เพราะความหวังคือโอกาส เรือนจำ ‘เรือนจันท์’ แสงสว่างของผู้ก้าวพลาด ลบรอยตราหน้า สู่สังคมคุณภาพ

เรือนจำจำลองที่ร้านกาแฟ Inspire by Princess

ปฏิเสธได้ยากว่า สาเหตุใหญ่ของคดีลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ และคดีอื่นๆ ที่เห็นกันเกลื่อนเมือง มีพื้นฐานมาจากยาเสพติด เช่นเดียวกับเรือนจำจังหวัดจันทบุรี มีตัวเลขนักโทษคดียาเสพติดสูงถึงร้อยละ 70-90 และจากสถิติในอดีต มีการกระทำผิดซ้ำเป็นจำนวนมาก ผู้บัญชาการเรือนจำ ดร.ชาญ วชิรเดช จึงเกิดความไม่สบายใจ นำไปสู่การคิดหาวิธีลดสถิติการเข้ามาซ้ำของผู้ต้องขัง และทำให้ผู้ที่อยู่ภายในเรือนจำสามารถกลับไปเป็นคนดีในสังคม มีอาชีพติดตัวออกไปดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข ก่อเกิดโครงการ “เรือนจันแลนด์” ที่มุ่งหาวิธีการจัดการผ่านการมีส่วนร่วมของคนเมืองจันท์ มีการสร้างร้านกาแฟและ “เรือนจันครัวไทย” ด้วยฝีมือผู้ต้องขัง ทั้งการออกแบบ และลงมือทำ โดยในวันนี้นับว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง ด้วยจำนวนผู้คนที่หมุนเวียนมาใช้บริการไม่ขาดสาย

จากป่าพรุ สู่เรือน (บ่มิ) จำ

ด้วยพื้นที่ป่าโกงกาง ป่าพรุที่มีอยู่ ปล่อยร้างไว้ก็ไร้ประโยชน์ ทางเรือนจำจึงริเริ่มสร้างร้านกาแฟต้นไม้โดยใช้วัสดุจากเรือนจำเก่าอายุกว่า 100 ปี ที่ถูกรื้อทิ้ง ซุ้มประตูลายกนก ลายไทย พื้นไม้เรือนนอน ลูกกรงเรือนนอน ลูกกรงอาคารต่างๆ ไล่เรียงไปจนถึงซุ้มประตูห้องขัง และป้ายจำนวนคน คือของเก่าดั้งเดิมทั้งหมดที่อนุรักษ์ไว้

หากมองจากด้านหน้าของร้าน เป็นต้องสะดุดตากับคำว่า “เรือน (บ่มิ) จำ” อันมาจากแนวคิดที่ว่า “ที่นี่ไม่ใช่เรือนจำ” ซึ่งด้านหลังมีห้องขังจำลอง 2 แห่ง พร้อมเครื่องแบบนักโทษ ที่ผู้มาเยือนสามารถผลัดเปลี่ยนเพื่อถ่ายรูป หรือเพื่อสะเดาะเคราะห์ตามความเชื่อที่ว่า ถ้าได้เข้าไปในคุกจำลองแล้วจะไม่ได้กลับเข้าไปอีก นอกจากนี้ยังสามารถเดินลัดเลาะไปรอบร้านด้วยสะพานทางเดินวิวป่าโกงกางหลังจากทานข้าว จิบกาแฟฝีมืออดีตผู้ก้าวพลาดได้ตามอัธยาศัย กลายเป็นมุมเช็กอินที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง ไม่น่าเชื่อว่าทั้งหมดนี้คือฝีมือของผู้ต้องขัง ที่ออกมาพัฒนาฝีมือหลังจากฝึกฝนอย่างเข้มข้นในเรือนจำ

เปิดบ้าน’จันท์ช่วยจันท์’ผสานพลัง สร้างโอกาส วาดเส้นทางเดิน

จิรภา สินธุนาวา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ โครงการกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาฯเล่าว่า โครงการกำลังใจได้ช่วยเหลือผู้ต้องขังหญิงและเด็กติดผู้ต้องขังมาตั้งแต่ปี 2549 เพราะมองว่าเด็กที่คลอดในเรือนจำคือคนบริสุทธิ์

