คำต่อคำ ดีเบตเดือด ‘ทางเลียบเจ้าพระยา’ โครงการผู้ใหญ่ลี ในยุค 4.0 ?

ไม่ใช่การเพ้อพร่ำอย่างซ้ำซาก หากแต่เป็นประเด็นที่ดูทีท่าต้องถกเถียงกันอีกนาน สำหรับโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งกลับมาถูกฉายสปอตไลต์อีกรอบว่าจะอยู่หรือไป หลังจากล่าสุดมีข่าวว่า “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ยังไม่จรดปากกาไฟเขียว แต่ก็ไม่ได้ยกเลิกหรือสั่งชะลออย่างเป็นทางการ ส่วนเครือข่ายภาคประชาชนและเอ็นจีโอที่คัดค้าน ก็หอบเอกสารส่ง “ศาลปกครอง” เพิ่มเติมอีกหน เพื่อยืนยันขอให้ยุติโครงการ โดยยื่น 3,000 หน้ากระดาษประกอบคำร้องตั้งแต่ปลายปี 2561 ซึ่ง กทม.ก็ส่งคำชี้แจงยังศาลเป็นที่เรียบร้อยเช่นกัน

เหมาะเจาะกับงานใหญ่ประจำปีของ สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งไม่กี่วันมานี้ได้จัดเวทีดีเบตเข้มข้นให้ฝ่ายเสนอ ฝ่ายค้าน และฝ่ายชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจับไมค์คอมเมนต์กันอย่างดุเดือดด้วยข้อมูลแน่นปึ้ก

และนี่คือส่วนหนึ่งของปากคำที่สะกิดให้สังคมร่วมกันขบคิดถึงอนาคตของแม่น้ำสำคัญสายนี้ ที่ไม่อาจแยกได้จากวิถีชีวิตของผู้คน

คนไม่เชื่อรัฐ ปัญหา’สื่อสาร’ กับเจตนาดีที่ไม่มีทางสำเร็จ?

เริ่มที่ ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะโฆษกโครงการ ซึ่ง สจล.ได้รับการว่าจ้างจาก กทม.ให้ดำเนินการด้านต่างๆ โดยมีกรอบเวลาศึกษาเพียง 7 เดือน กระทั่งก่อเกิดประเด็นดราม่าระดับสึนามิขนาดย่อม โดยดีเบตหนนี้ เจ้าตัวมาย้อนเล่าที่มาแนวคิดและกระบวนการต่างๆ อย่างน่าสนใจ ดังนี้

Advertisement

“โครงการนี้ใช้ภาษีประชาชนทำผ่านกระทรวงมหาดไทยในยุคเข้ามาใหม่ๆ ของ คสช. ย้อนไปบริบทปี 57 โครงสร้างประเทศไทย ความไว้วางใจความเป็นรัฐเป็นอย่างไรคงทราบกันดี การเกิดโครงการที่มาจากภาษีไม่ว่าจะด้วยกระบวนการใด ล้วนเกิดการตั้งคำถามจากประชาชนได้ทั้งสิ้น นี่เป็นความท้าทายของสถาบันการศึกษาที่จะทำงานให้รัฐ เงื่อนไขต่างๆ ที่รัฐเขียนขึ้นในตอนนั้นมีข้อจำกัดมากมายและเหมือนจะ ‘มีธง’ ไว้แล้ว

เราเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ บทบาทคือควรไปให้ความรู้วิชาการ ทำออกมาด้วยเงินภาษีประชาชน ไม่แปลกใจที่ สจล.รับงานทั้งที่รู้ว่าทีโออาร์มีสิ่งมากมายต้องเผชิญ กรอบเวลาที่เขียนไว้ 7 เดือนก็ดี เงื่อนไขต่างๆ ก็ดี ทำให้ต้องหาทีม ทั้งศิษย์เก่า อาจารย์ภายใน ทีมภายนอกที่เป็นมืออาชีพ

สิ่งที่เห็นประโยชน์มากคือ ถ้าคนไม่ไว้ใจรัฐ แล้วคนจะไว้ใจใคร? ถามว่าทุกวันนี้ 7 เดือนเสร็จไหม ตอบว่า ‘ยังไม่ได้เริ่มประมูล’ เพราะแบบยังต้องแก้ไข เราทำงานกับกรมศิลปากร ตามเงื่อนไขต้องเสร็จปี 59 นี่ปี 62 แล้ว ยังไม่ได้ประมูล เป็นที่มาของเงื่อนไขอื่นๆ ว่ากระบวนการเป็นอย่างไร

