‘ลดเมืองร้อนด้วยมือเรา’ จากกิจกรรมชุมชน สู่โมเดลพัฒนาเมืองสีเขียว เพื่อชีวิต เพื่อธรรมชาติอันยั่งยืน

ลดผลกระทบเชิงลบ เพิ่มผลกระทบเชิงบวก และมุ่งพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน

คือ พันธสัญญาความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมของโตโยต้าทั่วโลกในศตวรรษที่ผู้คนหันมาให้ความสนใจในประเด็นดังกล่าวอย่างจริงจัง

ด้วยเหตุนี้ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด จึงจับมือ มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย พาคณะครู เยาวชน และตัวแทนชุมชนที่ชนะเลิศการประกวดโครงงานในการลดภาวะโลกร้อนจากกิจกรรม “โตโยต้า ลดเมืองร้อนด้วยมือเรา” ปีที่ 14 บินลัดฟ้าไปทัศนศึกษาเพื่อต่อยอดองค์ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม ณ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 9-15 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็น “เมืองสีเขียว” เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า

กิจกรรม “โตโยต้า ลดเมืองร้อนด้วยมือเรา” เป็นหนึ่งในโครงการ “โตโยต้า เมืองสีเขียว เพื่อธรรมชาติ เพื่อทุกชีวิต” ซึ่งดำเนินงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 ด้วยความมุ่งหวังสร้างจิตสำนึกให้สังคมไทยได้ตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อน พร้อมทั้งหาแนวทางแก้ไขและเปิดโอกาสให้โรงเรียน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจากทั่วประเทศ จัดทำแผนงานส่งเข้าประกวดเพื่อรณรงค์การลดภาวะโลกร้อนภายในชุมชนของตน ซึ่งครอบคลุมทั้ง 5 ด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ 1.การเพิ่มพื้นที่สีเขียว 2.การจัดการขยะอย่างครบวงจรและเหมาะสม 3.การประหยัดพลังงานไฟฟ้าและใช้พลังงานทดแทน 4.การเดินทางอย่างยั่งยืน และ 5.การอนุรักษ์น้ำ

Advertisement

จากจำนวนผู้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดในครั้งล่าสุด ถึง 80 โครงการ ผ่านการคัดเลือกจนได้ผู้ชนะทั้งสิ้น 6 โครงการ แบ่งเป็นประเภทโรงเรียน 3 โครงการ และประเภทชุมชน 3 โครงการ

ผู้คว้าชัยในการแข่งขันระดับโรงเรียน รางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้รับถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ โรงเรียนวัดตโปทาราม อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ที่ส่งโครงการ “Eco ตโปทาราม ตามศาสตร์พระราชา ลดภาวะโลกร้อน” โดดเด่นด้านการบูรณาการเรื่องการจัดการขยะและลดภาวะโลกร้อนไปสู่ศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เชื่อมโยงการเสริมทักษะเรื่องอาชีพและหลักสูตรสิ่งแวดล้อมศึกษา

ตามมาด้วยรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ โรงเรียนบ้านน้ำมิน อ.เชียงคำ จ.พะเยา จากโครงการ “น้ำมินร่วมใจลดเมืองร้อนด้วยมือเรา” ซึ่งนำเสนอการจัดการขยะอย่างครบวงจรโดยการพึ่งพาตนเอง บูรณาการสู่การเรียนการสอน เพื่อสร้างจิตสำนึกเรื่องการอนุรักษ์ป่า สัตว์ป่า และน้ำ

Advertisement
ผู้ชนะโครงการ “โตโยต้า ลดเมืองร้อนด้วยมือเรา” ปีที่ 14 ร่วมศึกษาต้นแบบเมืองสีเขียว ที่ประเทศญี่ปุ่น
ทีมผู้ชนะชมถ้ำที่เกิดจากการสะสมของลาวา ภูเขาไฟฟูจิ ที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติ ไซโกะ Saiko Nature Centre เพื่อเรียนรู้ระบบนิเวศและการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม

