ด้วยอาลัย ‘ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร’ มุมมอง ความคิด ชีวิต และความทรงจำ

ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร เมื่ออายุ 100 ปี บันทึกภาพเมื่อเดือนมีนาคม 2562 ก่อนถึงแก่อนิจกรรมไม่ถึง 2 เดือน

“ไม่มีนะครับ มันมีความสุขที่ได้ทำตัวให้ดีที่สุดในแต่ละวันไปแล้ว เวลาจะนอนก็คิดว่าวันนี้ได้ทำประโยชน์อะไรให้แก่ประเทศชาติบ้าง พรุ่งนี้จะทำให้ดีขึ้น”

คือคำตอบต่อคำถามที่ว่า “100 ปีของชีวิตที่ยาวนาน ยังมีสิ่งที่อยากทำแต่ยังไม่ได้ทำหรือไม่ ?”

ปรากฏในบทสัมภาษณ์สุดท้าย ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร อดีตนายกราชบัณฑิตยสถาน ตีพิมพ์ใน “มติชน” ฉบับวันที่ 24 มีนาคม 2562

ยังมากมายด้วยรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ เดินเหินอย่างคล่องแคล่ว กดลิฟต์ขึ้นชั้น 3 ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภาด้วยตนเอง เพื่อเข้าร่วมประชุมในช่วงบ่ายดังเช่นที่เป็นมา

Advertisement

7 พฤษภาคม 2562 แวดวงวิชาการสูญเสียนักปราชญ์คนสำคัญที่สุดคนหนึ่งเท่าที่ประเทศไทยเคยมี

ผู้สืบสายสกุลทางใต้ที่ไปเกิดและใช้ชีวิตในภาคเหนือ นักสถิติและคณิตศาสตร์ ที่อ่านจารึกภาษาไทยอย่างปรุโปร่ง เปิดไฟให้ปมประวัติศาสตร์ที่เคยเป็นปริศนาดำมืด กระจ่างชัดในไทม์ไลน์

อาจารย์หนุ่มที่ออกปาก ไม่ชอบงานบริหาร แต่เป็นผู้วางผังแม่บทเพื่อเป็นฐานรากในการบริหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นั่งเก้าอี้ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย กระทั่งเกษียณอายุราชการ แต่ไม่เคยหยุดทำงานกระทั่งช่วงสุดท้ายของชีวิต

Advertisement

บุกเบิกหลักสูตรสถิติ ริเริ่มเอ็นทรานซ์ต้านระบบ ‘อุปถัมภ์’

ย้อนกลับไปเมื่อ 1 ศตวรรษที่แล้ว เด็กชายประเสริฐ ณ นคร เกิดที่เมืองแพร่ บุคลิกเรียบร้อยแบบบที่เจ้าตัวบอกว่า “เหมือนผ้าพับไว้” จนครูให้เด็กผู้หญิงดูไว้เป็นตัวอย่าง หลังจบการศึกษาจากโรงเรียนนารีรัตน์แพร่ โรงเรียนพิริยาลัย ยุพราชวิทยาลัย และสวนกุหลาบวิทยาลัย ตามลำดับ ก็สอบได้ทุนเล่าเรียนหลวงไปเรียนต่อจนจบปริญญาตรี สาขาเกษตรวิศวกรรม จาก University of the Philippines at Laos at Los Banos และปริญญาธรรมศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโทและเอกทางสถิติจากมหาวิทยาลัยระดับโลกอย่าง คอร์แนล สหรัฐอเมริกา

ฟังดูคล้ายชีวิตราบรื่น แต่แท้จริงนั้น เมื่อครั้งจบ ม.ปลาย ศ.ดร.ประเสริฐไม่มีแม้แต่เงินค่าเล่าเรียนมหาวิทยาลัยปีละ 20 บาท

