อีกจุดปะทะ ‘ใหม่-เก่า’ สังคมไร้ ‘พี่-ป้า-น้า-อา’ สนั่นแนวรบ ‘การเมือง’

จู่ๆ โซเชียลก็ลุกเป็นไฟ กลายเป็นวิวาทะร้อนแรงที่ชาวเน็ต “เสียงแตก” มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ สำหรับข้อถกเถียงอันก่อเกิดจากถ้อยความของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ในบทสัมภาษณ์โดย “The Momentum” ตั้งแต่ พ.ศ.2559 ที่ถูกสื่อสำนักหนึ่งหยิบยกมาเผยแพร่ซ้ำอีกครั้ง โดยคัดท่อนเน้นๆ ในประเด็นหนุนเลิกคำเรียกเครือญาติอย่าง พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา แล้วหันมาใช้ “คุณ ผม ดิฉัน” กันในพรรค เพื่อสร้างวัฒนธรรมใหม่ๆ โดยให้เหตุผลด้านการต่อต้าน “อำนาจนิยม”

ความว่า

“ผมยังนั่งคุยกับพวกเขาอยู่เลยว่า ถ้าพรรคของเราเกิดได้เมื่อไร ในพรรคของเราอยากให้เลิกใช้คำว่า พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา อยากให้เลิกใช้คำพวกนี้ให้หมด สร้างวัฒนธรรมใหม่ๆ อย่างที่ผมบอก อะไรก็ตามที่อยากให้เกิดก็ต้องทำในพรรคก่อน เราต้องการยกเลิกวัฒนธรรมอำนาจนิยมซึ่งกีดกันโอกาส กีดกันความคิดสร้างสรรค์ของคน เรียกคนอื่นเป็นพี่ ป้า น้า อาเมื่อไร มันเป็นการเข้าไปอยู่โครงสร้างอำนาจนั้น เราจึงคิดว่าใช้คำว่า คุณ ผม ดิฉัน สามคำเพียงพอแล้ว ให้เกียรติกันมากพอแล้ว ไม่มีพี่ ไม่มีท่าน คนทุกคนจะกล้าแสดงความคิดเห็น กล้าเป็นตัวของตัวเอง การจะไม่ยอมรับความคิดเห็นเพราะอายุ เพราะเพศสภาพ เพราะการศึกษา ตกไปเลย?not this party ต้องไม่ใช่ที่นี่ หรืออย่างน้อยที่สุด ตราบใดที่ผมยังอยู่ที่นี่ เราจะไม่ปฏิบัติต่อกันแบบนี้”

ขณะที่ธนาธรระบุว่าเป็นไอเดียเพื่อใช้เฉพาะในพรรค อีกทั้งยังขยายว่าเป็นการนำไปใช้ในระดับ “สังคมวงกว้าง”

Advertisement

พลันที่ข้อความดังกล่าวกระจายออกไป โลกออนไลน์ก็ร่วมกันอภิปรายอย่างดุเดือด ฝ่ายหนึ่งคัดค้านอย่างหนัก โดยมองว่าเป็นการทำลาย “ความเป็นไทย” อันเป็นวัฒนธรรมอันดีงามสืบต่อจากบรรพบุรุษ ในขณะที่อีกฝ่าย “เข้าใจ” แนวคิดของธนาธร โดยระบุว่าเจ้าตัวกล่าวในบริบทการใช้ภายในพรรคของตัวเองเป็นหลัก เพื่อบรรยากาศทางการเมือง และความเสมอภาคใน “องค์กร” ไม่ได้มีจุดประสงค์ทลายทิ้งซึ่งความสัมพันธ์ทางเครือญาติในสังคมชีวิตจริงแต่อย่างใด

