ผิดตรงไหน? แต่งกายไม่ตรงเพศกำเนิด ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ สู้เพื่อผู้หลากหลายทางเพศ

คล้ายๆ จะเป็นข่าวไม่ใหญ่ แต่กลับกลายเป็นประเด็นร้อนแรง หลัง ส.ส.ผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือแอลจีบีที พรรคอนาคตใหม่ 3 ราย เข้ายื่นหนังสือแจ้งความประสงค์เพื่อแต่งกายตามเพศสภาพซึ่งไม่ตรงกับเพศกำเนิด ในงานรัฐพิธีต่อเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

ร้อนถึงผู้มีชื่อเสียงในสังคมบางรายออกมาตั้งคำถามถึงการ “ไม่ค่อยเคารพขนบธรรมเนียมปฏิบัติ” พร้อมไล่หัวหน้าและเลขาพรรคไปนุ่งกระโปรง ทำเอาโลกโซเชียลร่วมถกเถียง อย่างเข้มข้นอีกครั้งถึงความเท่าเทียมทางเพศในสังคมไทย

ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ หรือ เตอร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อในวัยเพียง 42 ปี คือหนึ่งใน 3 ของผู้แสดงจุดยืนเข้ายื่นหนังสือในวันนั้น ด้วยความเชื่อมั่นในการต่อสู้เพื่อสังคมแห่งความเท่าเทียม

เกิดในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนที่มีอาชีพค้าขาย เป็นลูกคนโตของบ้าน ในจำนวนพี่น้อง 8 คน

Advertisement

เป็นชาวกรุงเทพฯ โดยกำเนิดแต่ย้ายไปอยู่เมืองนนท์ตั้งแต่ราว 4-5 ขวบ

เคยตัดผมสั้นมากจนไม่กล้าเข้าบ้าน ยืนหน้าประตู 2 ชั่วโมง

สมัยเรียน ปวช.ที่สถาบันแห่งหนึ่ง เคยถูกไล่ออกจากห้องสอบ เพราะ “ใส่กางเกง” ทำเอาเกือบเรียนไม่จบ

สุดท้ายคว้าปริญญาตรีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้สำเร็จ

หลังเป็นวิศวกรโรงงานและบริษัทเอกชนราว 6 ปี ได้สร้างธุรกิจของตัวเองที่เกี่ยวข้องกับสายงานด้านวิศวกรรมโดยดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน

ก้าวสู่เส้นทางการเมืองด้วยอุดมการณ์ หวังผลักดันประเด็นหลากหลายด้านสิทธิมนุษยชน

ต่อไปนี้คือมุมมอง ความคิด และชีวิตที่ผ่านมา และกำลังจะเกิดขึ้นต่อไปของ ส.ส.หน้าใหม่ที่มีคำนำหน้าตามบัตรประชาชนว่า “นางสาว”

จากที่ยื่นหนังสือต่อเลขาธิการสภาผู้แทนฯ เรื่องการแต่งกายตามเพศสภาพ คาดหวังมากน้อยแค่ไหนว่าจะได้ไฟเขียว?

พวกเราไปยื่นหนังสือเพราะอยากยืนยันเรื่องการแต่งกายตามเพศสภาพ ต้องการยืนหยัดว่าคนเราเท่าเทียมกัน ในปัจจุบันกลุ่มแอลจีบีทีมีอยู่ทั่วไปมากมายในสังคม บางทีอาจไม่ได้แสดงออกตามที่หัวใจเขาเป็น จุดมุ่งหมายคือการแสดงจุดยืนในความเสมอภาคระหว่างเพศ ซึ่งก็มีความคาดหวังว่าหน่วยงานที่เรายื่นหนังสือไปจะอนุญาตให้เราแต่งกายตามเพศสภาพในการเข้าร่วมพระราชพิธี รัฐพิธี หรือพิธีการต่างๆ ของรัฐ เพราะที่ผ่านมาในพิธีการรับปริญญาก็ได้รับการผ่อนปรนแล้ว และสำนักพระราชวังก็เคยอนุญาตให้บุคคลที่เข้าถวายบังคมพระบรมศพเบื้องหน้าพระบรมโกศ พระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร แต่งกายตามเพศสภาพมาแล้ว

แต่มีคนห่วงว่าจะดูไม่เรียบร้อย ทำลายขนบประเพณี?

