เก็บตก 5 มิ.ย. ยกแรกสภาไทย จาก ‘โวหาร’ สู่ ‘หลักการ’

ปะทะสังสรรค์สนั่นสภาในวันประวัติศาสตร์การโหวตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 แห่งราชอาณาจักรไทย ก่อเกิดทั้งคำศัพท์ที่บัญญัติขึ้นใหม่ และวลีเก่าๆ ที่ถูกเอาขึ้นมาปัดฝุ่น ไหนจะการเมืองเรื่องตู้เสื้อผ้าที่แต่ละฝ่ายดูคล้ายจะมีนิยามความสุภาพไปคนละสไตล์ ยังไม่นับประเด็นถกเถียงเรื่อง “คน (ไม่) เท่ากัน” ที่ฟาดฟันเชิงวิชาการสะท้านที่ประชุมอันทรงเกียรติ สะท้อนภาพการปะ ฉะ ดะ ของ 2 ขั้วความคิดหลัก อย่างสายก้าวหน้าและอนุรักษนิยม ภาพจำของ ส.ส.รุ่นเก่าและเก๋าหลายรายที่เคยคุ้นตาในสภาแห่งนี้ถูกลบหายทั้งจากการสอบตกอย่างไม่คาดฝัน อีกทั้งเหตุผลต่างๆ ซึ่งนำไปสู่การก่อร่างสร้างบรรยากาศสภาใหม่ ที่มีนิวเจน นักวิชาการ ผู้หลากหลายทางเพศ และอื่นๆ อีกมากมายเป็นส่วนประกอบ

ในช่วงเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมงของวันที่ 5 มิถุนายน พุทธศักราช 2562 จึงเกิดเรื่องราวมากมายอันนำไปสู่ปรากฏการณ์ทั้งในและนอกสภา ลามมาสู่ประชาชนคนไทยที่ร่วมวิพากษ์อย่างถล่มทลาย

‘สายแฟ’ ที่แท้ทรู ปะทะ กูรู ‘ธรรมเนียมปฏิบัติ’

เริ่มที่เรื่องราวดูคล้ายจะเบาๆ อย่างแฟชั่นวันโหวตนายกฯ ของ ส.ส.สตรีหญิงแกร่งแห่งพรรคอนาคตใหม่ ช่อ พรรณิการ์ วานิช ซึ่งกลายเป็นประเด็นร้อนแรงจากการตั้งคำถามผ่านเฟซบุ๊กของ แพทย์หญิง คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภา ว่าการแต่งกายของ ส.ส.บางรายเหมาะสมหรือไม่ในช่วงเวลาแห่งการ “ไว้ทุกข์” ซึ่งควรสวมใส่สีดำทั้งชุด กระทั่งผู้ถูกพาดพิงออกมาแถลงยืนยันว่าตนเลือกสรรมาอย่างถูกกาลเทศะ เพราะเป็นเสื้อผ้าสีขาว-ดำ ไม่มีโทนอื่นปะปน

ฝั่งสื่อมวลชนก็ร่วมค้นคว้าว่าชุดดังกล่าวมาจากแบรนด์ดังสัญชาติไทยอย่าง “POEM” ซึ่งฮิตหนักมากในหมู่ดารา เซเลบริตี้ ด้วยคุณภาพการตัดเย็บชั้นดีและความเรียบหรูดูแพงมาก เช่นเดียวกับชาวโซเชียลที่ตั้งคำถามกลับอย่างถล่มทลายว่าคอสตูมของคุณหญิงที่แต่งดำทั้งสรรพางค์กายนั้น หากเทียบกับสูททะมัดทะแมงของช่อ พรรณิการ์ ชุดไหนสุภาพกว่า ยังเป็นเรื่องชวนสงสัย ไม่เพียงเท่านั้น แม้แต่นักวิชาการรัฐศาสตร์อย่าง รศ.ดร.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ ที่ชาวเน็ตเรียกติดปากว่า “พ่อจอห์น วิญญู” ก็ร่วมเมนต์อย่างเผ็ดร้อนว่า

Advertisement

“ช่อ ยันสวมชุดขาวดำถูกกาลเทศะ ย้อนดู ‘หมอพรทิพย์’ หัวม่วงเข้าประชุมสภา!”

