กรุงเทพฯเมืองน่าอยู่? เปิดร่าง ‘ผังเมืองรวม’ ฉบับใหม่ เจาะปมคาใจ ช่องกระจุกความเหลื่อมล้ำ?

อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดูแคบไปถนัดตา เมื่อบรรดาแวดวงวิศวกร สถาปนิก นักศึกษา ไปจนถึงชาวบ้านคนธรรมดา และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับผังเมืองรวมกรุงเทพมหาคร แห่แหนเข้ามาร่วมงานประชุมรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชน ต่อร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4

สาระสำคัญของร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับนี้ ถูกนำเสนอให้ประชาชนรับทราบไปพร้อมๆ กับการเปิดโอกาสรับฟังข้อคิดเห็นจากประชาชนในทุกภาคส่วน เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อการปรับปรุงร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร หวังพัฒนากรุงเทพฯสู่เมืองสร้างสุขอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าชาวบ้านส่วนหนึ่งมีความเห็นคัดค้าน

มาฟังความ 2 ด้าน พร้อมเปิดใจไปกับแนวคิดและข้อมูลของทุกฝ่ายไปพร้อมๆ กัน

ใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่า ให้ความเป็นธรรมอาคารอนุรักษ์

เริ่มจากภาครัฐ ที่คาดหวังจะพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน

Advertisement

สมชาย เดชากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง เปิดเผยว่า ขณะนี้กรุงเทพมหานครกำลังเจริญเติบโตในทุกด้าน ทั้งในส่วนของประชาชน พื้นที่ และระบบขนส่งสาธารณะ ที่เห็นชัดจากโครงการก่อสร้างถนน และรถไฟฟ้า การปรับปรุงทางผังเมืองครั้งนี้จึงมุ่งเน้นเรื่องการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์และสอดคล้องกับสภาพของพื้นที่ที่ได้มีการพัฒนามาก่อนหน้านี้

แผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน

โดยแผนพัฒนาฉบับเดิมกับฉบับใหม่มีความแตกต่างในหลายๆ เรื่อง ทั้งการใช้พื้นที่ ที่ดิน รวมถึงโบนัสการใช้พื้นที่ในเส้นทางของการรถไฟฟ้าและขนส่งมวลชน มีการปรับปรุงในเรื่องการให้สิทธิ การโอนสิทธิ มีการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน หรือ TOD เพื่อการใช้พื้นที่อย่างยืดหยุ่น ผสมผสาน ในบริเวณที่มีความหนาแน่นสูง

ยังมีการเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดินหรือ FAR Bonus จาก 5 รูปแบบ เป็น 8 รูปแบบ และเพิ่มมาตรการโอนสิทธิการพัฒนา TDR ซึ่งเป็นมาตรการสร้างความเป็นธรรมให้กับเจ้าของอาคารอนุรักษ์และพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม สุดท้ายคือมาตรการโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ PUD ซึ่งเป็นมาตรการส่งเสริมการพัฒนาที่ดินสำหรับโครงการขนาดใหญ่ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น

Advertisement

การปรับปรุงผังเมืองครั้งนี้ ยังเปิดโอกาสให้มีการปรับพื้นที่สีเขียวที่กระจัดกระจาย มารวมกันเป็นกลุ่มก้อน หรือเป็นสวนขนาดใหญ่ ซึ่งจะกลายเป็นสวนของทุกคนและยั่งยืนกว่าการที่มีสวนอยู่ในอาคารหรือโครงการเฉพาะบางพื้นที่

ลั่นตอบโจทย์ด้านสิทธิ รองรับสังคมสูงวัย

ฟังข้อมูลเชิงหลักการไปแล้ว ไม่ลืมถามว่า ในทางปฏิบัติ ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการปรับแผนครั้งนี้คืออะไรบ้าง?

ผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมืองตอบว่า ต้องมองให้เห็นภาพทั้งหมดด้วยข้อเท็จจริง ซึ่งจะเห็นว่าการพัฒนาผังเมืองครั้งนี้จะตอบโจทย์พี่น้องประชาชนในเรื่องการให้สิทธิต่างๆ

เรามองถึงสังคมผู้สูงอายุในการให้โบนัสของโครงการที่สอดคล้องกับชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุและเด็ก ในเรื่องของการจัดพื้นที่โล่ง พื้นที่ว่างที่มีการพัฒนา และให้สิทธิในการพัฒนาด้วย นอกจากนี้ ในส่วนของพื้นที่ริมน้ำที่ประชาชนที่มีการทำสวนก็จะสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้

สำหรับขั้นตอนในขณะนี้ อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งภาครัฐระบุว่าดำเนินการมาถึงกลางทางแล้ว หลังจากนี้จะจัดทำร่างพิจารณาข้อคิดเห็นแล้วนำเข้าคณะกรรมการผังเมืองกรุงเทพมหานคร เมื่อแก้ไขเรียบร้อยจะปิดประกาศและส่งไปยังคณะกรรมการผังเมือง เพื่อปรับแก้ไขตามที่ประชาชนได้ให้ข้อคิดเห็น นำเข้าคณะกรรมการเพื่อสรุป และนำเข้าประกาศ 90 วัน ส่งเข้าไปคณะกรรมการผังเมืองของกระทรวงมหาดไทย เมื่อผ่านมหาดไทยแล้ว ก็จะนำเข้าสู่ ครม.ต่อไป

เอ็นจีโอแย้ง เชื่อเอื้อนายทุน หนุนเอกชน

จากมุมมองฝั่งรัฐ ลองมาฟังเสียงชาวบ้านซึ่งพากันเข้าร่วมงานภายในอาคารกีฬาเวสน์ เดินชมแผนผังขนาดใหญ่ที่เรียงรายอยู่ด้านหลัง เบื้องหน้าคือเวทีนำเสนอร่างผังเมือง ผู้สนใจจำนวนมากจับจองที่นั่งร่วมลงลึกในรายละเอียดของแผนผังและข้อกำหนด รวมทั้งมาตรการทางผังเมือง

กทม.เปิดรับฟังข้อคิดเห็นต่อร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) เพื่อการพัฒนาสู่เมืองสร้างสุข

โดยในช่วงท้ายของประชุมที่มีการเปิดให้แสดงความคิดเห็นนั้น มีประชาชนต่อแถวร่วมแสดงความคิดเห็นและเสนอแนวทางพัฒนากันอย่างคึกคัก ส่วนใหญ่ความคิดเห็นเป็นไปในแนวทางที่ไม่เห็นด้วยกับร่างผังเมืองฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 และบางส่วนออกมาต่อต้านเนื่องจากมองว่าการปรับปรุงจะเป็นการเอื้อกลุ่มนายทุนและเอกชนมากเกินไป โดยไม่ได้มองถึงผลกระทบที่ประชาชนจะได้รับ ทั้งเรื่องการเวนคืนพื้นที่ ความแออัดของคนที่จะเพิ่มขึ้นจากการพัฒนา สภาพแวดล้อมเรื่องปัญหาฝุ่นจากการก่อสร้าง ปัญหาจากการสร้างรถไฟฟ้า เป็นต้น

นฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในฐานะตัวแทนชาวชุมชนต่างๆ ใน กทม. ได้เข้ายื่นหนังสือคัดค้านร่างผังเมืองรวมฉบับใหม่ ต่อนายสมชาย เดชากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง

โดยขอให้มีการพิจารณาทบทวนใหม่ในหลายประเด็น เนื่องจากร่างผังเมืองมีเรื่องของการที่ไม่ได้ทำกรอบกำหนดเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนตั้งแต่เริ่มต้น และขณะนี้เป็นปัญหาในเรื่องของอาคารสูงหรือสิ่งแวดล้อมที่สร้างผลกระทบ

นฤมลเล่าว่า ปัญหาตอนนี้คือ ชุมชนได้รับผลกระทบจากการทำผิดกฎหมาย และไม่ได้ถูกแก้ไขหรือเจ้าหน้าที่ละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งคิดว่าผลกระทบต่างๆ เหล่านี้ถ้าผังเมืองใหม่ในอนาคตวางกรอบกติกาไว้เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดปัญหาจริง ปี 2580 คิดว่ากรุงเทพฯน่าจะเป็นเมืองน่าอยู่ตามเจตนารมณ์อย่างที่ผังเมืองได้บอกไว้ แต่ตอนนี้กลับมีปัญหาสิ่งแวดล้อม การจราจร หรือปัญหาที่อยู่อาศัยที่กรุงเทพฯแออัดอย่างมาก จึงควรจะมีการทบทวนในเรื่องมาตรการการจัดการปัญหานี้

