สุวรรณภูมิในอาเซียน : สุนทรภู่, พระอภัยมณี ‘สตอรี่’ ท้องถิ่นหนุนท่องเที่ยว เมืองเพชรบุรี, ช่องสิงขร, อ่าวไทย-อันดามัน

เมืองมะริดในพม่า อยู่ห่างจากชายแดนไทย-พม่า ราว 180 กม. ด้านหน้าคือทะเลอันดามัน ทิศเหนืออยู่ทางขวา ทางซ้ายที่เห็นยอดเจดีย์คือวัดโบสถ์ใหญ่ เชื่อกันว่าบริเวณนี้แต่ก่อนยังไม่มีวัดเป็นเพียงเนินสูง คือสถานที่ซึ่งม้าจากเปอร์เซียจะขึ้นจากเรือมาผูกไว้ที่นี่ (ภาพและคำอธิบายโดย สิริกาญจน์ รัตนเกตุ พ.ศ. 2558) สุนทรภู่รู้เส้นทางคมนาคม ผ่านช่องสิงขรไปเมืองมะริด ทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย จึงใช้เป็นฉากพระอภัยมณี

ท่องเที่ยวทั้งเมืองหลักและเมืองรอง ล้วนต้องการ “สตอรี่” ที่สนองคุณค่าและมูลค่าการท่องเที่ยว จากวรรณกรรมตำนาน, นิทาน ในประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

แต่การศึกษาไทยทำลายประวัติศาสตร์ท้องถิ่นด้วยการยกประวัติศาสตร์ส่วนกลางเข้าครอบงำ ขณะเดียวกันก็ทำลายวรรณกรรมท้องถิ่นด้วยการเหยียดแล้วตัดทิ้งตำนานนิทานท้องถิ่นจนสูญเสียไปจากความทรงจำ

“สตอรี่” จากบรรพชนสุนทรภู่

สุนทรภู่เกิดกรุงเทพฯ ที่วังหลังสมัย ร.1 กรุงรัตนโกสินทร์ วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 พ่อแม่เป็นเชื้อสายพราหมณ์เมืองเพชรบุรี มีหลักแหล่งอยู่กรุงเก่าอยุธยา ครั้นหลังกรุงแตก (พ.ศ. 2310) โยกย้ายไปอยู่กรุงธนบุรี สืบเนื่องถึงกรุงรัตนโกสินทร์

เสาชิงช้าสมัยโบราณเคยอยู่บริเวณนี้ ปัจจุบันอยู่ในวัดเพชรลี อ.เมืองฯ จ.เพชรบุรี (ภาพเมื่อ พ.ศ.2529)

บรรพชนของสุนทรภู่อยู่เมืองเพชรบุรี ตามงานค้นคว้าวิจัย (พ.ศ. 2529) ของล้อม เพ็งแก้ว (นักปราชญ์สามัญชนชาวสยาม เมืองเพชรบุรี) มีโดยสรุปว่า บ้านประตูไม้ไผ่ อันเป็นนิวาสสถานของบรรพชนสุนทรภู่ พบร่องรอยสกุลพรามณ์เหลืออยู่ คือ เสาชิงช้าเป็นซากในวัดเพชรพลี พื้นที่ต่อเนื่องวัดสนามพราหมณ์ (เดิมเรียกวัดสามพราหมณ์)

Advertisement

[มีรายละเอียดอีกมากเกี่ยวกับสุนทรภู่อยู่ในหนังสือ สุนทรภู่ : อาลักษณ์เจ้าจักรวาล ของ ล้อม เพ็งแก้ว สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2547]

หน่วยงานบางแห่งของกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม พยายามเผยแพร่เอกสารผ่านสื่อโซเชียลว่า บิดาสุนทรภู่เป็นชาวบ้านกร่ำ ส่วนมารดาเป็นชาวเมืองอื่น เท่ากับบิดเบือนหลักฐานประวัติศาสตร์ที่สุนทรภู่เขียนบอกด้วยตนเอง (ไม่ใช่ความเห็นของนักค้นคว้าคนใดคนหนึ่ง)