กลายเป็นโพสต์เรียกเสียงฮา

หลังถูกวิพากษ์อย่างหนัก คุณหญิงก็ลบโพสต์ต้นเหตุออกไป ก่อนจะให้สัมภาษณ์สื่อสำนักหนึ่งว่า สีผมเป็นคนละเรื่องกับแนวทางไว้ทุกข์ พร้อมติติงด้วยความเชื่อส่วนตัวว่า มี “กระบวนการเอาคนเข้ามาถล่มในโซเชียล” ซึ่งบ่มเพาะความก้าวร้าว และคนเหล่านั้นคือ “คนไม่กล้า” สุดท้ายโดนนักร้องดังรุ่นลูก โดม เดอะสตาร์ ค้นฟ้าปาดาวกลับไปหลายดวง ด้วยการ “เมนต์” ว่า ตัวเองเริ่มวิจารณ์คนอื่นใน “โซเชียล” ก่อน พอโดนวิจารณ์บ้าง กลับมองว่าคนเหล่านั้นเป็นคนไม่กล้า อย่างนี้เรียกว่า “ด่าตัวเองเฉย” !

Advertisement

ประเด็นนี้ มองเผินๆ เหมือนเรื่องไม่มีสาระ ทว่า สะท้อนมุมมองที่แตกต่างในด้านธรรมเนียมปฏิบัติที่ฝ่ายหนึ่งเน้นย้ำ “ตามตัวอักษร” ดังที่ปรากฏในเอกสารซึ่ง ปารีณา ไกรคุปต์ คู่ปรับเก่าจากคดี #อีช่อ แชะภาพโชว์โซเชียลถึง ระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 1 ครั้งที่ 3 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง ซึ่งระบุให้ “สุภาพสตรีแต่งชุดสีดำ” นัยว่า ไม่ใช่ขาวปนดำ หรือดำปนขาวนั่นเอง

ประเด็นนี้ เมื่อถามไปยังสไตลิสต์มืออาชีพอย่าง โอ๊ต ณัฐพงษ์ อุดมกัน บุคลากรในวงการออกแบบ

โอ๊ต อธิบายว่า สูท คือชุดสุภาพ มีความเป็นสากลด้วยตัวเองอยู่แล้ว เพียงแต่สูทของ ช่อ มีการไล่โทนสี จึงอาจถูกคอมเมนต์ว่าไม่สุภาพ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่าควรพิจารณา Total look หรือภาพรวมซึ่งดูแล้วมีความ “เป็นทางการ” ในขณะที่ชุดของคุณหมอให้ลุค Street Style ดูแล้ว “ไม่เป็นทางการ” โดยเฉพาะรองเท้าประดับหมุดของ Dr.Martens ซึ่งมีความเป็น “พังก์” ดังนั้น ในการแต่งกายตามโอกาสต่างๆ อย่างเหมาะสม จึงไม่ใช่เฉพาะเรื่องของ “สี” แต่ต้องรวมถึง “รูปแบบ” ด้วย ไม่เช่นนั้นในกรณีนี้ หากยึดเฉพาะสีดำอย่างเดียว ก็ชวนให้ตั้งคำถามว่า สามารถสวมใส่ชุด “ซีทรู” สีดำได้ใช่หรือไม่ ?

ด้าน โบว์ ณัฏฐา มหัทธนา มองปรากฏการณ์ที่สังคมจดจ้องภาพลักษณ์ของนักการเมืองหญิงว่าเป็น Human Interest หรือความสนใจของมนุษย์ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่ควรต่อยอดไปถึงประเด็นอื่นๆ ด้วย เช่น บทบาทสตรีในสภา รวมถึงบทบาทและการขับเคลื่อนทางการเมือง

“มาดามเดียร์ใช้ลิปสติกสีอะไร ช่อแต่งชุดยี่ห้อไหน คุณปารีณากับคุณตั๊นใครสวยกว่า สิ่งเหล่านี้คือความสนใจของมนุษย์ในขั้นพื้นฐาน เช่น ของกิน เพศ เด็ก สัตว์ และเรื่องผิดปกติ สำหรับเรื่องของผู้หญิงก็ผูกกับเรื่องเพศ ความสวยงาม ซึ่งไม่ผิด แต่สิ่งที่จะพาให้เลยไปจากนั้นคือการสื่อสารที่ต่อยอด เช่น ผู้หญิงในสภามีสิทธิโหวตเมื่อไหร่ ความเท่าเทียมทางเพศเป็นอย่างไร เขาพูดอะไร มีบทบาทในพรรคอย่างไร ส.ส.หญิงขับเคลื่อนประเด็นเกี่ยวกับผู้หญิงเป็นพิเศษหรือไม่ นี่คือสิ่งที่ควรคิดต่อ”

