ครบ 1 ปี ช่วย ‘13 หมูป่า’ กับวันนี้ที่ ‘ถ้ำหลวง’ ไม่เหมือนเดิม?

จู่ๆ วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ก็โด่งดังขึ้นมาในชั่วข้ามคืน

เพียงเพราะ 13 ชีวิตนักฟุตบอลและโค้ช ทีมหมูป่าอะคาเดมี่ เดินหายเข้าไป กระทั่งเกิดปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยครั้งยิ่งใหญ่ที่โลกต้องจำ

กว่า 17 วัน หรือ 412 ชั่วโมงที่รอคอย นำพาเกือบทุกชีวิตกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย นอกจาก นาวาตรีสมาน กุนัน หรือจ่าแซม อดีตหน่วยซีล ที่เสียชีวิตขณะเข้าไปช่วยเหลือทีมหมูป่า ภายหลังได้รับการยกย่องให้เป็น “วีรบุรุษถ้ำหลวง”

จากวันนั้น ถึงวันนี้ เกือบครบ 1 ปีแล้วที่ไม่มีอะไรเหมือนเดิม?

Advertisement

ตั้งแต่ อดีตโค้ชเอก-เอกพล จันทะวงษ์ พร้อมด้วยสมาชิกทีมหมูป่าทั้งติดถ้ำและไม่ได้ติดถ้ำ รวม 5 ราย ได้รับการอนุมัติสัญชาติไทย

ค่ายภาพยนตร์-สารคดี นำเรื่องราวปฏิบัติการกู้ภัยตั้งแต่เริ่มต้นจนจบภารกิจ ถ่ายทอดในรูปแบบภาพยนตร์ “The Cave นางนอน” โดย ทอม วอลเลอร์ ผู้กำกับหนังไทยชาวไอริช เริ่มถ่ายทำแล้วบางส่วน

อดีตโค้ชเอก-เอกพล จันทะวงษ์ ในวันที่ได้รับสัญชาติไทย พร้อมรับมอบบัตรประชาชนจากนายสมศักดิ์ คณาคำ นายอำเภอแม่สาย

วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ได้รับการเสนอจัดตั้งเป็น “อุทยานแห่งชาติ” คาดว่ากระบวนการจะเสร็จสิ้นในเวลาไม่เกิน 1 ปี

Advertisement

รวมทั้งล่าสุดที่ “น้องดอม” ด.ช.ดวงเพชร พรมเทพ หนึ่งในเด็กติดถ้ำ ที่พัฒนาฝีเท้าจนผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมทีมฟุตบอลเยาวชนอายุไม่เกิน 14 ปี ทีมโรงเรียนวชิราลัยเชียงใหม่เอฟซี เป็นตัวแทนของจังหวัดเชียงใหม่ ตีตั๋วลุยศึกฟุตบอลลีกเยาวชนแห่งชาติ “ไทยแลนด์ยูธลีก รุ่นอายุไม่เกิน 14 ปี” ซึ่งจะจัดแข่งขันที่ จ.เชียงราย เดือนกรกฎาคมนี้

 

คืบหน้าสำรวจ ‘ธรณีวิทยาและน้ำบาดาล’

คงไม่ต้องย้อนเล่าแล้วว่า “ภารกิจถ้ำหลวง” ดำเนินการอย่างไรไปบ้าง

เพราะวันนี้ยังมีอีก 1 โครงการสำคัญที่คนทั้งประเทศควรเฝ้าติดตาม นั่นคือ โครงการศึกษาสำรวจธรณีวิทยาและอุทกธรณีวิทยาเทือกเขาหินปูนวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน มีระยะเวลาดำเนินงาน 2 ปี ตลอดปีงบประมาณ 2562-2563

โครงการที่เกิดจากความร่วมมือของหลายหน่วยงานภายใต้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ประกอบด้วย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรน้ำบาดาล รวมทั้งนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสำรวจและจัดทำแผนที่ถ้ำทั้งชาวไทยและต่างประเทศมากมาย ซึ่งทีมงานเริ่มปฏิบัติภารกิจแล้วตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา

วันนี้ อนุกูล วงศ์ใหญ่ ผู้อำนวยการกองเทคโนโลยีธรณี กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการว่า การสำรวจมีทั้งหมดหลายส่วน โดยวางแผนไว้ในระยะ 2 ปี ปีแรกเป็นการสำรวจธรณีวิทยาและอุทกธรณีวิทยาเพื่อให้ได้แผนที่ที่มีสภาพตรงกับความต้องการมากขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ในการวางรากฐานการสำรวจปีต่อๆ ไป และในปีแรกนี้จะดำเนินการในลักษณะแผนที่แบบ 2 มิติ ซึ่งขั้นตอนการสำรวจได้สำเร็จเรียบร้อยตามแผน ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการผลิตแผนที่ คาดว่าสิ้นปีนี้จะแล้วเสร็จ

