วัดไอคิวเด็กไทย อย่าเพิ่งดีใจถ้าลูกได้ 80/100 เปิด ‘หลุมดำ’ ภาวะทุพโภชนาการในเด็กเล็ก

การพูดถึงภาวะทุพโภชนาการในเด็ก ไม่ว่าจะเป็นเด็กอ้วน หรือเด็กเตี้ย สำหรับหลายคนอาจเป็นเรื่องที่ฟังผ่านหู เพราะความเชื่อผิดๆ ที่ว่า เด็กอ้วนพอโตขึ้นตัวสูงขึ้นก็หายอ้วนเอง เด็กเตี้ยเป็นเพราะพันธุกรรมจากพ่อแม่ ให้กินแคลเซียมไม่นานก็สูงได้

นั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ปัจจุบันสถานการณ์ของเด็กไทยอยู่ในเกณฑ์ที่น่าเป็นห่วง ไม่เพียงมีจำนวนเด็กอ้วนมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กในเมืองใหญ่ ยังพบว่า ร้อยละ 10.5 ของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ขวบ มีภาวะเตี้ยปานกลางถึงมาก และร้อยละ 2.6 อยู่ในเกณฑ์เตี้ยมาก

ในเวทีประชุม “สานพลัง สร้างปัญญา พัฒนาเด็กปฐมวัยและประถมศึกษา” ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน ร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย มูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เครือข่ายคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ และศูนย์สนับสนุนวิชาการเพื่อการจัดการเครือข่ายภาค (ศวภ.) จัดขึ้นเพื่อจัดการความรู้ระบบการดูแลเด็กปฐมวัยและประถมศึกษาโดยชุมชนท้องถิ่น ระหว่างวันที่ 22-24 เมษายน 2562 ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัยและโฆษก กระทรวงสาธารณสุข บอกว่า กรมอนามัยร่วมกับองค์การอนามัยโลกสำรวจปัญหาของเด็กไทยตั้งแต่ปี 2558 พบว่าปัญหาดังกล่าว ซึ่งรวมไปถึงเด็กนักเรียนที่สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ยังมีมิติของความสัมพันธ์ทางเพศอีก เหล่านี้เป็นเพียงยอดของภูเขา

Advertisement

“กว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของนักเรียนไทยมีปัญหาอ้วน ขาดความภาคภูมิใจในตัวเอง หลายคนไม่ได้คิดฆ่าตัวตาย แต่เขากำลังฆ่าตัวตายผ่อนส่งเพราะโรคเอ็นซีดี ที่สอดคล้องกับเรื่องนี้คือ ตัวเลข 56.3 เปอร์เซ็นต์ของคนไทยที่ออกกำลังกายน้อยมาก”

ที่น่าสนใจคือ พญ.อัมพรบอกว่า ปัจจุบันมีนโยบายของการวัดไอคิวเด็กเพื่อวางแผนการจัดการเรียนการสอน ทำให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรม และสามารถทราบช่องว่างของปัญหานั้นว่าคืออะไร โดยเกณฑ์การวัดไอคิวอย่างง่ายๆ คือใช้ค่าความสามารถทางสติปัญญาของเด็ก หารด้วยค่าความสามารถทางสติปัญญาของเด็กที่อายุเฉลี่ยเท่าๆ กัน คูณด้วย 100 ถ้าคนที่มีค่าไอคิวเป็นปกติเป๊ะๆ จะต้องมีค่าไอคิวที่ 100

ทั้งนี้ มีพ่อแม่จำนวนหนึ่งคิดว่ากรณีที่ลูกตนเองวัดไอคิวแล้วได้ 80 เท่ากับเกรด 4 แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะการวัดไอคิวต่างจากการวัดด้วยคะแนนสอบ

พญ.อัมพรบอกว่า ค่าเฉลี่ยไอคิวของเด็กไทยอยู่ที่ 98.23 แม้ว่าใกล้ 100 แต่ “ไม่ใช่ว่าสบายใจได้” เพราะประเทศไทยมีประเด็นในเรื่องของความทั่วถึงและเท่าเทียมด้วย ซึ่งมีน้อยจังหวัดเหลือเกินที่มีเด็กไอคิวเกิน 100 ไปนิดหนึ่ง ขณะที่จังหวัดที่มีประชากรไอคิวต่ำกว่า 100 มีครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ เด็กไทยจึงจำเป็นต้องได้รับการดูแล จำเป็นต้องได้รับจากจัดการทั้งนโยบายในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น

บรรยากาศเวทีถกแถลงนโยบายร่วมพัฒนาเด็กไทย

ถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับเด็กไทย?