ถึงจะเป็นการแต่งกายตามเพศสภาพ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะแต่งตัวไม่สุภาพ เมื่อกาลเวลาผ่านไป ระบบหรือระเบียบต่างๆ สามารถปรับให้ทันสมัย เข้ากับสังคมได้ ขนบธรรมเนียมการแต่งกายตั้งแต่ในอดีตก็มีการปรับเปลี่ยนมาเรื่อยๆ ตามความเหมาะสมของสถานที่ สถานการณ์ กาลเวลา การแต่งกายตามเพศสภาพ ไม่ได้ทำลายขนบธรรมเนียม ประเพณีไทยเลย ไม่ใช่ว่าแต่งแล้วไปทำร้าย ต่อว่า หรือทำกิริยาไม่เหมาะสมกับใคร

เรื่องเสื้อผ้าสำคัญขนาดนั้นเลยหรือ?

การแต่งกายเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นต้นๆ ที่ไม่ว่าบุคคลใดก็ตามสามารถเลือกเองได้แบบที่ตัวเองรู้สึกสบายใจ และมั่นใจกับมัน ตราบใดที่ไม่ไปละเมิดสิทธิคนอื่น

การที่มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งออกมา “เมนต์” แรงมาก ทำใจไว้ล่วงหน้าไหมว่าจะมีฟีดแบ๊กแบบนี้?

แน่นอนครับ พวกเราเองก็ทำใจไว้แล้วว่าต้องมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ผู้ใหญ่ที่ออกมาโต้ ก็เป็นสิทธิของท่านในการแสดงความคิดในสื่อโซเชียล ถ้าไม่ได้ละเมิดหรือคุกคามใคร สังคมจะเก็บไปคิดและประเมินเองว่าอะไรถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าท่านจะเห็นด้วยหรือไม่กับกลุ่มหลากหลายทางเพศ แต่การที่บอกให้คุณธนาธรและคุณปิยบุตรไปใส่กระโปรงมันก็บ่งบอกถึงนัยยะของการเหยียดเพศทางอ้อม

ถ้าได้รับอนุญาตจริงๆ คิดว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่การเรียกร้องสิทธิในประเด็นอื่นๆ?

ใช่ครับ กิจกรรมที่จะทำให้สังคมตระหนักรู้และเข้าใจแอลจีบีทีมากขึ้นมีหลายอย่าง การแต่งกายก็เป็นการแสดงออกอย่างหนึ่ง นี่อาจเป็นหมุดหมายหนึ่ง คือการแต่งกายตามที่หัวใจต้องการ

สถานการณ์ปัจจุบันของสังคมไทยที่มีต่อกลุ่มคนหลากหลายทางเพศเป็นอย่างไรบ้าง หลายคนมองว่าบ้านเราถือว่าเปิดรับมาก ถ้าเทียบกับหลายประเทศ หากไม่นับในซีกโลกตะวันตก?

เอาจริงๆ ที่คนบอกว่าไทยเปิดรับมากแล้ว แต่ส่วนตัวคิดว่ายังไม่มีความเข้าใจในคนกลุ่มนี้อย่างเพียงพอ ประเด็นที่แอลจีบีทีไม่ได้รับความเท่าเทียมในสังคม เป็นสิ่งที่พบเห็นในชีวิตประจำวันทั่วไป บางทีอาจเล็กน้อยมากจนสังคมมองไม่เห็น เราไม่ได้จะมาเรียกร้องสิทธิอะไรมากมายไปกว่าคนปกติธรรมดา แค่อยากให้สังคมทำความเข้าใจว่าแอลจีบีทีคือคนกลุ่มหนึ่งในสังคมซึ่งมีทั้งดีและไม่ดี เหมือนชายหญิงทั่วไป เรากำลังพยายามผลักดันให้สังคมเห็นว่าเราก็เป็นคนคนหนึ่งในสังคม เป็นแค่คนธรรมดาคนหนึ่ง

“เราไม่ได้จะมาเรียกร้องสิทธิอะไรมากมาย

ไปกว่าคนปกติธรรมดา แค่อยากให้สังคมทำความเข้าใจว่า

แอลจีบีทีเป็นคนกลุ่มหนึ่งในสังคม ซึ่งมีทั้งดีและไม่ดี

เหมือนชายหญิงทั่วไป ไม่ได้แปลกแยก”

 

คิดว่าอุปสรรคใหญ่ของการผลักดันเรื่องสิทธิของแอลจีบีทีคืออะไร?

