อวดโฉมงาน ‘หัตถศิลป์ไทย’ บนเวทีโลก Revelations 2019

ด้วยเล็งเห็นถึงศิลปหัตถกรรมไทยบนความเปลี่ยนแปลงของโลก จากการเป็นของใช้ชาวบ้านธรรมดาๆ สู่งานเชิงช่างชั้นสูงที่รังสรรค์ผลงานเพื่อตอบสนองความเชื่อทางศาสนา ส่งเสริม หรือบ่งบอกสถานภาพผู้ใช้ อาทิ เครื่องราชูปโภคของพระมหากษัตริย์ ที่มีความงดงามประณีต แสดงออกถึงความเคารพเทิดทูน

ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT นำโดย อัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ได้ผลักดันให้วงการหัตถศิลป์ไทยมีพัฒนาการที่สอดรับกับกระแสของประชาคมโลก ด้วยการอนุรักษ์ สืบสาน และต่อยอดภูมิปัญญางานศิลปหัตถกรรมให้เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งมีกลยุทธ์สำคัญคือ “หัตถศิลป์ของชีวิตปัจจุบัน”

เมื่อเร็วๆ นี้ อัมพวันได้รับเชิญให้เป็นผู้บรรยายในงาน Symposium ร่วมกับ ดร.อนุชา ทีรคานนท์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ อัมพวันระบุว่า การนำหัตถศิลป์ไทยร่วมแสดงในงาน Revelations 2019 ณ ประเทศฝรั่งเศส เป็นการตอกย้ำบทบาทของ SACICT ในการเป็นเข็มทิศชี้นำทางงานหัตถศิลป์แก่สังคมไทย โดยศึกษาแนวโน้มเทรนด์โลกผ่านการวิจัยและติดตามความเป็นไปของการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งการออกแบบงานหัตถศิลป์ในตลาดนานาชาติ จนกำหนดเป็น “SACICT Craft Trend” เพื่อบ่งบอกทิศทางของงานหัตถกรรมไทยให้สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้น

“เราพบว่าการเปลี่ยนแปลงสู่โลกดิจิทัลนั้น ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) ก็จำเป็นต้องปรับองค์กรให้เข้ากับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน โดยมุ่งมั่นในการก้าวสู่การเป็นองค์กรในอาเซียนที่เต็มเปี่ยมไปด้วยองค์ความรู้และเป็นศูนย์กลางบิ๊กดาต้าด้านศิลปหัตถกรรม เป็น Art & Craft Hub แห่งภูมิภาค ทั้งนี้ เราเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีอันเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องก้าวให้ทันกระแสโลก สื่อดิจิทัลเป็นเครื่องมือและสื่อทางวัฒนธรรมที่บอกเล่าเรื่องราวแห่งยุคสมัย จึงผลักดันให้เกิดการเชื่อมสังคมเครือข่ายด้านงานหัตถศิลป์เข้าไว้ด้วยกัน ทั้งผู้ผลิต ผู้ใช้ รวมถึงผู้ที่สนใจเรื่องหัตถศิลป์ต่างเชื่อมโยงถึงกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความรู้ ความชอบที่มีร่วมกัน สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวตามที่ต้องการ เกิดเป็นเครือข่ายที่มีความใกล้ชิดอย่างยั่งยืน”

Advertisement
ดร.อนุชา และอัมพวัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่โลกไร้พรมแดน ผู้คนติดต่อสื่อสารเชื่อมโยงถึงกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ส่งผลให้งานศิลปหัตถกรรมหลอมรวมความหลากหลาย เกิดเป็นการกลมกลืนทางวัฒนธรรมที่มีการผสมผสานของวัฒนธรรมหลากหลายเชื้อชาติ ทั้งที่มาจากรากเดียวกัน และวัฒนธรรมที่เข้ามามีอิทธิพลต่อความคิดและการแสดงออกของหัตถศิลป์

“การหลั่งไหลและถาโถมของเทคโนโลยีและนวัตกรรม สู่การดำเนินชีวิตของผู้คนอย่างรวดเร็วและง่ายดาย ทำให้คนยุคปัจจุบันเกิดความสับสน เหนื่อยล้า เครียด ส่งผลให้เกิดการพักจิตใจด้วยงานศิลปหัตถกรรม กระทั่งออกแสวงหาคุณค่า ความงดงาม และวิถีในแบบดั้งเดิมจากงานหัตถศิลป์นำมาเติมเต็มความรู้สึก โดยเฉพาะเมื่อผู้บริโภคยุคใหม่ต้องการมากกว่าการครอบครองวัตถุ แต่คือการได้ครอบครองและสัมผัสกับประสบการณ์เหนือจริงที่แตกต่างจากความคุ้นเคยในชีวิตประจำวัน”

ดังนั้น ผลงานหัตถศิลป์ยุคใหม่จึงต้องสวยและแตกต่าง องค์ประกอบผ่านการคิดมาอย่างใส่ใจ ผ่านกรรมวิธีที่ทั้งยากและใช้เวลามากมายในการสร้างสรรค์ ผนวกกับแนวคิดทางศิลปะสามารถสร้างสุนทรียภาพ ความงดงามในจิตใจ เกิดความอิ่มใจและเอิบอาบในวิถีแห่งภูมิปัญญาที่ถูกนำกลับมาเติมเต็มชีวิตของผู้คนในปัจจุบันได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image