“โครงการนี้ร่วมมือกัน 3 หน่วยงานคือ กรมทรัพยากรธรนีเน้นเรื่องการสำรวจทางธรณีวิทยาและสำรวจถ้ำ สำรวจธรณีฟิสิกส์บางส่วน ส่วนกรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะมุ่งเน้นการสำรวจพฤติกรรมของน้ำบาดาลที่อยู่ในถ้ำ และกรมอุทยานแห่งชาติฯเป็นเจ้าของพื้นที่ เป้าหมายของเราคือต้องการให้มีการสำรวจและถ่ายทอดองค์ความรู้เหล่านี้ให้กับอุทยานฯ ชุมชน ท้องถิ่น และจังหวัด เพื่อวางแผนการพัฒนาในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

“ด้านการสำรวจเอง ตอนนี้เราหยุดแผนในถ้ำหลวง เพราะน้ำเริ่มเข้าถ้ำตั้งแต่เดือนที่แล้ว เมื่อประกาศปิดเพื่อความปลอดภัยก็ไม่ให้ทีมงานเข้าไป ดังนั้น งานส่วนใหญ่จึงอยู่บนผิวดินบริเวณรอบนอกของถ้ำ เพราะวิธีการสำรวจของเราจะแบ่งออกเป็นหลายส่วน โดยการสำรวจทางธรณีวิทยาเป็นการสำรวจด้านนอกถ้ำเป็นหลัก รวมทั้งการสำรวจทางธรณีฟิสิกส์ก็เป็นบริเวณนอกถ้ำประมาณ 80-90 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น การเข้าไปในถ้ำจึงเป็นส่วนเล็กๆ เท่านั้น ส่วนที่ได้รับผลกระทบคือการทำเซอร์เวย์ในถ้ำ ซึ่งส่วนทีมถ้ำจะเข้าไปทำเซอร์เวย์ในถ้ำอีกครั้ง แต่เรื่องของการศึกษาพฤติกรรมน้ำตอนนี้ยิ่งต้องเข้มข้น เพราะน้ำมา เราเริ่มเก็บข้อมูลเกี่ยวกับน้ำ”

ที่สำคัญคือ โครงการสำรวจครั้งนี้ยังมีเป้าหมายในการค้นหาคำตอบว่า ถ้ำหลวงและถ้ำทรายทองมีความเชื่อมต่อกันหรือไม่?

หากคำตอบคือ “ใช่” จะทำให้ความยาวถ้ำเพิ่มขึ้นเป็น 1.2 กิโลเมตร และอาจมีลุ้นว่าวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จะขยับสถิติความยาวขึ้นเป็นที่ 1 หรือ 2 ของไทยได้

ระหว่างการสำรวจ “โครงการศึกษาสำรวจธรณีวิทยาและอุทกธรณีวิทยาเทือกเขาหินปูนวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน” เอื้อเฟื้อภาพโดยกรมทรัพยากรธรณี

ผอ.อนุกูลบอกว่า ระหว่างการสำรวจมีประเด็นใหม่เกิดขึ้น 2 อย่าง คือ 1.กรมทรัพยากรธรณีและกรมทรัพยากรน้ำบาดาลวางแผนใช้เครื่องมือทางธรณีฟิสิกส์และวิธีอื่นๆ เพื่อหาลักษณะรอยต่อถ้ำหลวงและถ้ำทรายทอง ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผล 2.พบทรายจำนวนมากที่บริเวณใกล้เคียงหาดพัทยา ภายในถ้ำหลวง ทีมสำรวจกำลังหาที่มาและคำอธิบายว่าทรายเหล่านี้มาจากไหน ทำไมจึงสะสมตัวอยู่บริเวณนั้น

