นานาทรรศนะต่อคุกไทย เสียงสะท้อน หลากมุม “บิ๊กเนม-นักวิชาการ-นักเคลื่อนไหว”

หากพูดถึง “คุก” หรือเรือนจำ หลายคนคงจะจินตนาการถึงความน่ากลัว ความแออัด ของผู้ต้องขังที่ต้องนอนเบียดเสียดกัน ความลึกลับ รวมถึงระบบบางอย่างที่เกิดขึ้น น้อยคนที่รู้ว่าสภาพความเป็นจริง นั้นเป็นเช่นไร

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เปิดเวที จัดเสวนาในหัวข้อ “นานาทรรศนะต่อคุกไทย-สิ่งที่เห็นกับสิ่งที่ควรจะเป็น” เพื่อต้องการสื่อสารปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน ในระบบเรือนจำของไทยอีกครั้ง โดยเชิญวิทยากร ผู้เคยมีประสบการณ์ตรงกับเรือนจำโดยต่างกรรมต่างวาระ

เรื่องเล่าจากแดนหญิง

วงเสวนาเริ่มต้นสะท้อนปัญหาจาก “จินตนา แก้วขาว” นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งเธอต้องโทษจำคุก 2 เดือน “แดนหญิง” เรือนจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จินตนาเล่าถึงปัญหาปัจจัย 4 ในเรือนจำ เรื่องของอาหาร การกิน ก็ค่อนข้างซ้ำซาก คุณภาพค่อนข้างต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ควรจะเป็น จึงทำให้ผู้ต้องขังต้องตัดสินใจซื้ออาหารจากฝ่ายเรือนจำ หรือแม่ค้าที่นำอาหารเข้ามาขาย เพราะเธอชี้ว่านี่เป็นทางรอดเดียวที่สามารถจะกระเดือกอาหารเข้าสู่ร่างกายได้ และหลายครั้งที่กินอาหารของเรือนจำไม่ลง ส่วนภาพความเป็นอยู่เรื่องที่อยู่อาศัยและเครื่องนุ่งห่ม เธอเล่าบรรยายากาศของผู้ต้องขังใหม่ให้ฟังว่า

“ผู้ต้องขังใหม่จะถูกจัดที่ ให้ไปนอนข้างส้วม และภาพส้วม เพื่อการขับถ่ายของผู้ต้องขัง มี 9 ห้อง แต่ผู้ต้องขังมี 300 คน และส้วมในเรือนจำนั้นไม่เหมือนกับส้วมข้างนอก ลักษณะเป็นก่ออิฐสูงจากพื้นประมาณ 1 เมตร ไม่มีหลังคา เวลานั่งส้วมหัวก็จะโผล่ เห็นหน้าเพื่อนร่วมห้อง สุขภัณฑ์ฝังอยู่ระดับเดียวกับพื้น อีกทั้งพื้นก็มีความชื้นแฉะน้ำขัง สภาพที่นอน ก็แออัดมีพื้นที่การนอนกว้างประมาณ 60 ซม./คน ถ้าคนตัวใหญ่การพลิกตัวก็ยากลำบาก และถ้าเมื่อไหร่ลุกไปส้วมที่นอนก็จะหายทันที

Advertisement

“จินตนา” ยังสะท้อนปัญหาเรื่องสุขอนามัยของผู้ต้องขังหญิง ในเรื่องของ “ผ้าอนามัย” ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นของผู้หญิง จินตนาเล่าว่า เรือนจำจะแจกผ้าอนามัย 2 เดือน มีแจกครั้งเดียว แล้วก็เป็นแบบห่อเล็กสี่ชิ้นห้าชิ้น แล้วเป็นชิ้นบางๆ มันไม่พอ สอง-เกิดการขโมยชุดชั้นในในเรือนจำ พอแจงเจ้าหน้าที่ก็ไม่มีการแก้ปัญหา ชะโงกมองและไม่ไขประตูเข้ามาห้ามเหตุ โดยบอกว่ากุญแจห้องขังแดนหญิง ไปอยู่ที่แดนชาย หลัง 18.00 น. ถ้าไฟไหม้ทำยังไง นอกจากนั้นยังมีเรื่องเสื้อผ้านักโทษ 2 ชุดต่อคน ถ้าวันไหนฝนตกชุดที่ซักมักจะแห้งไม่ทันใช้ ส่วนเรื่องยารักษาโรค ผู้ต้องขังจะไม่สามารถพกยาไว้ที่ตัวได้ต้องไปเบิกด้วยตัวเอง และต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าป่วยจริง ซึ่งนี่เป็นข้อจำกัดการเข้าถึงการรักษาพยาบาล เรือนจำ 1 แห่ง มีแพทย์แค่ 1 คน ทางแก้ปัญหาของเรือนจำก็คือ การจัดอบรมให้ผู้ต้องขังปฐมพยาบาลกันเอง แต่นางจินตนามอง ว่าไม่ค่อยเป็นผล เนื่องจากผู้ต้องขังมีปัญหาขัดแย้งผิดใจกันอยู่เป็นประจำ จึงไม่ค่อยให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

