จากลานประหาร สู่ห้องชันสูตร เปิดข้อมูล ‘ซีอุย’ ในตู้กระจก ถึงเวลาถก ‘ทางเลือก’ พิพิธภัณฑ์ในวันที่โลกเปลี่ยน?

แฟ้มภาพ

กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งหลังเวลาผ่านไปนานถึง 60 ปี สำหรับคดีที่นำไปสู่การประหาร ซีอุย แซ่อึ้ง ผู้ถูกตัดสินว่าเป็นฆาตกรฆ่าและกินอวัยวะของเด็กๆ หลายราย ตกเป็นข่าวใหญ่ในหน้า 1 หนังสือพิมพ์ ก่อนโดนเพชฌฆาตลั่นไกปลิดชีวิต

มูลเหตุของการขุดคุ้ยปมดังกล่าวเกิดจากผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งโพสต์ภาพร่างซีอุยซึ่งจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ สงกรานต์ นิยมเสน โรงพยาบาลศิริราช โดยมีป้ายระบุว่า “Si Quey ซีอุย แซ่อึ้ง มนุษย์กินคน” จากนั้น มีผู้ขยายประเด็นให้สังคมร่วมกันขบคิดว่า แท้จริงแล้ว ซีอุยคือฆาตกรตัวจริง หรือเป็นเพียงแพะรับบาปกันแน่ โดยหยิบยกหลักฐานต่างๆ ที่ยังเป็นข้อสงสัย ส่งผลให้แคมเปญเก่าในเว็บไซต์ change.org ซึ่งเรียกร้องให้พิพิธภัณฑ์ยุติการโชว์ร่างไร้วิญญาณของซีอุย เมื่อราว 1 ปีที่ผ่านมา ที่แทบไม่มีคนร่วมลงชื่อกลับมาได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม โดยมุ่งหวังให้นำศพไปประกอบพิธีทางศาสนา ไม่ว่าเจ้าตัวจะมีความผิดจริงหรือไม่

กระทั่งเริ่มมีข่าวออกสื่อว่าทางศิริราชไม่ได้นิ่งนอนใจ เร่งรวบรวมข้อเท็จจริงทุกด้าน เพื่อเตรียมสื่อสารกับสาธารณชนต่อไป และนี่คือประเด็นน่าสนใจนอกเหนือจากความถูกผิดของการตัดสินคดีความในอดีต พิพิธภัณฑ์ในฐานะแหล่งเรียนรู้ ควรดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร มีทางเลือกในการปรับเปลี่ยนการนำเสนอร่างมนุษย์ในฐานะวัตถุจัดแสดงหรือไม่?

จากนักโทษคุกบางขวาง สู่ร่างในตู้โชว์

ก่อนอื่น มาย้อนประวัติการได้มาซึ่งร่างซีอุยก่อนเข้าไปอยู่ในตู้กระจก โดยหนังสือ 120 ชิ้นเอกของศิริราช จัดพิมพ์โดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี 2551 มีการตีพิมพ์ภาพและระบุข้อมูลเกี่ยวกับซีอุยไว้ว่า ระหว่างที่ซีอุยอยู่ในเรือนจำบางขวาง คณะแพทย์ได้ตรวจสอบความผิดปกติของร่างกาย และจิตใจ เพื่อตรวจดูว่า การกระทำความผิดนี้ จะได้รับการยกเว้นโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 หรือไม่ ปรากฏว่าไม่พบความวิปริตทางจิต ชนิดทารุณผู้อื่น ไม่เป็นโรคอยากกินเนื้อมนุษย์ (Canibalism) ความผิดที่กระทำจึงไม่ได้รับการยกเว้นโทษ ดังนั้น จึงถูกประหารชีวิตเมื่อ 16 กันยายน พ.ศ.2502

Advertisement

ต่อมา ศ.นพ.สงกรานต์ นิยมเสน หัวหน้าหน่วยนิติเวชวิทยา ในแผนกพยาธิวิทยา ติดต่อขอรับศพซีอุยจาก กรมราชทัณฑ์ มาศึกษาด้วยการผ่าตรวจสมอง จากนั้นเก็บรักษาศพด้วยการฉีดฟอร์มาลินเข้าหลอดเลือด นำไปแช่น้ำยารักษาศพ 1 ปี โดยไม่ได้นำอวัยวะภายในออกจากศพ แล้วจึงใส่ไว้ในตู้กระจก

ภาควิชานิติเวชศาสตร์ ทำบุญที่พิพิธภัณฑ์ทุกปี ในวันที่ 5 ตุลาคม และดูแลสภาพร่างซีอุยด้วยการทาขี้ผึ้งทุก 2 ปี เพื่อป้องกันเชื้อรา

Advertisement

หนังสือเล่มดังกล่าวของศิริราช ยังระบุด้วยว่า ในพิพิธภัณฑ์ เป็นที่เก็บหลักฐานในคดีสำคัญๆ เช่น นวลฉวี แต่ซีอุยโดดเด่นที่สุด

บริบทโลกเปลี่ยน ไม่ต้องอยู่ในตู้ ก็เรียนรู้ได้ไม่ต่าง?