ยกธรรมเนียมนับญาติ ‘ไทย-จีน’ โต้

ท่ามกลางสมรภูมิคอมเมนต์ หนึ่งในความเห็นที่ได้รับการแชร์ต่ออย่างมากมายมหาศาล คือความเห็นของผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อว่า “Pat Hemasuk” ซึ่งปรากฏตามสื่อหลายสำนักว่าเป็นของนักวิชาการอิสระนาม “ภัทร เหมสุข” ผู้ออกมาโพสต์กระตุกต่อมคิดในหลากหลายปรากฏการณ์สังคมอย่างสม่ำเสมอ โดยในหนนี้ เจ้าตัวได้เชื่อมโยงเทศกาลและความเป็นคนไทยเชื้อสายจีนของตัวเอง ว่าทั้งจีนและไทยมีธรรมเนียมการนับญาติที่หล่อหลอมให้อยู่ร่วมกันและ “ละลาย” ตัวเองเป็นคนไทยได้ หากกลับบ้านในวันสงกรานต์แล้วเรียกคนในครอบครัวว่าคุณ แทนตัวเองว่าผม คงโดนญาติเอาขันฟาดหัวแตกเป็นแน่

ความว่า

Advertisement

“วันสงกรานต์ถ้าผมกลับไปบ้านแล้วเรียกทุกคนในบ้านว่า ‘คุณ’ และเรียกแทนตัวเองว่า ‘ผม’ แทนคำว่า พี่ ป้า น้า อา ผมคงโดนญาติเอาขันน้ำฟาดกบาลแหก

ถึงแม้ว่าผมจะเป็นคนไทยเชื้อสายจีน ผมก็รู้ว่าคนไทยและคนจีนเหมือนกันอย่างหนึ่งคือ มีธรรมเนียมการนับญาติกับคนที่คุ้นเคยหรือคนที่สนทนาด้วยเป็นเรื่องปกติ ไปตลาดจะทักทาย ลุง ป้า น้า อา อาตี๋ อาเฮีย อาเจ็ก เพื่อนบ้านร่วมซอยไปตลอดทาง พอถึงตลาดแล้วจะมีร้านป้าขายผัก ร้านลุงขายปลา แผงอาเฮียขายหมู ร้านเจ๊ขายไก่ ร้านอาซิ่มขายของชำ ฯลฯ ทุกคนมีตำแหน่งในสังคมด้วยคำเรียกนับญาตินำหน้าชื่อตามสมควรหรือตามวัยด้วยกันทุกคน

นี่คือวิถีแบบไทยๆ และจีนๆ ที่สามารถอยู่ร่วมกันและหล่อหลอมให้ทั้งคนไทยและคนจีนอยู่ร่วมกันได้แบบไม่มีปัญหา ไม่เหมือนหลายประเทศรอบบ้านเราที่คนเชื้อสายจีนอยู่แล้วเจอปัญหา แม้จะอยู่มาสามชั่วรุ่นคนก็ยังโดนมองว่าเป็นต่างชาติในประเทศที่ตัวเองเกิด แต่สิ่งนี้ไม่เกิดในเมืองไทยเลยแม้แต่น้อย

ด้วยพื้นฐานของ พี่ ป้า น้า อา อาเฮีย อาซ้อ อาเจ็ก อาซิ่ม นี่แหละที่ทำให้พวกเราอยู่กัน และละลายตัวเองเป็นคนไทยที่เหมือนกันได้

ทุกวันนี้ใครด่าประเทศไทยให้เจ๊ขายก๋วยเตี๋ยวปากซอยฟัง แกคงเอาน้ำก๋วยเตี๋ยวสาดไล่ เพราะเจ๊แกไม่คิดว่าตัวเจ๊เองเป็นคนจีน และเจ๊คิดว่าตัวเองเป็นคนไทยเชื้อสายจีนมาตั้งแต่รุ่นเตี่ยของเจ๊แกแล้ว”

จบสเตตัสแบบได้ยอดไลค์ล้นหลามแทนเสียงปรบมือจากชาวเน็ตจำนวนไม่น้อย

โปสเตอร์และภาพลายเส้นยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม รณรงค์ให้ไทยเป็นอารยะ ยุคเดียวกับการปรับตัวอักษร และสรรพนาม (ภาพจาก อนุสรณ์ครบรอบ 100 ปี ฯพณฯ จอมพล ป.พิบูลสงคราม 14 กรกฎาคม 2540 ตีพิมพ์ในหนังสือ จากสยามเป็นไทย นามนั้นสำคัญไฉน? ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ

‘ฉัน-เรา-เขา-ท่าน’ ยุคจอมพล ป.’

