ปั้นประมงให้เป็นดาว บอกเล่าวิถีริมโขง ท่องเที่ยวทางเลือกเชียงคานวันนี้

“จับได้ปลาแล้วหรือคะ จะรีบไปเดี๋ยวนี้เลยค่ะ”

น้ำเสียงตื่นเต้นของเจ้าหน้าที่ สกว. ที่ทยอยพาคณะสื่อมวลชนไปลงแพหลังใหม่ ที่ทำหน้าที่เป็น “พิพิธภัณฑ์ชาวประมงเชียงคาน” หรือ “ศูนย์เรียนรู้ประมงพื้นบ้านเชียงคาน” ที่ท่าเรือท่องเที่ยวริมโขง อ.เชียงคาน จ.เลย

เช้านี้ได้ปลาอีตู๋ (ปลาน้ำโขงวงศ์ปลาตะเพียนเหมือนปลาไน) ถึง 5 ตัว ตัวละ 7 กิโลกรัมบ้าง 10 กิโลกรัมบ้าง ราคาซื้อขายกันอยู่ที่กิโลกรัมละ 150-300 บาท สำหรับแขกผู้มาเยือนการได้ปลาตัวโตขนาดนี้สร้างความตื่นตาตื่นใจยิ่งนัก

แต่ทว่า ไม่ใช่ทุกวัน ไม่ใช่ทุกครั้งที่สาว “มอง” (ข่ายดักปลา) ขึ้นมาแล้วจะได้ปลา!

Advertisement

นางน้อย ลุนะหา แม่บ้านที่ย้ายตามสามีมาอยู่ อ.เชียงคาน ได้ 2 ปี เล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนเชียงคานมีปลาอุดมสมบูรณ์ ยิ่งหน้าน้ำชาวบ้านจับปลาได้มากมาย อย่างปลาเอิน เพื่อนเคยได้ตัวหนึ่งหนัก 42 กิโลกรัม ก็มี อีกบ้านได้ปลาแข้น้ำหนัก 32 กิโลกรัม บางคนได้ 6 ตัว 8 ตัว แต่เดี๋ยวนี้หาปลากันได้แค่ 1-2 ตัว ขนาดปลาก็เล็กลง ตัวละ 2-3 กิโลกรัม

เพียงแต่วิถีของชาวประมงที่เชียงคานไม่ได้ทำแต่หาปลาเพียงอย่างเดียว ว่างจากหาปลาก็ทำสวน ขายผัก ทำงานก่อสร้างเล็กๆ น้อยๆ

“ส่วนใหญ่ไม่ค่อยอยู่บ้านกันหรอก บางคนไปหาไข่มดแดง หาปลาซิวปลาสร้อยไปขายเป็นรายได้เพิ่มเติม” นางน้อยบอก

Advertisement

เช่นเดียวกับ “ยายหนาน” หรือ สมาน เรือนคำ ชาวประมงหญิงคนเดียวของกลุ่มประมงพื้นบ้าน ที่วันนี้มาสาธิตการไหล “มอง” บอกว่า ไม่ได้ปลามา 2 วันแล้ว วันนี้เชื่อว่าจะได้ปลาแน่นอน เพราะเมื่อคืนก็ฝันดีว่าได้ปลามาหลายตัว

นี่คือส่วนหนึ่งของผลกระทบจากโครงการพัฒนาแม่น้ำโขงต่อชุมชนในพื้นที่ ไม่เพียงทำให้แม่น้ำตื้นเขิน ที่สำคัญคือปริมาณสัตว์น้ำลดลง และมีหลายชนิดที่สูญหายไป

ยายหนานโชว์ปลาไนที่ได้

งานวิจัยท้องถิ่น ต่อลมหายใจประมงพื้นบ้าน

เวลาที่พูดถึง “เชียงคาน” พูดถึงการท่องเที่ยว น้อยคนจะนึกถึงแม่น้ำโขง ส่วนใหญ่จะมองถึงถนนคนเดิน ถนนชายโขง การเดินเที่ยวบรรยากาศย้อนยุคกับบ้านเก่าๆ ซึ่งปัจจุบันค่อยปรับเปลี่ยนให้รับกับวิถีคนกรุง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เสน่ห์อย่างหนึ่งของชุมชนคนริมน้ำ คือ วิถีประมง ที่วันนี้ถูกสั่นคลอนอย่างแรง ทั้งความมั่นคงทางอาชีพ และทางด้านอาหาร ผลกระทบโดยตรงจากโครงการพัฒนาแม่น้ำโขง