“คิดว่าจะไปเป็นครูประชาบาล เงินเดือน 8 บาท เพื่อเก็บเงินเรียนธรรมศาสตร์ทางไปรษณีย์ พอดีได้รับทุน ก.พ.ไปเรียนที่ฟิลิปปินส์” เล่าไว้ด้วยตนเองในข้อเขียนอาลัย ดร.ประพฤธิ์ ณ นคร อดีตปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี น้องชายผู้ล่วงลับ

เมื่อเรียนจบ เริ่มต้นชีวิตข้าราชการด้วยตำแหน่งนักเกษตรผู้ช่วยโท แผนกปฐพีวิทยา และอาจารย์วิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน กรมเกษตรและการประมง กระทรวงเกษตราธิการ นับแต่นั้น ได้มีบทบาทต่อแวดวงการศึกษาไทยระดับอุดมศึกษาอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการบุกเบิกหลักสูตรสถิติในมหาวิทยาลัยต่างๆ เนื่องด้วยเป็นคนไทยคนแรกที่คว้าคำนำหน้าว่า ดอกเตอร์ ทางสถิติ

เป็นผู้แผ้วถางการนำระบบหน่วยกิตและการโอนหน่วยกิตแบบอเมริกามาใช้ จากเดิมที่เมืองไทยใช้ระบบอังกฤษ ตกวิชาไหน ก็ต้องเรียนซ้ำชั้น ไม่เพียงเท่านั้น ระหว่างดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ รั้วเกษตรศาสตร์ ยังจับมือมหาวิทยาลัยมหดิล จัดระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยโดยใช้วิธีสอบรวมพร้อมกัน เพื่อลดปัญหารับนิสิตไม่ครบ ลดค่าใช้จ่ายผู้ปกครอง ไหนจะค่ากระดาษสอบ ที่สำคัญคือป้องกัน “เด็กฝาก” ผลพวงจากระบบอุปถัมภ์ ซึ่งต่อมา มหาวิทยาลัยต่างๆ ก็พากันร่วมมือใช้ระบบนี้สืบต่อมาอย่างยาวนาน

ภายในงานรดน้ำศพ ดร.ประเสริฐ ณ นคร เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา

กรองถ้อย ร้อยความ ประพันธ์คำร้อง เพลงพระราชนิพนธ์

แม้หลงใหลในคณิตศาสตร์ตั้งแต่เยาว์วัย จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสถิติและตัวเลข ทว่า ในอีกมุมหนึ่ง ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร คือนักร้อง และมือ “ฆ้องวง” โดยมีส่วนในการตั้งวงดนตรีทั้งไทยและสากลของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในวัยเด็กฝึกเล่นดนตรีหลายชนิดด้วยตนเองผ่านหนังสือพิมพ์เดลิเมล์ ฉบับวันจันทร์ ทั้งเปียโน ออร์แกน ซอด้วง และขลุ่ย เป็นต้น

“เมื่อแรกตอนเป็นเด็กๆ ถ้าจะไปดูหนัง ก็อ่านหนังสือเอา จะมีความสุขกว่า ไม่ต้องไปดูหนัง แต่เวลาอ่านหนังสืออยู่ พอวิทยุดังส่งเสียงดนตรีมา ก็อ่านไม่รู้เรื่อง ใจไปอยู่ที่เพลงหมด เพราะว่าคุณแม่ผมเป็นนักร้องส่งวงดนตรีไทยของข้าราชการที่จังหวัดแพร่ เพราะฉะนั้น พอเข้าประถมหนึ่ง ก็รู้จักเพลงไทยเดิม 2 ชั้น 3 ชั้น ตั้งร้อยสองร้อยเพลง แต่ละปีโรงเรียนในจังหวัดแพร่ เขาจะมีเล่นละคร โรงเรียนชายเรื่องหนึ่ง โรงเรียนหญิงก็เรื่องหนึ่ง เปลี่ยนเรื่องไปเรื่อย ผมมีหน้าที่ไปช่วยบรรจุเพลง…” เล่าถึงความทรงจำวัยเยาว์ที่มีต่อดนตรี ในบทสัมภาษณ์ที่ตีพิมพ์ในมติชนเพียง 1 เดือนเศษ ก่อนถึงแก่อนิจกรรม

