‘ยลดอยตุง เยือนเชียงตุง’ บันทึกการเดินทางอย่างไม่เป็นทางการ ใน ‘กรมสมเด็จพระเทพฯ’

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงโปรดการอ่านหนังสือและการเขียนตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ ประกอบกับพระปรีชาด้านอักษรศาสตร์และภาษา ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ กระทั่งทรงเริ่มงานพระราชนิพนธ์ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองจำนวนมาก

ในจำนวนนี้มีงานพระราชนิพนธ์ซึ่งเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป อาทิ หนังสือพระราชนิพนธ์ “แก้วจอมแก่น” “ในร่มเงาวังสระปทุม” งานพระราชนิพนธ์บทกวี “กษัตริยานุสรณ์” “คำฉันท์ดุษฎีสังเวย และกาพย์ขับไม้” งานพระราชนิพนธ์แปล “ขบวนการนกกางเขน” ชุดเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ “การเสด็จฯ เยือนประเทศฝรั่งเศส” “ชมดอกไม้ไกลบ้าน” “ดอยตุง เชียงตุง”

การนี้ กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุญาตให้บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด จัดพิมพ์หนังสือพระราชนิพนธ์ ยลดอยตุง เยือนเชียงตุง

พระราชนิพนธ์บันทึกการเดินทางอย่างไม่เป็นทางการเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินจากดอยตุง จ.เชียงราย สู่เชียงตุง จังหวัดหนึ่งในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2537

Advertisement

“ยลดอยตุง เยือนเชียงตุง” จัดพิมพ์จำนวน 7,000 เล่ม ในเดือนมีนาคม 2562 และออกวางจำหน่ายแล้ว

ถ่ายทอดในรูปแบบ Scrapbook ทันสมัย สีสันสวยงาม และเปี่ยมด้วยพระอารมณ์ขัน

ความตอนหนึ่งว่า “จากนั้นแวะที่ ‘ตลาดห้วยน้ำขุ่น’ เห็นเป็นตลาดเล็กๆ แต่ที่จริงแล้วมีของใช้จำเป็น เครื่องอุปโภคบริโภคผักหญ้าครบครัน แม่ค้าซื้อมาจากตลาดห้วยไคร้ซึ่งใหญ่กว่า มีคนเข็นรถเข็นขายซาลาเปา คนขายบอกว่าซื้อมาจากแม่สาย เอามาอุ่น ลูกละ 5 บาท ข้าพเจ้าเลยซื้อรับประทานไปหนึ่งลูก (กำลังหิวพอดี)”

Advertisement
เสวยซาลาเปาที่ตลาดห้วยน้ำขุ่น

ตลอดความยาว 119 หน้ากระดาษ พร้อมเชิงอรรถด้านล่างของหน้า และภาคผนวกท้ายเล่ม สะท้อนพระราชจริยวัตรตลอดหลายวันของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไว้อย่างครบถ้วน

พระองค์ทรงได้รับการปลูกฝังพระราชจริยวัตรช่างสังเกตให้รู้จักสนพระทัยใฝ่เรียนรู้จากสิ่งรอบด้านจากพระบรมราชชนกนาถและพระบรมราชชนนี ดังความตอนหนึ่งที่ปรากฏในเล่ม ทรงจดบันทึกการเดินทางบริเวณใกล้ชายแดนพม่า เพื่อเปรียบเทียบกับแผนที่

“ข้าพเจ้ามองดูสองข้างทางไปตลอด ใกล้ๆ ชายแดน วัดวาอารามสถานที่ต่างๆ มีป้ายเขียนภาษาไทย รถนำก็วิทยุบรรยายชื่อหมู่บ้านและบอกด้วยว่าเป็นหมู่บ้านของคนเผ่าอะไร ข้าพเจ้าจดเอาไว้เปรียบเทียบกับแผนที่ แต่ก็ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ เพราะถนนบางตอนโขยกเขยก เขียนหนังสือไม่เป็นตัว ไม่กล้าหยิบคอมพิวเตอร์ออกมาใช้ เพราะกลัวเครื่องพัง ฝุ่นค่อนข้างจะมาก เท่าที่จดไว้และอ่านออกมีดังนี้

“วัดป่าสัก สะพานแคบข้ามห้วย วัดพระธาตุเพียงดิน วัดป่าสักใหม่-ป้ายที่นี่มีไก่ขาย ที่นา (เพิ่งดำไปได้ส่วนหนึ่ง) ถนนแยกออกไปสนามบินท่าขี้เหล็ก วัดห้วยไคร้ท่าขี้เหล็ก ทางไปพระธาตุดอยเมา ตลาดเช้า โรงเรียน วัดป่าแหลง (ชาวบ้านปิ้งข้าวเกรียบว่าว) เส้นทางเดินทางสายนี้มีหมูวิ่งตัดหน้ารถอยู่บ่อยๆ แสดงว่าเป็นเส้นทางตัดผ่านหมู่บ้านไปตลอด ถ้าเป็นเส้นทางที่ไกลหมู่บ้านออกไป มักมีสัตว์จำพวกวัว ควาย…”

