จากพาเหรดถึง ‘พานไหว้ครู’ การเมืองเรื่องของใคร เด็กคิดไม่ได้ หรือผู้ใหญ่ไม่พร้อมรับมือ ?

“เด็กจะมาคิดได้ไง”

1 ประโยค 6 พยางค์ของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ

เป็นคำตอบของคำถามต่อประเด็น “พานไหว้ครู” ที่พุ่งปรี๊ดขึ้นสู่วาระแห่งชาติอย่างไม่เกินความคาดหมาย โดย ลุงป้อม เชื่อว่างานนี้เด็กคิดเองไม่ได้ ต้องมีใครหนอใครแอบซ่อนอยู่หลังพานที่จัดเต็มประเด็นการเมืองเรื่องตั้งรัฐบาล สะท้อนผ่านรูปชูสามนิ้ว ปืนใหญ่ รถถัง ตาชั่งเอียงๆ โลโก้พรรคดัง อีกทั้งใบหน้า “ลุงตู่” คู่ “ธนาธร” ว่อนโซเชียลมีเดีย ก่อนที่ภาพถ่ายจากโรงเรียน ชุมพลโพนพิสัย แห่งเมืองหนองคายจะหายเกลี้ยง โดยมีข่าวแว่วว่ามีทหารแวะเยี่ยม ทำผู้บริหารเกิดอาการนอยด์จึงสั่งลบเพื่อความปลอดภัยในชีวิต ร้อนถึงกองทัพบกต้องออกมาแถลงว่าไม่ได้สั่งใครไปเคาะประตูโรงเรียน สุดท้ายตำรวจในท้องที่รับว่าเข้าไป “ตรวจดูความเรียบร้อย” เท่านั้น

เหตุการณ์ดังกล่าวทำเอาสังคมไทยร่วมวิพากษ์อย่างหนักทุกฝักฝ่าย เพราะหลอมรวมประเด็นร้อนแรงและอ่อนไหวเข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว ไม่ว่าจะการเมืองเรื่องตั้งรัฐบาลที่ยังมีเครื่องหมายคำถามตัวโตๆ ไหนจะมุมมองทางวัฒนธรรมที่บางส่วนติงว่าประเพณีอันดีงามของประเพณีไหว้บูรพคณาจารย์เยี่ยงนี้ ควรหรือไม่ที่จะสอดใส่ประเด็นการเมืองลงมาบนพานอันมีเกียรติ รวมถึงประเด็นความเป็น “เด็ก” ที่ ผอ.โรงเรียนออกมาบอกว่า ยังไม่ควรยุ่งเกี่ยวการเมือง ก่อนที่ หมอวรงค์ เดชกิจวิกรม แห่งพรรคประชาธิปัตย์ จะออกอาการฟิวส์ขาดว่างานนี้สังคมต้องช่วยกันเฝ้าระวังการถูก “ล้างสมอง” ซ้ำกล่าวพาดพิงพรรค อนาคตใหม่ ว่ามีเอี่ยว

Advertisement

ล่าสุด ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ปฏิเสธบนเวทีเสวนา งานครบรอบ 70 ปี คณะรัฐศาสตร์ รั้วแม่โดม ยืนยันไม่เกี่ยวข้องคดีพานไหว้ครู พร้อมประกาศก้องจะนำไป “ตั้งกระทู้” ในสภาปมละเมิดสิทธินักเรียนที่พากเพียรครีเอตพาน