มองว่าแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 คือ กฎหมายยังไม่ได้เขียนชัดเจนว่าคนกลุ่มนี้จะได้รับการรับรองทางกฎหมายอย่างไรบ้างในสังคม เราจะต้องเข้าไปปรับแก้ไขตรงนี้ การแก้กฎหมายจะได้รับการยอมรับจากคนในสังคมก็มาจากส่วนที่ 2 คือ การที่เราจะเปลี่ยนผ่านให้คนในสังคมรู้จักและยอมรับ ซึ่งคิดว่าค่อนข้างใช้เวลา อาจเป็น 10-20 ปี อยากให้คนกลุ่มนี้กลับมาเข้าใจร่วมกันก่อนว่าเราไม่ได้แปลกแยก เราเป็นคนกลุ่มหนึ่งที่เหมือนคนในสังคมคนหนึ่งเท่านั้นเอง อาจใช้วัฒนธรรมหรือการร่วมกันแสดงตัวคน จุดยืนว่าเป็นคนธรรมดา ต้องเข้มแข็งและหยัดยืน อย่าท้อถอย ทำดีไปเรื่อยๆ ให้สังคมเห็น

สมัยก่อนคนอาจได้ยินแค่ กะเทย ทอม ดี้ เดี๋ยวนี้มีคำศัพท์อย่างเควียร์ ซึ่งสังคมวงกว้างอาจยังไม่รู้จัก?

แอลจีบีทีไอคิว อะไรพวกนี้ในความรู้สึกส่วนตัวค่อนข้างจะแบ่งออกไปอีกเยอะแยะเต็มไปหมดซึ่งกลุ่มแอลจีบีทีในพรรคอนาคตใหม่ไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น ไม่อยากมาต่อสู้เพื่อแอลจีบีทีคิวไอทั้งหลาย แต่อยากจะรวมเลยว่าเราคือคนหนึ่งคนในสังคม วิธีการคือ ผลักดันทางกฎหมายให้รองรับคนกลุ่มนี้ อาจรณรงค์ผ่านองค์กรอิสระ สมาคมต่างๆ ที่สำคัญคือ ต้องประชาสัมพันธ์ ผ่านตนเอง

ประเด็นเรื่องคำนำหน้าชื่ออย่าง นาย นาง นางสาว และการแต่งงานตามกฎหมายก็ถูกพูดถึงเยอะ วันนี้ได้เป็นนักการเมืองแล้ว คิดจะดำเนินการต่อไปอย่างไร?

เรื่องคำนำหน้า พวกเรากำลังศึกษาอยู่ว่าการจะเปลี่ยนผ่านไปสู่การไม่มีคำนำหน้า จะเกิดผลดี ผลเสียอย่างไร โดยพิจารณาเคสต่างประเทศที่ให้บุคคลมีสิทธิเลือกได้ว่าจะใช้คำนำหน้าหรือไม่ใช้ หรือว่าจะเปลี่ยนคำนำหน้าไปเลย เราจะศึกษาเพื่อให้สอดคล้องวัฒนธรรม ประเพณีไทยว่าตรงไหนเหมาะที่สุด โดยต้องเอามาปรับให้เข้ากับสังคมไทย แล้วเสนอเป็นนโยบายต่อไป

ตอนลงพื้นที่หาเสียง การที่เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ ส่งผลกระทบไหม โดนตั้งคำถามหรือเปล่า?

