ย้อนยุค 40 ปี ประชาธิปไตยครึ่งใบ ‘เขาดีไซน์มาเพื่อเรา’

เป็นที่ฮือฮาอย่างยิ่งเมื่อ ‘นิกเกอิ’ สื่อดังของญี่ปุ่นเผยแพร่บทความที่มีเนื้อหาระบุว่า การกลับสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือการนำพาประเทศไทยย้อนสู่ ‘ประชาธิปไตยครึ่งใบ’ ในทศวรรษที่ 1980 หรือราว 40 ปีก่อน ต่อมาสื่อดังกล่าวยังเปิดเผยอีกว่า นั่นคือข้อเขียนที่ฮอตสุดของสัปดาห์วัดจากจำนวนผู้อ่าน

ทำเอาประเด็นนี้กลับมาอยู่ในความสนใจของคนไทยอีกครั้งว่า บรรยากาศในห้วงเวลานั้นเป็นอย่างไร แล้วประเทศไทยนับแต่นี้จะเดินหน้าไปในทิศทางไหน หรือจะถอยกลับสวนทางเข็มนาฬิกา นั่งไทม์แมชชีนในลิ้นชักโต๊ะโนบิตะย้อนเวลาสู่อดีตกาลอันแสนสุข ตามนิยามความสงบที่คนบางกลุ่มถวิล ช่างเป็นเรื่องราวที่น่าติดตาม อีกทั้งชวนให้เทียบเคียงความเหมือนและต่างอย่างมีนัยยะสำคัญ และที่แน่ๆ ประโยคเด็ดอย่าง ‘รัฐธรรมนูญดีไซน์มาเพื่อพวกเรา’ ของ สมศักดิ์ เทพสุทิน แห่งพลังประชารัฐ พรรคการเมืองที่เสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังเป็นหนึ่งในวาทะที่ถูกไฮไลต์ไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

‘เขาดีไซน์มาเพื่อเรา’ กุนซือหน้าเก่าร่วมออกแบบ

ก่อนอื่นมาดูจุดเริ่มต้นของการก่อเกิดรัฐธรรมนูญที่หลายฝ่ายชี้ชัดว่าคือต้นแบบของรัฐธรรมนูญ 2560 รวมถึงเป็น ‘โมเดล’ ในการดำเนินงานหลายสิ่งอย่าง นั่นคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 ซึ่งเป็นผลพวงจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่มีการใช้กำลังปราบนักศึกษา นำมาสู่การยึดอำนาจของทหาร และประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2521 นับเป็น รธน.ฉบับที่ 13 ของประเทศ แล้วใช้อยู่นานกว่า 12 ปี จนถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534 เมื่อมีรัฐประหารในปีนั้น โดยมีนายกรัฐมนตรี 3 ท่านบริหารงานภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ได้แก่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์, พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ

รัฐธรรมนูญ 2521 นี้ ให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. แต่งตั้งเลือกนายกฯ รวมถึงกลไกหลายอย่างที่เปิดโอกาสให้คณะรัฐประหารสืบทอดอำนาจ แม้มีการเลือกตั้งเพื่อเปิดพื้นที่ให้นักการเมืองบ้าง แต่ก็ให้ ส.ว.มาจากการแต่งตั้ง และมีอำนาจมากกว่า ส.ส. จากการเลือกตั้ง

Advertisement

สำหรับคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวมี นายจิตติ ติงศภัทิย์ อดีตผู้พิพากษาและศาสตราจารย์สำคัญทางกฎหมายเป็นประธาน พร้อมด้วยกรรมาธิการสำคัญหลายคน เช่น บุคลจากหัวหน้าพรรคการเมืองที่อยู่ก่อนการปฏิรูป 6 คน ในจำนวนนี้มีอดีตนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช รวมอยู่ด้วย รวมถึงนักกฎหมายที่มีชื่อเสียงอย่าง นายกมล วรรณประภา อดีตอธิบดีกรมอัยการ นายอมร จันทรสมบูรณ์ และ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อีกทั้งปรมาจารย์ทางรัฐธรรมนูญอย่าง นายไพโรจน์ ชัยนาม นายกระมล ทองธรรมชาติ อดีตทูต นายกันธีร์ ศุภมงคล และ นางแร่ม พรหมโมบล
จะเห็นได้ว่า ในจำนวนนั้นมีท่านหนึ่งซึ่งมีบทบาทมาจนถึงการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั่นคือ นายมีชัย
ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 โดยเมื่อ 40 ปีก่อนตอนร่างรัฐธรรมนูญ 2521 ปู่
มีชัยอยู่ในวัยประมาณ 40 ปี รับหน้าที่เลขานุการคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ

แฟ้มภาพ

เมื่อมาพิจารณาประเด็นสำคัญนั่นคือ การสืบทอดอำนาจผ่าน ส.ว.แต่งตั้ง จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญ 2521 กำหนดให้ ส.ว.มาจากการแต่งตั้งของนายกรัฐมนตรี โดย ส.ว.มีจำนวนไม่เกิน 3 ใน 4 ของ ส.ส. ทำให้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีที่มาจากการรัฐประหารจึงเป็นผู้มีอำนาจเลือก ส.ว.ทั้งหมด สำหรับการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งแรกในช่วงเวลานั้น มีขึ้นเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2522 มีจำนวน ส.ส. 301 คน ทำให้ในวันเดียวกัน พล.อ.เกรียงศักดิ์ต้องแต่งตั้ง ส.ว. 225 คน บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งเป็น ส.ว. ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการประจำฝ่ายทหาร กล่าวคือ ข้าราชการประจำการ (ทหาร) 180 คน ข้าราชการบำนาญ 17 คน พนักงานรัฐวิสาหกิจ 2 คน ครู อาจารย์ 4 คน วิศวกร 1 คน นักธุรกิจ 12 คน นักการธนาคาร 4 คน นักกฎหมาย ทนายความ 4 คน นักเขียนอิสระ 1 คน รวม 225 คน

นอกจากนี้ยังแต่งตั้งสมาชิกสภานโยบายแห่งชาติ หากเปรียบกับปัจจุบันก็คือ คสช. ให้กลับมาเป็น ส.ว. ถึง 16 คน ส่วนอีก 7 คน ถูกแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี

Advertisement

ทั้งนี้ การที่รัฐธรรมนูญ 2521 ไม่ได้กำหนดให้นายกรัฐมนตรี ต้องเป็น ส.ส. เท่ากับเปิดช่องให้มีนายกฯคนนอกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งได้ นอกจากนี้ยังไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเลือกนายกฯอย่างไร แต่กำหนดให้ ‘ประธานวุฒิสภาเป็นประธานรัฐสภา’ ซึ่งประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการตั้ง
นายกฯ ด้วยเหตุนี้ ประธานวุฒิสภาจึงมีผลต่อการเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ หลังจาก พล.อ.เกรียงศักดิ์แต่งตั้ง ส.ว.ทั้งหมดแล้ว ที่ประชุม ส.ว.จึงเลือก พล.อ.อ.หะริน หงสกุล เป็นประธานวุฒิสภา ซึ่งก่อนเลือกตั้งก็ดำรงตำแหน่งเป็นประธาน สนช. ที่เป็นสภาแต่งตั้งจากคณะรัฐประหารมาก่อน

สำหรับคะแนนสุทธิของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ได้นั่งเก้าอี้นายกฯ ด้วยคะแนน 311 เสียง โดยเป็นเสียงจาก ส.ว. 200 เสียง และ ส.ส. 111 เสียง อย่างไรก็ตาม หลังอยู่ในตำแหน่งเพียงไม่ถึงปีเต็มก็ประกาศลาออก เนื่องด้วยกระแสความนิยมที่ไม่ดี แม้กระทั่ง ส.ว.ที่แต่งตั้งมาเองก็เริ่มไม่ให้การสนับสนุนอีกต่อไป โดยหันไปสนับสนุนให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีแทน และเมื่อถึงเวลานั้น ก็เป็นการเริ่มศักราชหน้าใหม่ของการเมืองไทยที่ถูกนำมาเปรียบเทียบกับห้วงเวลาปัจจุบันอย่างน่าจับตายิ่ง