ปิดท้ายที่โรงเรียนศรีธาตุพิทยาคม อ.ศรีธาตุ จ.อุดรธานี ซึ่งได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง จากโครงการบริหารจัดการขยะควบคู่กับการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนสู่ห้องเรียนธรรมชาติบ้าน วัด โรงเรียน ที่ชนะใจกรรมการด้วยแนวทางการบริหารจัดการขยะควบคู่กับการพัฒนาสิ่งแวดล้อมแบบมีส่วนร่วมระหว่างบ้าน วัด โรงเรียน บูรณาการสู่หลักสูตรท้องถิ่นวิถีคนพื้นเมืองอีสาน

มาถึงประเภทชุมชน ผู้คว้ารางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้รับถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้แก่ ชุมชนบ้านสันป่าบง เทศบาลตำบลหงาว อ.เทิง จ.เชียงราย ซึ่งนำเสนอ “โครงการรักษ์ป่า รักษ์พลังงาน และบริหารจัดการขยะ ที่ชุมชนบ้านสันป่าบง” โดยมีความเด่นชัดในด้านการจัดการพื้นที่สีเขียวเชื่อมโยงกับการจัดการขยะและพลังงาน เพื่อแก้ปัญหาความแห้งแล้งและปากท้องของชุมชน ต่อยอดองค์ความรู้สู่ฐานเรียนรู้และเส้นทางศึกษาธรรมชาติในชุมชน

ในขณะที่รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ตกเป็นของ ชุมชนบ้านรางพลับ เทศบาลตำบลกรับใหญ่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี

จากการดำเนินกิจกรรม “โครงการนวัตวิถีรางพลับ…สู่การลดโลกร้อนอย่างยั่งยืน” โดยมีการจัดการขยะที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชนสู่การเป็นชุมชนปลอดขยะได้อย่างดีเยี่ยม

ทีมชุมชนบ้านศรีจอมแจ้ง นำเสนอกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ที่ Toyota Motor Corporation Tokyo Head Office

ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ชุมชนบ้านศรีจอมแจ้ง เทศบาลตำบลหงส์หิน อ.จุน จ.พะเยา เป็นผู้คว้าชัยจาก “โครงการศรีจอมแจ้ง ต้นแบบชุมชนสีเขียว ร่วมลดเมืองร้อน” ซึ่งชูแนวทางการรักษาป่า ดิน และน้ำ เชื่อมโยงให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อการประกอบอาชีพเกษตรกรรมของคนในชุมชน

สอดคล้องกับแนวคิด “เมืองสีเขียว เพื่อธรรมชาติ เพื่อทุกชีวิต”

โดยกลุ่มตัวแทนจากชุมชนบ้านศรีจอมแจ้ง เล่าว่า กว่าจะมาเป็นต้นแบบเมืองสีเขียวได้นั้น ไม่ง่าย ด้วยเป็นชุมชนทำการเกษตรที่ต้องเผชิญทั้งปัญหาขาดน้ำ เนื่องจากพื้นที่ป่าไม้จำนวนมากถูกตัดเพื่อเพิ่มพื้นที่การเกษตร ที่ยิ่งมากขึ้น แหล่งน้ำก็ยิ่งไม่เพียงพอ ยังมีปัญหาขยะ อีกทั้งปัญหาหมอกควัน อันเกิดจากการเผาเศษวัชพืชหลังเก็บเกี่ยว และหมอกควันจากเพื่อนบ้าน นี่คือ 3 ปัญหาหลัก ที่ก่อให้เกิดความร่วมมือกันในชุมชน ก่อนจะก้าวเข้าร่วมโครงการ “ลดเมืองร้อนด้วยมือเรา” เพื่อให้ชุมชนและชุมชนใกล้เคียงร่วมสอดส่องดูแลสิ่งแลดล้อมอย่างจริงจัง

และกระตุ้นเตือนชุมชนรอบๆ ว่า “ถึงเวลาแล้วที่ชุมชนจะต้องหันมาแก้ปัญหาสิ่งเหล่านี้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”