ศ.ดร.ประเสริฐได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจาก พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้เป็นผู้ประพันธ์คำร้องเพลงพระราชนิพนธ์ ได้แก่ เพลงใกล้รุ่ง, ชะตาชีวิต, ในดวงใจนิรันดร์, แว่ว และเกษตรศาสตร์ โดยเพลงชะตาชีวิตนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงแต่งคำร้องภาษาอังกฤษใส่ในทำนองเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้น ในชื่อเพลงว่า H.M.BLUES เพื่อเป็นปริศนาว่า H.M. แปลว่าอะไร โดยคนส่วนใหญ่เห็นว่าหมายถึง His Majesty Blues แต่แท้จริงแปลว่า Hungry Men’s Blues เพราะทรงบรรเลงดนตรีครึ่งคืนโดยมิได้เสวย ในขณะที่ข้าราชบริพารได้รับพระราชทานอาหารอิ่มหนำสำราญ

เนื้อเพลงท่อนหนึ่งว่า

“We’ve got the Hungry Men’s Blues.

You’ll be hungry too, if you’re in this band.

Don’t you think that our music is grand?

We’ve got the Hungry Men’s Blues..”

สำหรับคำร้องภาษาไทย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ ศ.ดร.ประเสริฐ เป็นผู้แต่ง แต่เนื่องจากตอนนั้น คำร้องภาษาอังกฤษและโน้ตเพลงอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ศ.ดร.ประเสริฐจึงใส่คำร้องภาษาไทยที่มีความหมายออกมาคนละแบบกับเนื้อร้องภาษาอังกฤษ

เนื้อเพลงท่อนหนึ่งว่า

“นกน้อยคล้อยบินมาเดียวดาย คิดคิดมิวายกังวลให้หม่นฤทัยหมอง ขาดมวลมิตรไร้คนสนิทคู่เคียงครอง หลงใหลหมายปองคนปรานี ขาดเรือนแหล่งพักพำนักนอน ขาดญาติบิดรและน้องพี่ บาปกรรมคงมี จำทนระทม..”

‘ถ้าไม่มีคนไทยคนไหนอ่านจารึกได้ ผมนี่แหละจะอ่านให้ได้’

อีกหนึ่งคุณูปการสำคัญที่ทำให้สังคมไทยรู้จักนักปราชญ์ท่านนี้ ก็คือการเป็นผู้ไขประวัติศาสตร์ไทยผ่านการอ่านศิลาจารึกภาษาไทย ซึ่งแต่เดิมผู้อ่านได้ไม่ใช่คนไทย แต่เป็นชาวฝรั่งเศสนามว่า ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ นั่นทำให้ ศ.ดร.ประเสริฐตั้งคำถามว่า หากวันหนึ่ง ศ.เซเดส์เสียชีวิตไป แล้วใครจะอ่านจารึกให้คนไทย

“เมื่อก่อนเมืองไทยพบศิลาจารึกก็จะต้องทำสำเนาส่งไปให้ ศ.เซเดส์อ่านที่ปารีส ท่านก็อายุมากแล้ว ถ้าตายไป มิเป็นอันว่าจะไม่มีคนไทยอ่านศิลาจารึกในเมืองไทยได้เชียวหรือ ผมคิดว่าถ้าไม่มีคนไทยคนไหนจะอ่านจารึกได้ ผมนี่แหละจะต้องเป็นคนอ่านให้ได้”

นับแต่นั้น ศ.ดร.ประเสริฐ ทุ่มเทศึกษาอักษรโบราณ ผนวกกับความรู้แจ้งด้านภาษาถิ่นและวรรณคดี ส่งผลให้มีงานค้นคว้ามากมายเป็นที่ยอมรับในแวดวงวิชาการ ทั้งที่ไม่ได้ร่ำเรียนในด้านดังกล่าวแต่อย่างใด ทั้งยังเคยทักท้วงคำอ่านศิลาจารึกเขาสุมณกูฏ ยุคพระยาลิไทของ ศ.เซเดส์ ที่ว่า “อันตนชนก” ว่าควรเป็น “อันตนหาก” กระทั่งปราชญ์ฝรั่งเศสเขียนจดหมายขอบคุณและเห็นด้วย