ไม่ใช่เพียงการโต้กันไป ฟาดกันมา สร้างวิวาทะอย่างไร้แก่นสาร หากแต่ชวนให้ตั้งคำถามว่า นี่คือความหวาดหวั่นของคนบางกลุ่มต่อความเปลี่ยนแปลงหรือไม่? ในขณะที่อีกด้านก็ชี้ถึงความตื่นตัวของเยาวชนไทยในความเป็นไปของสังคม ที่การล้อเลียนเสียดสีการเมืองไทยไม่ได้อยู่แค่ในพาเหรดบอลประเพณีของนิสิตนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยอีกต่อไป หากแต่เขยิบไปสู่นักเรียนมัธยมที่เริ่มกระชับพื้นที่ มีส่วนร่วมในการแสดงออกอย่างเด่นชัด
นอกจากนี้ ยังน่าสังเกตว่า หากมองย้อนไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็มีพานจิ้มจุ่ม ชาบู แพนด้า ก็อตซิลลา ปิกาจู โดเรม่อน ทีมฟุตบอลนานาชาติ ก็ไม่เคยถูกแปะป้ายทำลายจารีตพานไหว้ครูจนเป็นปมร้อน กระทั่งเมื่อการเมืองเขยิบขึ้นสู่พาน วาทกรรมล้มล้างวัฒนธรรมก็พลันเกิดในบัดดล

Advertisement

และไม่ว่าจะขัดหู ขัดตา หรือว่าถูกใจ ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่านี่คือปรากฏการณ์ที่น่าติดตามอย่างยิ่ง

 

การเมืองเรื่องของใคร วัฒนธรรมไทยที่มิอาจแตะต้อง?

“สังคมมันเปลี่ยนแล้ว จะไปปิดกั้นไม่ให้เด็กรับรู้ มันเป็นไปไม่ได้”

คือความเห็นของ ร.ศ.มนตรี แย้มกสิกร อดีตผู้อำนวยการสถาบันคุรุพัฒนา สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ต่อคำกล่าวที่ว่า “การเมืองไม่ใช่เรื่องของเด็ก” ทั้งยังอธิบายเพิ่มเติมว่า ตอนนี้เราอยู่ในสังคมที่มากมายด้วยข่าวสาร สื่อทะลุทะลวงถึงทุกกลุ่ม มี “บิ๊กดาต้า” ข้อมูลมหาศาลมีให้ค้นคว้าผ่านโลกออนไลน์ เด็กมีสิทธิในการคิด วิเคราะห์และแสดงออก แต่ควรเป็นไปอย่างมีเหตุมีผล ซึ่งเป็นหน้าที่ของระบบการศึกษา โรงเรียน ครู และผู้ปกครอง ที่ต้องให้วิธีคิด มุมมอง และส่งเสริมการเรียนรู้อย่างถูกต้อง หากเด็กทำในสิ่งที่ครูคิดว่าไม่สมควร ต้องคุยกัน แล้วปล่อยให้คิดเอง

“สิ่งสำคัญที่สุด คือต้องคิดว่าเราจะให้การศึกษากับเด็กอย่างไรให้รู้จักคิด วิเคราะห์และเรียนรู้ เพราะเราปฏิเสธยุคสมัยไม่ได้ จะปิดกั้นไม่ให้เด็กแสดงออกไม่ได้ สิ่งที่เด็กแสดงออกขึ้นอยู่กับพื้นที่ฐานที่เขาได้รับข้อมูลอะไรมา ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้น ควรคุยกับเด็กด้วยและเหตุผล แต่อย่าไปบังคับให้ลบรูป ต้องให้เด็กคิดเอง หลายเรื่องที่โพสต์ อาจไม่นึกว่าจะไปแรงและเร็วมาก ถึงลบวันนี้ก็ไม่ทันแล้ว”

ส่วนกรณีที่บิ๊กป้อมมองว่าเรื่องนี้มีเงื่อนงำ เพราะเด็กคิดเองไม่ได้ ร.ศ.มนตรี บอกว่า ยังเชื่อในความบริสุทธิ์ของเด็ก ส่วนประเด็นที่ว่า การทำพานไหว้ครูแบบที่ไม่ใช่แค่ดอกบานไม่รู้โรย ดอกมะเขือ ดอกเข็ม แซมหญ้าแพรก เป็นการผิดธรรมเนียมประเพณีถึงขั้นทำลายวัฒนธรรมตามที่นักการเมืองบางรายชี้เป้าหรือไม่นั้น มองว่า ต้องแยกประเด็นระหว่างความคิดสร้างสรรค์กับกาลเทศะ