ดักทาง ส.ส.คว่ำกฎหมาย ให้ ส.ว.ร่วมฟันธง

ก่อนไปสู่เรื่องราวของบรรยากาศการเมืองไทยยุค พล.อ.เปรม ยังมีประเด็นน่าสนใจที่เกี่ยวเนื่องกับอำนาจ ส.ส.และ ส.ว. กล่าวคือ รัฐธรรมนูญ 2521 ได้กำหนดในบทเฉพาะกาลในระยะ 4 ปีแรกของรัฐธรรมนูญว่า การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ให้เป็นการกระทำร่วมกันของทั้งสองสภา ซึ่งสถานการณ์ที่รัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ไม่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร การกำหนดให้การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ เป็นการประชุมของทั้ง ส.ส.และ ส.ว. จะช่วยป้องกันไม่ให้ ส.ส.ล้มร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯของรัฐบาล และให้รัฐบาลชุดสืบทอดอำนาจบริหารงานต่อไปได้

นอกจากนี้หากเป็น ร่าง พ.ร.บ.ที่รัฐบาลเห็นว่ามีความสำคัญเกี่ยวกับความมั่งคง ราชบัลลังก์ หรือเศรษฐกิจ และประธานรัฐสภาซึ่งเป็น ส.ว. เห็นด้วย ก็ให้เป็นการประชุมร่วมกันของสองสภาเช่นกัน อำนาจของ ส.ว.แต่งตั้งที่จะได้ร่วมพิจารณากฎหมายในปี 2521 คล้ายกับหลักการในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่บทเฉพาะกาลกำหนดให้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศต้องใช้มติของทั้งสองสภา และหากมีการเสนอกฎหมายใดที่ ส.ว.เห็นว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูป ส.ว.ก็มีสิทธิยื่นให้ประธานรัฐสภาพิจารณาเพื่อให้เป็นการประชุมร่วมได้เช่นกัน

ประชาธิปไตย ‘ครึ่งใบ’ เสียงประชาชนที่ถูกใช้ไม่เต็มเหนี่ยว

จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น สะท้อนได้อย่างชัดเจนว่า เสียงของประชาชนไม่ได้มีความหมายเท่าที่ควรเป็น และต้องเป็นในระบอบประชาธิปไตย ด้วยเหตุนี้จึงมีคำศัพท์ที่ว่า ‘ประชาธิปไตยครึ่งใบ’ เกิดขึ้น

“ประชาธิปไตยครึ่งใบ หมายความว่า เสียงของประชาชนอาจจะใช้ได้ไม่เต็มที่ เพราะมีเสียงอื่นที่เข้ามามีส่วนในการบริหารประเทศด้วย” ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบาย ก่อนให้ความเห็นในประเด็นที่ ‘นิกเกอิ’ มองว่าเมื่อ ‘บิ๊กตู่’ คืนสู่ตำแหน่งนายกฯย่อมพาประเทศไทยย้อนไปในอดีตราว 40 ปีก่อนว่า สื่อญี่ปุ่นน่าจะมองจากองค์ประกอบของการเป็นรัฐบาล รวมทั้งองค์ประกอบของสภาพแวดล้อม และตัวแสดงอื่นๆ ที่อยู่ในการเมืองขณะนี้ เพราะบ้านเรามี ส.ว.แต่งตั้งที่มีอำนาจและหน้าที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานของภาครัฐมากขึ้น ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับของเก่า

ส่วนผลที่ตามมาทั้งในยุค พล.อ.เปรมและรัฐบาลบิ๊กตู่นั้น อรรถสิทธิ์วิเคราะห์ว่า ในเชิงรัฐศาสตร์มองได้ว่าเป็นการพัฒนาโดยรัฐนำ เป็นการวางแผนจากรัฐโดยที่อาจจะไม่ได้ฟังเสียงของประชาชนมากนัก มีการใช้ยุทธศาสตร์ชาติเป็นตัวนำ การทำแผนงานก็ไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางหรือเป็นที่พึงพอใจนัก สมัย พล.อ.เปรมก็มีเรื่องของ ‘อีสเทิร์นซีบอร์ด’ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการพัฒนาประเทศเปิดกว้างกว่านั้น กล่าวคือ ไม่ใช่แค่รัฐหรือกลุ่มไม่กี่กลุ่มนำ แต่อาจมีภาคเอกชน ซึ่งก็ไม่ได้อยู่ในมือเอกชนไม่กี่กลุ่มเช่นกัน จึงเกิดคำถามว่า การบริหารประเทศโดยใช้รัฐนำในลักษณะมีแผนมาควบคุม ยังเหมาะกับประเทศไทยในปัจจุบันนี้หรือไม่