จากข้อมูลข้างต้น เห็นได้ชัดว่า การนำร่างซีอุยมาจากกรมราชทัณฑ์เมื่อกว่าครึ่งศตวรรษที่แล้ว มีจุดมุ่งหมายเพื่อการศึกษา จากนั้นจึงจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์โดยมุ่งหวังให้ผู้คนได้เข้าชมเพื่อการเรียนรู้ อย่างไรก็ตาม บริบทโลกและสังคมในวันนี้มีพัฒนาการไปข้างหน้า ตื่นตัวด้านให้คุณค่าของความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นที่มาของกระแสวิพากษ์ในขณะนี้

อินทิรา วิทยสมบูรณ์ นักเคลื่อนไหวทางสังคม ผู้ขับเคลื่อนด้านการศึกษาทางเลือก ให้ความเห็นในประเด็นดังกล่าวว่า ตอนนี้โลกเปลี่ยนไปแล้ว ถ้าคิดว่า “คนเท่ากัน” ไม่ว่าซีอุยจะทำผิดจริงหรือไม่ ก็ควรได้รับการปลดปล่อยเพื่อแสดงความเคารพในมุมของความเป็นมนุษย์ “ตอนนี้โลกเปลี่ยนไปแล้ว คนตื่นตัวกับการให้ค่าความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าผิดหรือไม่ผิด ก็ไม่ควรถูกกระทำในเชิงแบบนี้ เพราะต่อให้คนเลวร้ายที่สุด ก็เชื่อว่าควรได้รับความเคารพในระดับที่มนุษย์คนหนึ่งควรจะได้ ถ้ามองในหลักการนี้ การนำร่างซีอุยออกมา ก็เป็นการเคารพซีอุยในมุมหนึ่ง แม้จะผ่านกาลเวลามานานแล้วก็ตาม จะเป็นข้อดีทั้งต่อญาติพี่น้องซึ่งคงเจ็บปวดมากกับการที่คนในครอบครัวต้องถูกนำไปติดตั้งในพื้นที่หนึ่ง ต่อให้ไม่ใช่ซีอุยซึ่งยังถูกตั้งคำถามในคดี แต่ก็ควรมองประเด็นแบบนี้กับมนุษย์ทุกคนด้วยซ้ำ”

ภาพจำที่โหดร้ายของซีอุย แท้จริงเป็นภาพถ่ายขณะหาว

ส่วนเรื่องการเรียนรู้ผ่านร่างซีอุย อินทิรามองว่า รากฐานการศึกษาต้องเริ่มจากการเคารพซึ่งกันและกัน และควรตั้งคำถามกลับว่า พิพิธภัณฑ์ในรูปแบบเดิมยังตอบโจทย์สังคมหรือไม่?

 

“คุณค่าที่แท้จริงของการเรียนรู้ อยู่ที่ผู้คนที่ตั้งโจทย์อะไรกับมันมากกว่า ไม่จำเป็นต้องดูร่างใครสักคนแล้วจึงค่อยเรียนรู้ได้ โลกเปลี่ยน วิธีการเรียนรู้ก็เปลี่ยน คนก็ต้องเปลี่ยนวิธีการมอง รากฐานของการศึกษา ต้องเคารพซึ่งกันและกัน ถ้าอยู่บนรากฐานนี้ได้ ก็สามารถเรียนรู้ได้ทุกเรื่อง วันนี้เราอาจต้องเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ดีไซน์เครื่องมือการเรียนรู้ให้ตอบโจทย์ซึ่งก็มีเครื่องมือใหม่ๆ เยอะแยะ การจัดแสดงในอดีต เรามองด้วยบริบทเวลาที่ต่างกัน เมื่อหลายสิบปีที่แล้ว เราคงมองเห็นเคสนี้ด้วยสายตาแบบหนึ่ง แต่เวลานี้เรามองด้วยสายตาอีกแบบหนึ่ง

หากมองว่าเป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้จริงๆ ก็ยังเชื่อว่าพื้นที่ดิจิทัลทำหน้าที่ได้ มีตัวโฮโลแกรม มีคู่มือหลายอย่าง คำถามคือเราเรียนรู้อะไรจากกรณีนี้” อินทิรากล่าว

เปิดเวทีถก เล่าเรื่อง ‘ร่วมสมัย’ แนะค้นกรรมสิทธิ์ร่างซีอุย

จากประเด็นการเรียนรู้และสิทธิมนุษยชน มาถึงมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านพิพิธภัณฑ์ ดร.วิภาช ภูริชานนท์ อาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งยกตัวอย่างกรณีศึกษาในต่างประเทศว่า การจัดแสดงคดีสำคัญในลักษณะนี้ ยังมีอยู่ แต่หลายแห่งใช้เทคโนโลยีในการ “จำลอง” ขึ้นมาแทน หรือพิพิธภัณฑ์บางแห่งใช้วิดีโอ ก็นับเป็นการรักษาประวัติศาสตร์ไว้ในอีกรูปแบบหนึ่ง

