แซ่บ เศร้า น้ำเน่า สร้างสรรค์ ชะตากรรมละครไทยในมือ ‘นักเขียนบท’

ภาพจากละครกรงกรรม ทางไทยทีวีสีช่อง 3

“ละครโทรทัศน์” คือสื่อสารมวลชนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดแขนงหนึ่ง ยืนยันด้วยผลสํารวจจากนิด้าโพล ที่พุ่งสูงถึงร้อยละ 78.74 ในปี 2559 นอกจากหน้าที่หลักในการมอบความบันเทิงให้กับผู้ชมแล้ว ยังเป็นกระจกสะท้อนสังคมในหลากหลายมิติ จนยากที่จะปฏิเสธว่าละครโทรทัศน์มีส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์สังคม เพราะขึ้นชื่อว่า “สื่อ” ย่อมมีอิทธิพลต่อคนทุกกลุ่มวัย ยิ่งในสภาพสังคมปัจจุบัน เยาวชนมีโอกาสเปิดรับข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางที่หลากหลายมากขึ้น ทว่าหากเนื้อหาละครยังมีความรุนแรง บ้างก็เนื้อเรื่องไม่สร้างสรรค์ มีข้อมูลที่ผิดพลาด หรือกระทั่งภาษาที่ใช้อย่างไม่เหมาะสม อาจส่งผลให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ

นี่คือเหตุผลที่ผู้ผลิตสื่อ ต้องหันกลับมาพิจารณาจุดยืน

กระทั่ง 20 กันยายน 2561 “สมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์” หรือ Television Drama Script Writers Association (TSA) ได้ก่อกำเนิดขึ้น นับเป็นครั้งแรกของวงการละครไทยที่มีการจัดตั้งสมาคมเพื่อพัฒนาวิชาชีพสื่อสารมวลชนให้ดีและเหมาะสม เพื่อขับเคลื่อนสู่สังคมที่มีสุขในวิถีชีวิต ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา มีการจัดงานแถลงข่าวการก่อตั้งสมาคมดังกล่าวอย่างเป็นทางการ ณ หอประชุมใหญ่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยเชิญนักเขียนบทมือทองและบุคคลในแวดวงร่วมพูดคุยในเสวนาหัวข้อ “ละคร : มิติสื่อเชิงสร้างสรรค์ต่อสังคม”

จับมือ สสส.ตั้งธงพัฒนาวงการ พันธกิจด่านแรก

“ในการทำงาน มีคนถามว่าทั้งชีวิตจะอยู่กับโต๊ะสี่เหลี่ยมอย่างนี้ไปจนตายหรืออย่างไร ซึ่งตอนนั้นก็เห็นว่าไม่ควรอยู่อย่างนี้เพราะเราแทบจะไม่รู้จักใครเลย ไม่เคยเจอ สนทนา หรือแลกเปลี่ยนอะไรกัน จนกระทั่งมีการตั้งสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์”

Advertisement

คำกล่าวของ อ.ศัลยา สุขะนิวัตติ์ เจ้าของผลงานบทละครสุดฮิต อย่าง “บุพเพสันนิวาส” ผู้ร่วมก่อตั้ง และนั่งเก้าอี้นายกสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์คนแรกของประเทศไทย สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จก้าวแรกของสมาคมที่บรรจุนักเขียนบทละครไว้ร่วมร้อยชีวิต

อ.ศัลยาเปิดเผยว่า อีกเป้าหมายของสมาคมคือการร่วมงานกับ สสส.และองค์กรที่เกี่ยวข้อง ในการเผยแพร่ความรู้เพื่อพัฒนานักเขียนบทละครโทรทัศน์รุ่นใหม่ ให้มีความเข้าใจในบทบาทและคุณค่าที่มีต่อสังคมในฐานะนักสื่อสาร จนนำไปสู่การพัฒนาบทละครโทรทัศน์ที่มีเนื้อหาถูกต้องเหมาะสมและสร้างสรรค์

“สิ่งที่เราต้องทำหลังรวมตัวกัน คือพัฒนาตัวเองและพัฒนาวงการของเรา เพราะมีสิ่งที่ต้องเรียนรู้อีกมากมาย ทั้งการเรียนรู้ความลับที่หลายช่องอยากได้ และยังต้องร่วมมือกันเพื่อต่อสู้สำหรับละครที่เราควรจัดทำ ซึ่งตอนนี้มีพวกเราที่นำร่องไปบ้างแล้ว แต่ก็น่าจะทำให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะทำให้คนดูมีความสนุก รื่นรมย์ใจ สร้างการเรียนรู้และก่อเกิดความงามในจิตใจ ซึ่งอาจจะไม่เกิดในวาระคุณ แต่คือวาระเพื่อคนรุ่นถัดไป” อ.ศัลยาประกาศจุดยืนหนักแน่น

อ.ศัลยา สุขะนิวัตติ์ นายกสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ (ซ้าย), ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผอ.สำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ (สสส.)

