4 วันเปลี่ยนชีวิต ‘เฮลท์แคร์’2019 เพราะโรคสู้ได้ ถ้าเรียนรู้

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทั้งสภาพแวดล้อม และโรคภัยไข้เจ็บ การรู้เท่าทัน และเข้าถึงข้อมูลสุขภาพที่ถูกต้องถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

เพื่อสร้างความตระหนักรู้ด้านสุขภาพให้กับประชาชน บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เดินหน้าจัดงาน “Health Care เรียนรู้ สู้โรค 2019” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 11 ให้ความสำคัญเกี่ยวกับปัญหาด้านสาธารณสุข ขนทัพทีมแพทย์จากโรงพยาบาลรัฐและเอกชนกว่า 30 แห่ง มอบบริการตรวจสุขภาพและส่งต่อความรู้กันแบบฟรีๆ

จุมพฏ สายหยุด ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) มองว่า การสร้างความตระหนักเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพและการป้องกันคือสิ่งสำคัญที่สุด เพราะการรักษาโรคเป็นปลายทาง แต่ถ้าจะสู้กับโรคได้ “ต้องเรียนรู้” จึงตั้งคอนเซ็ปต์ว่า “เรียนรู้ สู้โรค” เพราะโรคมีพัฒนาการ ไม่หยุดนิ่ง

“อย่างไข้เลือดออกเมื่อ 10-20 ปีก่อนกับวันนี้ไม่เหมือนกัน เมื่อก่อนคนเป็นไข้เลือดออกคือยุงตัวเมียมากัดตอนกลางวัน แต่เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะตัวเมียหรือตัวผู้ก็เป็นพาหะได้หมด กัดได้ทั้งกลางวันและกลางคืน โรคภัยไข้เจ็บมีวิวัฒนาการ ความรู้จึงต้องถูกอัพเดต ทั้งตัวโรคที่กลายพันธุ์ และการรักษาที่พัฒนามากขึ้น”

Advertisement

ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก จัดเต็ม เรื่องโรคเขตร้อน

บางคนเข้าใจว่าโรคเขตร้อนเกิดขึ้นเฉพาะช่วงหน้าร้อน ความจริงแล้วโรคเขตร้อนหมายถึงโรคที่พบได้บ่อยในพื้นที่เขตร้อน หรือ 25 องศา จากเส้นศูนย์สูตร เป็นเขตที่สะสมของโรคภัยไข้เจ็บได้มากสุด เช่น ประเทศไทยที่มีอากาศร้อนชื้น มีป่าทึบ ฝนตกชุก และอบอ้าวตลอดทั้งปี จึงเอื้อให้เกิดการเพาะของเชื้อ มีพาหะนำโรค ทั้ง ยุง ไร แมลงวัน เห็บ นำมาซึ่งโรคมาลาเรีย อุจจาระร่วง ไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ โรคฉี่หนู และอื่นๆ อีกมากมาย

ความน่ากังวลคือ ยังมีโรคกำลังอุบัติใหม่ที่ส่งต่อจากสัตว์สู่คน ซึ่งการเดินทางคือปัจจัยที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายโรคอย่างรวดเร็วในมนุษย์

“บางครั้งเราไปเมืองนอกก็เอาเชื้อโรคเข้ามาด้วย โรคติดต่อจากการท่องเที่ยว ทำลายเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวอย่างมโหฬาร เช่น ไข้หวัดนก มติชนจึงอยากให้ความรู้เกี่ยวกับโรคที่เกิดในเขตร้อนทั้งหมด ด้วยคำแนะนำจากคุณหมอ ศรีวิชา ครุฑสูตร จาก คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อ “รู้จักรับมือโรคเขตร้อนยอดฮิต” เพื่อเฝ้าระวังและแก้ไขสถานการณ์โดยเฉพาะไข้หวัดใหญ่ที่ตอนนี้มีถึง 4 สายพันธุ์ อาจเรียกได้ว่าเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ของไทยในขณะนี้ เพราะเกิดการเจ็บการตายมากที่สุดในรอบ 5 ปี โดยเฉพาะ 7 กลุ่มเสี่ยง คือ เด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือน-2 ปี สตรีตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคเรื้อรัง เพราะอยู่ในภาวะที่อาจติดเชื้อได้ง่าย ความรุนแรงของโรคและโรคแทรกซ้อนจะมากขึ้น” จุมพฏย้ำ

Advertisement

เพราะทางป้องกัน คือการรับวัคซีน

ส่วนนี้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อาสาฉีดวัคซีนให้ฟรีไม่จำกัดจำนวน สำหรับคนที่อยู่ใน 7 กลุ่มเสี่ยง ส่วนทางด้าน รพ.รามาธิบดี ก็ใจดีฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฟรี 4 สายพันธุ์ ให้กับผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไป 100 เข็ม ในวันแรก บุคคลทั่วไปเพียง 300 บาท ซึ่งถือว่าคุ้มมาก เพราะถ้าไปฉีดตามโรงพยาบาลเอกชน แบงก์พันมีปลิวกันอย่างแน่นอน