จากความเห็นข้างต้น ลองมาค้นแง่มุมของ “สรรพนาม” เรียกเครือญาติในเชิงภาษาศาสตร์กันดูสักนิด

ประเด็นนี้ รศ.ดร.เมชฌ สอดส่องกฤษ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เคยระบุไว้ในบทความ “ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเลือกใช้ภาษา : กรณีศึกษาเปรียบเทียบการใช้คำเรียกขานในภาษาไทยและภาษาจีน” ด้วยข้อมูลที่ว่า การใช้คำเรียกญาติเรียกบุคคลที่ไม่มีความสัมพันธ์เป็นญาติดูจะเป็นลักษณะเด่นของภาษาเอเชีย โดยภาษาไทยและภาษาจีนก็เช่นเดียวกัน วิธีการเลือกใช้คำเรียกญาติเรียกบุคคลที่ “ไม่ใช่ญาติ” คือการเทียบเคียงอายุของผู้ถูกเรียกกับญาติตน แล้วจึงเลือกใช้คำนั้นเป็นคำเรียก ในภาษาไทยสามารถใช้คำเรียกญาติเรียกผู้อื่นได้โดยตรงตามข้อกำหนดการเลือกดังกล่าว เช่น ผู้ฟังอายุรุ่นราวคราวเดียวกับพี่ ป้า น้า อา ตา ยาย ก็สามารถใช้คำเหล่านี้เรียกได้โดยตรง

ไม่เพียงคำพูดที่ออกจากปาก หากแต่ปรากฏหลักฐานในจารึกและเอกสารโบราณย้อนหลังไปอย่างน้อยในศิลาจารึกยุคพระยาลิไท อาทิ จารึกปู่ขุนจิดขุนจอด จดจารด้วยอักษรและภาษาไทยชัดแจ้ง มากมายด้วยสรรพนามเรียกเครือญาติ อาทิ พ่องำเมือง พ่อเลอไท ปู่ฟ้าฟื้น แม่พระศักดิ์พระศอ เป็นต้น

แม้ปฏิเสธไม่ได้ว่าการใช้สรรพนามเครือญาตินั้นมีมายาวนานตั้งแต่ก่อนเกิดรัฐชาติไทยด้วยซ้ำไป แต่การเลือกที่จะไม่เรียกใครๆ ด้วยสรรพนามเครือญาติ คือการทำลายสิ่งที่เรียกกันว่า “ความเป็นไทย” จริงหรือ ?

เพราะหากย้อนไปในยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็เคยมีนโยบายปรับเปลี่ยน “สัพนามภาสาไทย” ให้ใช้ “ฉัน เรา เขา ท่าน” ซึ่งถูกเหล่านักเขียนบางส่วนต่อต้านโดยมองว่าเป็นการทำลายมรดกทางภาษา ทว่ารัฐบาลยืนยันเป็นส่วนหนึ่งของการ “สร้างชาติ (ไทย)” มาแล้ว แต่เหตุผลที่แท้จริงคือการลดความซับซ้อนของภาษาเพื่อประโยชน์ของพันธมิตรร่วมวงศ์ไพบูลย์ขณะนั้นคือญี่ปุ่นที่ต้องการเข้าใจภาษาไทย จึงชวนให้ตั้งคำถามว่าสุดท้ายแล้วความเป็นไทย ใครกำหนด ?