Advertisement

เสียงจากเรือนจำชาย

อดีตผู้ต้องขังบิ๊กเนม อย่าง “หมอเลี๊ยบ” นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมว.ไอซีที ก็ได้ถ่ายทอดปัญหาที่พบเจอมาในห้วงเวลา 10 เดือน ที่ต้องโทษในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ นพ.สุรพงษ์บอกว่า คุกไทยมีคนเข้ามากกว่าคนออก กรมราชทัณฑ์ต้องใช้งบประมาณปีละประมาณ 1 หมื่นล้านในการจัดการ ซึ่งถือว่าเป็นงบประมาณที่มากกว่าหลายๆ กระทรวง การออกจากเรือนจำยากกว่าเมื่อก่อน เนื่องจากกระบวนการพักโทษและอภัยโทษทำได้ยากขึ้น เป็นเหตุให้เกิดความแออัดของผู้ต้องขัง จำนวนผู้ต้องขังมากกว่าผู้คุม

นพ.สุรพงษ์มองว่า หลายคดีไม่จำเป็นต้องอยู่ในนั้นเลย จะด้วยความล้าสมัยทางกฎหมายก็ได้จึงต้องตัดสินด้วยการจำคุกผู้ต้องขังจำนวนมากยังไม่ได้ถูกตัดสินว่ามีความผิด ส่วนใหญ่เป็นคดียาเสพติด และยิ่งไปกว่านั้นในช่วงของการกวาดล้างแรงงานเพื่อนบ้านก็จะยิ่งมีผู้ต้องขังเพิ่มขึ้นไปอีก บางคนถูกคุมขังเพราะไม่มีเงินประกันตัวหรือค่าใช้จ่ายในการสู้คดี ในขณะที่บางคนอยู่ในเรือนจำมาแล้วถึง 18 เดือน โดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัว อีกทั้งยังไม่เคยขึ้นสืบพยานแม้แต่ครั้งเดียวในศาลชั้นต้น ดังนั้น ในขณะที่คดียังไม่สิ้นสุดก็จะไม่ได้สิทธิรับการพิจารณาว่าผู้ต้องขังเป็นนักโทษชั้นใด จึงไม่มีสิทธิได้รับการพักโทษหรืออภัยโทษ ดังนั้น ระบบการประกันตัวควรเป็นเรื่องที่กระบวนการยุติธรรมควรทบทวนอย่างจริงจัง การรวมศูนย์อำนาจของกรมราชทัณฑ์และกระทรวงยุติธรรมยังส่งผลต่อเสรีภาพของผู้ต้องขังด้วย ซึ่งทำให้กระบวนการพิจารณาพักโทษเคยเป็นหน้าที่ของเรือนจำ แต่ภายหลังเป็นการพิจารณาโดยกระทรวงยุติธรรม ทำให้ระยะเวลาพิจารณาล่าช้าขึ้นจาก 1 เดือน กลายเป็น 4-6 เดือน ซึ่งเท่ากับว่าผู้ต้องขังจะต้องอยู่ในเรือนจำนานขึ้นโดยไม่จำเป็น อีกทั้งคำสั่งบางอย่างของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ก็ไม่มีการเปิดเผยให้สาธารณชนตรวจสอบ

ส่วนการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยช่วงที่ตนเองจะพ้นจากเรือนจำ ได้เข้าโครงการเตรียมความพร้อมก่อน ซึ่งมองว่าบางโครงการก็เป็นเรื่องที่ดี เช่น การฝึกสมาธิ

อีกทั้งยังตั้งข้อสังเกตว่า กรมราชทัณฑ์ยังไม่ปรับระบบไปใช้เทคโนโลยีการควบคุมตัว เช่น การติดตามข้อมูลผู้ต้องหาด้วยกำไลข้อเท้า GPS และแอพพลิเคชั่น ประกอบกับกระบวนการยุติธรรม ได้ส่งผลให้ “คนล้นคุก” และนำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรและงบประมาณพัฒนาคุณภาพเรือนจำ

นอกจากนี้ ยังเล่าถึงการเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลของผู้ต้องขังว่า “การเข้าไม่ถึงสิทธิรักษาพยาบาลของผู้ต้องขัง การฝึกอาชีพที่ไม่จริงจัง ห้องสมุดมีแต่หนังสือเก่าและไม่ให้อ่านหนังสือพิมพ์ เราเรียกกรมราชทัณฑ์ว่า Department of Correction แต่ไม่เห็นกระบวนการ Correction ผมเรียนว่าไม่มีวันได้เห็นของจริง ถ้าไม่ได้ไปอยู่ ทุกอย่างจะถูกจัดฉากหมด เวลาใครจะเข้าไปทีหนึ่งจะมีการล้างเรือนจำกันขนานใหญ่ ตัวผู้คุมก็จะกำหนดพื้นที่ให้นักโทษต้องอยู่ในแดนนี้เท่านั้น ผู้ต้องขังจะนั่งกันเรียบร้อยเพราะถูกกำชับไว้แล้ว และสภาพแวดล้อมจะสะอาดมากซึ่งของจริงจะไม่เป็นอย่างนั้น”