Advertisement
ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี โฆษกโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา หรือที่มักเรียกกันว่า ‘ทางเลียบเจ้าพระยา’

กทม.เป็นผู้ว่าจ้าง ในฐานะตัวแทนรัฐ สจล.เป็นผู้รับจ้างและมหาวิทยาลัยรัฐ สิ่งที่เราเสนอกับรัฐ ซึ่งไม่ได้อยู่ในทีโออาร์คือการทบทวนแผนต่างๆ เกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ เหตุที่ตั้งชื่อ chaopraya for all เพราะการจัดการพื้นที่สาธารณะในไทยนานมาแล้ว คงมีคำตอบในใจว่าใครกำหนดทิศทางไม่ว่าทางตรงหรืออ้อม นั่นคือ ‘เอกชน’ โดยเฉพาะใน กทม. มีห้างใหญ่ที่รุกเข้าไปในแม่น้ำ รัฐแทบเป็นผู้เอื้อประโยชน์เอกชนในการพัฒนา สิ่งสำคัญในการพัฒนาคือ เจ้าพระยาควรเป็นพื้นที่ที่ทุกคนเข้าถึงได้ เราจึงใช้กระบวนการมีส่วนร่วม มองหาผู้เชี่ยวชาญ คนมีส่วนได้ส่วนเสีย ทว่า การเป็นโฆษกก็ต้องคอยตอบประเด็นดราม่า นานมากกว่าจะได้พูดประเด็นรุกล้ำพื้นที่สาธารณะ 138 ไร่ รายละเอียดการออกแบบ ฯลฯ

หลังจากนั้น มีการทบทวนแผนที่เสนอ เรามีการเสนอไป 3 ครั้ง ทำประชาพิจารณ์แล้วทบทวน โดยเสนอไอเดียกลับไปที่ผู้ว่าจ้าง

หลังการสำรวจช่วงแรกของการทำโครงการ พบว่า 138 ไร่รุกที่สาธารณะ เมื่อใดก็ตามที่แผ่นดินจรดน้ำคือพื้นที่สาธารณะ ทุกคนควรเข้าถึงได้

เข้าใจดีว่าคนไม่ไว้ใจรัฐ แต่เราเป็นรัฐเหมือนกัน ถ้าเราไม่ช่วยแล้วใครจะช่วย?” ผศ.ดร.อันธิกากล่าว แล้วยกตัวอย่างภาพเขื่อนที่ กทม.ทำ หลังน้ำท่วมใหญ่ปี 54 ทำชาวบ้านไม่โอเคกับโครงการภาครัฐอีก

“เรากลับไปทบทวนโครงการเดิมทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาริมน้ำ เช่น โครงการกะดีจีน และยานนาวาริเวอร์ฟร้อนท์ โปรเจ็กต์ ที่เห็นความสำคัญของการเข้าถึงแม่น้ำอย่างเป็นสาธารณะ เมื่อเป็นสาธารณะการดูแลโดย กทม. เช่น การเก็บขยะก็เข้าถึงได้

ขอบเขต ที่ สจล.รับจ้าง กทม.คือทำแผน 57 กม.ที่พาดผ่าน ศึกษาแผนที่เกี่ยวข้อง สำรวจ ทำแผนแม่บท ทำ conceptual design รวมถึงประเด็นสิ่งแวดล้อมแม้ทีโออาร์จะไม่ได้ระบุ นอกจากนี้ยังต้องศึกษาอย่างละเอียดในช่วงทำแบบ คือช่วงจากสะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฝั่งละ 7 กม.คือ ฝั่ง กทม.และฝั่งธนบุรี โดยแบ่งเป็น 4 เฟส มีการลงพื้นที่ชุมชนละประมาณ 46 ครั้ง เพื่อรับทราบความต้องการและไม่ต้องการ ทั้งสำรวจ ทำแบบสอบถาม สัมภาษณ์เชิงลึกและแบบเป็นกลุ่ม เมษายน 59 ปฐมนิเทศโครงการ มีคน 300-500 คน เข้าร่วม กรกฎาคม 59 นำเสนอความคืบหน้า กันยายน 59 สรุปโครงการ