“ไม่ได้ห้ามเรื่องความคิดในด้านการเมืองและการสร้างสรรค์ แต่การทำพานไหว้ครูเป็นเรื่องการเมืองมองว่าไม่เหมาะสม เพราะนี่เป็นวาระและโอกาสการแสดงออกในการเคารพครูบาอาจารย์ ต้องสะท้อนถึงผู้มีพระคุณ”

สะเทือนด้วย ‘ความกลัว’? ต้องเตรียมตัวรับมือ

อีกหนึ่งข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือการที่เด็กไทยในยุคนี้มีความสนใจในการเมืองทะลุเพดานจากชั้นอุดมศึกษา เข้าสู่รุ่นกระโปรงบาน ขาสั้น คอซอง สะท้อนผ่านพานไหว้ครู เทียบเคียงพาเหรดล้อการเมือง และการแปรอักษรเสียดสีสังคมที่คุ้นตาในการแข่งขันฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์

ประเด็นนี้ อดีตผู้อำนวยการสถาบันคุรุพัฒนามองว่า “ไม่เกินคาด” และนี่คือ “พัฒนาการทางการศึกษา” ที่ชัดเจนอย่างยิ่ง

“ผมมองว่านี่คือพัฒนาการทางการศึกษาซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าคุณภาพของการจัดการเรียนการสอนนับวันยิ่งสามารถนำเรื่องยากๆ ที่เคยอยู่ในมหาวิทยาลัยลงมาอยู่ในชั้นมัธยม อย่างแคลคูลัส เคยสอนในระดับอุดมศึกษา ตอนหลังก็ลงมาในโรงเรียน นี่ก็เช่นเดียวกัน ทักษะการเรียนรู้ กระบวนการคิด วิเคราะห์ การวิจารณ์ เป็นเรื่องที่ไม่เกินคาดที่เด็กประถม มัธยมจะไปถึง เทคโนโลยีย่นระยะเวลาการเรียนรู้ของมนุษย์ลงได้ ไม่จำเป็นต้องรอไปจนถึงมหาวิทยาลัย

นี่คือสิ่งที่น่าเป็นห่วงว่าครูและคนในวงการศึกษาจะปรับตัวเรียนรู้ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร ในขณะที่เด็กไปไกล แต่ครูยังไม่ไป อันนี้น่าห่วง” ร.ศ.มนตรีกล่าว

ความเห็นข้างต้นสอดคล้องกับงานวิจัยที่เกี่ยวเนื่องกับ ความตื่นตัวทางการเมืองของนักเรียนมัธยม เมื่อ พ.ศ.2558 ซึ่งบ่งชี้ว่ามีความเข้าใจด้านการเมืองในระบอบประชาธิปไตย และตื่นตัวสูงมาก ทั้งชายและหญิง

มาถึงตรงนี้ ต้องถามความเห็นของนักรัฐศาสตร์ดูบ้าง ผศ.ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มองว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึง ความกระตือรือร้นด้านการเมือง ของเด็กๆ แต่กลุ่มคนที่กลัวความเปลี่ยนแปลงไม่รู้วิธีรับมือ

“ปัญหาหนึ่งคือ รัฐหรือคนที่กลัวความเปลี่ยนแปลง ไม่รู้วิธีการรับมือ แทนที่จะกลัว คุณต้องเปิดช่องทางการรับรู้ข้อมูล และให้คำอธิบายในกระแสที่เขาต้องการมีส่วนร่วมด้านการเมือง ต้องปรับวิธีคิด และท้ายที่สุดสิ่งสำคัญมากคือต้องใจกว้าง ในการปรับโครงสร้างด้านการเมือง ถ้าไม่เท่าทันกับความกระตือรือร้นด้านการเมือง สังคมก็จะเกิดความขัดแย้ง และถอยหลังไปอีก”