“ความจริงแล้วคนไทยก็อยากจะมีส่วนร่วมมากกว่านี้ หากประเทศย้อนกลับไปปี 1980 จริง แต่ผลของการพัฒนาและการบริหารประเทศเป็นไปในทางที่ดีขึ้น คนก็อาจจะไม่ได้รู้สึกว่าเราย้อนกลับไป ในที่สุดเราจะบอกว่า ถ้าเศรษฐกิจดี การพัฒนาประเทศไปได้ คนก็จะมีความพึงพอใจในระดับหนึ่ง แต่ถ้าย้อนกลับไปถึงในระดับที่สิทธิเสรีภาพทางการเมืองลดน้อยลงไปจากเดิม จากที่สิทธิเสรีภาพทางการเมืองขณะนี้ทำให้คนค่อนข้างชินว่าพื้นที่ตรงนี้ลดน้อยถอยลงไป ก็จะไม่เหมือนกับ 40 ปีที่แล้ว คือจะมีแรงสะท้อนจากสังคมและประชาชนมากขึ้น ดังนั้น การบริหารประเทศอาจไม่ได้เป็นแบบเดิม แต่จะต้องคำนึงถึงความต้องการของประชาชนมากขึ้น เพราะความต้องการของคนสะท้อนได้ชัดมากขึ้นในปัจจุบัน” อาจารย์รัฐศาสตร์รั้วแม่โดมกล่าว

บารมีต่าง เงื่อนไขเปลี่ยน การเมืองไทยในเงา ‘เปรม-บิ๊กตู่’

ถามว่าบรรยากาศยุคโน้น กับยุคนี้ เมื่อผ่านไปถึง 40 ปีในโลกที่เปลี่ยนทุกวินาที จะเปรียบเทียบเหมือน-ต่าง และหนทางกันอย่างไร?

ประเด็นนี้ต้องจ่อไมค์ไปยัง ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เน้นย้ำกับสังคมไทยตลอดมาว่านี่คือการ ‘รี-ครีเอท’ อย่างไรก็ตาม เจ้าตัวมองว่า ปัจจัยของปีนี้กับเมื่อ 40 ปีก่อนนั้นแตกต่างกัน

“ในสภาวะอย่างนั้น เป็นการประนีประนอมระหว่างภาคราชการ กองทัพ กับฝ่ายการเมือง คือเลือกตั้งครึ่งหนึ่ง แต่งตั้งครึ่งหนึ่ง พบกันครึ่งทาง แต่ให้สิทธิของวุฒิสภาเหนือกว่าสภาผู้แทนราษฎร แต่ปีนี้ผมเรียกมาตลอดว่าเป็นประชาธิปไตยสลึงเดียว ไม่ใช่ 50/50 แต่เป็น 1 ใน 4 เสียงของประชาชน มิอาจเป็นเสียงแห่งความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลได้

ในทางกลับกัน กลายเป็นพรรคเสียงข้างน้อยบวกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง สามารถจัดตั้งรัฐบาลโดยที่ไม่ผนวกรวมกับเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งโดยมารยาทควรเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแต่ก็ไม่ได้เป็นแกนนำ นี่คือสภาวะที่ต่างไปจาก 2521 รวมทั้งจังหวะของการลงตัวซึ่งยุคนั้นมีปัจจัยจากสงครามเย็น จากการเติบโตของพลังราชการ และพลังนอกราชการที่ยังไม่โตมาก แต่ ณ ปีนี้มีเงื่อนไขต่างกัน อย่างยุค พล.อ.เปรม การที่ พล.อ.เปรมไปดูโผทหารทุกครั้งก็เป็นการประกันความมั่นคงของรัฐบาลเปรมที่ยืนยาวได้ถึง 8 ปี” ผศ.ดร.บัณฑิตกล่าว

ส่วนประเด็นที่สังคมตั้งคำถามว่า แม้ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.เปรม ต่างก็เป็นทหาร แต่ใช่ว่า ‘บารมี’ ทางการเมืองของทั้ง 2 จะเท่ากัน อันอาจส่งผลต่อการอยู่สั้นหรืออยู่ยาวบนเก้าอี้นายกฯ นักรัฐศาสตร์ท่านนี้ให้คำตอบพร้อมเสียงหัวเราะในบางช่วงบางตอน

