‘พัดทดน้ำ’ ภูมิปัญญาการจัดการน้ำบ้านนาหมูม่น ประติมากรรมมีชีวิตแห่งลุ่มน้ำหมัน

เมืองแอ่งกระทะ คืออีกชื่อเรียกหนึ่งของอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เนื่องจากภูมิประเทศของอำเภอด่านซ้ายที่ตั้งอยู่ในหุบเขา มีลุ่มน้ำหมันเป็นแม่น้ำสายหลักระยะทางยาว 65 กิโลเมตร ไหลผ่านชุมชนจากเหนือจรดใต้ ทำให้เกิดน้ำไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มต่ำส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหายเป็นประจำทุกปี ปีละ 4 ครั้ง ตั้งแต่ต้นฤดูฝนถึงปลายฝนต้นหนาว ทำให้ชุมชนเกิดความขัดแย้งและแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม

กลุ่มที่ได้รับผลกระทบเชื่อว่าสาเหตุน้ำท่วมมาจาก “พัดทดน้ำ” เพราะหลักหร่วย (ส่วนประกอบหนึ่งของพัดทดน้ำ) ไปกีดขวางการไหลของน้ำเมื่อยามน้ำหลากน้ำจึงระบายได้ช้าและเอ่อเข้าท่วม นำมาสู่การรื้อถอนพัดทดน้ำ ขณะที่กลุ่มพัดทดน้ำที่น้ำท่วมนาเช่นเดียวกันกับกลุ่มทำพัดทดน้ำมองว่า ปัญหาน้ำท่วมมาจากการพังทลายของหน้าดินที่เกิดจากการทำไร่บนพื้นที่สูงที่พัดเอาเศษไม้ ทราย และดินตะกอนลงมาทำให้ลำน้ำหมันตื้นเขิน

“พัดทดน้ำ” เป็นภูมิปัญญาการจัดการน้ำของท้องถิ่นที่เป็นอัตลักษณ์ของคนลุ่มน้ำหมัน โดยอาศัยธรรมชาติการไหลของสายน้ำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ทำให้สามารถดึงน้ำจากที่ต่ำขึ้นไปยังที่สูงกว่าได้เพื่อใช้ผันน้ำเข้าสู่แปลงนา ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นเทคโนโลยีพื้นบ้านด้านการจัดการน้ำที่สะท้อนให้เห็นถึงปฏิสัมพันธ์ของคนกับธรรมชาติ แต่ยังให้เห็นความสัมพันธ์ของคนกับคนในมิติต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องระบบเครือญาติในการเข้าใช้สิทธิการทำและใช้พัดทดน้ำโดยเฉพาะบ้านนาหมูม่น ตำบลนาดี เป็นชุมชนที่มีการสืบทอดภูมิปัญญาด้านการจัดการน้ำดังกล่าวมาหลายชั่วอายุคนจนถึงปัจจุบัน

พัดทดน้ำที่บ้านนาหมูม่น

พัดทดน้ำจึงมีความสำคัญและผูกพันกับวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนมานาน แต่จากความขัดแย้งของชุมชนในมุมมองความเห็นที่ต่างกัน นำมาสู่การจัดทำประชาคมเรื่องพัดทดน้ำในปี พ.ศ.2522 เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม และเกิดการขุดลอกลำน้ำหมันโดยโครงการจากหน่วยงานภาครัฐ ทำให้ระบบนิเวศลำน้ำหมันเปลี่ยนแปลงไปและส่งผลให้พัดทดน้ำที่เคยมีอยู่กว่าร้อยตัวตลอดเส้นลำน้ำหมันลดลง

Advertisement

ที่บ้านนาหมูม่นจากเดิมที่เคยมีพัดทดน้ำกว่า 50 ตัว ตามแนวลำน้ำหมันที่ไหลผ่านหมู่บ้านระยะทาง 4-5 กม. ปัจจุบันมีเพียง 13 ตัว กลายเป็นหมู่บ้านแห่งเดียวที่ยังคงมีพัดทดน้ำเหลืออยู่มากที่สุดในอำเภอด่านซ้าย

