อุตสาหกรรมไทยต้องไม่ต้องขบวน! วิศวกรรมสถานฯ เปิดเวทีแนะ เพิ่มขุมพลังด้วย 5G

“เทคโนโลยี 5G จะเป็นส่วนสำคัญที่สุดสำหรับโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในอนาคต ที่เข้ามาดิสรัปทั้งภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม การขนส่ง และอื่นๆ”

คำกล่าวของ อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ระหว่างปาฐกถาพิเศษ พร้อมเปิดเวทีเสวนา “ขีดความสามารถใหม่ของเทคโนโลยี 5G กับอุตสาหกรรมสำหรับประเทศไทย” ในงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2561 ของ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)

โดยความสามารถของเทคโนโลยี 5G นั้น อัจฉรินทร์ชี้ว่า เป็นตัวขับเคลื่อนและประสานการทำงานร่วมกับเทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ อินเตอร์เน็ตในสรรพสิ่ง หรือไอโอที, ปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ เพราะเมื่อทำงานร่วมกันแล้ว จะช่วยเพิ่มพลังขีดความสามารถในการประมวลผลที่ยอดเยี่ยม

อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย

นับเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมสู่สังคม และสร้างเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ เชื่อมโยงจัดการซัพพลายเชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และไร้ขีดจำกัด

Advertisement

“กระทรวงดีอีจะเข้ามาดูแลในส่วนของการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี 5G รวมถึงข้อกฎหมาย และการวางแผนในการจัดสรรทรัพยากรรองรับเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพ เพื่อผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจสู่ไทยแลนด์ 4.0 และเมืองอัจฉริยะ หรือสมาร์ทซิตี้ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต”

ในเวทีเดียวกันนี้ ยังมีนักวิชาการและผู้ประกอบการหลายรายเข้าร่วม ไม่ว่าจะเป็น สุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและจัดการทรัพยากรโทรคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่มาบอกว่า ภารกิจของ กสทช.ในวันนี้คือการสนับสนุนนโยบายกระทรวงดีอีในการขับเคลื่อนให้เป็นไปตามโรดแมป ด้านการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีจาก 4G ไปสู่ 5G ทั้งยังกำกับดูแลความเหมาะสมระหว่างประชาชนและผู้ประกอบการ รวมถึงสร้างการรับรู้ในสังคมของยุคเปลี่ยนเทคโนโลยีจาก 4G ไปสู่ 5G ที่จะเข้ามาส่งผลกระทบและเปลี่ยนแปลงชีวิตประชาชน

องค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนเทคโนโลยี 5G สุทธิศักดิ์อธิบายว่ามีอยู่ 3 ข้อใหญ่ๆ คือ 1.คลื่นความถี่ จะต้องเป็นคลื่นความถี่สากลที่ใช้ทั่วไปและเพียงพอ ซึ่งประเทศไทยมีคลื่นความถี่ที่จะสามารถนำมาใช้ในส่วนงานกิจการ ได้แก่ คลื่นความถี่ 26-28 GHz ส่วนคลื่นความถี่ 3.5 GHz อยู่ระหว่างการพิจารณาทดลอง ทดสอบความเป็นไปได้ในการนำมาใช้งาน 2.โครงสร้างพื้นฐาน ที่พร้อมและรองรับเทคโนโลยี 5G ให้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ และเชื่อมโยงโครงข่ายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ และ 3.Connectivity เพื่อรองรับการเชื่อมต่อเทคโนโลยีในอนาคต

Advertisement

รังสรรค์ จันทร์นฤกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจสื่อสารไร้สาย แห่งทีโอที ออกตัวว่า ทีโอทีพร้อมสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานให้กับผู้ประกอบการทุกราย และส่งเสริมให้มีการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน เช่น เสากระจายสัญญาณ ท่อร้อยสาย และสายสัญญาณ รวมถึงฐานข้อมูลผู้ใช้โครงข่ายไร้สาย เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนโครงข่ายเทคโนโลยี 5G

“ขอย้ำให้วิศวกรไทยเตรียมตัวในการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้น พัฒนาทักษะมุ่งไปสู่การพัฒนาใน 3 เรื่องสำคัญ คือ เอไอ, เครื่องจักรอัตโนมัติ และอัลกอริทึม พร้อมทั้งประเทศไทยและผู้ประกอบการไทยควรปรับตัวให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนสร้างมาตรฐานการใช้เทคโนโลยี 5G ของคนไทยขึ้นมา”

ขณะที่ เพชรธรรม์ พลอัครวัตน์ ผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์สื่อสารไร้สาย บริษัท หัวเว่ยเทคโนโลยี (ประเทศไทย) มาพร้อมตัวเลขและเหตุผลอันพรั่นพรึงที่นานาประเทศทั่วโลกต่างผลักดันเทคโนโลยี 5G ในประเทศ เป็นเพราะ ในอีก 16 ปีข้างหน้า ตลาด 5G จะสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากถึง 12 ล้านล้านดอลลาร์ หรือเทียบเท่า 5% ของจีดีพีโลก ซึ่งอุตสาหกรรมหลักที่จะได้รับผลกระทบคือ อุตสาหกรรมการผลิต 3.4 ล้านล้านดอลลาร์, อุตสาหกรรมโทรคมนาคม 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ และอื่นๆ ขึ้นอยู่กับแต่ละประเภทอุตสาหกรรม โดยปัจจุบันมีผู้ให้บริการเทคโนโลยี 5G กว่า 45 ราย จาก 20 ประเทศทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม เพชรธรรม์คาดการณ์ว่า ในปี 2021 นี้ ปริมาณการใช้สมาร์ทโฟนมือถือที่รองรับ 5G จะสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะราคามือถือที่ถูกลงและคลื่นความถี่ให้บริการที่เพิ่มขึ้น

สอดคล้องกับ ร้อยโท ดร.เจษฎา ศิวรักษ์ จากอิริคสัน ที่ระบุว่า การใช้งานดาต้าในอนาคตมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และจะเข้ามาแทนที่การให้บริการเดิม เช่น Voice, Roaming, SMS ส่งผลให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมต่างๆ ขายสินค้าและบริการได้เพียงอย่างเดียว จึงจำเป็นต้องปรับตัวและเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการแพลตฟอร์มเพื่อรองรับกับยุคเทคโนโลยี 5G ที่กำลังจะเกิดขึ้น อันจะมีผลต่อการก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและกระทบต่อการลงทุนในอนาคต

ก่อนจะปิดท้ายอย่างงดงามที่ ชัชวาลย์ สุภัคธนาการ หัวหน้างานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล อาวุโส สถาบันโอไอทีและนวัตกรรมดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ด้วยการเชิญชวนบริษัทผู้สนใจจากทั่วโลกร่วมทำรูปแบบการใช้งาน หรือยูสเคส ที่สามารถเป็นไปได้ และมีผลกระทบในทางเศรษฐกิจ เช่น อุตสาหกรรมด้านสุขภาพ อุตสาหกรรมหนัก โลจิสติกส์ เพื่อรวบรวมข้อมูลในการวิเคราะห์ถึงทิศทางอนาคต 5G รูปแบบต่างๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศและภูมิภาคอาเซียน

ไม่ว่าโลกนี้จะเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาไปเร็วแค่ไหน อย่าให้เทคโนโลยีมีศักยภาพมากกว่ามนุษย์เรา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image