ธรรมศาสตร์ อยู่อย่างไร ในวัน ‘เปลี่ยนผ่าน’ ?

ท่ามกลางยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองครั้งสำคัญของประเทศไทย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นอีกหนึ่งสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ที่มีบทบาทสำคัญในการผลิตบุคลากรคุณภาพ ออกมารับใช้ประเทศชาติอยู่เสมอ โดยเฉพาะบุคคลสำคัญในวงการการเมืองไทย

ตลอด 85 ปี นับแต่การก่อตั้ง ธรรมศาสตร์เผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ และความเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคสมัย โดยมีความพยายามปรับตัวรองรับความเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อตอบโจทย์ที่หลากหลาย

งานเสวนา อนาคตอุดมศึกษาไทย จากบ่อน้ำบำบัดความกระหายสู่ความหลากหลายของการเรียนรู้

เมื่อเร็วๆ นี้ มีการได้จัดเสวนาหัวข้อ “อนาคตอุดมศึกษาไทย : จากบ่อน้ำบำบัดความกระหายสู่ความหลากหลายของการเรียนรู้” เนื่องในวันปรีดี พนมยงค์ 2562 โดยมีวิทยากรระดับท็อป อย่าง ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตอธิการบดีรั้วแม่โดม อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และ รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะจำนวนที่ลดลงของผู้สมัครเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย โดยในปีที่ผ่านมา มีจำนวนที่นั่งของมหาวิทยาลัยว่างกว่า 1.2 แสนที่นั่ง สาเหตุหนึ่งมาจากจำนวนประชากรวัยเรียนที่ลดลง และอีกสาเหตุสำคัญคือ เทรนด์การเรียนรู้ที่เปลี่ยนไป ไม่จำกัดอยู่แค่ในระบบการศึกษาเท่านั้น
หนึ่งในความเห็นน่าสนใจที่บ่งชี้ความพยายามปรับตัวของสถาบันการศึกษาแห่งนี้คือ การก่อเกิด วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผศ.ดร.นิธินันท์ วิศเวศวร คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ฯ กล่าวไว้ว่า การก่อเกิดวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ เป็นอีกหนึ่งในก้าวสำคัญของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการปรับตัวสู่การเรียนรู้ยุคใหม่ ด้วยการเรียนการสอนแบบสหวิทยาการการเรียนรู้ เชื่อมโยงการทำความเข้าใจศาสตร์ต่างๆ เข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมวิทยา ภาษา และวัฒนธรรม ของอาณาบริเวณศึกษา (Area Studies) ที่น่าจับตามอง ได้แก่ จีน อินเดีย และไทย นอกจากนี้ การเรียนการสอนแบบที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ในหลากหลายศาสตร์ ยังเป็นการสืบสานเจตนารมณ์ของอาจารย์ปรีดี ในแง่ของความต้องการผลักดันการเรียนรู้ที่หลากหลายตามความตั้งใจในการก่อตั้งมหาวิทยาลัย “ตลาดวิชา” แห่งแรกของประเทศไทย

Advertisement
ผศ.ดร.นิธินันท์ วิศเวศวร คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ มธ.

“ยังมีความท้าทายใหม่ๆ สำหรับภาคการศึกษาระดับอุดมศึกษา โดยเฉพาะจำนวนผู้สมัครเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง พีบีไอซี ในฐานะวิทยาลัยนานาชาติที่มีการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง เล็งเห็นโอกาสที่จะได้ทุ่มเทงบประมาณ ทรัพยากร ความสามารถของบุคลากร เพื่อปลุกปั้นบัณฑิตทุกคนอย่างมีคุณภาพ อีกทั้งพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศ เพื่อดึงนักศึกษาต่างชาติ เข้ามาเรียนที่พีบีไอซีมากขึ้น พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้นักศึกษาพีบีไอซี ได้เรียนรู้มากกว่าในห้องเรียน ผ่านโอกาสการศึกษาในมหาวิทยาลัยคู่สัญญาชั้นนำในต่างประเทศ และจะมุ่งมั่นพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนต่อไป รับความท้าทายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น” ผศ.ดร.นิธินันท์กล่าว

เมื่อย้อนไปดูไทม์ไลน์ตลอดประวัติศาสตร์ของธรรมศาสตร์ จะพบการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่แบ่งออกเป็น 3 ยุค ได้แก่