นับตั้งแต่ปี 2540 ที่มีนโยบายคุมกำเนิด ซึ่งนโยบายนี้เลยเถิดไปหน่อยทำให้เกิดปัญหาเด็กเกิดน้อยและด้อยคุณภาพไปเรื่อยๆ ภายใต้ข้อจำกัดทางสังคมที่มีเด็กเกิดน้อยจึงมีการให้เงินอุดหนุน แต่เงินไม่ใช่ทุกสิ่งของชีวิต ยังมีแม่จำนวนหนึ่งที่ยังไม่พ้นวัยใส

“ข้อมูลจาก พม. (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) พบว่ามีแม่ที่รับเงินอุดหนุนมากขึ้นๆ ที่สำคัญคือ การเข้าไม่ถึงสิทธิของตัวเอง การทุ่มเทเพื่อเด็กปฐมวัยจึงเป็นเรื่องที่ใช่ แต่ต้องรวมไปถึงช่วงเวลาที่ชีวิตนั้นอยู่ในครรภ์ด้วย”

พญ.อัมพรบอกอีกว่า อัตราการตายของแม่ก่อนคลอดไปจนถึงแม่ที่คลอดลูกแล้วในเดือนแรกๆ มีไม่น้อย และที่น่าสะเทือนใจคือมีภูมิภาคที่มีอัตราการตายสูงมาก นั่นคือแม่ที่เข้าไม่ถึงการดูแลกำลังถูกละเลย ด้วยเหตุนี้ 4 กระทรวง คือ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงศึกษาธิการ จึงหารือกันและแสดงถึงความห่วงใยกับเรื่องนี้ ซึ่งถ้าเราสามารถหยิบประเด็นการศึกษา สุขภาพ และสิทธิเข้ามาบูรณาการร่วมกันจะดียิ่ง

แม่ไทยมีปัญหาซูบซีดมากกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้น้ำนมพร่องไปด้วย ถ้าแม่ไทยสุขภาพแย่ไปเรื่อยๆ เด็กไทยจะตกอยู่ในภาวะขาดสารอาหารเรื้อรัง โดยเฉพาะในช่วง 5 ขวบแรก ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก และจะส่งผลกระทบเมื่อเด็กคนนั้นเติบโตเข้าสู่ช่วงประถมวัย โดยพบว่าอัตราการเตี้ยของเด็กมากขึ้น 3-4 เท่า ซึ่งควบคู่กับภาวะเด็กผอมด้วย แต่ขณะเดียวกันเด็กไทยก็เจอปัญหาอ้วน

พญ.อัมพรบอกว่า เมื่อเข้ามาแตะปัญหาด้านโภชนาการก็พบ “หลุมดำ” ที่ต้องการการขับเคลื่อนในระดับนโยบาย

ที่สำคัญคือ การขาดภาวะทางโภชนาการไม่ได้อยู่ที่ตัวเด็ก แต่มันเปลี่ยนไปที่โครโมโซม ซึ่งจะแสดงอาการอีกครั้งหนึ่งเมื่อเด็กคนนั้นโตขึ้น พอเริ่มเข้าสู่อาหารที่มีพลังงานจะโถมเข้าหาพลังงานอย่างรวดเร็ว จะเกิดกลไกของการอ้วนมากกว่าเด็กที่ไม่เคยขาดสารอาหารมาก่อน และมากยิ่งกว่านั้นคือ ยังถ่ายทอดโครโมโซมไปสู่รุ่นลูกให้เป็นโรคเอ็นซีดีได้ด้วย

ฉะนั้นคนจะเป็นแม่ต้องมีความพร้อมของร่างกาย แม่มีสิทธิฝากท้อง มีสิทธิดูแลครรภ์ได้เต็มที่ มีสิทธิได้รับการคัดกรองว่าตัวเองซีด หรือขาดไอโอดีนไหม มีสิทธิได้รับยาเสริมธาตุเหล็ก ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ทุกคนมีสิทธิได้รับโฟลิกแอซิด ซึ่งเป็นประเด็นที่มีนโยบายสนับสนุนแล้ว แต่รอการขับเคลื่อนจากชุมชน เพื่ออนาคตของเด็กไทยที่จะเกิดขึ้นมาอย่างไม่ซีดไม่เล็ก ได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียม

ส่วนหนึ่งของข้อมูลความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์จริง

“หัวใจสำคัญสุด คือการขับเคลื่อนของ พชอ. (คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ) ซึ่งจะถ่ายโอนต่อไปถึงชุมชน คือไม่ได้ดูแค่ตัวเด็ก แม่ แต่รวมถึงครอบครัวของเขาด้วย เพราะไม่ว่านโยบายจะขับเคลื่อนแค่ไหน ถ้าชุมชนไม่สนับสนุน นโยบายก็จะไปต่อได้อย่างยากลำบาก”

ที่ผ่านมาการลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน เราได้เห็นต้นแบบดีๆ มากมาย ซึ่งโครงการดีๆ เหล่านี้ต้องได้รับการจัดการไว้ในระบบ มีการเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน โดยนโยบายกับชุมชนจับมือกัน ช่วยกันดูแลไปในทิศทางเดียวกัน

เหล่านี้เป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่า ความร่วมมือร่วมใจของชุมชนเกิดได้ และมีผลต่อการขับเคลื่อนให้ชุมชนเติบโตต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image