สุนทรภู่มีบรรพชนเป็นพราหมณ์เมืองเพชรบุรี ย่อมเกี่ยวดองพราหมณ์บ้านสมอ พลือ “ราชินิกูล” อันเนื่องมาจากครั้งพระเจ้าบรมโกศครองอยุธยา พระพันวสาใหญ่ (กรมหลวงอภัยนุชิต มีโอรส คือ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์) กับพระพันวสาน้อย (กรมหลวงพิพิธมนตรี มีโอรส 2 องค์ คือ เจ้าฟ้าเอกทัศ กับ เจ้าฟ้าอุทุมพร) เป็นเชื้อสายพราหมณ์ บ้านสมอพลือ เมืองเพชรบุรี

Advertisement

ตรงนี้น่าจะเป็นเหตุสำคัญทำให้สุนทรภู่เขียนบอกในนิราศเมืองเพชร (ฉบับตัวเขียน) ว่าญาติจำนวนหนึ่งไม่รู้ความเป็นมาของสกุลพราหมณ์ ส่วนตัวของท่านรู้หมด เพราะสอบถามจากคนเฒ่าคนแก่และผู้รู้ทั้งหลายได้ความตั้งแต่ต้นจนปลาย ครั้นจะเขียนเล่าความจริงทั้งหมดก็เกรงจะพากันอับอาย ดังนี้

แต่ตัวเราเข้าใจได้ไถ่ถาม  จึงแจ้งความเทือกเถาจนเอาวสาน

จะบอกเล่าเผ่าพงศ์พอกวงศ์วาน   ก็เกรงท่านทั้งหลายละอายครัน

สุนทรภู่ไม่ได้ละอายที่ตระกูลของตนเป็นพราหมณ์เมืองเพชร แต่ละอายที่ตระกูลพราหมณ์เมืองเพชรทำกรุงแตก พ.ศ. 2310

[จากหนังสือพราหมณ์สมอพลือ ของ ทวีโรจน์ กล่ำกล่อมจิตต์ (นักค้นคว้าชาวเมืองเพชรบุรี) พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2556 (สถาบันวิจัยและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ. 2561)]

เมืองเพชรบุรีและตระกูลพราหมณ์อยู่ในความทรงจำ และแทรกในเนื้อในตัวของสุนทรภู่ ดังนั้นเมื่อแต่งวรรณกรรมการเมืองเรื่องพระอภัยมณีจึงแสดงออกผ่านเนื้อหา ดังนี้

ศาลากลางบ้านอายุกว่าร้อยปี ชุมชนพราหมณ์ บ้านสมอพลือ อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี
แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ แม่น้ำเพชรบุรี ไหลผ่านบ้านพราหมณ์สมอพลือ ท่าน้ำวัดท่าไชยศิริ ต.สมอพลือ อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี

เมืองเพชรบุรีและตระกูลพราหมณ์อยู่ในความทรงจำ และแทรกในเนื้อในตัวของสุนทรภู่ ดังนั้นเมื่อแต่งวรรณกรรมการเมืองเรื่องพระอภัยมณีจึงแสดงออกผ่านเนื้อหา ดังนี้

ราชครูพราหมณ์

พระอภัยมณีเรียนเป่าปี่กับ “พินทพราหมณ์” ศรีสุวรรณเรียนกระบี่กระบองกับ “พรหมพราหมณ์”

พินทพราหมณ์กับพรหมพราหมณ์ ทั้งสองเป็น “ราชครูพราหมณ์” สุนทรภู่บอกไว้ในพระอภัยมณีว่าอยู่ตึกมีป้ายบอกชื่อพราหมณ์ไว้หน้าบ้านตามวัฒนธรรมฝรั่ง (ที่สุนทรภู่รู้จากการศึกษาด้วยตนเองและสอบถามชาวยุโรปที่เข้าไปถึงบางกอกสมัยนั้น) ว่า “อันสองท่านราชครูนั้นอยู่ตึก จดจารึกอักขราไว้หน้าบ้าน”