หลายชุมชนอายุเป็นร้อยปี ก็ใช้คนด้านโบราณคดี ด้านการอนุรักษ์เพื่อเสนอรัฐว่าชุมชนแบบนี้ไม่ใช่แค่เอากฎหมายมาวางแล้วรื้อ ให้ไปอยู่อื่น เพราะประวัติศาสตร์จะหายไปด้วย เมื่อได้แบบร่างมีการนำไปหารือกับชุมชน 3 ครั้งเป็นอย่างน้อย

ไม่ใช่ทุกชุมชนที่อยากให้มี แต่บางชุมชนค้าขายก็ไฟเขียว จากการสำรวจพบว่า 65% เห็นว่ามีผลดีมากกว่าเสีย คนลังเลอาจไม่แน่ใจรูปแบบ และผลดีผลเสีย

กรณีกลุ่มเพื่อนแม่น้ำทำรูปแบบออกมาเผยแพร่ รวมถึงบางสื่อโชว์ภาพถนนสูง ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่แบบนั้น เสาแค่ 80 ซม. รองรับรถยนต์ไม่ได้ ไม่ใช่ถนนให้รถวิ่งอย่างที่มีคนกังวล แต่จะออกมาในรูปแบบทางคนเดินหรือทางจักรยานบนพื้นที่สาธารณะ

“เรามีบทเรียนมากมายจากการทำโครงการนี้ในบริบทที่ประชาชนตั้งคำถามกับการทำโครงการของรัฐ เราได้เรียนรู้ว่าบทบาทของเอกชนแข็งแรงมาก ส่วนรัฐที่มักสื่อสารทางเดียว ไม่ว่าจะเจตนาดีแค่ไหน ถ้าสื่อสารไม่ดีก็ไม่มีทางสำเร็จ รัฐต้องสร้างความเชื่อมั่น” โฆษกโครงการสรุป

ไม่เกี่ยว ‘เผด็จการ-ปชต.’ ยันปัญหาคือทัศนคติ

มาถึงไม้เบื่อไม้เมาที่เฝ้าถกกันแทบทุกเวทีด้วยมุมมองต่างทางการพัฒนา อย่าง ยศพล บุญสม ภูมิสถาปนิก ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม friend of the rivers หรือเพื่อนแม่น้ำ หนนี้คว้าไมค์ขึ้นคัดค้านประเด็นรัฐบาลเผด็จการที่ ผศ.ดร.อันธิกาเกริ่นถึงตั้งแต่ต้น

“ไม่เกี่ยวว่าเป็นรัฐบาลแบบไหน แต่เกี่ยวกับทัศนคติต่อการพัฒนาแม่น้ำเจ้าพระยา รัฐบาลประชาธิปไตยก็อยากมีทางเลียบฯเหมือนกัน”

จากนั้นยศพลโชว์ภาพแบบโครงการยุคเก่าก่อนตั้งแต่ยังไม่มี คสช. พร้อมตั้งคำถามว่า ปัญหาต่างๆ ของเจ้าพระยาซึ่งยอมรับกันว่ามีอยู่ ทำไมทางแก้ปัญหาคือการทำทางเลียบทั้งสิ้น ทั้งขยะ การรุกล้ำ ความเสื่อมโทรม และความเหลื่อมล้ำ

“สิ่งที่ห่วงคือ โครงการนี้ถ้าทำขึ้นจริงจะกลายเป็นต้นแบบที่ว่า ถ้าจะพัฒนาแม่น้ำต้องทำทางเลียบตามทีโออาร์ สิ่งที่ต้องทำมี 3 อย่าง 1.ศึกษาภาพใหญ่ มาสเตอร์แพลน 57 กม.ว่าจะทำอะไรกันดี 2.ออกแบบรายละเอียดของโครงการที่จะทำ 3.ประชาสัมพันธ์ สร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชน ที่แปลกคือยังไม่ทันศึกษาภาพใหญ่ก็รู้อยู่แล้วว่าจะทำทางเลียบ จึงเป็นคำตอบที่มีธง เป็นการศึกษาที่ผิดหลักวิชาการ”

ยศพลปิดท้ายว่า สิ่งที่ผิดของโครงการนี้มี 3 อย่างคือ นโยบาย กระบวนการ และรูปแบบ กล่าวคือ นโยบายถ้ามีธง กระบวนการ จะลงพื้นที่กี่ร้อย กี่พันครั้งก็ตาม ไม่มีความหมาย

ยศพล บุญสม ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มเพื่อนแม่น้ำมีบทบาทคัดค้านโครงการทางเลียบเจ้าพระยาตลอดมา

แอบผลัก รีบดัน เร่งผันงบ ขยี้วิชาการ ‘ไม่สง่างาม’

ผายมือไปที่วาทะของ ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ภาควิชาทรัพยากรน้ำ ม.เกษตรศาสตร์ ที่ตั้งคำถามอย่างแรงกล้า ถึงการแอบรีบ เร่ง ผลักดันโครงการนี้ให้เดินหน้าในยุค คสช.