“ผมว่าต้องดูกันไป เพราะบารมีของ พล.อ.ประยุทธ์คงไม่เหมือน พล.อ.เปรม และไม่เท่า อาจไม่มีวันเท่าด้วย คำถามพื้นๆ คือ พล.อ.ประยุทธ์คุมโผทหารได้ไหม ถ้าคุมได้ก็โอเค เรียกโผทหารไปดูได้ไหม ไปขอคุยได้ไหม (หัวเราะ) ผมว่ามันจะไม่เหมาะเอา ยุคนี้คงไม่เหมือนในเงื่อนไขดังกล่าว”

จากยุค ‘สงครามเย็น’ ถึง ‘สงครามภายใน’
ความท้าทายที่ต้องจับตา

อีกหนึ่งประเด็นชวนขบคิดก็คือ ถึงแม้รัฐธรรมนูญ 2521 จะถูกใช้ยาวนานกว่า 12 ปี และ พล.อ.เปรมก็ ‘อยู่ยาว’ ถึง 8 ปี ทว่า รัฐธรรมนูญดังกล่าวมีการแก้ไขเรื่อยมา โดยเฉพาะก่อนเกิดรัฐประหารเมื่อ พ.ศ.2534 นอกจากนี้ยังมีความเปลี่ยนแปลงบางอย่างทางความคิดเกิดขึ้นในช่วงปลายรัฐบาล พล.อ.เปรม ภายใต้พลังของ ‘ภาคเอกชน’ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับห้วงเวลานี้ ผศ.ดร.บัณฑิตมองว่ามีสภาพการณ์ที่ต่างออกไป

“จริงๆ รัฐธรรมนูญฉบับนั้นมีการแก้ไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนการรัฐประหารปี 2534 มีการแก้ไขในส่วนที่ว่าด้วยประธานรัฐสภา หรือการยอมรับหลักการว่า ตัวแทนของประชาชนควรเหนือที่สุดในสถาบันทั้ง 3 คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ตุลาการ และบริหาร และมีช่วงหนึ่งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฉลองว่าเรามีตัวแทนของ 3 สถาบัน ผมเองก็อยู่ในช่วงนั้น โตมา และเห็นความภาคภูมิใจของการที่สถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งเชิดชูว่าเรามีตัวแทนของประมุขทั้ง 3 สถาบัน ทั้งนี้ เป็นการสะท้อนความศรัทธาที่มีต่อระบอบการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญ 2521 แต่เปลี่ยนในตอนท้าย คือไม่ได้อยู่นิ่งตายตัว อำนาจการต่อรองไม่ได้หยุดนิ่งตายตัว

ในช่วงปลายยุคเปรม เราจะเห็นการเติบโตในพลังของภาคเอกชนที่รู้สึกว่า การให้ทหารมานั่งกำกับนโยบาย เศรษฐกิจ การเมือง ไม่ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลง แรงผลักดันที่ทำให้ พล.อ.ชาติชายได้เป็นนายกฯก็ออกมาอย่างชัดเจน ในลักษณะฎีกา 99 คนที่ทำให้ พล.อ.เปรมประกาศว่าผมพอแล้ว ต่อมาได้รับการยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษ

แต่ในปีนี้เราไม่ได้มีเงื่อนไขแบบนั้น มันต่างกัน เพราะถ้าเราลองนึกถึงการเมืองช่วงสิบปีที่ผ่านมา โจทย์ใหญ่ไม่ใช่สงครามเย็นแล้ว แต่เป็นสงครามภายใน เป็นสงครามที่เราปะทะกันเอง แล้วกองทัพจับปืนเข้าจัดการความขัดแย้ง แล้วแทรกแซงทางการเมือง เราต้องเข้าใจโจทย์ตรงนี้ก่อน ดังนั้น รัฐธรรมนูญ 2560 จึงออกแบบมาเพื่อธำรงอำนาจบางอย่าง ถึงขั้นที่มีตำแหน่งถาวรของกองทัพในวุฒิสภา 6 ตำแหน่ง อย่างที่คนบอกว่าสรรหา 250 แต่ความจริงแล้วสรรหาเพียง 244 คน เพราะ 6 เก้าอี้นี้ลอยมา เป็นตำแหน่งที่รับเงินเดือน 2 ทาง เป็นตำแหน่งที่พิเศษที่สุด (หัวเราะ) ในโครงสร้างแบบนี้ผมถึงเรียกว่า ประชาธิปไตยสลึงเดียว

