‘สุทธิพงษ์ จุลเจริญ’ กระตุกปมกระจายอำนาจ ถึงเวลาท้องถิ่นดูแลพิพิธภัณฑ์ ‘แห่งชาติ’ ?

ไม่ใช่ครั้งแรกที่แนวคิดถ่ายโอนภารกิจการดูแลพิพิธภัณฑ์ จากกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม กระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ จะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุย ทว่า สิ่งนี้ยังไม่ประสบผลสำเร็จ และไม่ทราบแน่ชัดว่ากระบวนการเกิดติดขัดอยู่ในขั้นตอนไหน?

เพราะหากย้อนไปดู พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 แล้ว จะพบว่าในมาตรา 16 ได้กำหนดให้ เทศบาล เมืองพัทยา และองค์การบริหารส่วนตำบล มีอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบการบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นตนเอง

อาทิ (1) การจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง (11) การบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น (16) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของราษฎรในการพัฒนาท้องถิ่น

โดยคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้จัดทำแผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. โดยกำหนดภารกิจที่ถ่ายโอนด้านศิลปวัฒนธรรม จารีตประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่น ประกอบด้วย แผนภารกิจด้านการป้องกัน คุ้มครอง ควบคุม ดูแล รักษาโบราณสถาน โบราณวัตถุ โดยกำหนดให้กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ถ่ายโอนภารกิจในการบำรุงรักษาโบราณสถาน และการดูแลโบราณสถานระดับท้องถิ่นซึ่งมีขอบเขตการถ่ายโอน ดังนี้ รัฐเป็นผู้ดำเนินการบริหารจัดการมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ, อปท.มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาในขั้นพื้นฐาน โดยรัฐเป็นผู้ให้การสนับสนุน กำกับดูแล ให้คำแนะนำ, รัฐให้การสนับสนุน อปท.ในการจัดให้มีพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุประจำท้องถิ่น

Advertisement

และอีกเรื่องสำคัญที่ต้องขีดเส้นใต้แบบเน้นๆ คือ ให้ถ่ายโอนอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการโบราณสถานและโบราณวัตถุที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ระดับท้องถิ่นให้ อปท. โดยให้มีคณะกรรมการของส่วนกลางที่มีผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และ อปท. ร่วมเป็นคณะกรรมการพิจารณากำหนดว่าโบราณสถานและโบราณวัตถุใดมีระดับความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ในระดับชุมชนและท้องถิ่น สำหรับโบราณสถานและโบราณวัตถุที่มีความสำคัญระดับชาติที่ตั้งอยู่ใน อปท. อาจมอบให้ อปท.ดูแลและจัดการได้ ทั้งนี้ กรมศิลปากรอาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข ขอบเขต เทคนิค และการสนับสนุนจากส่วนราชการให้ อปท.ดำเนินการได้

อย่างไรก็ดี หากมีการค้นพบโบราณสถานและโบราณวัตถุใหม่ในเขตพื้นที่ท้องถิ่น ให้ อปท.แจ้งกรมศิลปากรสำรวจและจัดระดับ เมื่อเป็นของท้องถิ่นแล้ว ให้ถ่ายโอนภารกิจดังกล่าวให้ อปท.ดูแลและบำรุงรักษาต่อไป พร้อมมอบอำนาจการบริหารจัดการต่างๆ เพื่อให้ อปท.สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อข้อกฎหมายชัดเจนขนาดนี้แล้ว เหตุใดภารกิจถ่ายโอนจึงยังไม่บรรลุผล?

Advertisement

ถึงเวลาต้องจริงจัง?

“อาจจะยังไม่ได้คุยกันอย่างจริงจัง ซึ่งกฎหมายจัดตั้งเขาเปิดกว้าง ท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่อยู่แล้ว เพียงแต่เชิงกฎหมายใหญ่ที่จะถ่ายโอนยังเป็นร่างอยู่ และเราผลักดันมาหลายปีแล้ว”

คำตอบชัดเจนจาก สุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ต่อความต้องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นโดยแท้