ตรวจสุขภาพหลายรายการ ที่เดียวครบ จบ ฟรี

ขอเน้นย้ำว่า อย่าลืมพกบัตรประชาชนไปลงทะเบียน เพราะในส่วนของไฮไลต์ปีนี้ คือตรวจสุขภาพ และทันตกรรมฟรี ครั้งใหญ่ที่สุดกว่า 30 โรงพยาบาล ครบทั้ง 7 กลุ่มอาการของโรค ตั้งแต่ ตา ปาก หัวใจ มะเร็ง โรคเกี่ยวกับเลือด โรคทั่วไป และแพทย์แผนจีน ที่คัดมาแล้วว่าเชี่ยวชาญที่สุด ครอบคลุมทุกช่วงวัย รองรับกว่า 6,600 คน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

สุรพล พิทยาสกุล

ขอยกส่วนที่เด่นให้เห็นภาพ เริ่มจากกลุ่ม ตา
สุรพล พิทยาสกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายอีเวนต์ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เล่าว่า ปีที่แล้ว รพ.บ้านแพ้ว ผ่าตัดต้อกระจก 100 ราย ปีนี้จัดใหญ่ ตรวจคัดกรองต้อเนื้อเพื่อรับการผ่าตัดฟรี 66 ราย ถวายเป็นพระราชกุศลตามพระชนมายุ เป็นวาระพิเศษที่รักษาครบจนหาย ซึ่งต่อรายค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 9,000 บาท ถือเป็นเรื่องดีที่ทาง รพ.บ้านแพ้ว มาเป็นพันธมิตรสำคัญในการตรวจรักษา รวมทั้งโรงพยาบาล อื่นๆ ทั้ง รพ.เมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) ที่ลงรายละเอียดเรื่องเครื่องถ่ายรูปจอประสาทตา กล้องจุลทรรศน์สำหรับตรวจตา รพ.สินแพทย์ ที่มาช่วยวัดความดันตา คัดกรองต้อหินซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะตาบอด

อีกโรคที่คนเป็นกันมาก คือ โรคมะเร็ง ซึ่งรวมทั้งมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ ในปีนี้ทาง รพ.ราชวิถี มีเครื่องมือพิเศษที่จะนำมาตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ในงาน ให้ผู้มาตรวจทราบผลได้ทันที ด้าน รพ.ศิริราช มีบริการตรวจเต้านมด้วยแมมโมแกรม และ รพ.จุฬาภรณ์ มาร่วมประเมินความเสี่ยงในการรักษาโรคมะเร็ง

“โรคหัวใจไล่กันอีกยาว ตรวจคลื่นแม้เป็นขั้นต้น แต่เป็นสาเหตุของการตายกะทันหันจำนวนมาก”

ในปีนี้ส่วนของ หัวใจ ได้ รพ.ยันฮี รพ.สุขุมวิท รพ.วิภารามปากเกร็ด รพ.เกษมราษฎร์ ประชาชื่น ที่ยื่นมือมาช่วย “ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG)” ซึ่งเป็นการตรวจที่ค่อนข้างละเอียดและมีค่าใช้จ่ายสูง

นอกจากนี้ยังมีบริการตรวจสุขภาพอีกมากมาย

ซึมเศร้า และกัญชา เสวนาสาระแน่น

อัลไซเมอร์อาจหมายถึงคนที่อายุมาก แต่ภาวะซึมเศร้าเกิดได้กับทุกวัย เป็นโรคยอดฮิตที่รู้ตัวอีกทีก็เป็นไปเรียบร้อยแล้ว

จุมพฏ สายหยุด

จุมพฏ เผยว่า เป็นครั้งแรกที่งานเฮลท์แคร์ ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง ปีนี้มีโรงพยาบาลที่ร่วมคัดกรองโรคซึมเศร้าหลายแห่ง เช่น โรงพยาบาลรามาธิบดีที่เรียกได้ว่ายกมาทั้งตัวคลินิก แต่ที่ห้ามพลาดคือโปรแกรม Health Talk “รู้เท่าทัน ป้องกันโรคซึมเศร้า” ซึ่งคุณหมอ อ.นพ.กานต์ จำรูญโรจน์ จากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล “เป็นหมอที่หมอด้วยกันกลัว” จะมาเล่าให้ฟังชัดไปเลยว่า โรคนี้มีอาการและวิธีป้องกันอย่างไร