อาจารย์รัฐศาสตร์ท่านนี้อธิบายต่อไปว่า เมื่อสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่ต้องพิจารณาอย่างมากก็คือ การสร้างสมดุลระหว่าง Critical Thinking กับ Creative Thinking

“Critical Thinking คือการคิดเชิงวิพากษ์ การตั้งคำถาม การปราศจากการเชื่อโดยไร้เหตุผล ส่วน Creative Thinking คือการคิดเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สังคมต้องการ การผลักดันให้คนรุ่นใหม่ๆ พัฒนา หรือเติบโตขึ้นคือการต่อยอด คือการแตกหน่อออกไปจากเดิม ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าคนรุ่นก่อนๆ ผลักเขาออกไปด้านไหน แต่ไม่ใช่ว่า ผลักออกไปจากสังคม สมมุติว่าถ้ามีการประกวดพานไหว้ครู การคิดนอกกรอบ ซึ่งไม่ใช่วิธีคิดตามธรรมเนียมปฏิบัติ แต่เป็นการคิดประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นมานี้จะกลายเป็นพื้นฐาน คือสิ่งที่เราเรียกว่า การสร้างนวัตกรรม ฉะนั้นเราไม่ได้ถกเถียงว่ามันจะดีหรือเลวอย่างไร แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะผลักเขาเข้าสู่พลังในทางบวกอย่างไร” ผศ.ดร.ฐิติวุฒิแนะ

รั้งไม่อยู่ หยุดไม่ได้ ต้อง ‘เปิดใจ’ รับความเปลี่ยนแปลง

อีกหนึ่งประเด็นฮอตไฟลุกที่ถูกปลุกโดย หมอวรงค์ โดยกล่าวอ้างถึงความห่วงใยสังคมว่าลูกหลานจะถูก “ล้างสมอง” โดยง่าย เพราะถูกนำ “ประชาธิปไตยเล่าเรื่อง ไปล้างสมอง” โดยมองว่าศึกครั้งนี้ใหญ่หลวงมาก ถึงเวลาที่พรรคการเมืองต้องเอาอุดมการณ์เพื่อชาติและประชาชนมาชี้นำการต่อสู้

ต้องจ่อไมค์ไปยัง ผศ.ฐิติวุฒิ อีกครั้ง ว่าข้อหาถูกล้างสมองซึ่งถูกใช้บ่อยครั้งในประวัติศาสตร์การเมืองไทยนั้นมีความเป็นมาอย่างไร และการทำพานไหว้ครูโยงการเมืองสุ่มเสี่ยงถูกล้างสมองจนเกลี้ยงเลยหรือไม่?

“Brain Wash หรือล้างสมอง เป็นการต่อสู้ในยุคสงครามเย็น และมีการใช้เป็นข้อกล่าวหาในการทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม ผมมองว่าสังคมไทยต้องย้ายฐานคิดของตัวเอง ต้องผลักตัวเองออกมาให้ได้จากข้อกล่าวหาเรื่องการต่อสู้ในยุคสงครามเย็น ตอนนี้เราติดหล่มอยู่ในความขัดแย้ง สิ่งหนึ่งที่เราต้องคิด คือต้องพยายามผลักสังคมเข้าสู่สังคมที่สร้างนวัตกรรม ตอนนี้การคิดเชิงวิพากษ์กับสร้างสรรค์ต้องไปด้วยกัน

“การเปลี่ยนแปลงวิธีคิดต่างๆ สามารถชักนำมาสู่การสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ แต่เวลามีการเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์ สิ่งที่เป็นปัญหาคือความสุดโต่ง ขวาสุดโต่งก็มีปัญหา ซ้ายสุดโต่งก็เป็นปัญหา เวลาใช้คำว่าล้างสมอง เหมือนไปลบระบบประมวลผลข้อมูลในสมองหมด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องมาดูปัจจุบัน เวลาเราทำอะไร ขวาสุดโต่ง ก็เป็นอันตราย ซ้ายสุดโต่งก็อันตราย”