Advertisement
ร้านกาแฟ Inspire by Princess ในโครงการเรือนจันท์แลนด์

3 ปี ต่อมาจึงขยายความช่วยเหลือไปยังผู้ต้องขังชาย และผู้ต้องขังคนอื่นๆ

ด้วยเป้าหมายของโครงการกำลังใจ คือการคืนคนดีสู่สังคม “พระองค์ท่านมองว่า การที่จะเป็นคนดีได้ ต้องประกอบด้วยหลายส่วน ทั้งจิตใจที่เข้มแข็ง อาชีพ ทุน และที่สำคัญที่สุดคือ การยอมรับของสังคม เพราะคนที่ผิดพลาดไปแล้วยังมีโอกาสที่จะกลับตัวแก้ไขตนเองได้”

ด้าน กรุงศรี ออโต้ อีกหนึ่งองค์กรที่เห็นความสำคัญของปัญหานี้ จึงร่วมสร้างความหวังให้กับผู้ก้าวพลาดในเรือนจำ จ.จันทบุรี ตามแนวทางโครงการกำลังใจ

ไพโรจน์ ชื่นครุฑ พร้อมพันธมิตรของกรุงศรี ออโต้ 11 รายในจังหวัดจันทบุรี

ไพโรจน์ ชื่นครุฑ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า โครงการ “เปิดบ้านจันท์ช่วยจันท์” มีจุดประสงค์เพื่อสร้างกำลังใจ สร้างโอกาส และสร้างการยอมรับของผู้ที่ก้าวพลาด โดยเริ่มจาก “สานสัมพันธ์” คือการพยายามหาพันธมิตรมาร่วมให้โอกาสกับผู้ที่ก้าวพลาด ผ่านการเปิดบ้านจันท์ช่วยจันท์ ให้พันธมิตรทั้ง 11 ราย ได้มาสัมผัสว่าผู้ก้าวพลาดเป็นอย่างไร มีความสามารถอะไร และเราสามารถยื่นมือเข้าไปช่วยอย่างไรได้บ้าง จากนั้น “สร้างสรรค์” ทั้งผลิตภัณฑ์ การตลาด ทั้งช่องทางดิจิทัล กรุงศรีมีทีมงานที่มาช่วยฝึกสอนให้กับผู้ที่ก้าวพลาด ทั้งยัง “ส่งเสริม” โดยมีผู้เชี่ยวชาญสอนให้ผู้ก้าวพลาดสามารถดูแลชีวิตของตัวเองหลังจากออกไปแล้ว ให้เข้าใจว่าชีวิตมีคุณค่า จะไม่กลับไปจุดเดิมอีก และจะใช้ชีวิตต่อจากนี้ด้วยทัศนคติแบบไหน เพื่อชีวิตที่มีคุณค่าและสามารถอยู่ร่วมกับสังคมภายนอกได้ สุดท้าย คือ การสร้างเครือข่ายเพื่อ “สืบสาน” โครงการให้ยั่งยืนต่อไป

การแสดงจากผู้ก้าวพลาด

ใจแลกใจ ระบบศักดิ์สิทธิ์ ที่ใช้ได้ผล

ทันทีที่ก้าวเข้าประตูเรือนจำ ภาพที่เห็นกลับไม่เหมือนภาพในหัว เพราะเรือนจำปกติจะมีสภาพโครงสร้างที่เก่า แออัด ชวนหดหู่ และสาธารณูปโภคไม่เพียงพอ

แต่ทัณฑสถานแห่งนี้มีสภาพใหม่ ร่มรื่น และสะอาดตา

รองเท้าแกะสลักลาย ผลงานของผู้ก้าวพลาดชาย

สมาน รุ่งจิรธนานนท์ ผู้อำนวยการส่วนพัฒนาผู้ต้องขัง เรือนจำจังหวัดจันทบุรี บอกว่า ที่เรือนจำ จ.จันทบุรี มีทุกอย่าง จึงเรียกว่า “เรือนจำสวรรค์” มีสภาพแวดล้อมที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี จึงทำให้ผู้คุมปกครองง่ายขึ้น