การประมงแม่น้ำโขงคือ ความมั่นคงทางอาหารและเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านมายาวนาน ในอดีตการหาปลาเป็นการหาเพื่อยังชีพ ชาวประมงจึงมีความรู้และภูมิปัญญาต่างๆ ในการดำรงชีพ เช่น รู้จักภูมินิเวศในแม่น้ำในลักษณะต่างๆ และระบบภูมินิเวศย่อยๆ ประกอบด้วย แก่ง หาด คก วังน้ำ และดอน เป็นต้น ซึ่งแต่ละพื้นที่จะมีลักษณะการใช้ประโยชน์แตกต่างกันไป และการหาปลาของชาวประมงก็จะมีความรู้และภูมิปัญญาที่ซ่อนอยู่ เช่น เครื่องมือหาปลาแต่ละชนิด ลักษณะการขึ้นลงของปลาในแต่ละฤดูกาล ลักษณะแหล่งที่อยู่อาศัยของปลา รวมถึงการปลูกพืชผักริมน้ำ

เกษตรริมโขง

วิถีชีวิตของคนเชียงคานที่มีความเกี่ยวข้องและผูกพันกับแม่น้ำ ทำให้ชุมชนเป็นแหล่งสั่งสมถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศแม่น้ำโขง รวมทั้งวิธีการทำประมงและการเกษตรริมฝั่งแม่น้ำโขง

ทั้งนี้ กรณีของโครงการเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในประเทศจีนนั้น ทำให้ระดับน้ำขึ้นน้ำลงไม่เป็นปกติ จากเมื่อก่อนระดับน้ำจะค่อยๆ ขึ้นลงตามฤดูกาล แต่ปัจจุบันการขึ้นลงของระดับน้ำในแม่น้ำโขงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วชั่วข้ามคืน ส่งผลกระทบต่อการอพยพของปลา ซึ่งปลาส่วนใหญ่ในแม่น้ำโขงเป็นปลาอพยพ หรือที่เรียกว่า “ปลาหลงน้ำ” ทำให้ปริมาณปลาลดลงและปลาที่จับได้ก็มีขนาดเล็กลงด้วย

แน่นอนว่า ชาวประมงที่แต่เดิมมีมากกว่า 400 คน ปัจจุบันมีเหลือเพียง 40-50 คน

นอกจากนี้ยังเกิดปัญหาน้ำท่วมส่งผลต่อการเกษตรริมโขงถูกกัดเซาะอยู่ในภาวะเสี่ยง ชุมชนริมโขงและชาวประมงสูญเสียรายได้ สูญเสียความมั่นคงทางอาหาร และยังเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้ผู้คนอพยพออกจากถิ่นฐานเข้าสู่เมือง

ยุทธนา วงศ์โสภา บอกว่าดอกไม้แม่น้ำโขงนี้หายไปหลังจากมีการสร้างเขื่อนเพิ่งเจอเมื่อไม่นานมานี้

ที่สำคัญคือ ความรู้ด้านการประมงภูมิปัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงพื้นบ้านค่อยๆ เลือนหายไปจากชุมชน จึงเกิดงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อแก้ไขปัญหา 3 โครงการ เพื่อสร้างการเรียนรู้ให้กับชุมชน เพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศของชาวประมงในแม่น้ำโขง สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง และเพื่อเสริมศักยภาพด้านการสื่อสารในการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางเรือของชาวประมง

ยุทธนา วงศ์โสภา ผู้ประสานงาน ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดเลย ฝ่ายวิจัยท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เล่าว่า โครงการพัฒนาในลุ่มแม่น้ำโขง เช่น เขื่อนกั้นแม่น้ำในประเทศจีนส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชาวประมง ทำให้ระบบนิเวศต่างๆ เปลี่ยนไป เกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงเรื่อยๆ รวมถึงการผันผวนของระดับในแม่น้ำ และการขนส่งของเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ ทำให้การจับปลาถูกรบกวนจากคลื่น สร้างความเสียหายให้กับเครื่องมืออุปกรณ์ดักปลาของชาวประมง รวมทั้งทำให้เกิดอุบัติเหตุได้หากเรือประมงหลบเข้าฝั่งไม่ทัน

แพศูนย์การเรียนประมงพื้นบ้านเชียงคาน

ปัจจุบันเชียงคานเป็นเมืองที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวจำนวนมากเพราะมีธรรมชาติที่สวยงาม เราจึงทำวิจัยเพื่อสร้างรูปแบบการท่องเที่ยวของชาวประมงเชียงคาน เพื่อคงไว้ซึ่งวิถีชีวิตของคนลุ่มแม่น้ำโขง และให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ภูมิปัญญา วิถีชีวิต วัฒนธรรมความเชื่อของชาวประมง เพื่อให้ชาวประมงได้คงอยู่กับลุ่มน้ำโขงต่อไป โดยผลจากการศึกษาทำให้เกิดการทบทวนความรู้ ความเชื่อ และพิธีกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำโขง รวมถึงระบบนิเวศต่างๆ

โดยมี “ศูนย์การเรียนประมงพื้นบ้านเชียงคาน” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวจังหวัดเลย (อพท.5) และสถาบันอาศรมศิลป์ เพื่อเป็นพื้นที่เรียนรู้ให้กับชุมชนและเพิ่มศักยภาพในการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาท่องเที่ยวมากขึ้น

ห้องเรียนแห่งใหม่ ล่องน้ำโขง ชมวิถีชาวน้ำ

แรกก้าวลงในแพ “ศูนย์การเรียนประมงพื้นบ้านเชียงคาน” นอกจากบอร์ดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับวิถีคนริมโขง สิ่งหนึ่งที่สังเกตเห็นชัดเจนคือ ป้าย “โครงการภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารด้านอาชีพบริการนักท่องเที่ยว” ที่เปิดคอร์สอบรมให้แก่กลุ่มประมงเชียงคาน นอกจากนี้ยังมีเทคนิคการเป็นไกด์ การหยิบเอาเรื่องราวเรื่องเล่าต่างๆ มาบรรยายให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้บริการ

กระนั้น ประยูร แสนแอร์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเกษตรริมโขงประมงเชียงคาน ก็ยังบอกด้วยท่าทีเขินๆ ว่า “อยากทราบอะไร ถามมาดีกว่าครับ” ก่อนจะเริ่มต้นเล่าให้ฟังว่า ทางกลุ่มทำเรื่องการท่องเที่ยวตั้งแต่ปี 2554 มีสมาชิก 13-14 คนที่เป็นกลุ่มเรือ ถ้ารวมกลุ่มแม่บ้านก็ประมาณ 20 คน

ผมมองว่าเราอยู่ชุมชนที่อาศัยแม่น้ำโขงเป็นหลัก ที่ผ่านมาคนจากภายนอกมองน้ำโขงเป็นอย่างอื่น แต่ที่นี่จะมองเรื่องของความสัมพันธ์การพึ่งพาซึ่งกันและกัน ใช้ชีวิตหาปลาปลูกผักริมตลิ่ง

“เมื่อก่อนไปไม่ถึงชั่วโมงก็ได้ปลามากินแล้ว แต่ปัจจุบันจากการพัฒนา การสร้างเขื่อนทำให้ปลาค่อยๆ หายไป ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ตอนนี้เหลือไม่ถึง 50% เมื่อปี 2554 เราเก็บข้อมูลจำนวนสัตว์น้ำในแม่น้ำโขง ทั้งปลาทั้งหอยมีประมาณ 138 ชนิด ทั้งๆ ที่แต่เดิมมีมากกว่า 1,000 ชนิด”