ก่อนจะเล่าถึงแนวคิดการเดินหน้าภารกิจครั้งสำคัญว่า ด้วยประเทศไทยมีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน ทุกจังหวัดล้วนมีสิ่งที่บรรพบุรุษทิ้งไว้ให้ โดยเฉพาะเมื่อผู้คนส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา ประชาชนมีจิตศรัทธา ทำให้ถาวรวัตถุต่างๆ มีอยู่จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นชิ้นเล็กไปจนถึงชิ้นใหญ่ อยู่ใต้น้ำหรืออยู่บนดินมากมาย รวมทั้งการให้หน่วยงานราชการอย่าง กรมศิลปากร ดูแลมาอย่างยาวนาน ซึ่งก็ถือเป็นคุณูปการ ทว่า ด้วยขอบเขตกว้างใหญ่ ตลอดจนงบประมาณและบุคลากรอันน้อยนิด ทำให้ปรากฏข่าวดังที่เห็นว่า ของมีค่าที่อยู่ในท้องถิ่นซึ่งเป็นมรดกของชาติเกิดสูญสลายหายไป แม้บางส่วนจะเรียกร้องนำกลับคืนมาได้ก็ตาม

“ด้วยข้อจำกัดเหล่านี้ หากให้คนในท้องถิ่นรับผิดชอบดูแล ซึ่งมีความพร้อมในการเป็นเจ้าของพื้นที่ ไม่ค่อยไปไหน รวมทั้งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากส่วนกลาง และแม้จะขาดความรู้ ความเข้าใจในการจัดการโบราณสถานหรือโบราณวัตถุที่ตรงตามหลักวิชาการ ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะเรามีกรมศิลปากรอยู่แล้ว เขาสามารถปรับเปลี่ยนภารกิจหลักจากการดูแลรักษาอย่างเดียว มาเป็นผู้แนะนำ กำกับดูแล คอยวางแนวทางให้ท้องถิ่นจัดการได้

ภาพถ่ายทับหลังปราสาทเขาโล้น อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว (ในอดีตยังเป็นจังหวัดปราจีนบุรี) จากหนังสือศิลปะสมัยลพบุรี โดย ศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ม.ศิลปากร ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2510 หนึ่งในโบราณวัตถุที่อยู่ในลิสต์ทวงคืน ซึ่งเป็นหลักฐานมัดแน่นว่าทับหลังที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย ชง-มูน ลี สหรัฐอเมริกา เคยอยู่ในประเทศไทย

“แนวโน้มแบบนี้ไม่ใช่สิ่งที่ผมคิดเอาเอง แต่แนวโน้มในสังคมก็มีความเห็นเป็นอย่างนี้มาก ดังนั้น จึงปรากฏเป็นข่าวเมื่อ 4-5 ปีก่อน ในเรื่องการให้ท้องถิ่นดูแลพิพิธภัณฑ์ เพียงแต่การขับเคลื่อนในการถ่ายโอนภารกิจหน้าที่ไปสู่ท้องถิ่นยังไม่เข้มข้น อาจเป็นเพราะกฎหมายหลักยังไม่ออก รวมทั้งเรื่องของใจซึ่งก็มีส่วนสำคัญ หากให้ท้องถิ่นดูแลของเขาได้ ซึ่งไม่ใช่การดูแลแบบอิสระ เพราะจะให้กรมศิลปากรที่เก่งอยู่แล้วเป็นผู้กำกับ แนะนำ แต่ในงานรายวันหรือด้านปฏิบัติก็ให้ท้องถิ่นเขาทำไป” อธิบดี สถ.เน้นย้ำ และบอกอีกว่า

ส่วนตัวแล้วอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด ซึ่งคำว่า “ก้าวกระโดด” คืออย่าใช้เวลานานมาก ควรรีบๆ อันจะเกิดประโยชน์ต่อไป

ใครบอกว่า ‘จดหมายเหตุ’ เป็นเรื่องเก่า?

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่อธิบดีท้องถิ่นเน้นย้ำนอกจากงานพิพิธภัณฑ์ คือ จดหมายเหตุ

“จดหมายเหตุเป็นเรื่องสำคัญและไม่ใช่เรื่องเก่าอย่างเดียว ผมกล้าถามเลยว่า คนไทยเข้าใจหรือเปล่าว่ามันไม่ใช่เรื่องเก่าอย่างเดียว เรื่องวันนี้ก็เป็นจดหมายเหตุได้และมีคุณค่าด้วย จะโทษคนไทยก็ไม่ได้ ต้องโทษพวกผมที่เป็นข้าราชการ สิ่งนี้ท้องถิ่นควรรับเข้ามาเพราะเป็นเรื่องเดียวกัน นั่นคือ การให้ท้องถิ่นรักษารากเหง้าของตนเองตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน อนาคตให้ยังอยู่ ให้ลูกหลานมีความภาคภูมิใจ ซึ่งความภาคภูมิใจนั้นกินได้ เพราะมันทำให้คนทุกคนรัก หวงแหน

“ที่สำคัญคือเกิดรายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เหมือนเราทำโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวแบบอนุรักษ์ความเป็นไทยเอาไว้ได้ชั่วกัปชั่วกัลป์ เพราะเราจะได้คนท้องถิ่นที่มีความรู้เรื่องราวของท้องถิ่นตัวเอง สามารถอวดโชว์ได้ ไม่ต้องสร้างไกด์ มัคคุเทศก์ เพราะทุกอย่างจะออกมาเอง

“ถึงเวลาที่เราต้องกระตุ้นให้ส่วนราชการถ่ายโอนภารกิจให้ท้องถิ่น กระตุ้นให้ท้องถิ่นเห็นความสำคัญในการรับภารกิจที่สำคัญในชีวิตอีกอย่างหนึ่งมาอยู่ในการดูแลเอาใจใส่และขับเคลื่อนในท้องถิ่น จะเห็นว่าผมไม่ได้พูดเรื่องเงินเลย เพราะเราทำได้เลยโดยไม่ต้องจัดเงินเพิ่ม”

แง้ม พ.ร.บ.โบราณวัตถุสถาน

ก่อนไปสู่แนวทางการดูแลรักษาโบราณสถานโดย อปท.นั้น ปัจจุบันในด้านกฎหมายได้มีการจัดทำ ร่าง พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (ฉบับที่ …) พ.ศ. … เพื่อแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการกำหนดขั้นต้นการกระจายอำนาจให้แก่ อปท.

โดยมีสาระสำคัญคือ โบราณสถานอยู่ในเขต อปท.ใด ให้ผู้บริหารท้องถิ่นโดยความเห็นชอบของสภาท้องถิ่นของ อปท.นั้น มีอำนาจประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานนั้นเป็นโบราณสถานของ อปท.นั้นได้ หรือในกรณีที่โบราณสถานที่อยู่ในเขต อปท. ซึ่งมิใช่ อปท.รูปแบบพิเศษที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้น อปท.ดังกล่าวอาจยินยอมหรือมอบหมายให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่โบราณสถานนั้นตั้งอยู่ในเขตเป็นผู้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของจังหวัดได้ ซึ่งการยินยอมหรือมอบหมาย และประกาศขึ้นทะเบียนดังกล่าวต้องได้รับความเห็นชอบจากสภา อปท.หรือสภา อบจ.

รวมทั้งกำหนดให้อธิบดีกรมศิลปากรอาจมอบหมายให้ อปท.ที่โบราณสถานตั้งอยู่ ทำการซ่อมแซม แก้ไข เปลี่ยนแปลง ต่อเติม รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายโบราณสถาน และเมื่อได้รับมอบหมายให้ดำเนินการดังกล่าวแล้ว ให้ อปท.มีหน้าที่อนุรักษ์ คุ้มครอง และทำนุบำรุงโบราณสถานนั้นแทนกรมศิลปากร

พระโพธิสัตว์สัมฤทธิ์จาก อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ อีกหนึ่งโบราณวัตถุที่ยังมีการเรียกร้องทวงคืนอย่างต่อเนื่อง หลังจากมีบริษัทนำไปประมูลขาย ก่อนนำจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทน สหรัฐอเมริกา (ภาพถ่ายโดย ดร.รังสิมา กุลพัฒน์)

สำหรับแนวทางการดูแลรักษาโบราณสถานโดย อปท. ประกอบด้วย การสนับสนุนการดำเนินการของหน่วยงานในสังกัดในการดูแลรักษาสภาพแวดล้อม เช่น ความสะอาด การกำจัดขยะมูลฝอยและวัชพืช, การดำเนินการด้านสาธารณูปโภคในพื้นที่ของ อปท.เพื่อความสะดวกในด้านต่างๆ เช่น การเดินทางมาเข้าชม การจัดหาป้ายแสดงแหล่งโบราณสถาน, การส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยจัดกิจกรรมในโอกาสสำคัญต่างๆ เพื่อให้ประชาชนท่องเที่ยวในพื้นที่ สร้างจิตสำนึกให้เห็นคุณค่าของโบราณสถาน, การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเพื่อเก็บรวบรวมโบราณวัตถุ สิ่งของที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ต่างๆ, การประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ โบราณสถาน ชุมชนเก่าแก่ เพื่อให้ประชาชนเห็นคุณค่าและความเป็นมาของท้องถิ่น ตลอดจนความเป็นชนชาติไทย และการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับมรดกทางโบราณสถานและวัฒนธรรม เช่น การศึกษา รวบรวม และจัดพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับแหล่งโบราณสถานต่างๆ