“ถนนที่ท่านกำหนดไว้ 16 เมตร ตอนนี้กรุงเทพฯไม่มีถนน 16 เมตร หรือตึกอาคารสูงที่น้อยกว่า 10,000 ตารางเมตรก็ไม่มี มีแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป ดังนั้น ในการก่อสร้างอาคารสูงเหล่านี้ จึงอยากเสนอให้รัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรการด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้ผู้ประกอบการเข้าไปดำเนินการฝ่ายเดียวและรัฐมารับฟังเอกสารของผู้ประกอบการอีกฝั่งหนึ่ง”

“ประชาชนทั่วกรุงเทพฯคาดหวังว่าผังเมืองฉบับนี้จะช่วยควบคุมหรือเป็นมาตรการป้องกัน หรือเป็นเครื่องมือที่จะดูแลประโยชน์ของประชาชนที่เป็นส่วนรวม ไม่ว่าจะเรื่องความปลอดภัย สุขอนามัย สุขลักษณะ หรือสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่ประชาชนชาวกรุงเทพฯตอนนี้ได้รับผลกระทบจากความแออัดมากขึ้น” นฤมลกล่าว

นฤมล เมฆบริสุทธิ์ (ซ้าย) และวิชาร บุญภูพัน (ขวา) ตัวแทน 14 ชุมชน เข้ายื่นหนังสือคัดค้านร่างผังเมืองรวมฉบับใหม่

14 ชุมชนคาใจ หอบ 200 หน้ายื่นค้าน

มาถึงชาวบ้านตัวจริง ซึ่งตั้งคำถามว่า หากผังเดิมยังไม่สามารถบังคับใช้ให้เป็นไปตามกฎหมายได้ จะนำของใหม่มาใช้เพื่อประโยชน์อะไร?

วิชาร บุญภูพัน รักษาการประธานชุมชนมหาดเล็กหลวง ในฐานะผู้แทนชุมชน 14 แห่งทั่วกรุงเทพฯ ที่เผชิญปัญหาอย่างหนัก ทั้งชุมชนคลองเตย ชุมชนพญาไท ชุมชนเจ้าพระยา ชุมชนมหาดเล็กหลวง ชุมชนคลองสาน ชุมชนคลองสามวา และชุมชนอื่นๆ ร่วมเข้ายื่นคัดค้านผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พร้อมพกเอกสารประมาณ 200 หน้า ประกอบการยื่นพิจารณา โดยย้ำว่าที่มายื่นคัดค้านนั้นมาด้วยหลักการและเหตุผล ไม่ใช่ด้วยอารมณ์

วิชาร ระบุว่า ในนามของ 14 ชุมชนในเขตต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ เราค้านบางหลักการ หลักการบางอย่างเราเห็นด้วย เช่น เห็นด้วยกับการกระจายความเจริญ แต่วิธีการกระจายความเจริญด้วยการสร้างถนนสาธารณูปโภคทุกอย่างที่รองรับเพื่อกระจายความเจริญออกไปนั้น ในสาระสำคัญกลับไม่ใช่ กลายเป็นว่าอนุญาตให้สร้างในย่าน CBD ตรงกลางเมืองให้แออัดหนักเข้าไปอีก ทำให้ในพื้นที่ที่ถึงจุดวิกฤตอยู่แล้วยิ่งวิกฤตมากขึ้น