“นี่ไม่ใช่โครงการใหม่ มีมาตั้งแต่ก่อน คสช. คือยุคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล ดิฉันเข้ามาเกี่ยวในปี 61 ซึ่งมีการยื่นร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน โดยเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการสิทธิฯในตอนนั้น ซึ่ง อ.อันธิกาเป็นผู้เดียวที่ไปชี้แจง

จากวันนั้นถึงวันนี้ปีกว่าแล้วก็ยังไม่ชัดเจนว่าตกลงจะอย่างไร น่าจะมีการของบรัฐจ่ายค่าเวนคืน ส่วนที่ยังมีปัญหาน่าจะติดขัดข้อกฎหมายกรมเจ้าท่า รู้สึกเป็นห่วง โครงการนี้มีแนวคิดมานาน ถามว่าถ้าดีขนาดนั้น ทำไมไม่สร้างมานานแล้ว ทำไมหลุดมาถึง คสช. แล้วพอ คสช.เข้ามาปุ๊บถึงรีบดันออกมา นี่คือคำถามที่ขอทิ้งไว้ โดยส่วนตัวทำงานวิชาการที่เกี่ยวข้องกับ คสช.ด้านทรัพยากรน้ำในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จึงเห็นใจ อ.อันธิกาอย่างยิ่งว่า แน่นอนเราต้องบริการวิชาการ แต่ในความเป็นนักวิชาการ คงต้องมีความสง่างามด้วย”

ผศ.ดร.สิตางศุ์ยังค้นย้อนไปไกลถึงยุคที่แนวคิดโครงการทางเลียบฯมีขึ้น เพื่อหวังแก้ปัญหา “จราจร” แต่ถูกพับด้วยความ “ไม่คุ้มทุน” หลังจากนั้น ยังผุดออกมาในการ “แก้ปัญหาน้ำท่วม” กระทั่งถึงเหตุผลเรื่อง “การเข้าถึงอย่างเท่าเทียม”

“ตกลงทางเลียบ จะทำเพื่ออะไรกันแน่? นี่คือคำถามที่ต้องถาม กทม. แม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านหลายจังหวัด ไม่ใช่เฉพาะ กทม. กทม.ไม่มีสิทธิสร้างสิ่งรุกล้ำลำน้ำโดยไม่รับฟังตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ยังไม่ได้พูดถึงประเด็นงบ ซึ่ง กทม.อาจทำได้และดีจนได้รางวัลระดับโลก แต่การแอบผลักดัน รีบผลักดัน รีบผันงบ รีบทำในยุค คสช. ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง

กทม.ต้องคิดให้หนักที่จะผลักดันโครงการนี้ คสช.ไม่ได้อยู่ตลอดไป แต่ลายเซ็นของท่านที่อนุมัติจะยังคงอยู่ ยังมีอีกหลายคำถามในเรื่องชลศาสตร์ ผลกระทบทางน้ำ ดิฉันไม่เชื่อมั่นในผลการศึกษาอีไอเอที่ใช้เวลาไม่ถึง 7 เดือน

เราเจ็บกันมาเท่าไหร่แล้วกับการศึกษาอีไอเอแบบนี้ นี่ไม่ใช่ความผิดของสถาบันการศึกษาที่รับจ้างภาครัฐในการศึกษา แต่เป็นความผิดของระบบ ผู้รับเงินต้องศึกษาเพื่อให้บอกว่า สร้างได้ เป็นธรรมดาของโครงการต่างๆ ในบ้านนี้เมืองนี้

ขอเรียกร้องให้ กทม.จัดเวทีใหม่ โดยให้ผู้เชี่ยวชาญแต่ละศาสตร์ที่ศึกษามาตอบคำถามด้วยตัวเอง อย่าปล่อย อ.อันธิกาโดดเดี่ยว ชี้แจงเพียงลำพัง”

จี้ปมประชาพิจารณ์ กับโครงการ ‘ผู้ใหญ่ลี’ ในยุค 4.0

ถึงคิวคนรักเจ้าพระยาอย่าง ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล แห่งรั้วธรรมศาสตร์ ผู้พายเรือเก็บขยะในแม่น้ำสายดังกล่าวด้วยตนเองมาแล้ว เริ่มต้นด้วยประเด็นทางวัฒนธรรม แล้วปิดท้ายด้วยมุมมองทางกฎหมายไม่ทิ้งลายอาจารย์นิติศาสตร์