‘ลุง-ป้า-น้า-อา’ กับเสรีภาพ-ระบบบริหารองค์กร

ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา รั้วธรรมศาสตร์ มองว่า ก่อนอื่นต้องแยกให้ออกว่า ความเป็นไทยไม่ได้มีอย่างเดียว และความเป็นไทยก็ “ไม่เคยหยุดนิ่ง” ทั้งยังอธิบายถึงระบบความคิดการบริหารงานในยุคสมัยที่ไม่เหมือนเดิม

“เราไม่ได้เรียกใครต่อใครในคำเรียกแบบเดียวกันมาตลอด หรือพอเวลาเข้าไปอยู่ในองค์กร เช่น เจ้านาย เราไม่ได้เรียกผู้จัดการว่า ลุง พี่ น้า ในขณะที่เราคิดคำใหม่ขึ้นมา เช่น คำว่า เจ้านาย ซึ่งยืมคำว่า เจ้านายในความหมายเดิม ซึ่งไม่เหมือนกับคำว่าเจ้านายในความหมายปัจจุบัน กล่าวคือ เจ้านายในความหมายเดิม ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Patroness ในขณะที่ความหมายจริงๆ ในปัจจุบัน ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Boss ซึ่งเป็นคนละความหมายกัน แม้แต่ในภาษาไทยก็ตาม

ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร

การยกเลิกวัฒนธรรมเรียก ลุง ป้า น้า อา เป็นความคิดแบบที่ระบบการบริหารองค์กรเปลี่ยนจากยุคที่เราอยู่กันแบบอาศัยธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมมาสู่ยุคสมัยที่เราเรียกร้องให้ใช้เหตุผล ให้ถกเถียงกันด้วยปัญญา เป็นระบบที่พยายามจัดความสัมพันธ์ในอีกแบบหนึ่ง โดยเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่กำลังเปลี่ยนจากสังคมซึ่งเชื่อมั่นในระบบอาวุโส มาสู่สังคมที่เชื่อมั่นในหลักเหตุผล และความเท่าเทียม

ความคิดในแบบประเพณีคือ เราจะไม่สอบสวนคนที่มีอาวุโสกว่า อาบน้ำร้อนมาก่อน เป็นระบบแบบเก่า อำนาจนิยม นิยมอาวุโสที่เราคิดว่า คนที่มาก่อน รู้มากกว่า เก่งกว่า ทำตามเขาไปเถอะ ในขณะที่ระบบการบริหารแบบสมัยใหม่ ไม่มีองค์กรไหนใช้วิธีแบบนั้น แม้แต่ระบบกงสีก็ยังต้องมีการปรับเปลี่ยน มีการขัดเกลา คนยืนอยู่เสมอกัน เพื่อที่จะถกเถียง แลกเปลี่ยนความเห็นกันได้ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาองค์กรได้ดีกว่า สิ่งเหล่านี้ทำไมเราถึงไม่อยากนำมาใช้บริหารประเทศบ้าง”

อาวุโส ฝ่ายซ้าย คนเท่ากันใน ‘วัฒนธรรมใหม่’

เมื่อสไลด์มือถือดูกระแสเพิ่มเติมในโลกออนไลน์ พบว่าบางส่วนยังมองเป็นเรื่องฮาๆ ที่ไม่น่ากลายเป็นประเด็นขึ้นมาได้ เพราะเมื่อย้อนดูประวัติศาสตร์การเมืองไทย แนวคิดคล้ายๆ กับวาทะธนาธรก็เคยถูกใช้ในกลุ่มคนที่เคย “เข้าป่า” โดยต่างฝ่ายเรียกกันว่า “สหาย”

ประเด็นนี้ ในฐานะนักมานุษยวิทยา ยุกติ ยังเล่าถึงแนวคิดเรื่องความเท่าเทียมในเวียดนามซึ่งตอนนี้ถือว่าตัวเองยังเป็น “คอมมิวนิสต์” ซึ่งในเวียดนามซึ่งอยู่ เรียกโฮจิมินห์ ว่าลุงโฮ หรือในเจเนเรชั่นหลัง เรียกว่าปู่ การนับแบบนี้มีอยู่ แต่เลือกใช้เฉพาะคนบางคนเท่านั้น