พราหมณ์อยู่ตึก (แบบฝรั่ง) มีต้นแบบอยู่เกาะมหาพราหมณ์ (กรุงเก่า) เป็นหลักแหล่งถิ่นฐานของตระกูลพราหมณ์ในรัฐอยุธยาที่เกี่ยวดองถึงพราหมณ์เมืองเพชรบุรี-นครศรีธรรมราช

โบสถ์พราหมณ์สมัยโบราณ กลางเมืองเพชรบุรี เคยอยู่พื้นที่ตรงนี้ สุนทรภู่เขียนบอกในนิราศเมืองเพชรว่า “ทั้งโบสถ์บ้านฐานที่ยังมีอยู่ แต่ท่านผู้ญาติกานั้นอาสัญ” (ภาพเมื่อ พ.ศ.2529)

เกาะมหาพราหมณ์ (กรุงเก่า) ทางด้านตะวันตก นอกเกาะเมืองอยุธยา (ปัจจุบันอยู่เขต อ. บางบาล จ. พระนครศรีอยุธยา) อยู่บนเส้นทางคลองบางบาล เชื่อมคลองต่างๆ ไป เช่น คลองบางยี่หน เข้าเมืองสุพรรณบุรี เขตชาวสยาม รัฐสุพรรณภูมิ ซึ่งเกี่ยวดองถึงรัฐเพชรบุรี เป็นทั้งชุมชนพราหมณ์และชุมชนชาวคริสต์ พบว่าสมัยพระนารายณ์จะตั้งคอลเลจ “วิทยาลัย” บริเวณนี้แล้วมีการเรียนการสอนดนตรีตะวันตก

ช่องสิงขร ประจวบคีรีขันธ์

พระอภัยมณีเรียนเป่าปี่ ศรีสุวรรณเรียนกระบี่กระบอง ถูกท้าวสุทัศน์ (พระบิดา) ขับไล่ออกจากกรุงรัตนา ก็พากันเดินดงผ่านขุนเขาถึงชายทะเลแห่งหนึ่ง ดังนี้

แต่เดินทางกลางเถื่อนได้เดือนเศษ   ออกพ้นเขตเขาไม้ไพรสิงขร

ถึงเนินทรายชายทะเลชโลทร   ในสาครคลื่นลั่นสนั่นดัง

คำว่า “สิงขร” ในกลอนวรรคสองว่า “ออกพ้นเขตเขาไม้ไพรสิงขร” ไม่น่าบังเอิญ แต่จงใจให้มีคำว่าสิงขรอยู่ในกลอนตอนนี้ เพราะสมัยสุนทรภู่เมืองเพชรบุรีมีอำนาจควบคุมช่องทางสำคัญเรียกช่องสิงขร (ปัจจุบันอยู่เขต อ. เมืองฯ จ. ประจวบคีรีขันธ์)

ช่องสิงขร เป็นช่องเขาอยู่บนทิวเขาตะนาวศรี สมัยโบราณจนปัจจุบันใช้เป็นเส้นทางเชื่อมอ่าวไทย ทะเลจีนใต้ (จ. ประจวบคีรีขันธ์) กับอ่าวเมาะตะมะ ทะเลอันดามัน (เมืองมะริด พม่า)

ทะเลอันดามัน มีเมืองมะริดเป็นเมืองท่า ติดต่อค้าขายบ้านเมืองใหญ่น้อยทั่วมหาสมุทรอินเดีย (คือ อินเดีย, ลังกา, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, สิงคโปร์ ฯลฯ) จนถึงฝั่งอินเดียใต้ ล้วนมีในฉากพระอภัยมณี (ม้าสีหมอกของขุนแผนเป็นม้าอาหรับจากตะวันออกกลาง ถูกขนย้ายทางเรือจากอินเดียขึ้นฝั่งเมืองมะริด แล้วถูกต้อนไปเลี้ยงที่เมืองเพชรบุรี กระทั่งขุนแผนไปพบจึงขอซื้อ)

“พราหมณ์รามราช” เป็นถิ่นกำเนิดพราหมณ์เมืองเพชรบุรี มาจากอินเดียใต้ ผ่านทะเลอันดามัน, เมืองมะริด, ช่องสิงขร เข้าถึงเมืองเพชรบุรี