ที่ผ่านมาตั้งแต่ลงพื้นที่ไปหาชาวบ้านในชุมชนไม่มีปัญหากับการแสดงตัวตนแบบนี้ จริงๆ แล้วประชาชนส่วนใหญ่ที่ได้สัมผัส เขาเข้าใจและยอมรับ เพราะเรามีความปรารถนาดีให้เขา

ประเด็นนี้เรื่องความเท่าเทียมทางเพศคือเหตุผลหลักที่ทำให้ตัดสินใจเข้าร่วมกับพรรคอนาคตใหม่หรือเปล่า ?

เป็นส่วนหนึ่งครับ จริงๆ แล้วการเข้ามาทำงานที่อนาคตใหม่ ก็เพราะอยากผลักดันเรื่องสิทธิมนุษยชนของคนไทยทั้งหมด ไม่ว่าจะเรื่องชาติพันธุ์ คนพิการ หรือแอลจีบีที ซึ่งทางพรรคชูประเด็นนี้อยู่แล้ว เขาอยากเห็นคนไทยเท่าเทียมกัน เลยอยากเข้ามาทำงานกับพรรคด้วย

จบวิศวะ ทำไมมาสนใจประเด็นสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง ถึงขนาดลงมาทำงานการเมือง?

สมัยเรียนหนังสือ เคยทำงานองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่ได้ผลักดันแอลจีบีทีโดยเฉพาะ แต่ผลักดันประเด็นทั่วไปเกี่ยวกับสังคม เราเห็นสังคมไม่เท่าเทียม คิดว่าถ้าการเมืองจะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ก็เลยตัดสินใจมา เพราะอยากให้ประเทศมีประชาธิปไตย มีความเสมอภาค ผู้คนให้เกียรติซึ่งกันและกัน

เหตุการณ์ฝังใจช่วงวัยรุ่นที่โดนไล่ออกจากห้องสอบ เพราะไม่ได้สวมกระโปรง มีส่วนสำคัญกับเราอย่างไรบ้าง?

ตอนที่โดนอาจารย์ไล่ออกมาแล้วนั่งหน้าห้อง เราก็ทั้งกังวล และงงว่าทำไมต้องไล่เหมือนเราไปทุจริตอะไรมา จนมีอาจารย์ท่านหนึ่งเดินผ่านมาถามว่า เตอร์มานั่งทำอะไรตรงนี้ เลยบอกว่าโดนไล่ เพราะใส่กางเกง อาจารย์ท่านนั้นเลยไปเจรจาขอให้เข้าสอบ สุดท้ายได้สอบ เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้กลับมาคิดว่า คนคนหนึ่งอายุ 16-17 ถ้าไม่ได้สอบ เรียนไม่จบ อนาคตจะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ ชีวิตอาจเปลี่ยนไปเลย นี่คือสิ่งที่ทำให้รู้สึกว่า ถ้ามีโอกาสก็อยากเข้ามาต่อสู้ เพราะมีอีกหลายคนที่อาจประสบเหตุการณ์แบบนี้

ว่ากันว่าครอบครัวคนจีนค่อนข้างเคร่งครัด เคยประสบภาวะกดดันจากทางบ้านเพราะประเด็นแบบนี้ไหม?

ต้องเล่าก่อนว่า พ่อกับแม่เลิกกันตอนอายุประมาณเดือนนึง เลยย้ายไปอยู่อีกบ้านซึ่งแม่คนที่ 2 เลี้ยงมาตั้งแต่อายุไม่กี่เดือน จนทำให้ผูกพันกับบ้านนี้ โตมาในครอบครัวปกติธรรมดา ทำอาชีพค้าขาย ช่วงเรียนธรรมศาสตร์ค้าขายไม่ดี จนต้องกู้ยืมเงินมาเรียน พ่อค่อนข้างเคร่งครัด ชอบเด็กเรียบร้อย น้องๆ เรียนเก่งกันหมด ในขณะที่เราเป็นคนเฮี้ยว ชอบเฮฮากับเพื่อนผู้ชายทั้งแก๊ง แต่ไม่มีชกต่อยนะ จำได้ว่าวันหนึ่งสมัยเรียนมัธยม ไปตัดผมสั้น แล้วไม่กล้าเข้าบ้าน คุณพ่อค่อนข้างโหดมาก เลยอยู่หน้าบ้านประมาณ 2 ชั่วโมง จนแม่ออกมาทิ้งขยะ ถามว่า อ้าว ทำไมไม่เข้าบ้าน ตอนนั้นความที่ผมสั้นมาก เลยเอาผ้าอะไรมาผูกหัวไว้ แม่ถามผูกไว้ทำไม (หัวเราะ) อายมาก กลัวโดนด่า แต่สุดท้ายไม่มีอะไรเกิดขึ้น พ่อก็ไม่ได้พูดอะไร จริงๆ คิดว่าตอนนั้นพ่อก็รู้ว่าเราเป็นอย่างไร