“คณะกรรมการทำงานของเรา คือ ผู้นำชุมชนในพื้นที่ และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แบ่งเป็นฝ่าย ฝ่ายหนึ่งดูแลเรื่องพื้นที่สีเขียว ตั้งแต่การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการในการตรวจตรา เดินป่า เพื่อสำรวจ ป้องกัน และดูความหลากหลายทางชีวภาพ ฝ่ายขยะ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มแม่บ้าน และ กลุ่ม อสม. เรื่องของพลังงาน มีกลุ่มพ่อบ้าน ทั้งจากกระทรวงพลังงาน และจากจังหวัดเข้ามามีส่วนร่วมเป็นวิทยากร เรื่องใช้ไฟอย่างไรให้ประหยัด การเลือกใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า การทำเตาเศรษฐกิจ ที่ใช้เศษกิ่งไม้ นำฟางหลังเก็บเกี่ยวไปหมักทำปุ๋ย ส่งผลให้ 3-4 ปีมานี้ ไม่มีการเผาฟางซึ่งเป็นต้นเหตุของฝุ่นควันและภาวะโลกร้อน

ส่วนเรื่องการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และการลดใช้พลังงาน ชุมชนตั้งเป้าว่าเมื่อสิ้นสุดโครงการจะต้องลดคาร์บอนไดออกไซด์ ให้ได้อย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ผ่านมาเพียง 4 เดือน ก็นับว่าทะลุเป้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ส่วนผู้นำชุมชนบ้านศรีจอมแจ้งร่วมเล่าให้ฟังอย่างภาคภูมิใจว่า “เราคือชุมชนแรกของตำบล ที่มี ป่าชุมชน เป็นของตัวเอง ถึง 547 ไร่”

“เราต้องการรักษาป่านี้ให้ดีที่สุด เพราะมีหลายชุมชนที่อยู่รอบข้าง บางชุมชนทำสวนยางลุกล้ำป่า ด้วยความเป็นห่วงจึงขอขึ้นทะเบียนเป็นป่าชุมชน เราห้ามตัดต้นไม้ ขอให้ผู้ลุกล้ำส่งคืนและปลูกต้นไม้ฟื้นฟู โดยส่วนใหญ่จะเน้นปลูกต้นไม้พื้นถิ่น ทั้ง ยางนา มะค่า พะยูง ไผ่ ต้นมะขามป้อม แต่ถ้าเป็นหัวไร่ปลายนาของชาวบ้าน ก็จะหาต้นไม้ให้ปลูก เกิดต้องการใช้หรือขาย ก็สามารถตัดได้ทันที ในการเก็บของป่าก็มีแยกแยะว่าอะไรเก็บได้และไม่ได้ เพื่อให้คนใช้ประโยชน์และอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ เพราะป่านี้เป็นต้นทางของอาหาร ถ้าป่านี้หาย-วิถีชีวิตเปลี่ยน”

อีกส่วนหนึ่งที่ขับเคลื่อนส่งเสริมกัน คือแนวคิดเรื่อง “พลังงานทดแทน” ซึ่งชุมชนบ้านศรีจอมแจ้ง มีการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์เพื่อใช้กับปั๊มน้ำประปาของหมู่บ้าน ซึ่งใช้ไฟฟ้าประมาณ 5 เมกะวัตต์ ในช่วงกลางคืน ส่วนตอนกลางวันจะใช้ไฟจากแสงอาทิตย์ ซึ่งจากการจดบันทึกในแต่ละเดือน พบว่าใช้ไฟเฉลี่ย 2,200 บาท ซึ่งก่อนหน้านี้สูงถึง 5,000 บาท

ทดลองผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อขับเคลื่อนรถยนต์ด้วยพลังงานน้ำ

“ตอนนี้ได้เปลี่ยนหลอดไฟกลางของหมู่บ้านแล้ว พยายามนำร่องเพื่อให้แต่ละหลังคาเรือนเปลี่ยนมาใช้ตามเพราะเห็นความแตกต่างของค่าไฟแต่ละเดือนอย่างชัดเจน”

นอกจากจะเป็นชุมชนต้นแบบเรื่องป่าไม้และพลังงานแล้ว ยังมีเรื่องของการจัดการขยะ ที่ก็ยืนอยู่ในจุดของชุมชนต้นแบบอีกเช่นกัน