“ประเด็นความเชื่อมต่อนั้น ด้วยลักษณะของถ้ำที่เป็นไปในแนวเดียวกันหมด หรือเป็นซีรีส์ต่อกันคือ ถ้ำหลวง ถ้ำลัก ถ้ำทรายทอง จุดแรกจากถ้ำหลวงกับถ้ำลักเชื่อมกันแน่นอน ซึ่งเราจะได้ความยาวเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่ง ส่วนช่วงที่ 2 จากถ้ำลักไปที่ถ้ำทรายทอง มีข้อมูลการสำรวจเดิมโดยผู้เชี่ยวชาญของอังกฤษคะเนไว้ว่าห่างกันประมาณ 50 เมตร ซึ่งทางกรมทรัพยากรธรณีและกรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะใช้วิธีการอย่างอื่น เช่น เครื่องมือทางธรณีฟิสิกส์เข้าไปดูว่าลักษณะการเชื่อมตัวของถ้ำต่อกันหรือไม่ แต่ตอนนี้ผลยังไม่ออกมาทีเดียว และอาจมีวิธีการสำรวจอื่นๆ อีกเพื่อพิสูจน์ว่า 2 ส่วนนี้ต่อเชื่อมกัน

แต่ดูแนวโน้มแล้วมีความเป็นไปได้สูงมาก ที่ทั้ง 2 ถ้ำจะเชื่อมต่อกัน

“อีกหนึ่งประเด็นคือ บริเวณหาดพัทยาใกล้กับสถานที่พบทีมหมูป่าพบทรายจำนวนมากอุดอยู่จนมิดถ้ำ ข้อมูลของเวิร์น อันสเวิร์ธ นักสำรวจถ้ำชาวอังกฤษ บอกว่าไม่เคยมีปรากฏการณ์เช่นนี้มาก่อน เราจึงเริ่มสำรวจว่าทรายส่วนนี้มาจากไหน มีคำอธิบายอย่างไร หากหาสาเหตุไม่ได้ ถ้าในปีนี้มีทรายเข้ามาอุดอีก ถ้ำหลวงก็จะถูกปิดตายได้ ทั้งนี้ การศึกษายังไม่สมบูรณ์ทีเดียว รวมทั้งเมื่อดูองค์ประกอบต่างๆ ของเม็ดทรายแล้วเชื่อว่าไม่ได้มาจากในถ้ำ ดังนั้น จึงต้องหาต่อไปว่ามาจากจุดไหน ทำไมจึงมาสะสมตัวบริเวณนั้น ซึ่งทั้งหมดนี้ก็หมายถึงว่า หาดพัทยาก็น่าจะเกิดจากการที่ทรายสะสมตัวกันเป็นหาด”

จ่อยกฐานะ ‘อุทยานแห่งชาติ’

วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนในวันนี้ยังมากมายไปด้วยนักท่องเที่ยวหลากหลายเชื้อชาติ แม้อาจไม่หนาตาเท่าช่วงฤดูกาลก่อน เพราะอาจเกรงว่าเมื่อเข้าสู่ฤดูฝนแล้วจะเกิดเหตุการณ์อันตรายเสมือน 13 ชีวิตทีมหมูป่าอะคาเดมี่

สำหรับการยกฐานะ “วนอุทยาน” เป็น “อุทยานแห่งชาติ” นั้น จงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทส. กล่าวว่า กระบวนการทุกอย่างอยู่ในขั้นตอน ซึ่งผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงการดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย เช่น ผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกาต่อไป คาดว่าไม่น่าจะใช้เวลาเกิน 1 ปี

นอกจากนี้ รองอธิบดีจงคล้ายยังเป็นหนึ่งในทีมสำรวจถ้ำหลวง ซึ่งได้พบความจริงว่า จากบริเวณปากถ้ำหลวงเข้าไปถึงพื้นที่พบ 13 หมูป่าอะคาเดมี่ลึกประมาณ 2,300 เมตร เท่านั้น ไม่ใช่ราว 6,000 เมตร อย่างที่เคยเข้าใจ โดยระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอนจัดทำฐานข้อมูล เพื่อใช้สำหรับพัฒนาพื้นที่ต่อไป

“ตอนนี้เราหยุดสำรวจในถ้ำแล้ว เพราะน้ำเริ่มมา จึงสั่งปิดไปก่อน แต่ภายนอกยังเปิดให้ชมตามปกติ อย่างไรก็ตาม ถ้ำหลวงยังมีแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ อีก เช่น ถ้ำพระ ถ้ำพญานาค รวมทั้งบริเวณขุนน้ำนางนอน สระมรกตที่เราเปิดให้ท่องเที่ยว ซึ่งมีการปรับปรุงภูมิทัศน์อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ภายหลังสำรวจด้านในถ้ำหลวงแล้ว สามารถนำมาวางแผนจัดโซนนิ่งได้ว่าจุดไหนที่สามารถให้เข้าไปได้ จุดไหนควรปิดตายไม่ให้เข้าอีกเลย เราเรียนรู้แล้วว่าจุดไหนที่มีความอันตรายบ้าง นอกจากนี้ ยังไปสำรวจถ้ำทรายทอง บริเวณขุนน้ำนางนอนด้วย ซึ่งต่อไปจะพัฒนาให้คนไปเที่ยวถ้ำ