“คำว่าสหายจริงๆ แล้วใช้ในบริบทการทำงานในพรรค มีลักษณะของความเป็นทางการมากกว่า พวกฝ่ายซ้ายหรือสังคมนิยม ซึ่งเน้นเรื่องการโต้เถียงกัน อย่างเวียดนาม ทุกสิ้นปีต้องมีการประเมินกันในลักษณะที่ทุกคนมานั่งเผชิญหน้า วิพากษ์วิจารณ์กัน ผมเจอพวกนี้แต่ละทีตอนสิ้นปี จะมาพูดล้อเลียนกัน ก็มีหน้าเสียกันบ้าง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือความรู้สึกว่าไม่อยากให้มีความไม่เท่าเทียมระหว่างผู้หญิง ผู้ชาย ความอาวุโส โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวียดนาม ปัญหาเรื่องผู้หญิง ผู้ชาย ผู้หญิงถูกกดเยอะ สังคมไทยน้อยกว่า แต่มีปัญหาเรื่องอาวุโส ความเป็นเครือญาติที่ยังเป็นอุปสรรคสำคัญ”

สำหรับประเด็นที่ ธนาธร เสนอนั้น ยุกติมองว่า สิ่งที่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่พยายามเสนอคือการใช้วัฒนธรรมของความเป็นทางการ ความไม่มีอาวุโสในเชิงเครือญาติ ซึ่งเป็นคนละระบบกัน กล่าวคือ หากนับอาวุโสในเชิงเครือญาติ จะมีความเกรงใจ เคารพนบนอบกัน ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคในการทำงานในระบบที่เป็นทางการ หรือในองค์กรบริหารลักษณะต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรบริหารสมัยใหม่

“ในองค์กรที่เรียกร้องความเป็นมืออาชีพ จะมาถือว่าถ้าซีโอเอเก่งมาก แต่อายุแค่ 40 ในขณะที่คนที่มีหน้าที่เป็นเสมียน หรือคนเดินเอกสาร อายุ 50-60 แล้ว การเรียกกันในลักษณะเชิงเครือญาติอยู่ อาจทำให้เกิดความลักลั่นในการทำงาน ธนาธรพยายามสร้างวัฒนธรรมแบบใหม่ในวัฒนธรรมการทำงานของคนไทย ทำไมถึงไม่คิดบ้างว่าวัฒนธรรมการทำงานของเราจะถอยห่างออกมาจากความเป็นครอบครัว

มองย้อนกลับไปคือ นี่คือความไม่มีมาตรฐานที่แน่นอนของคนที่วิพากษ์ธนาธร เพราะในขณะที่ธนาธรถูกเชื่อมโยงไปกับลุงของเขาตลอดเวลา แล้วโยงไปถึงทักษิณ ในขณะที่ความสัมพันธ์แบบนี้ไปตัดสินธนาธร สิ่งที่เขาพยายามจะอธิบายและหนีออกมาจากความสัมพันธ์ตรงนั้น คือสิ่งที่คนที่วิจารณ์เขานั้นคาดหวังอยากให้เขาเป็นมืออาชีพไม่ใช่เหรอ ใจหนึ่งไม่อยากให้เขาเชื่อมโยงกับลุงของเขา แต่ใจหนึ่งก็ไปถามว่าทำไมไม่เคารพอาวุโส ถ้าธนาธรเคารพอาวุโส ก็ต้องไปเป็นลูกหม้อของลุง ไม่สามารถเป็นเอกเทศ เป็นตัวของตัวเอง”

นี่เป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์สนั่นแวดวงสังคม การเมือง เป็นจุดปะทะระหว่างความคิดในวัฒนธรรมใหม่และเก่า ที่ “จุดติด” ในสังคมไทยซึ่งดูเหมือนจะพร้อมทุกเมื่อในการขยายประเด็น เปิดแนวรบต่อคน “เห็นต่าง” สร้างสมรภูมิพร้อมฟาดฟันด้วยอาวุธเปี่ยมอานุภาพอย่างวาทกรรม “ความเป็นไทย” โดยไม่รู้เมื่อไหร่จะก้าวข้ามพ้นไปเสียที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image