มุมนักวิชาการ

ศ.ดร.นภาภรณ์ หะวานนท์ นักวิจัยด้านเรือนจำสุขภาวะมากว่า 10 ปี ให้ความเห็นมุมมองที่น่าสนใจว่า เรือนจำมีคนมากเกินไป สาเหตุที่คนมาก เราต้องกลับไปดูวิธีคิดระบบการลงโทษ แต่ปรากฏว่ายิ่งทำไปมันเหมือนกับแก้ปัญหาสังคมด้วยการใช้การจำคุกเป็นตัวแก้ไข เช่น ยาเสพติดเยอะ ก็ออกกฎหมายให้เข้มงวดเข้าไว้ ถ้าเจอยาเสพติดในรถ คน 5 คนในรถก็ติดคุกหมด โอกาสที่จะหลุดบอกได้เลยว่าน้อยมาก คนที่เข้าไปเขารู้สึกว่าเขาไม่ผิด มันเกี่ยวกับระบบคิดที่มองว่าไม่สามารถจะทำอะไรได้ ก็เอาเข้าคุกเข้าไว้ก่อน ส่วนตัวคิดว่ามันทำให้แก้ตัวได้ว่าฉันได้ปราบปรามยาเสพติดแล้ว แล้วมันจริงหรือไม่ คนเข้าไปอยู่ในคุกเยอะแยะ แต่ยาเสพติดก็เยอะแยะไปหมด ส่วนตัวยังเห็นว่าคนอย่างน้อย 70 เปอร์เซ็นต์ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในคุก

ศ.ดร.นภาภรณ์ยังเสนอการแก้ปัญหา 3 ประเด็นที่ต้องเปลี่ยน ประเด็นแรกคือ การอยู่อย่างมีสุขภาวะที่ดี ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องวิถีการดำรงชีวิต ทำไมเราต้องทำให้คนที่อยู่ในเรือนจำมีวิถีการดำรงชีวิตต่างจากคนที่อยู่ข้างนอก ควรทำให้วิถีชีวิตข้างในเรือนจำเหมือนวิถีชีวิตข้างนอกให้มากที่สุด ประเด็นที่ 2 เรือนจำเป็นสถาบันเบ็ดเสร็จ หมายความว่าทันทีที่คุณเดินเข้าเรือนจำ คุณถูกยึดหมดทุกอย่าง ทุกอย่างเรือนจำจะเป็นคนจัดหาให้ ด้วยความที่เป็นสถาบันเบ็ดเสร็จ มันก็ทำให้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจเด็ดขาดเกินไป ที่นั่งกับพื้นมันมาจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ผู้ต้องขังที่อยู่มานานจะพอใจกับการทำแบบนี้ การที่เขาสยบยอม

    ทำให้เขาได้รับความเมตตา ความรักกลับมา ถ้าจะเปลี่ยนตรงนี้ เราต้องเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้คุมกับผู้ที่ถูกคุม ต้องเปิดช่องให้มีความเสมอภาคมากขึ้น ประเด็นที่ 3 “มีวิธีของผู้บัญชาการเรือนจำ มี ผบ.เรือนจำจำนวนหนึ่งที่เชื่อว่าการฝึกวินัยอย่างเข้มข้นเป็นวิธีการหนึ่งที่จะ Correction เพราะฉะนั้นเราจะเจอวิธีการทำโทษ โดยเฉพาะผู้ชาย แบบโหดร้ายทารุณมากคือให้อยู่กลางแดดตลอดเวลา นี่คือการละเมิดสิทธิ บางเรื่องการลงโทษมีกฎอยู่แล้ว แต่ไม่ทำ เช่น ผู้หญิงห้ามเฆี่ยน แต่กลับใช้กระบอง บางอย่างไม่มีกฎก็ต้องออกกฎ” ทั้งหมดนี้คือสาเหตุที่ทำให้หน่วยงานที่ต้อง “แก้ไขให้ถูกต้อง” ไม่อาจทำสิ่งที่ต้องทำให้ถูกต้องได้

และนี่เป็นอีกสะท้อนหนึ่งที่ไม่ค่อยมีใครได้ยิน ดังนั้น หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลองฟังเสียงสะท้อนนี่และนำไปปรับใช้ เชื่อว่า “คุกไทย” ได้ก้าวไปสู่มาตรฐานที่แท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image