“ผมมองว่าถ้ามีการเปลี่ยนแปลง วิถีชีวิตของคนที่นี่มีโอกาสที่จะสูญหายไปพร้อมกับการพัฒนา”

ประยูรย้อนเรื่องราวให้ฟังว่า เมื่อก่อนเชียงคานมีชาวประมงเป็นร้อยคน ปัจจุบันมีไม่ถึง 50 คน เพราะจับปลาไม่ได้ ตอนนั้นคือประมาณ ปี 2554 เชียงคานเริ่มมีการพัฒนาเรื่องการท่องเที่ยว จึงมาคิดกันว่าทำอย่างไรชาวประมงจะอยู่ได้ในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ จึงมองถึงด้านการท่องเที่ยว

“เชียงคานเป็นเมืองที่ติดริมน้ำโขง มีเรื่องราวเกี่ยวกับน้ำโขงมากมาย การท่องเที่ยวจึงเป็นอีกทางเลือก ในช่วงแรกนักท่องเที่ยวจะรู้จักเพียงกลุ่มแคบๆ รายได้น้อย จึงต้องอาศัยเครือข่ายช่วยประชาสัมพันธ์ กระนั้นเราก็พยายามมาตลอด”

สำหรับแพตรงนี้ ประยูรบอกว่า สร้างขึ้นเพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ประมงพื้นบ้าน โดยนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการจะต้องมาที่นี่ก่อน มาฟังข้อมูลสั้นๆ เกี่ยวกับวิถีประมงพื้นบ้าน แต่ถ้าใครยังอยากซักถามมากขึ้นไปอีกก็สามารถไปคุยกันต่อระหว่างล่องเรือได้

ประยูร แสนแอร์

ในส่วนของเส้นทางท่องเที่ยวทางเรือมีให้เลือก 3 รูปแบบ ท่องเที่ยวระยะสั้นใช้เวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง ไปชมความสวยงามของพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้า หรือพระอาทิตย์ตกในช่วงเย็น ลำละ 400 บาท โดยสารได้ 3 คน ท่องเที่ยวระยะกลาง ชมพื้นที่ระบบนิเวศที่สำคัญ มีการบอกเล่าตำนานความเชื่อ และสัมผัสการทำเกษตรริมโขง ระยะเวลาไม่เกิน 5 ชั่วโมง ราคา 800 บาท และท่องเที่ยวระยะปลาย ใช้เวลาเต็มวัน เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวประมง วันละ 1,000 บาท โดยนายท้ายเรือแต่ละลำผ่านการอบรมมาแล้ว และทุกคนล้วนมีทะเบียนรับรอง

“เราเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคมปีที่แล้ว มีเรือทั้งหมด 13 ลำ มีนักท่องเที่ยวทุกวัน ซึ่ง 90 เปอร์เซ็นต์เป็นคนไทย จากเมื่อก่อนตอนที่เริ่มทดลองทำใหม่ๆ คนไทยยังไม่ค่อยทราบ ก็จะเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศจากนอร์เวย์ จากอิตาลี มาอยู่กับเรา กินนอนกับเราตามดูวิถีประมง” ประยูรบอก

ล่องเรือดูวิถีริมโขง โดยมียายหนานเป็นวิทยากรสาธิตและอธิบายการไหลมอง (วางข่าย) กลางน้ำโขงอยู่ชั่วโมงเศษ ท่ามกลางการลุ้นระทึกของผู้สังเกตการณ์ 2-3 ลำเรือ ซึ่งต่างภาวนาให้ความฝันของยายหนานเป็นจริง…แล้วมื้อนี้ก็เป็นของเธอ

เธอได้ปลาไนตัวเขื่อง น้ำหนักราว 7 กิโลกรัม หลังจากที่ไหลมองมือเปล่ากลับไปอยู่ 2 วัน

ปลาอีตู๋ นิยมทำเป็นเมนูลาบ
มุมนิทรรศการภายในศูนย์การเรียนประมงพื้นบ้านเชียงคาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image