จากจำนวนพัดทดน้ำที่ลดลง ทำให้ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งเป็นห่วงอนาคตพัดทดน้ำอาจสูญหายไปจากแม่น้ำหมัน กระทั่งปี 2557 ทีมนักวิจัยได้เข้าสำรวจพบปัญหาดังกล่าว จึงได้จัดทำ โครงการ “พัดทดน้ำ” เพื่อรื้อฟื้นเทคโนโลยีด้านการจัดการน้ำ ขึ้นในปี 2559-2560 โดยการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาและรวบรวมองค์ความรู้การทำพัดทดน้ำและแนวทางการส่งเสริมพลังงานทางเลือกในการจัดการน้ำที่ประหยัดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

รศ.เอกรินทร์ พึ่งประชา

รศ.ดร.เอกรินทร์ พึ่งประชา ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ กล่าวถึงความน่าสนใจของงานวิจัยว่า ในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศลุ่มน้ำหมัน ลำน้ำตื้นเขิน เกิดน้ำท่วมพื้นที่เกษตรและชุมชนเมืองเป็นประจำทุกปีในช่วงฤดูฝน ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบมองว่า “หลักหร่วย” ตั้งขวางทางไหลของน้ำคือสาเหตุหลักทำให้เกิดน้ำท่วม นำมาสู่ความขัดแย้งของคนในชุมน แต่ผลจากการศึกษาวิจัยพบว่า สาเหตุที่ทำให้พัดทดน้ำลดน้อยลงมาจากหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นคือการเข้ามาของเครื่องสูบน้ำ รวมถึงโครงการขุดลอกน้ำหมันของภาครัฐเมื่อปี 2552 ที่ขาดการศึกษาผลกระทบ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศสายน้ำหมัน เส้นทางน้ำเปลี่ยน และวังปลาที่เคยเป็นที่หากินของสัตว์น้ำหายไป

Advertisement

“งานวิจัยนี้ได้ประยุกต์วิธีการศึกษา โดยการสัมภาษณ์เชิงลึกแบบไม่เป็นทางการ การสัมภาษณ์แบบกลุ่มสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม สำรวจเอกสาร จัดหมวดหมู่ นำมาสังเคราะห์และวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบ ซึ่งการศึกษาพบว่า พัดทดน้ำไม่ได้เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วมอย่างที่ชาวบ้านเข้าใจ โดยสามารถพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า แม้ปัจจุบันจะมีการใช้พัดทดน้ำลดลงไปเป็นจำนวนมาก แต่ยังคงเกิดปัญหาน้ำท่วมเหมือนเดิมและพื้นที่เกษตรยังคงได้รับความเสียหายเหมือนเดิม ที่สำคัญยังพบว่าวิกฤตลำน้ำหมันกลับมีมากขึ้น เพราะระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้ลำน้ำตื้นเขิน กระแสน้ำหลากมีความรุนแรงขึ้น ซึ่งจากผลงานวิจัยทำให้ปัจจุบันปัญหาความขัดแย้งดังกล่าวของชุมชนจึงเริ่มคลี่คลายมากขึ้น”