เป็นความเห็นที่พ้องต้องกันกับ ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผอ.สำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. ที่มองว่าละครโทรทัศน์เป็นสื่อที่มีอิทธิพลต่อการปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้ชม สามารถสอดแทรกแนวคิดเชิงบวกแฝงไปในความบันเทิง และยังสร้างการเรียนรู้ สื่อความคิด ค่านิยม และพฤติกรรมที่เหมาะสมของพลเมืองในสังคมได้ สสส.จึงให้การสนับสนุนสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ เพื่อสร้างผู้ผลิตสื่อที่มีจิตสำนึกมาตรฐานทางวิชาชีพ เพื่อเนื้อหาสื่อที่มีคุณภาพและเพื่อเป้าหมายสูงสุด คือประชาชนมีความรู้เท่าทันสื่อและรอบรู้ทางสุขภาพ

แล้วสื่อเชิงสร้างสรรค์คืออะไร?

ในมุมของ ดร.นพ.ไพโรจน์ ได้นิยามถึงคุณลักษณะของสื่อที่สร้างสรรค์ว่า คือ “สื่อที่สร้างสุขภาวะให้กับผู้คน” โดยดูที่ความถูกต้องของเนื้อหา ตรงตามศีลธรรม จริยธรรม ซึ่งหากมุ่งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือวิถีชีวิตของคนในสังคมให้เข้าที่ทาง ไม่ลุ่มหลงมัวเมาได้ด้วยก็จะยิ่งถือว่าเป็นสื่อที่สร้างสรรค์

“ต้องอาศัยคนผลิตสื่อหลายช่องทางในการปรับโฟกัสไปที่ผู้ชมให้ได้รับผลกระทบจากสื่อในทางที่ดี สสส.มุ่งเน้นให้คนมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดี เพราะร่างกายดีอย่างเดียวไม่พอ จึงพยายามขับเคลื่อนให้ครบใน 4 มิติ ทั้งร่างกาย จิตใจ สังคม และปัญญา ซึ่งถ้าสื่อเข้ามาร่วมจะช่วยได้มาก เพราะสามารถทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรม มีปฏิสัมพันธ์กับคนข้างเคียง และนำไปสู่การมีสุขภาพจิตและทัศนคติที่ดี สามารถวิเคราะห์แยกแยะได้ ซึ่งข้อมูลคือพื้นฐาน แต่สิ่งที่จะมาเติมเต็มเป้าหมายคือการชักจูงผู้คนไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ทั้งช่อง ผู้เขียนบท และผู้จัดทำ จึงต้องปรับตัวให้ทันสมัยเข้ากับบริบทสังคม เพื่อให้คนมีสุขภาวะที่ดีทั้ง 4 ด้าน และสามารถอยู่ในโลกปัจจุบันได้อย่างมีความสุข” ดร.นพ.ไพโรจน์เน้นย้ำ

คนดูคือผู้ตัดสิน อย่าใช้ละคร’สั่งสอน’ใคร?

ด้านนักเขียนบทมือทองเจ้าของบทละคร กรงกรรม สุดแค้นแสนรัก รากนครา และอีกมากมาย อย่าง ยิ่งยศ ปัญญา ผู้คว้ารางวัลนาฏราช อีกทั้งยังเป็นอาจารย์ของนักเขียนบทละคร ได้ถือโอกาสอธิบายถึงความพิเศษของละครว่า

“ในบรรดาศิลปะทั้งมวล ถือว่าศิลปะการละครยืนหนึ่ง เพราะคือก้อนรวมของศิลปะทุกแขนง ตั้งแต่จิตรกรรม ที่มองในแง่องค์ประกอบภาพและการออกแบบแสง ไปจนถึงดุริยางคศาสตร์ ในเรื่องของดนตรีประกอบ แม้แต่อารมณ์ความรู้สึกของความเป็นมนุษย์ ก็ใช้ศิลปะการสื่อสารถ่ายทอดผ่านนักแสดง อีกทั้งยังมีวรรณกรรมในรูปแบบบทสนทนา ที่ประมวลออกมาเป็นศิลปะการละคร”

ยิ่งยศเปิดเผยด้วยว่า ละครโทรทัศน์มีอิทธิพลต่อสังคมที่เปลี่ยนไปชัดเจนขึ้น แม้ว่าจะเป็นสื่อฟรี แต่ผู้ผลิตละครแต่ละช่องยังต้องแข่งขันกันอย่างสูงในแง่ของเนื้อหาที่น่าสนใจ นอกเหนือจากการยึดความบันเทิงเป็นที่ตั้ง สิ่งที่ต้องคำนึงคือ “เราใช้ละครสั่งสอนใครไม่ได้” คนสร้างงานละครไม่สามารถกำหนดได้ว่าสิ่งนี้ฉันจะเอาไว้สอนคนดู เพราะคนดูร้อยคนอาจจะรับสารที่แตกต่างกัน ตกใจ ประทับใจ สะเทือนใจ บางคนไม่รู้สึกอะไรก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะขึ้นอยู่กับภูมิหลังของผู้ชมแต่ละคน