ภายใต้เงื่อนไขแบบนี้จึงไม่ใช่สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญ 2521 อีกทั้งยังเป็นความท้าทายที่คนในรัฐบาลเอง ซึ่งตอนนี้ยังไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้เลย ด้วยเหตุที่เขาไม่มีกองทัพหนุนหลังขนาดนั้น และกองทัพเองก็ต้องลังเลใจเพราะเงื่อนไขต่างกัน

จะว่าไป รัฐธรรมนูญฉบับนี้หนักกว่าฉบับนั้น เนื่องจากสมัยนั้น ด้านหนึ่งต้องยอมรับว่ามีปัจจัยที่ทำให้คนจำนวนมากรู้สึกว่าสภาพการเมืองแบบนั้นเป็นสภาพที่พอรับได้ เพราะสมัยนั้นมีสงครามเย็น มีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย มีสงครามกลางเมือง พูดง่ายๆ ว่าหลังปี 2519 มีสภาวะซึ่งเป็นเงื่อนไขพิเศษ ทำให้คนคิดว่าการมีนายกฯที่กองทัพยอมรับ สนับสนุน จะดีกว่านายกฯจากรัฐบาลพลเรือน

เมื่อข้ามมาปี 2530-2531 ที่ พล.อ.ชาติชายได้เสียงข้างมาก ภาวการณ์สงครามเย็นก็เปลี่ยนแปลงไป ผ่อนคลายลง เพื่อนบ้านคืนดีกัน ปรองดองกันได้ เมื่อ พล.อ.ชาติชายเป็นนายกฯปุ๊บ นโยบายแรกๆ ที่เขาประกาศคือ เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า นี่คือเงื่อนไขต่างกัน ตอนนั้นกองทัพมีบทบาท มีความจำเป็น มีเสียงใหญ่ในการกำหนดความเป็นไปของบ้านเมือง แต่ยุคนี้เราไม่มีสงคราม ไม่มีแรงกดดันกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่มีแรงกดดันภายใน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้มีความชอบธรรมเมื่อเทียบกับยุคของ พล.อ.เปรม” รองคณบดีรัฐศาสตร์ฟากสามย่านวิเคราะห์

แสงสว่างสู่หนทาง ‘เลิกย้อนยุค’

แม้โลกจะหมุนไปข้างหน้า แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ยังมีคนที่สนับสนุนทหารให้ยังอยู่บนเวทีการเมือง

“คนรุ่นผมจำนวนไม่น้อยมีอคติต่อการเปลี่ยนแปลง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเติบโตมาในวันชื่นคืนสุข และไม่อยากเปลี่ยนแปลงอะไร หลายคนจึงมีแนวโน้มสนับสนุนรัฐบาลทหาร แล้วพานมองคนรุ่นใหม่ที่อยากเปลี่ยนแปลงว่าไม่เข้าใจสังคม วัฒนธรรม การเมือง ทำให้เกิดสงครามของสื่อ สงครามของความเกลียดชัง

คำถามคือ เมื่อไหร่เราจะยุติเกมที่สร้างความเกลียดชังนี้ได้ ผมว่าไม่ง่ายทีเดียว เป็นความท้าทายของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าไม่สามารถแก้ไขได้ ที่ดีที่สุดคือ แก้ไขการดำเนินการของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้มีสภามาจากการเลือกตั้ง ซึ่งก็จะกลับไปในเงื่อนไขที่ครั้งหนึ่งเคยเกิดมาแล้วในช่วงปลายทศวรรษ 2530 หรือในยุคของนายบรรหาร ศิลปอาชา ซึ่งนั่นหมายความว่าต้องใช้กำลังอีกไม่น้อย ต้องใช้พลังความกล้าหาญ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ยากมาก” ผศ.ดร.บัณฑิตกล่าว ก่อนทิ้งท้ายว่า

หลายคนบอกว่าเหลือทางน้อยมาก อาจเกิดการรัฐประหารซ้ำ เพื่อแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งส่วนตัวไม่เห็นด้วย แต่ยากที่จะเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้ เพื่อให้เข้าสู่คุณภาพใหม่


ข้อมูลส่วนหนึ่งจาก

– บทความ ‘21 ธันวาคม 2521’ โดย ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
– วิทยานิพนธ์ ‘การร่างรัฐธรรมนูญ 2521 กับการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทย’ โดยอาทร คุระวรรณ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
– โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image