ระหว่างการเสด็จฯเยือนเชียงตุงนี้ กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงพระราชนิพนธ์ความตอนหนึ่งว่า นอกจากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยแล้ว ทางการพม่ายังส่งศาสตราจารย์มา 2 ท่าน คือ ศ.ดร.คินเมายุน (Professor Dr.Khin Maung Nyunt) และ ศ.ทุนอังเชง (Professor Tun Aung Chain) โดยทั้ง 2 ท่านนี้อยากให้พระองค์ประทับในพม่าเป็นเวลานานกว่านี้ เนื่องจากตลอด 8 ปีที่ผ่านมา (ระยะเวลา ณ ขณะนั้น) มีสิ่งใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เช่น ที่เมืองพะโค หรือหงสาวดี พบพระราชวังของบุเรงนอง ที่มัณฑะเลย์ได้สร้างพระราชวังขึ้นมาใหม่ตามแบบเดิม รวมทั้งที่พุกามมีการขุดค้นทางโบราณคดีเพิ่มขึ้น

ชัดเจนว่า พม่าในวันนี้แตกต่างไปจากวันวาน เสมือนที่ “สบตาแจ่ว” หนึ่งในสถานที่เสวยพระกระยาหารระหว่างเสด็จฯเยือนเชียงตุง สร้างขึ้นจากท่าน้ำยื่นเข้าไปในลำห้วย โดยมีนักเรียนจากหลายชนเผ่าร่วมฟ้อนรำเป็นการต้อนรับ

พระองค์ทรงทราบจากนักเรียนเหล่านั้นว่า เมื่อจบชั้นมัธยม ศึกษาแล้วจะต้องไปเรียนต่อที่เมืองตองยี หรือย่างกุ้ง เนื่องจากที่เชียงตุงไม่มีสถาบันการศึกษาระดับสูง

ปัจจุบัน ประชากรส่วนใหญ่ในเชียงตุงประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม ส่วนภาคเศรษฐกิจมีการพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาของประเทศพม่า นักลงทุนมีทั้งคนในท้องถิ่นและชาวต่างชาติ

ในการเสด็จฯเยือนเชียงตุงครั้งนั้น กรมสมเด็จพระเทพฯ เสด็จฯ ไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ อย่างต่อเนื่อง วันสุดท้าย

ทอดพระเนตร “กุหลาบพันปี”

พระองค์เสด็จฯไป “ดอยเหมย” ระหว่างทางมีชาวบ้านโปรยข้าวตอกเป็นการต้อนรับ จากนั้นเสด็จฯไปยัง “กองพัน 226” และ “ตึกเก่าของอังกฤษ” ซึ่งเป็นของ พันเอก Rubel ที่กองพันทหารเพิ่งปรับปรุงซ่อมแซมแล้วเสร็จเมื่อ 4 มกราคม 2537

การนี้ กรมสมเด็จพระเทพฯ ทอดพระเนตร “กุหลาบพันปี” หรือ Rhododendron ทรงพระราชนิพนธ์ใน “ยลดอยตุง เยือนเชียงตุง” ตอนหนึ่งว่า

“นั่งรถไปถึงบริเวณที่มีกุหลาบพันปี หรือที่ภาษาฝรั่งเรียกว่า Rhododendron ออกดอกสีแดงสวยงามมาก ของเรามีสีขาวและชมพูเป็นส่วนใหญ่ สีแดงมีที่ดอยอินทนนท์ สมเด็จย่าโปรดโรโดเดนดรอนสีแดงนี้มาก พม่าจึงถวายโดยให้เจ้าหน้าที่จากโครงการพัฒนาดอยตุงฯมาขุดเอง จะนำไปปลูกที่ดอยช้างมูบ…”

พระองค์เสด็จฯเยือน “สถานฝึกอาชีพสตรีชายแดน” เป็นสถานที่สุดท้าย พระราชทานเครื่องถักไหมพรมสำหรับใช้ฝึกอาชีพประชาชนต่อไป

กรมสมเด็จพระเทพฯเสด็จฯกลับเชียงราย
พสกนิกรชาวเมียนมาเฝ้าฯรับเสด็จ
กรมสมเด็จพระเทพฯทรงสันนิษฐานว่า การมี “หมู” วิ่งตัดหน้ารถบ่อยๆ แสดงว่าเป็นเส้นทางตัดผ่านหมู่บ้าน

“การเดินทางมาเยือนเชียงตุงครั้งนี้ แม้จะเป็นเพียงช่วงสั้นๆ แต่ข้าพเจ้าก็ได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลินยิ่ง และได้รับการต้อนรับที่อบอุ่นด้วยน้ำใจไมตรีจากเพื่อนบ้านที่จักได้พัฒนาสายสัมพันธ์สืบต่อไป”

ถ้อยความหลังปกหนังสือพระราชนิพนธ์ที่สะท้อนให้เห็นภาพการทรงงานตลอดระยะเวลาอันสั้น ทว่า เปี่ยมด้วยความหมายและมุมมองที่น่าสนใจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image