ศัพท์ใหม่ของ ‘ดาวสภา’ วิวาทะ ‘เผด็จการประชาธิปไตย’

เสรี สุวรรณภานนท์

จากเรื่องเสื้อผ้าขยับมาปม “ดีเบต” ซึ่ง เจ๊หน่อย สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ มอบสายสะพาย “ดาวสภา” ประจำซีซั่นนี้ให้แก่ จิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย ผู้ถอนคำพูด “นิยมเผด็จการ” เป็น “ชื่นชอบผู้มีบุญคุณ” ระหว่างการกล่าวหนุน “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯ ของ เสรี สุวรรณภานนท์’ หนึ่งใน 250 ส.ว. กระทั่งอีกฝ่ายเอื้อนเอ่ยวาทะ “ผมนิยมเผด็จการประชาธิปไตย แต่ไม่ได้นิยมประชาธิปไตยจอมปลอม” ทำเอาวงการรัฐศาสตร์หันรีหันขวาง จากคำว่า “เผด็จการประชาธิปไตย”

ไม่ต้องทิ้งช่วงให้รอนาน ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทวีตข้อความมีเนื้อหาโดยสรุปว่า สอนหนังสือ 10 กว่าปี เพิ่งเคยได้ยิน “เผด็จการประชาธิปไตย” คิดหนัก จะแปลเป็นภาษาอังกฤษอย่างไรให้โลกเก็ต?

ดังนี้

“ตั้งแต่สอนหนังสือด้านรัฐศาสตร์มาสิบกว่าปี เพิ่งเคยได้ยินคำว่า เผด็จการประชาธิปไตย เป็นครั้งแรก จะแปลภาษาอังกฤษอย่างไรให้คนทั่วโลกเข้าใจ dictatorial democracy หรือ Democratic dictatorship ต้องถือว่าเป็นวาทกรรมแปลกใหม่ที่พิสดารโดยแท้”

อย่างไรก็ตาม คำดังกล่าวเคยถูกใช้มาก่อนแล้ว โดย ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิตผู้ล่วงลับเคยกล่าวถึงในข้อเขียนและบทความ โดยระบุว่า คำดังกล่าวเป็นศัพท์ที่ขัดแย้งกันในตัว เพราะประชาธิปไตยเป็นระบบการเมืองการปกครองที่อยู่ตรงข้ามกับเผด็จการ และเมื่อมีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยแล้วระบบเผด็จการย่อมต้องหายไป

ศ.ดร.ลิขิตตั้งข้อสังเกตถึงคำที่มีความหมายใกล้เคียงกัน แต่คุ้นหูกว่าคือคำว่า “เผด็จการรัฐสภา” ซึ่งหมายถึง กระบวนการที่พรรคการเมืองบางพรรคมีเสียงในสภามาก การผ่านกฎหมายโดยสภาหรือการลงคะแนนเสียงในสภาใช้ความได้เปรียบของเสียงข้างมากโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง สำหรับคำว่า “เผด็จการประชาธิปไตย” เป็นคำที่มีความหมาย “กว้างกว่า” โดยไม่ได้จำกัดเฉพาะกระบวนการที่เกิดขึ้นในรัฐสภานั่นเอง

สอดคล้องกับ ผศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ รั้วแม่โดม ที่บอกว่าคำศัพท์ “เผด็จการประชาธิปไตย” มีจริง แถมเคยมีการอภิปรายกันในวงวิชาการรัฐศาสตร์ระดับโลก โดยระบุว่า หากมองว่า “Democratic Authoritarianism” แปลว่า เผด็จการประชาธิปไตย ก็ถือว่าคำกล่าวของ ส.ว.เสรีก็ไม่ได้เพี้ยนผิดแผกแต่อย่างใด โดยมีงานวิชาการไม่น้อยที่ใช้ศัพท์เหล่านี้ เช่น บทความของ Brancati (2014) เรื่อง Democratic Authoritarianism: Origins and Effects ตีพิมพ์ใน Annual Review of Political Science ดังนั้น ถ้าพิจารณาแบบเป็นกลางตามหลักวิชาการจริงๆ ตนขอสรุปว่า เผด็จการประชาธิปไตย หรือประชาธิปไตยจอมปลอม หรืออะไรที่คล้ายๆ กันนี้ ถือเป็นศัพท์ที่มีอยู่จริงในแวดวงรัฐศาสตร์และมีให้เห็นอยู่จริงในประเทศต่างๆ รอบโลก

“ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปัจจุบัน รัฐที่มีระบอบการเมืองแบบเผด็จการผสมประชาธิปไตยก็มีไม่น้อย เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ กัมพูชา และพม่า ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประชาธิปไตยกับเผด็จการไม่ได้แยกขั้วกันเสมอไป หากแต่สามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้ ส่วนรัฐไทยก็กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากระบอบอำนาจนิยมเข้าสู่ระบอบที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ซึ่งจะเรียกว่าเป็นอำนาจนิยมอมประชาธิปไตย เผด็จการประชาธิปไตย เผด็จการจำแลงในคราบประชาธิปไตย (Democratically Disguised Dictatorship/Authoritarianism) หรือจะเรียกว่าอะไรก็ตามแต่ หากแต่สิ่งเหล่านี้ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงธรรมชาติระบอบการเมืองลูกผสมซึ่งมีปรากฏอยู่จริงในภูมิภาคอาเซียนหรือในภูมิภาคอื่นๆ รอบโลก”

ในขณะที่ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการและพิธีกรชื่อดัง ยืนยันต่อหน้า เสรี เมื่อถูกเชิญไปออกรายการโทรทัศน์ “ถามตรงๆ” พร้อมกันว่า “เผด็จการประชาธิปไตย” ไม่ว่าอย่างไรก็ “ไม่มีจริง”

“เผด็จการก็คือเผด็จการ ไม่มีเผด็จการประชาธิปไตยในโลกนี้ เผด็จการคือคนคนเดียวตั้งตัวเองเป็นใหญ่ แล้วบอกว่าคนในประเทศต้องเดินไปทางไหน เราไม่มีโอกาสในการเลือกผู้นำมากี่ปีแล้ว แค่จะเลือกตั้งเราไม่มีโอกาสมากี่ปีแล้ว แค่จะมีสภาซึ่งเขียนกฎหมายที่เราเป็นคนเลือกเอง เราไม่มีมากี่ปีแล้ว จะบอกว่าอย่างนี้เป็นเผด็จการ ประชาธิปไตย ผมว่าไม่ใช่”

ต่อมา นรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงประเด็นดังกล่าว สอดคล้องกับความเห็นของ ศิโรตม์ ว่าเผด็จการกับประชาธิปไตยอยู่คนละด้านกันอย่างสิ้นเชิง ทั้งโลกไม่ปรากฏคำว่า “เผด็จการประชาธิปไตย” ตามที่ ส.ว. เสรี ซึ่งเป็นนักกฎหมายกล่าวในสภา

“ผมในฐานะนักกฎหมายร่วมวิชาชีพเดียวกันขอชี้แจงว่า ในสังคมทั้งโลกยังไม่มีปรากฏคำว่า ‘เผด็จการประชาธิปไตย’ ขึ้นมาแต่อย่างใด เพราะระบอบเผด็จการและระบอบประชาธิปไตยอยู่คนละด้านกันอย่างสิ้นเชิง ไม่สามารถจะนำมาผสมรวมกันได้……. แต่ผู้นิยมเผด็จการ คือ ผู้ชื่นชอบการสรรหาและแต่งตั้งให้ตัวเองเข้าสู่อำนาจรัฐโดยไม่ผ่านอำนาจหรือฉันทานุมัติจากประชาชน เกรงกลัวต่อระบบการเลือกตั้งจากประชาชน เนื่องจากไม่ประสบความสำเร็จและพ่ายแพ้ ถ้าหากยังอยู่ในระบอบประชาธิปไตย ด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริงดังกล่าว อาจทำให้ท่าน ส.ว.ท่านนี้ นิยมชื่นชอบเผด็จการประชาธิปไตย”

คน ‘(ไม่) เท่ากัน’ การเมือง (ไม่) สร้างสรรค์ หรือความจริงที่ต้องรับให้ได้?