“ทั้ง 14 ชุมชน เฉพาะที่รวมกลุ่มมีคนได้รับผลกระทบเป็นแสนคน ทั้งในเรื่องของอาคารสูง ซึ่งกฎหมายผังเมืองใหม่จะอนุญาตให้มีการเพิ่มพื้นที่ความแออัดก็คือ FAR Bonus (Floor Area Ratio Bonus) หรือในพื้นที่พาณิชยกรรมอนุญาตให้ใช้พื้นที่ก่อสร้างต่อหนึ่งที่ดินเพิ่มมากขึ้น สมมุติที่ดิน 1 ไร่ 1,600 ตารางเมตร สามารถขึ้นอาคารสูงมีพื้นที่ใช้ประโยชน์ได้ 10 เท่า คือ 16,000 ตร.ม. แต่กฎหมายใหม่ให้โบนัส คือเพิ่มขึ้นได้อีกเท่าตัว สุขุมวิท ทองหล่อ ราชดำริ วิทยุ อนุญาตให้เพิ่มความสูงขึ้นไปอีก ซึ่งนี่ไม่ใช่การกระจายความเจริญ แต่เป็นการกระจุกความเจริญ และเพิ่มความแออัดในใจกลางเมืองให้มากขึ้น เพราะต้องดูว่าที่ดินเหล่านี้ใครซื้อไว้แล้ว และเมื่อพัฒนา กำไรจะเพิ่มอีกเป็น 10 เท่าตัว”

“การที่สามารถสร้างตึกขึ้นมาได้มากถึง 50 กว่าชั้น ซึ่งตามกฎหมายเดิมได้สูงสุด 30 ชั้น จะเห็นว่ากำไรมหาศาล แต่คนที่เสียประโยชน์คือคนที่อาศัยรอบข้าง ทั้งบดบังทัศนียภาพ บังทิศทางลม ทั้งมลภาวะขณะที่สร้าง เพราะตึกที่สูงมากจะดึงมลภาวะไม่ให้ลอยตัวขึ้น ซึ่งเป็นผลกระทบทางสุขภาพที่มองไม่เห็น แต่สิ่งที่เห็นชัดเจนที่สุดคือ รถยนต์ และการจราจร จากเดิมรถวิ่งอยู่หน้าบ้าน 100 คัน ก็กลายเป็น 200 คัน

ผู้ที่เขียนร่างผังเมืองได้คิดถึงเรื่องการจราจรที่วิกฤตหรือไม่ คน 1 ล้านถ้าเพิ่มเป็น 2 ล้าน ถนนจะรองรับพอหรือไม่ สาธารณูปโภค น้ำ ไฟ ระบบระบายน้ำ ทุกอย่างเพียงพอหรือไม่ สิ่งที่เกิดขึ้นทันทีจากการที่มีตึกสูงขึ้นมา 10 ตึก จากที่ควรจะมีอยู่แค่ 5 ตึกใน 2 ซอย คือน้ำท่วมเพราะระบายน้ำไม่ทัน ไม่ใช่ระบายไม่ทันเพราะระบบไม่ดี แต่เพราะคนอยู่มากเกินไป การปล่อยของเสียและปัญหาต่างๆ จึงมากขึ้นตามมา

สิ่งเหล่านี้ผู้ร่างผังได้คิดอย่างรอบคอบแล้ว หรือคิดเพียงแต่จะเพิ่มการให้ขึ้นอาคารสูง หรือพื้นที่ซึ่งเป็นข้อกำหนดเบื้องต้นตามกฎหมายเพื่อประโยชน์บนเส้นทางเฉพาะให้กลุ่มบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะเป็นกลุ่มเดียวและเป็นกลุ่มเล็กๆ ที่ได้ประโยชน์ ในขณะที่ประชาชนทั้งกรุงเทพฯได้รับความเดือดร้อน ทั้ง 14 ชุมชน สุขุมวิท ปทุมวัน ราชเทวี พญาไท คลองเตย และกระจายออกไปอีกเกือบ 10 ชุมชน ทุกคนเผชิญปัญหาเดียวกัน ซึ่งไม่ใช่ปัญหาของเราแต่เป็นปัญหาของคนกรุงเทพฯทั้งหมด ที่ต่อต้านกับคนกลุ่มเดียวเล็กๆ ที่ได้ประโยชน์มหาศาลจากการแก้กฎหมายฉบับนี้” วิชารกล่าว พร้อมทิ้งท้ายด้วยว่า

วันนี้เราจึงไม่ได้มาประทับตรายางรับรอง แต่มาคัดค้านเพราะมองว่าผังเมืองที่กำลังประชาพิจารณ์อยู่นี้กำลังตอบโจทย์มหาเศรษฐี และละเลยประชาชน

คำว่า ‘กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่’ ในอีก 5 ปี จะตรงข้ามข้อเท็จจริงอย่างสิ้นเชิง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image