ยุคตลาดวิชา : บ่อบำบัดความกระหายของราษฎร ในฐานะผู้ให้เสรีภาพทางการศึกษาตามความความตั้งใจแรกเริ่มของ ปรีดี พนมยงค์ โดยในปี พ.ศ.2477 ซึ่งเป็นปีแรกของการก่อตั้ง มีรูปแบบการเรียนการสอนแบบหลักสูตรเดียว คือ “ธรรมศาสตรบัณฑิต” ผู้เรียนได้ศึกษาด้านสังคมศาสตร์อย่างกว้างขวาง ทั้งนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ จุดประสงค์หลักเพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความเข้าใจหลักกฎหมาย หลักการปกครอง และหลักการทางเศรษฐศาสตร์ไปด้วยกัน เพื่อป้อนบัณฑิตที่มีความเข้าใจหลักสังคมพื้นฐานอย่างรอบด้านเข้าสู่งานราชการ และมุ่งหวังให้เหล่าธรรมศาสตรบัณฑิต ทำหน้าที่เป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนสังคมไทยต่อไป

ต่อมาคือ ยุคมุ่งสู่ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน : รับใช้ประชาคือปลายทางเราที่เล่าเรียน เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2492 หรือ 15 ปีหลังการก่อตั้ง มีการได้ปรับเปลี่ยนการจัดหลักสูตรโดยแยกออกเป็น 4 คณะ ได้แก่ คณะนิติศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี คณะรัฐศาสตร์ และคณะเศรษฐศาสตร์ เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความเข้าใจในศาสตร์นั้นๆ อย่างลึกซึ้ง ตอบโจทย์สังคมยุคอุตสาหกรรมในขณะนั้น ที่ต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ และต่อมาก็มีการเปิดคณะ และสาขาวิชาต่างๆ เพิ่มขึ้น ครอบคลุมทั้งด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์สุขภาพ ตอบโจทย์ความต้องการบัณฑิตที่หลากหลายในโลกการทำงาน

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป สังคมยุคอุตสาหกรรมเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยี ภาคธุรกิจต่างๆ สามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงานได้ ความต้องการแรงงานในภาคธุรกิจจึงไม่เพียงต้องการคนที่มีความสามารถด้านใดด้านหนึ่ง แต่ต้องการคนที่มีความสามารถรอบด้าน เหนือกว่า AI หน้าที่ของมหาวิทยาลัยจึงต้องดึงศักยภาพในตัวนักศึกษาแต่ละคนออกมาให้ได้ โดยการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน ที่ไม่ใช่เพียงแค่การให้ความรู้ หรือการป้อนข้อมูลให้แก่ผู้เรียน ในยุคที่ใครๆ ก็สามารถเข้าถึงข้อมูล ข่าวสารได้ด้วยตัวเอง แต่ต้องทำให้ผู้เรียนเป็นนักคิด วิเคราะห์ รวมทั้งทำให้มหาวิทยาลัย กลายเป็นที่ที่ผู้เรียนสามารถเตรียมพร้อมทักษะต่างๆ (Up-skill) ก่อนเข้าสู่โลกการทำงาน อาทิ การเข้าสังคม การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ ความเป็นผู้นำ ความสามารถในการประนีประนอม อีกทั้งผลักดันความสามารถในการปรับตัว (Re-skill) ให้สามารถทำงานร่วมกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ล่าสุด คือช่วงแห่งการปรับตัวเข้าสู่ตลาดวิชาอีกครั้ง โดยมุ่งไปยัง ยุคมุ่งสู่ความหลากหลายทางการเรียนรู้ ซึ่งมาจากความตระหนักถึงความจำเป็นในการปรับตัว รองรับความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไป เทรนด์การเรียนรู้แบบ “ตลาดวิชา” หรือความเข้าใจศาสตร์ที่หลากหลาย ตอบโจทย์โลกการทำงานและตรงตามความสนใจของผู้เรียน โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เปิดคณะ วิทยาลัยใหม่ๆ ที่มีรูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบไม่ได้มุ่งเน้นเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ให้ผู้เรียนได้ทำความเข้าใจหลากหลายศาสตร์ไปพร้อมกัน

เทรนด์การเรียนรู้ดังกล่าวเกิดขึ้นแล้วในมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างประเทศ อาทิ หลักสูตรโลกและอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด หลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา โซแอส มหาวิทยาลัยลอนดอน เป็นต้น หลักสูตรเหล่านี้ ผู้เรียนจะได้เรียนรู้อย่างบูรณาการ ทั้งการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ของอาณาบริเวณศึกษานั้นๆ ต่างจากการเรียนการสอนในอดีต ที่มุ่งเน้นการเรียนการสอนเพียงแค่ด้านใดด้านหนึ่ง ตามสังกัดของคณะ อาจกล่าวได้ว่าการปรับตัวของธรรมศาสตร์ กำลังกลับไปสู่การเรียนรู้แบบหลากหลาย หรือ “ธรรมศาสตรบัณฑิต” อีกครั้ง ในขณะเดียวกัน ก็กำลังก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง ด้วยพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่อยู่เสมอ

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ www.pbic.tu.ac.th สอบถามโทร 0-2613-3720 หรือ facebook.com/PBIC.TU

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image