เพราะกรุงโรมไม่ได้สร้างภายในวันเดียว

ท้ายที่สุด เมื่อร่างกฎหมายก็มี แถมยังผลักดันต่อเนื่อง อีกทั้งหน่วยงานกลางก็พร้อม ถามว่าคนตัวเล็กๆ ในท้องถิ่นเขาพร้อมหรือยัง?

“ต้องถามเราก่อนว่าพร้อมมอบหรือยัง?” อธิบดีสุทธิพงษ์กล่าวติดตลก

ก่อนจะอธิบายว่า เรามีท้องถิ่น 7,852 แห่งทั่วประเทศ ถ้ามีคนสมัครใจทำ 100 แห่งก็นับว่าดีแล้ว ดังนั้น คำว่าพร้อมหรือไม่พร้อม ต้องตอบว่าพร้อม แต่ไม่จำเป็นว่าต้องพร้อมเหมือนกันทุกแห่ง คนท้องถิ่นเขารักบ้านเขา โดยความพร้อมของท้องถิ่นแรกๆ จะเป็นแรงบันดาลใจให้ท้องถิ่นอื่นๆ เลียนแบบ และจะดีขึ้นๆ ต่อไป

อย่างไรก็ตาม โบราณสถานปรางค์กู่บ้านเขวา อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม ถือเป็นตัวอย่างการถ่ายโอนภารกิจการดูแลรักษาและบำรุงรักษาโบราณสถานตามแผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่ อบต.เขวา ดูแลรักษา ซึ่ง อปท.ที่ได้รับการถ่ายโอนภารกิจมีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาและจัดการโบราณสถานที่อยู่ในเขตพื้นที่ของตน

“โบราณสถานปรางค์กู่บ้านเขวา” ตัวอย่างการถ่ายโอนภารกิจให้แก่ อบต.เขวา ดูแลรักษา โดย อปท.ที่ได้รับการถ่ายโอนมีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาและจัดการโบราณสถานที่อยู่ในเขตพื้นที่ของตน (ภาพจากสำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น)

“หลักการนานาอารยประเทศคือ ส่วนกลางต้องเล็กลง ไม่ใช่เฉพาะเรื่องนี้ แต่ยังรวมถึงเรื่องสาธารณูปโภค สาธารณูปการ รวมทั้งภารกิจที่เป็นการบริการสาธารณะ ซึ่งต้องถ่ายโอนให้ท้องถิ่นเพิ่มขึ้น แต่บ้านเราเป็นลักษณะรวมศูนย์อำนาจ ส่วนใหญ่จะอยู่ส่วนกลางหมด จริงๆ มันเป็นยุคที่ต้องเป็นแบบนั้นไปแล้ว เพียงแต่เราต้องมีบริบทของความมั่นคงภายใน เรื่องคุณภาพมาตรฐานการบริการที่ส่วนกลางต้องดูแล ซึ่งเราดูแลได้อยู่แล้ว เพราะท้องถิ่นยังเลี้ยงตัวเองไม่ค่อยได้ ส่วนกลางยังต้องจัดสรรงบประมาณ ออกกฎระเบียบอยู่แล้ว ดังนั้น จึงไม่น่ากลัวอะไร

“ไม่ใช่แค่เรื่องโบราณวัตถุ โบราณสถาน หรือพิพิธภัณฑ์ แต่มันคือทุกเรื่องของชีวิต การศึกษาก็อย่างหนึ่ง การดูแลเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ด้อยโอกาส ฉะนั้น การให้ท้องถิ่น 7,852 แห่งดูแล ย่อมดีกว่าให้กระทรวงหนึ่งดูแล นี่เป็นหลักที่ผมคิดว่ามันถูกและควรจะช่วยกัน”

ถามว่าจะสำเร็จไหม? อธิบดีท้องถิ่นแย้มยิ้ม ก่อนจะตอบด้วยเสียงดังฟังชัด

สำเร็จสิ ถ้าช่วยกัน แต่ว่ากรุงโรมไม่ได้สร้างภายในวันเดียวนะ ต้องใช้เวลา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image