อีกหนึ่งคู่ชกทางความคิดที่ฮอตฮิตในห้วงเวลานี้ ผายมือไปที่มุม 3 สี ของ กษิดิ์เดช ชุติมันต์ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และมุมส้ม ของ รศ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ต่างฝ่ายใส่นวมออกมาไฝว้บนเวทีสภา เริ่มต้นจากฝั่ง พปชร.ที่จู่ๆ ก็พาดพิงถึง ปิยบุตร และพรรคต้นสังกัดซึ่งเรียกร้องความเท่าเทียมกันของมนุษย์ ทั้งที่โลกนี้ไม่มีอะไรเท่ากันตั้งแต่เกิด แค่หน้าตาก็ไม่เหมือนกัน การศึกษาก็ไม่เท่ากัน แต่วันนี้อยู่ในระบอบประชาธิปไตย

รศ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล

ตัดภาพมาที่ ศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภายกมือซ้ายกุมขมับ พร้อมหัวเราะเบาๆ ก่อนอนุญาตให้ผู้ถูกพาดพิงโต้ประเด็นดังกล่าว

“ถ้าท่านไม่เอ่ยชื่อผมก็จะจบลงกันด้วยดีแล้ว แต่เมื่อเอ่ยมาขออนุญาตบอกว่า ท่านสงสัยอะไร คุยได้ แต่ใช้ลักษณะการอภิปรายทั้งที่ผมไม่ได้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ผมไม่เคยอภิปราย ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ สักคน ไม่ได้พูดถึง ส.ว.คนใดคนหนึ่งสักคน ผมพูดถึง พล.อ.ประยุทธ์เพียงคนเดียวในฐานะแคนดิเดตนายกฯ ซึ่งเราเห็นว่าขาดคุณสมบัติ มีลักษณะต้องห้าม นี่หรือครับการเมืองแบบใหม่ที่จะทำกัน แวะเวียนมาฉวัดเฉวียนกันทั้งที่ไม่อยู่ในประเด็น อยากให้การเมืองสร้างสรรค์ การอภิปรายแล้วชกใต้เข็มขัดแบบนี้ไม่เป็นที่นิยม ท่านยืนยันตัวท่านเองว่าไม่สนับสนุนความเสมอภาค ท่านเชื่อว่าคนไม่เท่ากันก็เป็นสิทธิของท่าน แต่พวกเรา พรรคอนาคตใหม่และพรรคร่วมทั้ง 7 พรรค 246 เสียงนี้ เราเชื่อมั่นว่าคนไทยเท่าเทียมกันครับ เราทุกคนมีศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ มีความเสมอภาค” รศ.ดร.ปิยบุตรกล่าว

เหตุการณ์นี้ ไม่ใช่เพียงการโต้เถียงธรรมดาสามัญในความเห็นที่แตกต่าง หากแต่เป็นภาพแทนที่สะท้อนให้เห็นอย่างเด่นชัดถึงขั้วความคิดด้านความยุติธรรมทางสังคม ความเหลื่อมล้ำ และสมรรถภาพของมนุษย์ซึ่งเป็นประเด็นที่ไม่อาจมองข้าม

การเมืองเรื่องโวหาร สู่วาทะเชิง ‘หลักการ’

จากบรรยากาศการประชุมสภาและโหวตนายกฯ รวมแล้วไม่กี่ครั้งที่ผ่านมา มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่ามีความแตกต่างจากสภาในอดีตอย่างมีนัยสำคัญ สิ่งที่น่าจับตาคือสภาล่าสุด มีนักการเมืองรุ่นใหม่เข้าไปเปลี่ยนน้ำเป็นจำนวนมาก ในขณะที่นักการเมืองเจนเวทีหลายรายพลาดเก้าอี้ที่เคยเป็นเจ้าของไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม

ประเด็นนี้ต้องย้อนกลับมาต่อสายไปคุยกับ ‘ดาวสภา’ ด้วยการมอบสายสะพายโดยหญิงหน่อย สุดารัตน์ และชาวโซเชียล

จิรายุ ห่วงทรัพย์

จิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย ซึ่งเคยนั่งเก้าอี้ในสภาหลายต่อหลายสมัยว่ามองเห็นการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวหรือไม่และอย่างไร?