“พูดในฐานะคนไทย เป็นห่วงว่าโครงการนี้จะทำลายความรุ่มรวยของ กทม. แม่น้ำเจ้าพระยามีความรกรุงรังอยู่บ้าง แต่การทำกรุงเทพฯให้เกลี้ยงหมด คนจนไม่เหลือ เหลือแต่ที่ของคนรวย ทำให้หมดเสน่ห์ การจะแก้ปัญหาเรื่องคนบุกรุกต้องแก้ด้วยวิธีอื่น

เรื่องเป้าหมายที่ต้องการให้คนเข้าถึง ผมเห็นด้วย แต่ใครอยากเข้าถึงแม่น้ำต้องลงเรือ ดังเช่นปู่ย่าตายายเราทำกันทางเลียบฯ โอเค สำหรับชุมชนหมู่บ้านเล็กๆ ที่เชื่อมต่อถึงกัน แต่ไม่ใช่สำหรับเมืองขนาดใหญ่

แฟ้มภาพ

บทเรียนที่อยากเล่าคือ ผมทำทางจักรยานที่ มธ.รังสิต ยาวเป็นสิบกิโล แต่ปัญหาใหญ่ที่ต้องแก้ตอนนี้คือ ทำอย่างไรให้มอเตอร์ไซค์ไม่มาขี่ นี่ขนาดเป็นพื้นที่ที่เราควบคุมได้พอสมควร ยังลำบากมากในการป้องกัน เกรงว่าทางเลียบฯจะกลายเป็นทางของมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

เราพูดกันบ่อยๆ ว่านี่คือยุคไทยแลนด์ 4.0 ต้องการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่เห็นโครงการนี้แล้วนึกว่ายุค 2.0 คือการพัฒนาในยุคผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม พัฒนาโครงสร้างแบบเต็มไปด้วยตอม่อ ปูน ที่ไร้ชีวิตจิตใจ นี่ถ้าเป็นโครงการเมื่อ 50 ปีที่แล้ว จะไม่แปลกใจ แต่นี่ยุค 4.0 แล้ว

ผมไม่ต่อต้านเจตนาและเป้าหมายที่ดี แต่ในมุมนักกฎหมาย การทำประชาพิจารณ์ที่ถูกต้องคือ ตั้งเป้าหมายร่วมกันว่าเราจะพัฒนาแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างไร เพื่อรักษาความหลากหลายและรุ่มรวยทั้งธรรมชาติและวัฒนธรรมไว้

ส่วนปัญหาคนบุกรุก โยนโจทย์แล้วมาหาวิธีการที่เราทุกคนเห็นพ้องต้องกัน ถ้าทางบรรลุเป้าหมายมีมากกว่า 1 ทำไมต้องเลือกวิธีการที่ทำให้เราทะเลาะกัน

เรากำลังทะเลาะกันเพราะทหาร

“กทม.ขณะนี้ใช่การปกครองส่วนท้องถิ่นหรือไม่ ผมไม่รู้จะเรียกว่าอะไร เพราะเป็นการปกครองด้วย ม.44 ถามว่ามีความชอบธรรมแค่ไหนในการที่จะมาเปลี่ยนกรุงเทพฯแบบนี้?”

รองอธิการฯแม่โดมตั้งคำถาม ก่อนตบท้ายประโยคที่ทำให้ผู้ฟังปรบมือเกรียวกราว

“ไม่ทราบว่าจะมีส่วนไหนผ่าน มธ.หรือไม่ ถ้ามี ผมไม่ยอม และทุกที่ไม่ควรยอม”

‘สาธารณะ’ ภารกิจรัฐ? เจ้าของไม่ชัด เจ้าภาพไม่เป๊ะ!

