ทวารวดี [แท้ๆ] เมืองศรีเทพ ลุ่มน้ำป่าสัก จ.เพชรบูรณ์

แฟ้มภาพ

ทวารวดีเป็นเมืองที่สถาปนาโดยพระกฤษณะเป็นเจ้า

การค้นพบเทวรูปของเทพเจ้าพระองค์นั้นที่เมืองศรีเทพ แสดงให้เห็นว่าที่นั่นอาจจะเคยเป็นศูนย์กลางแห่งทวารวดี

อีกทั้งสถาปัตยกรรมและประติมากรรมก็แสดงให้เห็นถึงความสำคัญในศาสนาพุทธและพราหมณ์ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 12-กลาง 13 (คริสต์ศตวรรษที่ 7) อันเป็นช่วงเวลาที่ทวารวดีเคยส่งเครื่องราชบรรณาการไปยังจีน และทวารวดียังมีความสัมพันธ์กับจีนด้วยข้อสนับสนุนจากจารึกภาษาจีนและหลักฐานทางพระพุทธศาสนามหายาน

สรุปใหม่ให้อ่านง่าย จากหนังสือ “เมืองศรีเทพ ศูนย์กลางของทวารวดี” โดย พิริยะ ไกรฤกษ์ [พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2560]

พระกฤษณะ เทพสถาปนา “ทวารวดี” พบในเมืองศรีเทพ

เมืองศรีเทพน่าจะมีความเป็นไปได้มากที่สุดสำหรับการเป็นราชธานีของทวารวดี

Advertisement

“ทวารวดี” ได้ชื่อจาก “ทวารกา” เมืองที่สถาปนาโดยพระกฤษณะในอินเดีย

เมืองศรีเทพ จ. เพชรบูรณ์ เป็นแห่งเดียวที่พบว่ามีการสร้างรูปพระกฤษณะเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์นิกายภาควัต

การไม่พบเหรียญเงินที่มีจารึกว่า “ศรีทวารวดีศวรปุญญะ” ดังที่พบในแหล่งโบราณคดีภาคกลางตอนล่าง ยังเป็นข้อสนับสนุนว่าพระเจ้ากรุงทวารวดีมิได้ประทับอยู่ในเมืองเหล่านั้น แต่ได้ทรงสร้างปูชนียสถานไว้ตามเมืองต่างๆ นอกราชธานีหรือราชอาณาจักรของพระองค์

Advertisement
(ซ้าย) กฤษณะโควรรธนะ พบที่ศรีเทพ เพชรบูรณ์ กลางพุทธศตวรรษที่ 11- กลาง 12 (คริสต์ศตวรรษที่ 6) ศิลา สูง 104 เซนติเมตร (ขวา) กฤษณะโควรรธนะ พบที่ศรีเทพ เพชรบูรณ์ กลางพุทธศตวรรษที่ 12 -กลาง 13 (คริสต์ศตวรรษที่ 7) ศิลา สูง 92 เซนติเมตร

พระวิษณุ

เมืองศรีเทพมีความเหมาะสมลงตัวกับทวารวดี เพราะเป็นเมืองที่สถาปนาโดยพระกฤษณะ ผู้เป็นอวตารที่แปดของพระวิษณุ

ศรีเทพยังเป็นเมืองที่พบเทวรูปพระวิษณุ เทพเจ้าที่นับถือสูงสุดในลัทธิไวษณพอีกด้วย

(ซ้าย) พระวิษณุ จากศรีเทพ กลางพุทธศตวรรษที่ 12-กลาง 13 (คริสต์ศตวรรษที่ 7) ศิลา สูง 207 เซนติเมตร (กลาง) พระวิษณุ จากศรีเทพ กลางพุทธศตวรรษที่ 12-กลาง 13 (คริสต์ศตวรรษที่ 7) ศิลา สูง 130เซนติเมตร (ขวา) พระวิษณุ จากศรีเทพ กลางพุทธศตวรรษที่ 12-กลาง 13 (คริสต์ศตวรรษที่ 7) แผ่นทองดุน

พระสูรยะ

นอกจากนั้นแล้วยังได้พบเทวรูปพระสูรยะสามองค์ กับเศียรอีกสองเศียรของพระสูรยเทพที่เมืองศรีเทพ พระสูรยะเป็นเทพเจ้าในนิกายเสาระและเป็นเทพชั้นรองของลัทธิไวษณพ