ก่อนอื่น จิรายุถ่อมตัวบอกว่า ถ้าเปรียบเป็นมวยก็เพิ่งเริ่มชกยกแรก ไม่อยากบอกว่าตนใช่หรือไม่ใช่ดาวสภา แต่คาใจว่าในการการอภิปรายคุณสมบัตินายกฯครั้งนี้ ประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยไม่มีใครลุกขึ้นอภิปรายแม้แต่วินาทีเดียว ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าผลประโยชน์ของพรรคการเมืองค้ำคออยู่หรือไม่ ส่วนบรรยากาศในสภา ซึ่งตนเป็นฝ่ายค้านตั้งแต่ปี 2550 เป็นรัฐบาลปีི และ 57 รวมถึงล่าสุด มีบทบาทในสภาปีེ มองว่าประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นอาจเป็นเหตุจากเทคโนโลยีสมัยใหม่

“ทุกวันนี้มีไอจี ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก เลยกลายเป็นประเด็นที่คนสนใจ อาจเป็นสีสัน ถ้าไม่เครียด ไม่หงุดหงิดก็ไม่เป็นไร เช่น เรื่องเสื้อผ้าหน้าผม และการโต้วาทีระหว่างบุคคลไปมา ก็เป็นเรื่องปกติ แต่โดยสรุปการอภิปรายทั้งหมดทุกท่านได้ไล่เรียงมาหลายประเด็น สำหรับน้องใหม่ของสภาอย่างอนาคตใหม่ เขาพูดเก่ง พูดได้ แต่นี่เพิ่งเป็นยกที่ 1 อาจเป็นเวทีมวยที่ต้องรอดูเชิงก่อน อาจจะตีกรรเชียงวนไปเรื่อยๆ ก่อน พอยก 4 ยก 5 หมัดอาจหนักกว่าผมแล้วมีหมัดน็อกได้มากกว่าก็ได้” ดาวสภา 5 มิถุนาฯ 62 กล่าว

ด้าน ผศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา วิเคราะห์ลึกถึงภาพรวมของสภาว่า แนวโน้มของการเมืองแนว “เล่นโวหาร” กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปสู่การเมืองที่มีการสื่อสารเชิง “หลักการ” อันสืบเนื่องจากความเปลี่ยนแปลงในระบบโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองไทยซึ่งเปลี่ยนทุก 50 ปี หากพิจารณาการสื่อสารของพรรคอนาคตใหม่ จะเห็นได้อย่างชัดเจน

“สังคมไทยไม่เคยเจอคนหนุ่มสาวแบบรุ่น 14 ตุลาฯ 2516 และอนาคตใหม่เป็นตัวแทนของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เป็นดอกผลของการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทย เราจะพบว่า ธนาธรก็ดี ปิยบุตรก็ดี ช่อก็ดี คนเหล่านี้สื่อสารบนหลักการ บนเหตุผล มากกว่ารายละเอียดยิบย่อยที่ไม่ค่อยสอดคล้องวิถีทางประชาธิปไตย ดูการเปลี่ยนแปลงของโลกแล้วมาดูในประเทศไทย อยู่บนการเทียบเคียงของการเปลี่ยนแปลงโลก ซึ่งแตกต่างจากนักการเมืองก่อนหน้านี้ ซึ่งมักเป็นนักการเมืองแบบเล่นโวหาร นี่คือสิ่งที่น่าสนใจ ว่าแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นคือ การเมืองเชิงโวหารที่ไม่มีสาระ โจ๊กที่ตลกขบขัน เอาชนะคะคานในวาทศิลป์ จะเปลี่ยนไปสู่การเมืองเชิงหลักการ จะมีเอกลักษณ์เฉพาะ มีท่วงทำนอง มีการสื่อสารเฉพาะซึ่งจะทำให้การเมืองกลับมาสู่ความเป็นสากล การเมืองไทยจะน่าสนใจมากขึ้น ส่วนประเด็นวิจารณ์เสื้อผ้าหน้าผมของช่อ คือสิ่งที่เป็นผลพวงของนักการเมืองเก่า วิถีการเมืองเก่าที่อยู่กับอคติ ไม่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงโลก นับตั้งแต่การที่พี่น้องม้ง แต่งชุดชาติพันธุ์ของตัวเองเข้าสภาซึ่งจริงๆ แล้วเป็นวิถีสากล”

นักวิชาการท่านนี้ยังทิ้งท้ายว่า หากไปดูสถิติการเข้าชมในเว็บไซต์ของรัฐสภา ซึ่งแม้แต่รัฐสภาเองยังตกใจ นั่นคือมีคนเข้าไปดูเกือบ 30 ล้านคน เป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนความตื่นตัวทางการเมืองที่น่าสนใจยิ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image