สามพราหมณ์

พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณ เดินดงพ้นช่องสิงขร ถึงหาดทรายชายทะเล พบสามพราหมณ์ผู้มากวิชา มีนามตามลำดับว่าโมรา, สานน, วิเชียร ก็คบหาเป็นสหายพี่น้องกัน ซึ่งจะเป็นคู่คิดสำคัญต่อไปข้างหน้า สุนทรภู่กำหนดบุคลิกและความสามารถของสามพราหมณ์ไว้ว่าโมรามีคาถาเสกหุ่นยนต์กลไกได้, สานนมีอาคมเรียกฝนเรียกลม, วิเชียรยิงธนูคราวละเจ็ดดอก ดังนี้

จะจับบทบุตรพราหมณ์สามมาณพ   ได้มาพบคบกันเล่นเป็นสหาย

คนหนึ่งชื่อโมราปรีชาชาย   มีแยบคายชำนาญในการกล

เอาฟางหญ้ามาผูกสำเภาได้   แล้วแล่นไปในจังหวัดไม่ขัดสน

คนหนึ่งมีวิชาชื่อสานน   ร้องเรียกฝนลมได้ดังใจจง

คนหนึ่งนั้นมีมีนามพราหมณ์วิเชียร   เที่ยวร่ำเรียนสงครามตามประสงค์

ถือธนูสู้ศึกนึกทะนง   หมายจะปลงชีวาปัจจามิตร

ธนูนั้นลั่นทีละเจ็ดลูก   หมายให้ถูกที่ตรงไหนก็ไม่ผิด

ล้วนแรกรุ่นร่วมรู้คู่ชีวิต   เคยไปเล่นเป็นนิจที่เนินทราย

“สามพราหมณ์” ที่คบหาเป็นเพื่อนพี่น้องกับพระอภัยมณีและศรีสุวรรณ พ้องกับชื่อวัดสามพราหณ์ (ตอนหลังกลายคำเป็นวัดสนามพราหมณ์) เมืองเพชรบุรี ย่านบรรพชนพราหมณ์ของสุนทรภู่

แผนที่แสดงตำแหน่งบ้านเมืองในพระอภัยมณี อยู่ทางทะเลอันดามัน อ่าวเบงกอล มหาสมุทรอินเดีย [ปรับปรุงใหม่จากข้อเสนอแรกสุดของ “กาญจนาคพันธุ์” (ขุนวิจิตรมาตรา) ตั้งแต่ พ.ศ.2490]

พระอภัยมณี วรรณกรรมการเมือง ต่อต้านการล่าอาณานิคม

ใช้ฉากทะเลอันดามัน อ่าวเบงกอล มหาสมุทรอินเดีย

พระอภัยมณี เป็นวรรณกรรมการเมืองในรูปแบบนิทานกลอน ต่อต้านสงครามล่าอาณานิคม เพราะขณะนั้นอังกฤษยึดได้อินเดีย, ลังกา และกําลังแผ่อํานาจเข้ายึดอุษาคเนย์ทางแหลมมลายู, พม่า

แต่งโดยใช้ฉากทะเลอันดามัน อ่าวเบงกอล มหาสมุทรอินเดีย (ไม่เกี่ยวข้องกับอ่าวไทย และเกาะเสม็ด จ. ระยอง)

แสดงความขัดแย้งระหว่างเมืองผลึก คือ ถลาง (ภูเก็ต) กับ ลังกา คือ ศรีลังกา (ขณะนั้นเป็นเมืองขึ้นอังกฤษ มีประมุขเป็นหญิง คือ พระนางเจ้าวิกตอเรีย)

นางละเวง แผลงคําจากนามวิกตอเรีย, ผีเสื้อสมุทร แปลงจากผีเสื้อน้ำ ในมหาวงศ์พงศาวดารลังกา, เกาะแก้วพิสดาร อยู่ในกลุ่มเกาะนิโคบาร์ (มีชื่อตามตํานานว่านาควารี ในพระอภัยมณีเรียกทะเลนาควารินทร์) ทางตอนใต้ของทะเลอันดามัน