“เมื่อก่อนเรามองว่าร่างนี้เป็นวัตถุทางความรู้ ส่วนประเด็นสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่มาทีหลัง ซึ่งเทรนด์ในต่างประเทศมีความพยายามใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยในการจำลอง เช่น ทรีดีแสกน ทรีดีปรินติ้ง อีกแบบหนึ่งคือ การใช้วิดีโอแทน”

ส่วนประเด็นที่ยังเป็นที่ถกเถียงว่า ซีอุยคือฆาตกรหรือผู้บริสุทธิ์นั้น ดร.วิภาชมองว่า เป็นเรื่องทางกฎหมาย แต่พิพิธภัณฑ์ในฐานะผู้เก็บรักษาวัตถุจัดแสดง ซึ่งในที่นี้คือ ร่างซีอุย มีสิทธิตัดสินว่าจะทำอย่างไรต่อไป อย่างไรก็ตาม ควรค้นคว้าเอกสารเก่าก่อน ว่ากรรมสิทธิ์เป็นของศิริราชจริงๆ หรือของกรมราชทัณฑ์กันแน่ เพื่อความรัดกุมด้านกฎหมาย เมื่อทราบแน่ชัดแล้ว สามารถใช้การสอบถามความเห็นของบุคลากรเพื่อการตัดสินใจ หรือจะเปิดเวทีคุยกัน ให้สังคมมีส่วนร่วมก็ได้

“เรื่องรูปคดีถูกผลิตซ้ำมาเยอะแล้ว แต่สิ่งที่เราไม่รู้ คือ ร่างซีอุยถูกนำเข้ามาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ในฐานะอะไร เป็นกรรมสิทธิ์ของพิพิธภัณฑ์หรืออยู่ในฐานะการยืมมาศึกษาที่จำเป็นต้องคืนหรือไม่ ตอนนั้นมีลายลักษณ์อักษรอะไร ประเด็นนี้น่าสนใจตามดูเอกสาร ถ้าเป็นของกรมราชทัณฑ์ ศิริราชกับกรมราชทัณฑ์ต้องมาคุยกัน นี่คือหลักการ แล้วจะใช้วิธีการซาวเสียงบุคลากรผ่านการตัดสินใจของภัณฑารักษ์ หรือผ่านทางสถาบันก็อยู่ที่ตัวพิพิธภัณฑ์เอง นอกจากนี้อาจทำประชาพิจารณ์ เปิดเวทีคุยกัน แล้วค่อยตัดสินใจผ่านทางกรรมการก็ได้”

รอยเย็บหลังผ่าตรวจสมอง (ภาพจากหนังสือ 120 ชิ้นเอกของศิริราช)

สำหรับผลการชันสูตรเมื่อ 60 ปีก่อน ดร.วิภาชมองว่า ถ้าเป็นคดีสำคัญของประเทศและมีประโยชน์ต่อสาธารณะก็ต้องเผยแพร่

“เมื่อร่างคือวัตถุทางความรู้ แต่การเข้าถึงร่าง ไม่สามารถเข้าถึงเคสได้ ศิริราชเองอาจต้องนึกถึงวิธีการในการเล่า หรือการสร้างความรู้จากสิ่งนี้ใหม่ ถ้าเล่าผ่านตัววัตถุคือร่างซีอุยแบบเดิมไม่ได้ ก็ยังมีวิธีการอื่นๆ ต้องหาวิธีเข้าถึงความรู้ชุดนี้ให้ได้อย่างร่วมสมัย”

เหล่านี้คือมุมมองเชิงวิชาการ ที่ก้าวข้ามผ่านความผิดถูกของกระบวนการยุติธรรมในอดีตไปสู่ประเด็นการเรียนรู้ของผู้คนในปัจจุบันและอนาคตต่อคดีดังซึ่งยังอยู่ในความทรงจำของคนไทยมาถึงทุกวันนี้

นสพ.พิมพ์ไทย ฉบับวันที่ 27 กันยายน 2502 ลงข่าวมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (ปัจจุบันคือคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล) ทำหนังสือขอศพซีอุยผ่าตรวจความผิดปกติของสมอง (ข้อมูลจากหนังสือ ซีอุย ฆาตกรผีดิบ หรือแพะรับบาป โดยปรามินทร์ เครือทอง)
ขณะถูกล่ามโซ่ที่สถานีตำรวจภูธร อำเภอเมืองระยอง ภาพจาก นสพ.เดลิเมล์ 1 กุมภาพันธ์ 2501
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image