อีกประเด็นที่มาแรงมาก ยกให้พืชสมุนไพร กัญชา ครั้งนี้ได้เบอร์หนึ่งอย่าง ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร รองผู้อำนวยการด้านการสมุนไพรและการแพทย์แผนไทย รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร มาเผยถึง “ประโยชน์ของกัญชาและการพัฒนาทางการแพทย์แผนไทย” และ “เจาะลึกเรื่องกัญชาทางการแพทย์และสถานการณ์ในประเทศไทย” ไปกับ ศ.นพ.ธีรวัฒน์ เหมะจุฑา คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์

“เพราะคนที่มาพูดเรื่องกัญชา ไม่ใช่นักการเมือง แต่เป็นคนวงในที่ลงมือวิจัยและพัฒนาออกมาอย่างแท้จริง ครั้งแรกในกรุงเทพฯที่เป็นวงใหญ่ขนาดนี้” จุมพฏย้ำ

งานของทุกวัย ถึงไกลแต่สะดวก

“หลายคนมองว่างานเพื่อสุขภาพจะเพื่อผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 35 ขึ้นไป หรือต้องป่วยแล้วถึงไปงาน แต่งานนี้อยากให้คนที่ไม่ได้ป่วยไปป้องกัน เรียนรู้เพื่อสู้กับมันก่อนที่จะป่วย” สุรพลเน้นย้ำ

ดังนั้น ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นคนสูงอายุเพียงอย่างเดียว คนที่อายุน้อยแต่รู้สึกว่าอยากจะใส่ใจดูแลสุขภาพก็เหมาะกับงานนี้ เพราะยังมีอีกหลายรายการ เช่น รันไดอารี โดยโค้ชเป้ง ไอดอลของนักวิ่ง, ฝึกวิ่งง่ายๆ กับ ครูดิน สถาวร จันทร์ผ่องศรี พบกับ สมรักษ์ คำสิงห์ ที่จะมาสอนวิธีออกกำลังกายด้วยมวยไทย ช่วงเย็นมี Relax Hour เป็นการออกกำลังกายสไตล์กรมพละ รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ ตลอดทั้งวัน อาทิ การชงชา กิจกรรม “จัดบ้านสร้างสุข” เพื่อจัดระเบียบชีวิต

ด้าน จุมพฏ ย้ำอีกเสียงว่า งานนี้เหมาะกับทุกคนในครอบครัว เพราะมติชนดีไซน์มาให้ครบทุกเพศทุกวัยเนื่องจากสามารถขยายพื้นที่จัดงานได้ถึง 2,000 ตร.ม.

สถานที่ไกลดูเหมือนจะเป็นปัญหา แต่ความจริงคือมีที่จอดรถรองรับมากขึ้น สามารถมาได้ทั้งบ้าน ส่วนคนที่ไม่มีรถ ก็มีบริการรับ-ส่ง โดยเชิดชัยคอร์ปอเรชั่น จำกัด จากบีทีเอสหมอชิตถึงงานฟรี 3 รอบ ตลอดทั้ง 4 วัน หรือจะเลือกนั่ง Grab พร้อมส่วนลดสุดสุด 50 เปอร์เซ็นต์ ก็ได้ตามแต่สะดวก

“การเมืองเปลี่ยนชีวิตไม่ได้ แต่ 4 วันนี้ อาจเปลี่ยนชีวิตได้ เพียงไปช้อปสิ่งที่เป็นประโยชน์กับสมอง ไปเรียนรู้สู้สารพัดโรค เพื่อปรับร่างกายให้ดีขึ้น เพราะความรู้ที่ดีที่สุดด้านสุขภาพอยู่ในงานนี้ ซึ่งมีค่ามากกว่าการตรวจรักษา”

“เพราะสุขภาพที่ดี คือทรัพย์สินที่มีค่าที่สุด ทั้งปีมี 365 วัน แต่มีอยู่ 4 วัน ที่มติชนจะมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับชีวิตคุณได้ นั่นคือโอกาสในการมีสุขภาพที่ดี”         


งานเฮลท์แคร์ เรียนรู้ สู้โรค 2019

จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 มิถุนายน 2562

เวลา 10.00-20.00 น. ที่อิมแพค เมืองทองธานี ฮอลล์ 5

มีบริการรถรับส่งฟรีตลอด 4 วัน จากสถานีรถไฟฟ้าหมอชิต (ทางออกที่ 2 และ 4) ถึงเมืองทองธานี เวลา 08.00 น., 11.00 น., 13.00 น. และ จากเมืองทองธานี ถึงสถานีรถไฟฟ้าหมอชิต เวลา 13.00 น., 15.00 น. และ 17.00 น.

ลูกค้า Grab รับส่วนลดค่าเดินทางสูงสุด 50เปอร์เซ็นต์

รายละเอียดเพิ่มเติม https://www.facebook.com/MatichonEvent

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image