ดนตรีคืออํานาจของวิชาความรู้

พระอภัยมณีเป่าปี่นอก สุนทรภู่ใช้ฉากทะเลอันดามัน (ไม่ใช่อ่าวไทย) ดังนั้นเกาะแก้วพิสดารอยู่มหาสมุทรอินเดีย (ไม่ใช่เกาะเสม็ด จ. ระยอง) ภาพนี้เป็นอนุสาวรีย์แห่งความเข้าใจคลาดเคลื่อนเรื่องประวัติสุนทรภู่ ที่บ้านกร่ำ อ. แกลง จ. ระยอง)

สุนทรภู่รู้เพลงดนตรีทั้งของโลกตะวันออกและตะวันตก

ดนตรีเป็นตัวแทนของอํานาจ และ/หรือวิชาความรู้ เพราะวิชาความรู้คืออํานาจผู้      ดมีวิชาความรู้ ผู้นั้นมีอํานาจ สิ่งนี้เป็นที่รับรู้ในทางสากล ทั้งโลกตะวันออกและตะวันตก

พระอภัยมณีเรียนวิชาดนตรีจนชํานาญเป่าปี่เป็นเลิศ เท่ากับยกย่อง 2 อย่างว่ามีอํานาจ ได้แก่ (1) เนื้อหาวิชาความรู้ และ (2) ผู้มีวิชาความรู้

จากนั้นใช้วิชาความรู้แก้ปัญหาความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรง จนนําไปสู่ชัยชนะและอํานาจ

เดี่ยวปี่นอก (ปี่นอกโซโล) โดยพระอภัยมณี เป็นสัญลักษณ์แบบแผนดนตรีตะวันตก เริ่มมีเหนือดนตรีไทยเดิม แล้วมีส่วนผลักดันดนตรีไทยเดิมเป็นดนตรีเพื่อฟัง (แบบตะวันตก) เรียกดนตรีไทยแบบฉบับสืบจนทุกวันนี้

ปี่ที่พระอภัยมณีเป่า เรียกปี่นอก (ไม่ใช่ปี่ใน และ ไม่ใช่ปี่ชวา) ปี่นอกอยู่ในตระกูลเครื่องเป่าพื้นเมืองอุษาคเนย์ มีลําตัวเป็นปล้อง มีป่องตรงกลางลําตัว (คล้ายเต้าแคน)


สุนทรภู่ เกิดกรุงเทพฯ

เป็นผู้ดี มีตระกูล ใกล้ชิดเจ้านาย

สุนทรภู่ “มหากวีกระฎุมพี” เป็นนักปราชญ์ประจําราชสํานัก แนวคิดปัจเจกนิยม โดยให้ความสําคัญแก่ตนเอง และเป็นอิสระจากข้อผูกมัดทางสังคม แล้วแสดงออกอย่างเสรี ฝักใฝ่ข้างตะวันตก ไม่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง แต่ต่อต้านการล่าเมืองขึ้นของยุโรป

แม้ไม่เคยเรียกร้องความเสมอภาคของมนุษย์ แต่ไม่ยอมรับบทบาททางสังคมที่กําหนดขึ้นด้วยกําเนิดของคน จึงยกย่องผู้หญิงมีสติปัญญาวิชาความรู้ และสนับสนุนการแก้ปัญหาขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรง

สร้างสรรค์วรรณกรรมร้อยกรองจํานวนนับไม่ถ้วนล้วนแสดงออกอย่างมีพลังด้วยประสบการณ์ตรงและจริง ตามอหังการ์ของชนชั้นกระฎุมพี อย่างมีสีสันและทันสมัย โดนใจคนร่วมยุคอย่างกว้างขวาง แล้วอยู่ในความทรงจําของคนหลายชั้นสืบจนทุกวันนี้

หุ่นขี้ผึ้งสุนทรภู่ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม

[“กระฎุมพี” หมายถึง กลุ่มคนชั้นนําทางเศรษฐกิจ-การเมือง ในเศรษฐกิจการตลาดแบบส่งออก สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ประกอบด้วยเจ้านาย, ขุนนาง, ข้าราชการ, พ่อค้าวาณิช หรือเศรษฐีมีทรัพย์ เป็นต้น]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image