณนั้น เมื่อเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง จึงวิ่งเข้าสู่ที่หลบฝน ปรากฏว่า ขณะชายทั้ง 3 คน วิ่งเข้าหาที่หลบฝน ฟ้าได้ผ่าลงมาที่ชายทั้งสามคนล้มลงหมดสติด้วยเหตุที่ผู้ตายคนหนึ่งพกโทรศัพท์มือถือใส่กระเป๋าติดตัว 2 เครื่อง

ผู้พบเห็นเหตุการณ์จึงนำส่งโรงพยาบาล หลังจากนั้น ทั้งสามถึงแก่ชีวิต

เมื่อวานนี้ ข้าพเจ้า (ผู้เขียน) แนะนำหนังสือ “เล่มนี้มีเมฆมาก” ท้ายเล่มเป็นเรื่องสาเหตุของฟ้าผ่า มีอย่างน้อย 4 แบบ ตั้งแต่ฟ้าผ่าในก้อนเมฆ ซึ่งเกิดมากที่สุด เกิดจากก้อนเมฆหนึ่งไปยังอีกก้อนเมฆหนึ่ง เกิดจากฐานเมฆลงสู่พื้น เป็นการปลดปล่อยประจุลบออกจากก้อนเมฆ จึงเรียกว่าฟ้าผ่าแบบลบ ซึ่งเป็นฟ้าผ่าที่อันตรายต่อ คน สัตว์ และสิ่งของที่อยู่บนพื้น ฟ้าผ่าชนิดนี้จะผ่าลงได้ที่ใต้เงาเมฆของฝนฟ้าคะนองเป็นหลัก

Advertisement

และผ่าจากยอดเมฆลงสู่พื้น เรียกว่าฟ้าผ่าแบบบวก ซึ่งเรียกว่าฟ้าผ่ากลางวันแสกๆ

กรณีที่เกิดขึ้นดังข่าวข้างต้น น่าจะเป็นฟ้าผ่าแบบฐานเมฆลงสู่พื้น เมื่อเกิดฝนฟ้าคะนองจึงผ่าลงมาที่โทรศัพท์มือถือนั้น เป็นเหตุให้ผู้ที่อยู่ใกล้กันทั้งสามคนได้รับอันตราย รวมทั้งรถยนต์ที่จอดบริเวณนั้นอีก 3 คัน ได้รับความเสียหายด้วย

ทุกวันนี้ ผู้คนพากันพกพาโทรศัพท์มือถืออย่างน้อยคนละ 1 เครื่อง ทั้งยังเปิดเครื่องเพื่อรับสัญญาณตลอดเวลา เมื่ออยู่กลางแจ้งแล้วเกิดฝนฟ้าคะนองอาจเกิดฟ้าผ่าลงมาที่โทรศัพท์มือถือได้ ดังนั้น ทางที่ดี หากจำเป็นต้องออกไปกลางแจ้งซึ่งไม่แน่ใจว่าจะเกิดฝนฟ้าคะนองหรือไม่ แม้ไม่ได้เป็นฤดูฝน จึงควรปิดสัญญาณโทรศัพท์และเก็บโทรศัพท์ไว้ที่รถ หรือที่มิดชิด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดฟ้าผ่าลงที่นั้นได้

Advertisement

เรื่องของฟ้าผ่าไม่ว่าจะเป็นฤดูกาลใด อาจเกิดได้ทุกครั้งที่มีฝนฟ้าคะนองขึ้น ดังนั้น เพื่อความไม่ประมาท หากมีท่าทีว่าจะเกิดฝนฟ้าคะนอง ควรเข้าหาที่ร่มปลอดภัยไว้ก่อน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่กลางแจ้ง เช่น กลางสนามกอล์ฟ เป็นต้น

เรื่องของเมฆ ข้าพเจ้า (ผู้เขียน) ทราบมาว่ามีอีกคนหนึ่งที่นิยมถ่ายภาพเมฆขณะอยู่บนเครื่องบิน คือ คุณสุมาลี “พี่ติ๋ม” วงษ์สวรรค์ เคยเขียนจดหมายมาเล่าให้เพื่อนบ้านคนหนึ่งว่า ทุกครั้งที่ขึ้นเครื่องบินไปไหนต่อไหน กับ

คุณพี่ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ มักจะนั่งริมหน้าต่างเครื่อง แล้วถ่ายภาพเมฆที่เห็นทั้งต่างประเทศและในประเทศ มีภาพเมฆสวยๆ จำนวนไม่น้อย แม้ทุกวันนี้ยังถ่ายภาพเมฆไว้ไม่น้อย

ส่วนข้าพเจ้า (ผู้เขียน) มีความผูกพันกับชื่อ “เมฆ” พอสมควร ตั้งแต่ไปเมืองจีน แล้วไปที่ภูเขา “หยุ่น ไบ๋” เป็นภาษาจีนกลางแปลเป็นไทยว่า “เมฆขาว” จึงคิดว่าจะตั้งชื่อลูกชายว่า “เมฆขาว” ด้วยเหตุที่ภริยาชื่อจีนแต้จิ๋ว “ฮุ้ง” แปลเป็นไทยว่า “เมฆ” แต่รู้สึกว่าจะเป็นชื่ออินเดียนแดงไปหน่อย

ในที่สุด กลับพลิกมาเป็นชื่อ “เมฆฝน” ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “ต้นฝน” ทุกวันนี้ตัว “ต้นฝน” ยังเรียกตัวเองว่า “เมฆ” แล้วตั้งสมญานามว่า “white cloud”

ข้าพเจ้า (ผู้เขียน) อาจชอบและชื่นชมแหงนมองเมฆบนฟากฟ้าอยู่บ้าง แต่คงไม่ถึงกับมีจินตนาการเตลิดเปิดเปิงไปไกลเช่นใครเขาอื่นมากนัก

หนังสือเรื่อง “เล่มนี้มีเมฆมาก” เป็นหนังสือที่ผู้ชื่นชมกับการแหงนมองหมู่เมฆ น่าจะชื่นชมเรียนรู้เรื่องเมฆไปกว่าจินตนาการ รวมถึงความรู้เรื่องเมฆที่มีมากกว่าเราเรียนรู้

ขอแนะนำให้หาซื้อมาอ่านเพื่อเป็นทั้งความรู้และเพิ่นพูนจินตนาการให้กว้างไกลเกินกว่าที่มีอยู่เพื่อจะได้รับรู้ว่าเรื่องของเมฆเป็นเรื่องน่าศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมให้ยิ่งขึ้นไป

ผื่อว่าอาจจะนำมาเขียนเป็นนิยาย เรื่องสั้น ให้สมกับเวลาที่แหงนมองดูภาพความเปลี่ยนแปลงบนฟากฟ้ามาเป็นตัวหนังสือให้ผู้อ่านได้ร่วมจินตนาการไปด้วย (เล่มนี้มีเมฆมาก ราคา 595 บาท คุ้มเกินคุ้ม)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image