“เมื่อปีก่อน 60 เราก้าวถึงระดับเขต ต้องยกเครดิตให้ผู้ใหญ่บ้าน เมื่อ 10 กว่าปีก่อน เคยมาทำงานที่ญี่ปุ่น เมื่อกลับไทย ก็ได้เอาประสบการณ์เรื่องความเป็นระเบียบมาใช้กับชุมชน แม้ว่า ณ เวลานั้น เทศบาลยังเก็บขยะตามปกติ และอาคารเรือนหนึ่งก็เสียค่าเก็บขยะเดือนละ 10 บาท ซึ่งส่วนใหญ่ก็เห็นว่าไม่ใช่ปัญหา แต่พอปี 2557 ไฟไหม้บ่อขยะที่แพรกษา จึงเป็นชนวนทำให้เกิดการดำเนินการอย่างจริงจัง

“หลังกลับจากหยุดยาวปีใหม่ เราร่วมกันเก็บขยะ จนขยะเหลือ 1 ใน 3 เดิมเก็บอาทิตย์ละครั้ง จาก 300 กก. เหลือเพียง 80-90 กก.

แค่เปลี่ยนนิสัยการทิ้งขยะ เน้นการคัดแยกขยะที่ต้นทาง ก็สามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนอีกทางจากการที่เทศบาลช่วยติดต่อพ่อค้าให้เข้าไปรับซื้อของเก่า ส่วนขยะอินทรีย์ที่มากถึง 65 เปอร์เซ็นต์ ทางชุมชน ก็ให้ทุกหลังคาเรือนทำ ‘เสวียน’ หรือบ่อหมักขยะ เพื่อทำปุ๋ยและสารปรับปรุงดิน”

นับเป็นการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ เพื่อส่งเสริมความเป็นชุมชนข้าวอินทรีย์ได้ครบทุกกระบวนการ

โรงงานผลิตพลังงานลมเมืองโยโกฮามา จ.คานากาว่า Yokohama City Wind Power Plant
สถาบันสิ่งแวดล้อม Toyota Shirakawa-Go

เพียง 3 เดือนถัดมา ชุมชนบอกว่า “เราไม่เอาถังขยะแล้ว เพราะไม่จำเป็น ถ้ามีถังขยะตั้งหน้าบ้าน ก็จะมีคนเอามาทิ้ง ทำให้เน่าเหม็นไปอีก 1 สัปดาห์หน้าก่อนที่รถขยะจะมาเก็บ ทางเทศบาลจึงทำตะแกรงเหล็กประมาณ 1×1 เมตร ให้ไว้สำหรับเป็นที่ทิ้งขยะของชุมชน จากที่รถขยะต้องวิ่งทุกซอยเก็บทุกหลัง ก็เหลือแค่หมู่บ้านละ 3 จุด ที่ต้องไปเก็บ อาจจะเดินไกลบ้าง แต่ทุกหลังคาเรือนก็ยินดีเอาไปวาง ผลคือเทศบาลไม่เก็บค่าขยะ เป็นการต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน เพราะชุมชนช่วยลดจำนวนแรงคนที่มาเก็บขยะ และยังลดค่าน้ำมันในทางอ้อม สามารถต่อยอดกับชุมชนอื่นๆ ใช้เวลา 3 ปี ในการเก็บถังขยะ 780 ถัง ออกจากชุมชน จากเดิมเก็บขยะอาทิตย์ละ 5 วัน ก็เหลือแค่ 2 วัน คือ ผลสุดท้าย ทั้งตำบล ไม่มีถังขยะ”

ผู้นำชุมชนคนหนึ่งยังเปิดเผยความรู้สึกว่า ถือเป็นโอกาสดีอย่างยิ่งที่ได้มาเห็นเมืองต้นแบบ สีเขียว และว่า “จะต้องหาจุดเด่นไปใช้กับชุมชนเพื่อเป็นบ้านเมืองสีเขียวอย่างยั่งยืนให้ได้”

นับเป็นกิจกรรมดีๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของการกอบกู้โลกใบนี้ให้คงไว้ซึ่งความงดงาม เขียวขจีดังเช่นที่เคยเป็นมา

ชุมชนเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมโตโยต้า (Toyota Ecoful Town) เมืองต้นแบบแห่งอนาคต ที่นำเสนอการใช้ชีวิตอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ระหว่าง คน รถยนต์ และที่อยู่อาศัย
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image