“เรือนจำเหมือนเป็นมหาวิทยาลัยชีวิต เพราะข้างในมีหลากหลายสาขาอาชีพ ตั้งแต่ประถมจนถึงดอกเตอร์ มีทั้งแพทย์ ครู นักสังคมสงเคราะห์ นักกฎหมาย และยังมีโครงการดีๆ คือโครงการกำลังใจ ที่ส่งวิทยากรมาให้ความรู้กับผู้ขังในแดนหญิง ไม่ว่าจะเป็นการดูไพ่ยิปซี การปักริบบิ้น ทอเสื่อกก ทำอาหาร ทำเบเกอรี่ ฯลฯ”

“เราให้เขา-เขาให้เรา” คือแนวคิดที่เรือนจำแห่งนี้ยึดถือ

“เรามีการจัดกิจกรรมทุกเทศกาล ผู้ก้าวพลาดจึงไม่รู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง มีการประกวดกีฬา และ ‘จันท์สตาร์ค้นฟ้าคว้าดาว’ เพื่อเฟ้นหาคนที่มีความสามารถเรื่องการร้องเพลงและเล่นดนตรี เมื่อรู้ว่าใครถนัดด้านไหนก็เอามารวมเป็นทีม เรียบเรียงเสียงประสาน พัฒนาจนสามารถแสดงต่อหน้าพระพักตร์ได้”

ผลงานหัตถกรรมของผู้ก้าวพลาด

ที่เรือนจำแห่งนี้ยังมีการฝึกวิชาชีพชาย ทั้งเจียระไนพลอย สลักรองเท้า มีโครงการ “เรือนจำเรือนธรรม” ฝึกสมาธิ ให้การศึกษาให้อ่านออกเขียนได้ จนถึงระดับปริญญาตรี โดยมีงานให้เลือกฝึกอย่างหลากหลาย

เมื่อไม่ว่างงานจึงไม่เกิดการฟุ้งซ่าน อีกทั้งยังเอาความรู้มาประกอบอาชีพได้อีกด้วย

“ใจแลกใจ มีทัศนคติที่ดี ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ให้ความเป็นธรรม ระบบจะศักดิ์สิทธิ์ และไม่ได้รับการต่อต้าน เพราะส่วนมากที่คนออกไปสังคมไม่ยอมรับ และเหยียดหยาม ทำให้ไม่มีโอกาสทางสังคมใหม่ จึงกลับไปสังคมเดิมๆ หาเพื่อนเดิมๆ เสพอีก ขายอีก กลับมาอีก แต่ที่นี่คนที่ออกไปแล้วกลับมาน้อยมาก ที่อื่นสถิติคือ 7 ครั้ง เพราะอยู่ข้างในแล้วมีเพื่อน ได้รับการยอมรับ อยู่ข้างในเป็นตัวเด่น เป็นนักแสดง นักดนตรี แต่อยู่ข้างนอกเหมือนคนที่ไร้ตัวตน นี่คือปัญหาที่ไทยไม่ให้โอกาสผู้ก้าวพลาด” สมานกล่าว

‘ซังเตแบนด์’เสียงร้องของผู้ก้าวพลาด

“ฉันยังหวังแปรเปลี่ยนตัวเองให้ดีให้ได้ เลือกเดินบนทางสายใหม่ดังเช่นทุกคน”

เสียงร้องของ เจ ผู้ก้าวพลาดชาย มือประพันธ์ของวง CTS ซังเตแบนด์ คืออีกหนึ่งเสียงของผู้ก้าวพลาด ที่ตอกย้ำถึงความกังวลว่าจะไม่มีคนให้โอกาส กลัวไม่มีงานทำ และกลัวโดนตราหน้าว่าเป็นคนคุก

เจเล่าย้อนให้ฟังว่า จบชั้น ป.6 เคยเป็นนักร้องในร้านอาหารของแม่ที่ จ.ระยอง แต่เงินไม่พอใช้ จึงเข้าสู่วงการยาเสพติด ตั้งแต่อายุ 22 ปี แต่ถึงอย่างนั้น เจกลับคิดได้ตั้งแต่เข้ามาที่นี่วันแรก เพราะกลัวจะไม่ได้ตอบแทนบุญคุณแม่ เมื่ออยู่ข้างในจึงตั้งใจเรียนต่อจนจบ ม.6 แต่งเพลง “หลงทางผิด” เพื่อหวังจะร้องให้แม่ฟังในวันพบญาติ