จากเด็กเฮี้ยวตามที่เล่ามา จุดเปลี่ยนในชีวิตอยู่ตรงไหน?

มันมีช่วงที่รู้สึกว่า ต้องทำอะไรสักอย่างให้พ่อรู้ว่าเราไม่ได้เกเร เลยพยายามทำตัวให้เขาภูมิใจ เช่น สอบเอ็นทรานซ์ให้ติด ถึงจะไม่ค่อยเข้าเรียน เป็นเด็กหลังห้องตั้งแต่ ปวช. จนถึงมหาวิทยาลัย แต่ก็เรียนจบ ทำงาน ตอนนั้นธุรกิจพ่อแย่มาก ไม่มีเงิน เราก็เอาเงินเดือนเราให้เขา มันใช้เวลานานเหมือนกัน ผ่านมาเป็น 10-20 ปี จนเขายอมรับ และรู้สึกว่ามองเราแล้วไม่ได้รังเกียจเพศสภาพตรงนี้ พอเข้ามาทำงานการเมือง แล้วไปยื่นหนังสือเรื่องขอแต่งกายตามเพศสภาพ ล่าสุด นั่งกินข้าวกันแล้วน้องสาวพูดขึ้นมาว่า เดี๋ยวนี้สังคมยอมรับแล้วนะ บางประเทศให้แต่งงานกันได้ด้วย คุณแม่ก็พูดขึ้นมาว่า นั่นสิ! ไม่เห็นเป็นไรเลย ไม่เห็นต้องห้ามแต่งงานกัน คือเขาเห็นด้วยกับเรา นี่เป็นครั้งแรกที่คุณแม่พูดแบบนี้ออกมา

พูดถึงประเด็นแต่งงาน การที่มีแฟนสาวชาวเกาหลี ยิ่งมีส่วนผลักดันให้ต่อสู้เรียกร้องไปสู่ความเปลี่ยนแปลง?

เอาจริงๆ คำว่าแต่งงานไม่ใช่สาระสำคัญสำหรับตัวเอง แต่สิทธิที่จะได้หลังแต่งงานคือสิ่งที่จะทำให้ชีวิตคู่ของเราดำเนินไปได้จริงในสังคม ตรงนี้ก็มีส่วนในแรงผลักดันเหมือนกัน ถ้าเราสามารถแต่งงานกันได้ ก็จะทำให้เขาอยู่ในประเทศไทยได้อย่างถาวร

เราเจอกันที่ไต้หวัน ตอนไปเรียนภาษา ชอบพอกัน เลยชวนมาอยู่ไทย บอกมาเรียนภาษาไทยสิ เดี๋ยวหางานทำ พยายามดูว่าจะมีทางไหนที่ทำให้เราอยู่ด้วยกันได้บ้าง เรารู้ว่ามีข้อจำกัดทางเพศสภาพ ไม่สามารถแต่งงานกันตามกฎหมายที่จะทำให้เขามาอยู่ได้ถาวร ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรได้บ้าง แต่เชื่อมั่นไปก่อนว่าต้องได้สิ เชื่อมั่นในความรักว่าต้องทำอะไรได้ ความรักมันมีพลัง จนตอนนี้เขามาอยู่ที่นี่สัก 2 ปีกว่าแล้ว กำลังเรียนภาษาไทยอยู่

ขอย้อนมาถามเรื่องที่บ้าน ครอบครัวมองอย่างไรที่เข้ามาทำงานการเมือง?