“คนดูคือผู้ตัดสินทุกอย่าง เราไม่สามารถใช้ละครเพื่อสั่งสอนใครได้ ดังเช่นที่ อ.สดใส พันธุมโกมล ศิลปินแห่งชาติ สาขาการละคร สั่งสอนลูกศิษย์เสมอ… ‘จงอย่าใช้ละครเพื่อสั่งสอนใคร เพราะละครมีคุณค่าในตัวของมันเอง แล้วแต่ว่าใครจะได้รับคุณค่านั้นในลักษณะไหน’ ซึ่งตัวเองยึดถือแนวทางนี้ในการทำงาน” ยิ่งยศระบุ

ตรงข้ามกับความคิดของ อ.ศัลยา ที่มองว่า แม้เราไม่ต้องการให้ละครสอนคน แต่เราก็ต้องทำละครที่สอนคน เพราะละครคือหน่วยหนึ่งของการให้ความรู้กับคนในสังคม “ละครบางเรื่องเขียนแต่ฉากที่รุนแรง โหดร้ายเกินมนุษย์ แต่ไม่มีคำพูด การกระทำ หรืออิมแพคอะไรตามมา ซึ่งควรจะต้องมีเพื่อให้คนเกิดการเรียนรู้”

“ถ้าเราเอาเหตุผลเข้าไปว่าการกระทำเช่นนี้ได้ผลอย่างนี้ สอดแทรกซุกซ่อนอย่างกลมกลืนกับละครน้ำเน่าอย่างไม่ยัดเยียด จะสามารถทำให้คนดูเกิดเครื่องหมายคำถามระหว่างตัวเองกับสังคม เกิดการวิเคราะห์วิจารณ์ตัวเอง นำไปสู่การค้นหาความหมายของชีวิตว่าความสุขคืออะไรกันแน่” อ.ศัลยากล่าวทิ้งท้าย

วาทกรรม’น้ำเน่า’และภาพสะท้อนวัฒนธรรมมวลชน

กลับมาที่ ยิ่งยศ ซึ่งกล่าวเปรียบเปรยว่า “การเมืองไทยยังน้ำเน่า แล้วละครจะไม่น้ำเน่าได้อย่างไร”

ก่อนให้คำอธิบายเพิ่มเติม

“น้ำเน่าคือน้ำที่ไม่มีการหมุนเวียนถ่ายเท ไม่มีสิ่งมีชีวิตอยู่ได้นอกจากยุง และที่แน่นอนคือกินไม่ได้? ‘น้ำเน่า’ เป็นคำแสลงใจ ถ้าจะเปรียบเทียบกับชิ้นงานก็จะเกิดคำถามว่า ยุติธรรมหรือไม่ เพราะคำนี้แฝงไปด้วยความรู้สึกอคติที่ใช้กับการละคร แต่ถึงอย่างนั้นยิ่งยศก็ไม่ปฏิเสธว่าละครไทยไม่น้ำเน่า เพราะหากย้อนมองวงการละครจะพบว่าบางช่วงอุดมไปด้วยเรื่องน้ำเน่า ที่เกิดขึ้นวนเวียน ไม่ไปไหน มีสูตรตายตัวที่รู้จุดจบว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งบดบังความจริงของการเป็นมนุษย์

เราจำแนกว่าเมโลดราม่า (Melo drama) หรือโซปโอเปร่า (Soap opera) คือเรื่องประโลมโลก ถ้ามองอย่างเป็นธรรมกับศิลปะการละครบ้าง ก็จะรู้ว่านี่คือความจริงที่เกิดขึ้นกับสังคม รู้ว่าคนยุคนั้นๆ เสพสิ่งนี้เพื่อความบันเทิง นี่คือสิ่งที่คนดูต้องการดู จึงเกิดละครน้ำเน่าซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถึงบอกว่า แม้แต่ ‘การเมือง’ ก็ ‘น้ำเน่า’ ไม่แพ้กัน สังคมเป็นอย่างไร งานศิลปะย่อมออกมาเป็นอย่างนั้น แม้ว่าจะเป็นเชิงพาณิชย์อย่างละครทีวีก็ตาม”

ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่ละครเน้ำเน่าบางเรื่องได้รับความนิยมสูง โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนา เพราะชีวิตจริงนั้นเจ็บปวด คนจึงหันหน้าเข้าหาสื่อที่พาฝันเพื่อหวังปลอบประโลม ละครกับสังคมจึงสะท้อนซึ่งกันและกัน แม้ละครบางชนิดอาจไม่ได้สร้างคุณค่า แต่อย่างน้อยก็สะท้อนวัฒนธรรมของมวลชน

สมาชิกสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ Television Drama Script Writers Association (TSA)

ละครสร้างสรรค์ ประเทศสุขได้ ไม่ง้อ’การเมือง’

นอกเหนือจากละครน้ำเน่าที่ได้รับความนิยมในบ้านเรา ละครอีกประเภทที่มักประสบความสำเร็จคือ “ละครพีเรียด” หรือละครย้อนยุค เพราะคนไทยถวิลหาความสงบงามในอดีต

ในมุมของผู้กำกับผู้สวมหมวกนักลงทุน อย่าง นิพนธ์ ผิวเณร ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายละคร สถานีโทรทัศน์ช่องวัน 31 เผยแง่มุมทั้ง 2 บทบาท ถึงทิศทางของละครว่า ในมุมนักลงทุน ต้องการกำไร ต้องการขายให้ได้ ต้องการผลตอบแทน ซึ่งเป็นเรื่องของธุรกิจที่ต้องทำอย่างไรก็ได้ให้คน “อิน” ส่วนในมุมอาร์ติสต์ การเป็นผู้กำกับที่มาเป็นผู้บริหาร ทำให้ตนเห็นว่าแม้ละครเรตติ้งคือสิ่งที่ต้องทำ แต่ละครที่ยังขาดอยู่ เพราะไม่ค่อยมีคนทำ เนื่องจากไม่ได้เรตติ้ง คือละครที่ทำให้คนมี หิริโอตัปปะ หรือความละอายใจและเกรงกลัวต่อบาป

“สมัยนี้คนไม่ดีมีมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน สาเหตุมาจากการพัฒนาของเทคโนโลยี ที่สนับสนุนให้คนเลือกทำตามความต้องการของตัวเอง เลือกบริโภคสื่อตามแบบที่ตัวเองต้องการ เมื่อคนเห็นตัวเองมากขึ้น ก็จะเห็นคนอื่นน้อยลง แต่ละครสามารถทำให้ส่วนนี้เปลี่ยนได้ สามารถลบความเชื่อที่ว่า โกงก็ได้ ถ้าเราได้ด้วย ดังนั้น หน้าที่ของนักลงทุนคือทำอย่างไรก็ได้ให้คนดู แต่ในมุมอาร์ติสต์ สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องรู้เท่าทันคนดู เพราะเพียงคนดูของเมื่อวานกับวันนี้ก็ไม่เหมือนกันแล้ว เราต้องเท่าทันคนดูในปัจจุบันขณะ ต้องสะท้อนให้คนปัจจุบันเข้าใจสารอย่างลึกซึ้ง ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นเราสื่อสารกันเอง ดังนั้นจึงควรจะยืดหยุ่นกับเนื้อหาและเอาคนดูเป็นตัวตั้ง” นิพนธ์แนะ

ผู้กำกับมากฝีมือยังบอกด้วยว่า ละครควรจะเป็นสารที่สื่อกับคนปัจจุบันได้ดี สักวันหนึ่งเนื้อหาที่ทำ งานที่เขียนจะไป “โดน” กับคนปัจจุบันขณะ ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวกันกับ “โอลด์แฟชั่น” ที่วนกลับมาทุก 20 ปี เพราะฉะนั้น ควรทำละครอะไรก็ได้ที่สื่อสารกับคนยุคปัจจุบันและมีอิทธิพลต่อความคิด ซึ่งจะทำให้ประเทศน่าอยู่ขึ้นใน 15 ปีข้างหน้าโดยไม่ต้องหวังพึ่งการเมือง สร้างสุขภาวะทางปัญญาและจิต เพราะถ้าเด็กเติบโตมาไม่เฮลธ์ตี้ เดี๋ยวก็มีปัญหาฆ่าแกง

“พ่อแม่ไม่พร้อมจะมีลูก คลอดมาให้ย่าเลี้ยง แต่ย่าเล่นไพ่ ก็ให้ทีวีเลี้ยง ซึ่งทีวีไม่ได้มีหน้าที่เลี้ยงเด็ก ท้ายที่สุด พอเด็กทำอะไรไม่ดีก็บอกกว่าทีวีเลี้ยง เพราะฉะนั้น ทำละครที่มันถูกต้องกับเขา ไม่งั้นเราจะเป็นจำเลยสังคม” นิพนธ์กล่าว

นี่คือก้าวแรกและก้าวสำคัญในประวัติศาสตร์วงการบันเทิงไทยที่น่าจับตาถึงพัฒนาการ ภายใต้การก่อกำเนิดของสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ในวันนี้  

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image