ด้านผู้เกาะติดประเด็นการพัฒนาเมืองอย่าง ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลุกจากเก้าอี้มาร่วมดีเบตอย่างน่าฟังว่า “ฝ่ายเสนอ” พยายามแยกประเด็นการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำให้เห็นว่าทำในนามมหาวิทยาลัยและการช่วยรัฐ ซึ่งเป็นเรื่องสาธารณะ ไม่เกี่ยวกับทุนนิยมและเศรษฐกิจ ถ้าไม่เข้าไป เอกชนจะบุกรุก

“ประเด็นที่ควรพูดคุยทั้งสองฝ่ายคือ การบอกว่าความไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชนต่อโครงการในรัฐบาลเผด็จการมีปัญหา จริงๆ แล้วการวางผังเมืองใหม่ๆ ไม่ใช่เรื่องที่รัฐจะผูกขาดสาธารณะอีกต่อไป คำถามใหญ่ของเรื่องนี้คือคำว่า ‘ความเป็นเจ้าของ’ ซึ่งอาจสำคัญกว่าการเข้าถึง

คำว่าสาธารณะเป็นภารกิจของรัฐเท่านั้นหรือ? การสร้างสถาบันใหม่ๆ ในการร่วมบริหารจัดการสาธารณะคือใคร องค์กรไหน เมืองเป็นของใคร เป็นของ กทม.เท่านั้นหรือ? ในวงวิชาการผังเมืองไปไกลกว่า ownnership แบบ city right แต่ไปสู่ right to the city คือสิทธิที่จะมีอำนาจการกำหนดชีวิตในเมือง

ทางเลือกของคนที่ถูกมองเป็นผู้บุกรุกจะไปอยู่ตรงไหน คำถามที่ไปไกลกว่าความสวยงาม ประโยชน์ หรือการป้องกันการรุกล้ำพื้นที่ คนซึ่งทำมาหากินริมน้ำ ถ้าไม่มีสิทธิอยู่ในดีเบตของ 2 ฝ่าย เขาจะไปอยู่ไหน มันมีคนที่เราต้องเก็บตกเรื่องเหล่านี้อีก เลยอยากจับประเด็นคำว่า ‘สาธารณะ’ ในความหมายนี้ว่าเอาแค่ไหน

คิดว่าเรื่องใหญ่ของกรุงเทพฯคือ เจ้าของกับเจ้าภาพไม่ค่อยชัดเจน โครงสร้างการบริหารกรุงเทพฯมีปัญหา เขตเป็นหน่วยงานที่ถูกส่งมาปฏิบัติงาน เขตเหมือนอำเภอ แต่อำเภอมีเทศบาล มี อบต. แต่ กทม. สภาเขตไม่ได้มีบทบาทมาก ในกฎหมายใหม่จะไม่มีแล้วด้วย

การเลือกตั้งเป็นสิ่งเลวร้าย สภาเขตยิ่งต้องไม่มี ผอ.เขตยิ่งไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่นักการเมืองเก่ง แต่ ‘ถูกด่า’ ได้ ประเด็นคือ คนทำโครงการต้องไปลงชุมชน ไม่เช่นนั้นจะขาดทิศทางที่คนพื้นที่ระดับเขตจะมีวิสัยทัศน์ร่วม เราตื่นเต้นเวลาเลือกตั้งผู้ว่าฯเพราะเขามาขายเฟอร์นิเจอร์ ขายโครงการ แต่โครงสร้าง กทม.อ่อนแอกว่าเทศบาล เราจะเห็นว่าโครงการต่างๆ ที่กระทบคนใน กทม.มีปัญหาทุกโครงการ เพราะโครงสร้างส่วนนี้ไม่ชัดเจน เวลาพูดถึงการมีส่วนร่วม มีหลายระดับ ตั้งแต่อารมณ์ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม จนถึงประชาชนเข้าไปควบคุมได้ ฉะนั้นเถียงกันไม่ได้ว่าฉันไปหาประชาชนแล้วนะ แต่ในข้อจำกัดที่ สจล.ไปรับมาทำก็เห็นใจว่าต้องพยายาม”

รรยากาศเวทีสาธารณะ ‘ทางเลียบเจ้าพะยา สร้างสรรค์หรือทำลาย’ จัดโดยสมาคมสถาปนิกสยามฯ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา ณ ห้องจูปิเตอร์ อิมแพคเมืองทองธานี

ไม่เพียงความเห็นของนักวิชาการ หากแต่ช่วงท้ายยังร้อนแรงเข้าไปอีกหลายดีกรี เมื่อเปิดให้คนฟังร่วมคอมเมนต์

นับเป็นดีเบตสุดฮอตในประเด็นยอดฮิตของการพัฒนาและอนุรักษ์กับโครงการยักษ์ที่คนไทยจับตาและรุมค้านกันแทบทั้งประเทศ จนน่าแปลกใจว่าทำไมยังไม่พับเก็บเข้าลิ้นชักไปสักที

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image