(ซ้าย) พระสูรยเทพ จากศรีเทพ กลางพุทธศตวรรษที่ 12-กลาง 13 (คริสต์ศตวรรษที่ 7) หินทราย สูง 92 เซนติเมตร (ขวา) พระสูรยเทพ (กล่าวกันว่ามาจากศรีเทพ) กลางพุทธศตวรรษที่ 12-กลาง 13 (คริสต์ศตวรรษที่ 7) หินทราย สูง 114เซนติเมตร
(ซ้ายบน) เศียรพระสูรยเทพ พบที่ศรีเทพ กลางพุทธศตวรรษที่ 12-กลาง 13 (คริสต์ศตวรรษที่ 7) หินทราย สูง 100 เซนติเมตร (ซ้ายล่าง) เศียรพระสูรยเทพ พบที่ศรีเทพ กลางพุทธศตวรรษที่ 12-กลาง 13 (คริสต์ศตวรรษที่ 7) หินทราย สูง 38 เซนติเมตร (ขวา) พระสูรยเทพ ขุดพบที่หน้าปรางค์สองพี่น้อง เมืองศรีเทพ กลางพุทธศตวรรษที่ 12-กลาง 13 (คริสต์ศตวรรษที่ 7) หินทราย สูง 85 เซนติเมตร

พุทธศาสนาที่เมืองศรีเทพ

การค้นพบธรรมจักรขนาดใหญ่ และจารึกภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตที่เมืองศรีเทพ แสดงให้เห็นว่าศรีเทพเคยเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาทั้งเถรวาทและมหายาน

(ซ้าย) ธรรมจักร (กล่าวกันว่ามาจากศรีเทพ) กลางพุทธศตวรรษที่ 12-กลาง 13 (คริสต์ศตวรรษที่ 7) หินทราย สูง 150 เซนติเมตร (ขวา) ธรรมจักร พบที่ศรีเทพ กลางพุทธศตวรรษที่ 12- กลาง 13 (คริสต์ศตวรรษที่ 7) หินทราย สูง 140 เซนติเมตร

คลังใน

พ.ศ. 2531 (ค.ศ. 1988) มีการขุดค้นที่เขาคลังใน ซึ่งอยู่ภํายในกำแพงเมืองศรีเทพ เผยให้เห็นฐานสถูปมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 28 x 44 เมตร ตกแต่งด้วยภาพปูนปั้นยักษ์แบก มีทั้งนรสิงห์ คนแคระ กุมภัณฑ์ และลวดลายพันธุ์พฤกษากำหนดอายุเวลาอยู่ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 12-กลาง 13 (คริสต์ศตวรรษที่ 7)


คลังนอก

พ.ศ. 2551 (2008) มีการขุดสำรวจที่เขาคลังนอก ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองศรีเทพไปทางเหนือราว 2 กิโลเมตร

พบฐานศิลาแลง สูง 20 เมตร ผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสด้านละ 64 เมตร แผนผังย่อมุมตกแต่งด้วยซุ้มที่แต่เดิมน่าจะใช้เป็นสัญลักษณ์ของวิมานบนสรวงสวรรค์ ซึ่งนักวิชาการฝรั่งเศสเรียกว่า “วิมานลอย” (อย่างที่ปรากฏอยู่บนผนังของเทวาลัยที่สมโบร์ไพรกุก)

มีระเบียงซ้อนกันสองชั้น มีบันไดทางขึ้นทั้งสี่ด้านไปสู่ลานประทักษิณ และสถูปประธานทรงกลมตั้งบนฐานสี่เหลี่ยมย่อมุม

เขาคลังนอกเป็นสถูปที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการขุดค้นมา ที่สำคัญมีการค้นพบรูปพระอมิตาภะ/อมิตายุ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เขาคลังนอกเป็นโบราณสถานที่สร้างโดยสาวกของลัทธิมหายาน


ทวารวดีคืออะไร? มาจากไหน?