“อีกหนึ่งเรื่องที่ยังไม่เคยบอกใครคือ ในอนาคตจะมีการทำ เส้นทางศึกษาธรรมชาติบริเวณถ้ำพญานาค ให้เชื่อมไปถึงขุนน้ำนางนอน โดยไม่ต้องออกไปทางถนน ซึ่งตอนนี้กำลังเซอร์เวย์และสำรวจเส้นทางอยู่”

โดยแนวทางการส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวของกรมอุทยานฯนั้น รองอธิบดีจงคล้ายบอกว่า พยายามทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และจะพยายามไม่สร้างสิ่งก่อสร้างเข้าไป แต่จะปรับปรุงให้พออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวได้ ซึ่งขณะนี้ได้สั่งการให้อุทยานฯทั่วประเทศสร้างเส้นทางท่องเที่ยวธรรมชาติมาประกวดแข่งขัน สิ่งสำคัญคือเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ธรรมชาติ ศึกษาระบบนิเวศ มากกว่ามาเยี่ยมเยียนเพื่อชมความสวยงามอย่างเดียว

“สำหรับถ้ำหลวง เรามีแผนจัดสร้างพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับการกู้ภัย ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต เทียบเท่าระดับสากล โดยมองหาพื้นที่บริเวณด้านหน้าอยู่ ซึ่งยังต้องเจรจากับหน่วยงานอื่นๆ อีกมากมาย”

รำลึกครบรอบ 1 ปีช่วยทีมหมูป่า
‘วิ่ง-ปั่นเพื่อสุขภาพ’

23 มิถุนายน 2562 กำลังจะครบรอบ 1 ปี “ภารกิจถ้ำหลวง”

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงร่วมกับเครือข่ายสุขภาพอำเภอแม่สาย ขัวศิลปะเชียงราย หอการค้าจังหวัดเชียงราย ภาครัฐและเอกชนจำนวนมาก จัดกิจกรรม THAM LUANG CAVE DAY Bike&Run 2019 รวมใจเป็นหนึ่งเดียว วิ่ง-ปั่นเพื่อสุขภาพ ในวันที่ 23 มิถุนายน 2562 เพื่อหารายได้มาเป็นกองทุนในปรับปรุงพัฒนาถ้ำหลวงให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

กิจกรรมเริ่มตั้งแต่เวลา 06.00 น. เป็นการวิ่งเพื่อสุขภาพ มินิมาราธอน 10 กม. ฟันรัน 6 กม. เส้นทางวิ่งออกจากถ้ำหลวง ผ่านจุดประวัติศาสตร์เหตุการณ์ช่วยเหลือจุดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจุดสูบน้ำ หนองน้ำพุ แหล่งพักแรม วัดและชุมชนบ้านจ้อง จุดจอดเฮลิคอปเตอร์ สนามฟุตบอลบ้านจ้อง สระมรกต ขุนน้ำนางนอน

จากนั้นในเวลา 08.30 น. เป็นการปั่นจักรยานระยะทาง 54 กม. และ 24 กม. โดยมีจุดปล่อยตัวเดียวกันคือลานหน้าอนุสาวรีย์จ่าแซม ปั่นออกจากถ้ำหลวง มายังหน้าด่านพรมแดนแม่สาย ไปบ้านห้วยไคร้ กลับรถมายังบ้านจ้อง ผ่านขุนน้ำนองนอน และเข้าถ้ำหลวง

การแข่งขันแต่ละประเภทกิจกรรมจะได้รับถ้วยรางวัลจากผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ส่วนเหรียญที่ระลึกและเสื้อ ออกแบบโดยอาจารย์ทรงเดช ทิพย์ทอง และสมาคมขัวศิลปะจังหวัดเชียงราย

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมครบรอบเหตุการณ์ประวัติศาสตร์กันได้ เพื่อเปลี่ยนแปลง “ถ้ำหลวง” ให้พัฒนามากกว่าเดิม

นิรุตติ์ ศิริจรรยา ร่วมแสดงในภาพยนตร์ “The Cave” หรือนางนอน สวมบทบาทเป็นผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร (ภาพจากเฟซบุ๊ก The Cave – นางนอน)
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image