รศ.ดร.เอกรินทร์กล่าวว่า ระบบนิเวศลุ่มน้ำหมันส่งผลต่อวิถีการดำเนินชีวิตของคนด่านซ้าย และส่งผลอย่างยิ่งต่อภูมิปัญญาพัดทดน้ำตั้งแต่บ้านด่านซ้ายถึงบ้านปากหมัน โดยเฉพาะบ้านนาหมูม่น ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มหุบเขาตอนปลายลำน้ำหมัน มีแม่น้ำหมันไหลผ่าน แต่มีพื้นที่เก็บกักน้ำน้อย และมีการไหลของน้ำอย่างรวดเร็ว เกิดปัญหากัดเซาะหน้าดินได้ง่าย แม้พื้นที่จะมีภาวะเปราะบางที่มักได้รับผลกระทบโดยตรงคือ เกิดน้ำท่วมเมื่อยามน้ำหลาก และเกิดภัยแล้งเมื่อเข้าสู่ฤดูแล้ง แต่ด้วยสภาพพื้นที่ที่มีระดับตลิ่งที่สูงจากลำน้ำไม่มากนัก อีกทั้งยังมีกอไผ่ขึ้นอยู่ริมติ่งบางช่วงและมีพื้นที่เกษตรที่ไม่ต่างระดับจากลำน้ำมาก จึงเป็นกายภาพที่เหมาะต่อการสร้างพัดทดน้ำ ทำให้พัดทดน้ำบ้านนาหมูม่นยังคงเหลืออยู่ ขณะที่พัดทดน้ำในหมู่บ้านอื่นๆ แทบหายไป เพราะนิเวศที่ไม่เอื้ออำนวย

ศูนย์การเรียนรู้พัดทดน้ำบ้านนาหมูม่น

แต่เมื่อเวลาผ่านไปปัจจัยต่างๆ เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น หลายอย่างถูกปรับเปลี่ยนไปตามบริบทของสภาพแวดล้อม ผลการศึกษาพบว่า สาเหตุที่ทำให้พัดทดน้ำลดลง เกิดจากวิธีคิดและมุมมองหรือทัศนคติต่อพัดทดน้ำของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนแปลงไป การหันมาใช้เครื่องสูบน้ำมากขึ้น การผันผวนของกระแสน้ำ การแบ่งที่ดินทางการเกษตรเป็นแปลงเล็กๆ ทำให้หลายพื้นที่ที่ไม่ติดลำน้ำ ผลคือเกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนที่ทำพัดทดน้ำกับกลุ่มที่ประสบปัญหาน้ำท่วม ระบบนิเวศลำน้ำหมันเปลี่ยนไป บางพื้นที่เปลี่ยนไปจนไม่เอื้อต่อการสร้างพัดทดน้ำ ทำให้หลายหมู่บ้านเลิกทำพัด ยังคงเหลือเพียงไม่กี่หมู่บ้านที่ยังคงสืบสานต่อเช่นบ้านนาหมูม่น

ด้าน นายพยุง สิงห์สถิต ในฐานะปราชญ์ชาวบ้านด้านการทำพัดทดน้ำบ้านนาหมูม่น มองว่า “พัดทดน้ำเป็นภูมิปัญญาที่คุ้มค่า เพราะเป็นกลไกที่สามารถนำน้ำขึ้นมาจากลำน้ำหมันได้ตลอดเวลาตามแรงกระแสน้ำ และการทำพัด 1 ครั้งก็สามารถใช้งานได้ในระยะเวลายาวนานเป็นปี” เช่นเดียวกับ นายจัด สิงห์สถิต ที่ยืนยันว่า “จะยังคงใช้พัดทดน้ำในการเกษตรต่อไป เพราะประหยัดทั้งพลังงาน ค่าใช้จ่าย และประหยัดเวลาในการดูแลได้ดีกว่าการใช้เครื่องสูบน้ำ ไม่อยากให้หายไป จึงมีแนวคิดที่จะสอนวิธีการทำพัดทดน้ำให้รุ่นลูกรุ่นหลานทำต่อไป”

ขณะที่ นางคุณารักษ์ มณีนุษย์ ในฐานะนักวิจัยท้องถิ่น กล่าวยอมรับว่า ภาพแรกที่ได้เห็นพัดทดน้ำทำให้รู้สึกถึงคุณค่าของชุมชนแห่งนี้ จากที่ไม่เคยทำงานวิจัยมาก่อน นอกจากทำให้ได้เรียนรู้ถึงวิถีการทำนาและการปลูกผักของชุมชนแล้ว ยังทำให้ได้เรียนรู้ถึงความหมายของคำว่า เมื่อไหร่พัดทดน้ำหมุน นั่นหมายถึงการเริ่มต้นของชาวนาในการปลูกข้าว ทำให้รู้สึกว่านี่คือบ้าน จึงเป็นที่มาของคำว่า “พัดทดน้ำ ประติมากรรมชีวิต” ประกอบกับเป็นหมู่บ้านที่มีรากวัฒนธรรมมายาวนาน