ที่บ้านไปเลือกตั้งทุกครั้งโดยไม่ได้ยึดติดกับพรรคไหนเลย บางทีเลือกประชาธิปัตย์ เลือกพรรคนู้นพรรคนี้บ้างตามนโยบาย มีการติดตามข่าวสารบ้าง คุยกันว่าพรรคนั้นดีอย่างนั้น พรรคนี้ไม่ดีอย่างนี้ จนเราได้เข้ามาทำงานที่อนาคตใหม่แล้วอธิบายให้เขาฟัง ใช้เวลาเป็นปี ตอนเลือกตั้งยังกลัวว่าเขาจะเลือกพรรคอะไร เราไม่เคยบังคับว่าต้องลือกอนาคตใหม่ แต่พอกลับจากเลือกตั้ง ทั้งบ้านบอกไปเลือกมาแล้วนะ เลยถามว่า เลือกพรรคไหน เขาบอกก็เลือกอนาคตใหม่ไง (หัวเราะ) โล่งใจมาก

ระยะเวลา 1-2 ปีที่ผ่านมา พอเริ่มทำงานการเมือง เริ่มหาเสียง ทางบ้านแทบจะไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้อง ตอนแรกห้าม เพราะห่วงว่าจะปลอดภัยไหม เขาเคยได้ยินมาว่าการเมืองไม่ดี เราก็ค่อยๆ อธิบายให้ฟังว่า ถ้าในนั้นมีคนไม่ดีจริงๆ แล้วทำไมเราจะไม่เข้าไปทำอะไรดีๆ ล่ะ ทำไมต้องโดนปิดกั้น จนวันนี้เขาบอกว่า

ในเมื่อได้ ส.ส.แล้วก็ไปทำหน้าที่ตัวแทนของประชาชนให้ดีที่สุด


สู้เพื่อสิทธิ ยืนหยัดเพื่อสร้างบรรทัดฐานใหม่ หวังแต่งกายตามเพศสภาพ

13 พฤษภาคม 2562 ส.ส.ผู้มีความหลากหลายทางเพศพรรคอนาคตใหม่ ได้แก่ กวินนาถ ตาคีย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 7 จังหวัดชลบุรี, ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ, ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ เข้ายื่นหนังสือแจ้งความประสงค์เพื่อแต่งกายตามเพศสภาพในงานพระราชพิธี รัฐพิธี และงานพิธีต่างๆ ต่อเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร หลังจากการเดินทางไปรายงานตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่รัฐสภา มุ่งหวังสร้างบรรทัดฐานใหม่เรื่องการแต่งกายและสิทธิความเสมอภาคทางเพศให้การเมืองไทย โดยมีความเห็นว่า

“การแต่งกายควรจะเป็นสิทธิพื้นฐานพึงมีที่มนุษย์ทุกคนควรได้รับไม่ว่าจะเพศใด การยื่นหนังสือครั้งนี้จึงถือเป็นก้าวแรกของการทำงานในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อการแสดงจุดยืนถึงความเท่าเทียมของการเป็นมนุษย์

ความสามารถในการทำงานพัฒนาประเทศไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ที่เพศ เพราะเพศไม่ใช่อุปสรรคของการทำงาน การที่กลุ่ม ส.ส.ผู้มีความหลากหลายทางเพศได้เข้ามาเป็นตัวแทนของประชาชนถือว่าประชาชนไว้วางใจและมั่นใจว่าจะสามารถทำงานในฐานะผู้แทนราษฎรได้อย่างสมบูรณ์แบบ”

โดยพรรคอนาคตใหม่เองมีนโยบายโอบรับความหลากหลายทางเพศ อาทิ การแต่งงานของผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 โดยยกเลิกการใช้คำว่า “ชาย”-“หญิง” และใช้คำว่า “บุคคล” แทน เพื่อให้ทุกคน ทุกเพศ สามารถใช้กฎหมายสมรสและได้รับสิทธิที่พึงได้จากการสมรสได้อย่างเท่าเทียมแท้จริง นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการพัฒนาร่างและบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับความเท่าเทียม ไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน เพราะวิถีทางเพศ หรืออัตลักษณ์ทางเพศ

รวมถึงเปิดกว้างต่อความหลากหลายทางเพศ ให้มีการเรียนรู้ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับมหาวิทยาลัย โดยมีเนื้อหาที่เหมาะสมแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงวัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image