ภาพจากสำนักจารึกศึกษา

นอกจากนี้ ยังใช้ความเชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์มาประยุกต์กับงานประวัติศาสตร์อย่างแม่นยำและมีประโยชน์อย่างเหลือคณานับ ทั้งการคำนวณศักราชในจารึกและห้วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์สำคัญอย่างวันกระทำ “ยุทธหัตถี” ของพระนเรศวร นำไปสู่การเปลี่ยนวันกองทัพไทยจาก 25 มกราคม เป็น 18 มกราคม

ยังไม่นับการศึกษาถิ่นเดิมและตระกูลภาษาไทย ภาษาตระกูลไท การวางแนวทางปริวรรตอักษรพื้นเมืองล้านนา ค้นคว้าที่มาและวิวัฒนาการอักษรไทยแบบต่างๆ อย่างละเอียดลึกซึ้งจนไม่อาจหาใครเทียบเคียง

‘ประชาธิปไตย’ ในหัวใจไม่เคยจาง

ไม่เพียงเป็นผู้มีคุณูปการด้านการศึกษาในสาขาวิชาต่างๆ อย่างแทบไม่อาจบรรยายได้หมดสิ้น ศ.ดร.ประเสริฐ ยังเป็นผู้มีประชาธิปไตยในใจไม่เสื่อมคลาย ตั้งแต่วัยหนุ่ม จวบจนอายุครบ 1 ศตวรรษ

“ผมไปทุกครั้ง เป็นคนที่ไปเลือกตั้งตลอดเวลา”

กล่าวก่อนวันเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ 24 มีนาคม 2562 เพียงไม่กี่วัน เมื่อถูกถามว่า “อาทิตย์นี้จะไปเลือกตั้งไหม ?” สะท้อนหัวใจที่เป็นประชาธิปไตยอย่างน่าชื่นชม

ย้อนหลังไปไกลกว่านั้นมากมาย ยังเคยเล่าถึงความเสียใจต่อระบบองค์การนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ตนเองเคยร่างระเบียบให้มีการ “เลือกตั้ง” นายกองค์การนิสิต และให้แถลงนโยบายให้องค์การนิสิตรับรอง เพื่อให้สอดคล้องการเมืองระบอบประชาธิปไตย ก่อนที่สุดท้ายจะกลับไปใช้ระบบสภา “ซีเนียร์” ระหว่างพำนักอยู่อเมริกา 6 ปี

“น่าเสียดายที่ผมต้องไปอเมริกาเมื่อ พ.ศ.2494 กลับมา พ.ศ.2500 ปรากฏว่าระบบองค์การนิสิตมีแต่พระคุณ พระเดชไปอยู่กับสภาซีเนียร์ ซึ่งผมเสียใจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างที่ผมตั้งใจวางแบบให้ แต่กลับไปใช้ระบบสภาซีเนียร์ ซึ่งผลดีก็มีอยู่บ้าง แต่ไม่เป็นประชาธิปไตย”

นี่คือปูชนียบุคคลที่จะถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ร่วมสมัย ไม่ใช่ด้วยอักษรใด หากแต่ด้วยคุณงามความดีตลอด 100 ปีแห่งชีวิต ประเสริฐ ณ นคร

ข้อมูลและภาพส่วนหนึ่งจาก

– สารนิพนธ์ ประเสริฐ ณ นคร
– ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
– ฐานข้อมูลบูรพาจารย์ ม.เกษตรศาสตร์
– สำนักจารึกศึกษา : เสวนาจารึกและเอกสารโบราณ
– สมาคมนักศึกษาเก่า คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image