ส่วนประเด็นอุดมการณ์เพื่อ “ชาติ” ที่ถูกนำมาใช้ควบคู่อีกเช่นเคยเมื่อเกิดข้อขัดแย้งอันเกี่ยวเนื่องกับ “วัฒนธรรม” วาทกรรมไม่รักชาติ ทำลายขนบประเพณีไทย คือสิ่งที่ไม่เคยห่างหายจากสมรภูมิวิวาทะ

ผศ.ฐิติวุฒิ ให้ข้อคิดว่า ต้องย้อนพิจารณาว่า “ชาติ” เป็นของใคร เป็นชาติที่สามารถสร้างความเท่าเทียมให้คนหรือไม่ เป็นชาติที่ทำให้ตระหนักถึงการอยู่ร่วมในสังคมเดียวกันหรือไม่ เป็นชาติที่ผนวกกันด้วยการสร้างสังคมแห่งความเสมอภาค และเสรีภาพหรือไม่

“เวลาที่สังคมเริ่มเปลี่ยนมากๆ ก็มีความพยายามที่จะรั้งที่จะไม่ให้สังคมเดินไปข้างหน้า เพราะกลัวการเปลี่ยนแปลง แต่เราไม่สามารถหยุดมันได้ ต้องเปิดใจกว้างและยอมรับ อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดต้องไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงแบบสุดสุดไปเลยโดยปราศจากการพิจารณาสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สังคมไทยต้องตระหนักตรงนี้ด้วย ตัวอย่างที่ได้จากสังคมญี่ปุ่นคือ คำว่าชาติซึ่งพัฒนาอย่างเท่าเทียม โดยไม่ลืมรากเหง้า”

ข้างหลังพาน ข้างหลังภาพ ความอยุติธรรม และนัยยะซ่อนเร้น?

มาถึงรากเหง้า เข้าประเด็นวัฒนธรรม ไม่ถามแวดวงประวัติศาสตร์คงไม่ได้

สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์เจ้าเก่า ที่เฝ้าตั้งคำถามถึงประเพณีไหว้ครูมานานนับสิบปี ถูกถล่มจนชาชิน หลังขุดข้อมูลชี้ว่าการไหว้ครูมาจากเลี้ยงผี พิธีไหว้ครู คือการไหว้ครูที่ไม่ได้อยู่บนโลกมนุษย์ แต่ไหว้ผู้ที่ตายไปแล้ว พบหลักฐานเก่าสุดสมัยรัชกาลที่ 4 ส่วนไหว้ครูตามโรงเรียนอย่างที่เห็นๆ กันนี้เพิ่งมีมาทีหลัง

สำหรับปรากฏการณ์พานไหว้ครู เจ้าตัวมองว่า เบื้องหลังค้นลึกลงไปในใจ นอกเหนือจากความต้องการแสดงออกทางการเมืองของเยาวชนไทย อีกด้านหนึ่งคือ การปฏิเสธพิธีไหว้ครูในรูปแบบที่เป็นอยู่

สุจิตต์เน้นย้ำว่า ไม่ใช่เด็กไม่เคารพครู เพียงแต่ปฏิเสธ รูปแบบ พิธีไหว้ครูเดิมๆ

ด้าน ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ มองว่า สิ่งที่ภาครัฐควรพิจารณาคือ มองพานไหว้ครูเหล่านี้ว่าเป็นภาพสะท้อนที่เด็กต้องการสื่อสารถึงความไม่ยุติธรรมของการเลือกตั้ง และไม่ควรกล่าวหาว่ามีคนอยู่เบื้องหลัง เพราะ

“เด็กมันคิดเป็นครับ”


ข้อมูลอ้างอิงปัจจัยที่มีผลต่อการตื่นตัวทางการเมืองของนักเรียนโรงเรียนชลราษฎรอำรุง และโรงเรียนชลกันยานุกูล ในการเมืองแบบประชาธิปไตย โดย ชัยกฤต รัตนากร วิทยาลัยการบริหารรัฐกิจ ม.บูรพา, 25      58

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image