ดังนั้น เพื่อรักษาฐานทรัพยากรน้ำและสืบสานเทคโนโลยีพื้นบ้านด้านการจัดการน้ำของชุมชน รวมถึงการอนุรักษ์พัดทดน้ำที่เหลืออยู่ในอำเภอด่านซ้ายให้มากที่สุด จึงเกิดการชักชวนกลุ่มคนที่ทำพัดทดน้ำพัฒนาจนเป็นเครือข่ายจากกลุ่มคนท้องถิ่นและภาคส่วนต่างๆ ร่วมกันขับเคลื่อน และได้จัดตั้ง “ศูนย์เรียนรู้ด้านการ    จัดการพัดทดน้ำบ้านนาหมูม่น” ขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา โดยใช้ยุ้งข้าวเก่าของหมู่บ้านเปิดเป็นพื้นที่เรียนรู้ จัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมที่นำเสนอเรื่องราวของพัดทดน้ำในมิติต่างๆ รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้วิถีการทำนาและการปลูกผักของคนนาหมูม่นให้แก่คนทั่วไป

ยุ้งข้าวเก่าปรับเป็นพื้นที่เรียนรู้ นิทรรศการเกี่ยวกับพัดทดน้ำ

“ด้วยอาชีพหลักของชาวบ้านบ้านนาหมูม่น คือการทำเกษตร มีการทำนา 2 รอบ นาปีและนาปรัง และพืชไร่ต่างๆ การใช้น้ำของชาวบ้านจึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อการเกษตรเป็นหลัก และต้องอาศัยน้ำหมันในการทำเกษตรตลอดทั้งปีในอดีตผู้เฒ่าผู้แก่บอกว่าสภาพลุ่มน้ำหมันที่เห็นอยู่ในปัจจุบันเปลี่ยนไปมาก เมื่อก่อนร่องน้ำหมันมีความลึกกว่า 6 เมตร คนไม่สามารถเดินลงแม่น้ำได้เพราะทางที่ชันและลึก จึงต้องทำใบพัดขนาดใหญ่ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางถึง 14 เมตร ซึ่งใหญ่มากลองนึกภาพพัดทดน้ำในตอนนั้นว่าจะสูงขนาดไหน แต่ปัจจุบันขนาดของใบพัดลดลงเหลือเพียง 5-7 เมตร เพราะลำน้ำตื้นเขิน เห็นได้ชัดหลังจากปี 2552 ที่ได้มีการขุดลอกลำน้ำหมัน ส่งผลให้เกิดวิกฤตลำน้ำหมันขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันแม้สถานการณ์การใช้พัดทดน้ำของชาวบ้านในหมู่บ้านนาหมูม่นจะมีทั้งคนที่เลิกใช้พัดไปแล้ว คนที่ยังใช้พัดทดน้ำอยู่ และคนที่จะกลับมาใช้อีกครั้ง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด แต่ที่สุดแล้วชาวบ้านส่วนใหญ่ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า แม้การทำพัดทดน้ำจะหาวัสดุอุปกรณ์ในการทำลำบาก แต่มองเห็นคุณค่าของพัดทดน้ำ จึงอยากให้อนุรักษ์ไว้ต่อไป หากมีโอกาสและปัจจัยที่เอื้ออำนวยก็จะกลับมาทำพัดทดน้ำอีกครั้ง เพราะพัดทดน้ำบ้านนาหมูม่น เกิดจากการปรับตัวและการเรียนรู้การจัดการน้ำของชุมชน เปรียบเสมือนเป็น “พื้นที่วัฒนธรรม” ที่มีอัตลักษณะเฉพาะและมีความสำคัญต่อวิถีการทำเกษตร ตลอดจนความผูกพันกับวิถีชีวิตของคนในชุมชนมาอย่างยาวนาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image