เจบอกว่า อยู่ที่นี่ได้ฝึกหลายอย่าง ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก คือการร้องเพลง ได้ร่วมประกวดร้องเพลงจนร้านฝากจันท์จะรับเข้าทำงาน

“อยากเป็นนักร้อง อยากมีเพลงเป็นของตัวเอง ถึงจะเป็นคนดื้อ เกเร ก็พร้อมที่จะปรับปรุงตัวและแก้ไข”

น่าเสียดายที่ “ไทยใช้ระบบการจำคุกเป็นยารักษาโรค จนตอนนี้มีผู้ถูกคุมขังกว่า 4 แสนคน ทำให้เกิดความแออัดยัดเยียด

สมาน ผู้อำนวยการส่วนพัฒนาผู้ต้องขัง ยังบอกว่า บางคนนิสัยดี น่ารักมาก แต่ติดรถเพื่อนมาจึงโดนไปด้วย หรือสามีทำแต่ภรรยาไม่รู้ นี่คือจุดอ่อนของกฎหมายไทย”

ดังจะเห็นได้จากชีวิตของ ปลา นักโทษ 25 ปี คดียาเสพติด ที่ต้องเข้ามาชดใช้ในสิ่งที่เจ้าตัวยืนยันว่า “ไม่ได้ทำ”

ปลาบอกว่า ตอนนั้นอายุ 33 ปี อาศัยรถเพื่อนไป จ.ชลบุรี ด้วยกัน 3 คน โดยที่ไม่รู้เลยว่าภายในรถมียาเสพติดซุกซ่อนอยู่

“เหตุการณ์คือ หนูไปเข้าห้องน้ำที่ปั๊มน้ำมันแถวพัทยา มีผู้ชาย 4-5 คน นอกเครื่องแบบมากระชากเพื่อนที่รถ หนูจะเข้าไปช่วยเพื่อนแต่ถูกจับกุมไปด้วย ทั้งที่หนูและเพื่อนไม่ได้เสพ ไม่ได้ขาย แต่เจ้าของยาหนีได้ เพราะเขามีญาติที่มียศ” ปลาเล่าให้ฟัง และยังบอกด้วยว่า ช่วงที่โดนจับ ค่อนข้างเครียด แต่เมื่อข้ามาอยู่ได้ 2 ปี 8 เดือน กลับรู้สึกอบอุ่น

“มีอาจารย์จากโครงการกำลังใจ เข้ามาสอนดูไพ่ยิปซี เอาไพ่มาให้หัดเปิด และลองวิเคราะห์ และได้เรียนอีกหลายอย่าง ได้ความรู้เยอะ ถ้าออกไปเรียนเองข้างนอกคงไม่มีโอกาสเท่านี้ ได้ช่วยเหลือเพื่อนในนี้ด้วย เพราะเพื่อนจะชอบให้ดูดวงก่อนไปสู้คดีความ”

ปลาบอกอีกว่า ถ้าพ้นโทษจะได้ไปดูดวงที่เรือนจันแลนด์ แต่จะกลับมาสอนคนในเรือนจำด้วย เพราะ “อยากช่วยเหลือคน”

กิจกรรมสร้าง-เสริม เติมใจจันท์

“ปลาต้องติดคุก 25 ปี แต่มี ผอ.เรือนจำที่ใจดี ให้โอกาสลูกๆ ทุกเรื่องถ้ากล้าพูด อยากได้อะไร อยากทำอะไร ก็คอยช่วยเหลือเหมือนคนในครอบครัว มีเพื่อนที่ดี ทำให้การเข้ามาติดคุกรู้สึกเวลาผ่านไปเร็ว ไม่เสียใจ แต่คิดว่าเป็นกำไรชีวิต ทำให้รู้ว่า แม้ช่วงชีวิตตกต่ำ แต่เรายังสามารถให้โอกาสตัวเอง และให้โอกาสคนอื่นได้” ปลาทิ้งท้าย

แม้ถูกจองจำ แต่ศักดิ์ศรีความเป็นคนยังเท่าเทียม สิทธิพื้นฐาน ความรัก ความหวัง และการเยียวยาจิตใจ คือกลไกสำคัญที่จะเปลี่ยนผู้พลั้งพลาด สู่การเป็นคนคุณภาพของสังคม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image