“ทวารวดี” ได้จากการวิเคราะห์ชื่อภาษาจีน “โดโหลัวโบดี” ว่าเป็น “ทวารวดี” ในภาษาสันสกฤต

ซึ่งได้รับการยืนยันจากการค้นพบเหรียญเงินที่มีจารึกว่า “ศรีทวารวดีศวรปุญญะ” หรือ “บุญกุศลของพระเจ้าศรีทวารวดี” ขึ้นเป็นครั้งแรกที่นครปฐมใน พ.ศ. 2486 (ค.ศ. 1943) ใต้ฐานเจดีย์ร้างที่นครปฐม

ต่อมาได้พบเหรียญลักษณะเดียวกันที่ชัยนาท อินทร์บุรี สิงห์บุรี อู่ทอง คูบัว ราชบุรี และนครปฐมอีก

ยิ่งไปกว่านั้นยังมีศิลาจารึกที่เขียนว่า “ทวารวดีปติ” หรือ “ผู้เป็นใหญ่แห่งทวารวดี” พบในเขตจังหวัดนครราชสีมา

เหรียญเงินที่มีจารึก “ศรีทวารวดีปุญญะ”

ทวารวดีอยู่ในประเทศไทย

ตามบันทึกการเดินทางของพระภิกษุชาวจีนนามว่า เสวียนจั้ง ซึ่งเขียนเสร็จใน พ.ศ. 1189 (ค.ศ. 646) เกี่ยวกับการเดินทางไปแสวงบุญที่อินเดียระหว่าง พ.ศ. 1172- 1188 (ค.ศ. 629-645)

ท่านเขียนอธิบายว่าเมืองทวารวดีเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของศรีเกษตร ในประเทศพม่า และตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของอิศานปุระ (สมโบร์ไพรกุก) ในประเทศกัมพูชา

นอกจากนั้นแล้ว ทวารวดีเคยส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายจักรพรรดิจีนสองครั้งสมัยราชวงศ์ถังใน พ.ศ. 1181 (ค.ศ. 638) และ พ.ศ. 1192 (ค.ศ. 649)


ทวารวดี มีปัญหา

ทวารวดี เป็นเรื่องสับสนปนเป เพราะถูกสร้างให้เป็นทั้งชื่อของอาณาจักร, ทั้งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์, ทั้งวัฒนธรรมร่วมของศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์ และอารยธรรมของพุทธศาสนา, รวมทั้งในปัจจุบันเป็นชื่อของรูปแบบศิลปะโบราณวัตถุในประเทศไทยในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11-16 (คริสต์ศตวรรษที่ 6-11)

ซึ่งความสับสนนั้นเกิดขึ้นจากความไม่ชัดเจนว่าทวารวดีตั้งอยู่ ณ ที่ใด? และมีศูนย์กลางอยู่ที่ไหน?

ทวารวดี เมืองศรีเทพ

หากเมืองศรีเทพเป็นราชธานีของทวารวดีในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 12-กลาง 13 (คริสต์ศตวรรษที่ 7) ศิลปะโบราณวัตถุสถานที่สร้างขึ้นที่เมืองศรีเทพจึงเป็นตัวอย่างของศิลปะทวารวดี

และคำว่าทวารวดีจึงไม่ควรถูกใช้เป็นชื่อเรียกศิลปะโบราณวัตถุสถานที่พบในแหล่งโบราณคดีอื่นๆ หรือใช้เป็นยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ของไทย วัฒนธรรมหรืออารยธรรมพุทธศาสนาในประเทศไทย รวมทั้งรูปแบบของศิลปกรรมในประเทศไทยในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11-16 (คริสต์ศตวรรษที่ 6-11) อีกด้วย

เมื่อคำว่า ทวารวดี ไม่ใช่รูปแบบของศิลปะในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 11-กลาง 16 (คริสต์ศตวรรษที่ 6-11) ศิลปะโบราณวัตถุสถานที่พบในแหล่งโบราณคดีต่างๆ ที่สร้างขึ้นในช่วงระยะเวลานั้น น่าจะนิยามใหม่ว่าเป็น “ศิลปะสมัยก่อร่างสร้างตัวของศิลปะในประเทศไทย กลางพุทธศตวรรษที่ 11-16 (คริสต์ศตวรรษที่ 6-11)” จนกว่าจะได้มีการค้นคว้าว่าศิลปะโบราณวัตถุสถานที่ได้ค้นพบในแหล่งโบราณคดีต่างๆ สอดคล้องกับเมืองโบราณหรืออาณาจักรใดที่กล่าวถึงในเอกสารของจีน จึงจะเรียกตามชื่อของเมืองนั้น

แต่ปัจจุบันยังไม่ทราบว่าแหล่งโบราณคดีเหล่านั้นมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่ที่ใด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image