‘จ่านิว’ เอฟเฟ็กต์ สัญญาณอันตราย เมื่อเราเห็นต่างกันไม่ได้ ?

สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว เป็นที่รู้จักจากการเคลื่อไหต้านอำนาจ คสช.ตลอดหลายปีที่ผ่านมา

“เหมือนตีหัวคนไทยทั้งประเทศ” คือคำกล่าวของ จตุพร พรหมพันธุ์ อดีตแกนนำ นปช. ต่อกรณีการรุมทำร้ายนักกิจกรรมตัวเด่นอย่าง จ่านิว สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ในช่วงกลางวันแสกๆ ของศุกร์ที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา

ไม่ว่าถ้อยความเปรยดังกล่าวจะจริงหรือไม่ แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้คือเหตุการณ์นี้ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนในสังคมไทยระดับหลายริกเตอร์ ทั้งยังเป็นภาพสะท้อนที่หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่านี่คือสัญญาณที่น่ากลัวของการไม่อาจยอมรับผู้มีความเห็นต่าง ถึงขนาดต้องใช้กำลังความรุนแรง โดยก่อนหน้านี้ จ่านิวก็เคยถูกรุมทำร้ายที่ป้ายรถเมล์มาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่ายังไม่อาจควานตัวคนร้ายมาลงโทษได้ เช่นเดียวกับนักเคลื่อนไหวอีกหลายรายที่เลือดตกยางออกมาแล้วหลายคนและหลายครั้ง อย่าง เอกชัย หงส์กังวาน ซึ่งทั้งโดนเผารถ ก่อนจะถูกทำร้ายร่างกายโดยชายไม่ทราบชื่อ กระทั่งได้รับการแจ้งเตือนตามที่เจ้าตัวโพสต์สั้นๆ แต่สนั่นโซเชียลว่า “มีคนสั่งให้ฆ่าผม”

ยังมีกรณีของ อนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือฟอร์ด เส้นทางสีแดง ที่โดนชายถึง 6 คน ขี่จักรยานยนต์ 3 คัน ฟาดจนหัวร้างข้างแตก เย็บเบาๆ 8 เข็ม และแน่นอน ยังจับมือใครดมไม่ได้

ประชาชนโชว์ภาพเอกชัย หงส์กังวาน ขณะรวมตัวประณามการทำร้ายร่างกายนักกิจกรรมรายดังกล่าวหน้าศาลอาญา ซึ่งเป็นจุดเกิดเหตุ

ไหนจะเคสถูกคุกคามของ เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษาค่ายธรรมศาสตร์ ที่มีสายลึกลับโทรขู่ยามค่ำคืน จนต้องขึ้นโรงพักแจ้งความกันมาแล้ว

Advertisement

ถ้านั่งนับจำนวนครั้งของการคุกคามนักกิจกรรมทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ ก็ต้องบอกว่า จำนวนนิ้วมือไม่พอนับ ดังเช่นที่ โครงการอินเตอร์เนตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ รวบรวมแบบเน้นๆ ไม่นับประเด็นหยุมหยิม นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 จนถึงวันนี้ พบว่าอีเวนต์ข่มขู่ คุกคาม กระทั่งทำร้าย จ่านิว-เอกชัย-ฟอร์ด-เพนกวิน รวมแล้ว 15 ครั้ง แต่ครั้งนี้รุนแรงที่สุด โดยจ่านิวยังอาการสาหัส ต้องเข้าผ่าตัดดวงตาที่น่าห่วงว่าจะกลับมาเหมือนเดิมหรือไม่ ดั้งจมูก กระดูกใบหน้าแตก เลือดคั่ง แม้แพทย์สั่งสแกนสมองแล้วยังไม่พบภาวะผิดปกติ แต่ยังต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ทั้งที่อีกไม่นานจะได้เดินทางไปเรียนต่อด้านรัฐศาสตร์จากการได้รับทุนรัฐบาลอินเดีย

สถานการณ์นี้ผลักดันให้เกิดความเคลื่อนไหวจากทั้งฝ่ายประชาธิปไตยและฝ่ายคิดต่าง ที่พากันออกมาประณามการก่อเหตุ ไม่ว่าจะเป็นสุริยะใส กตะศิลา, ทยา ทีปสุวรรณ รวมถึงโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ และอีกมากมาย อย่างไรก็ตาม ยังมีความเห็นในเชิง “สมน้ำหน้า” สะใจ และตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการสร้างสถานการณ์หรือไม่ ซึ่งนักวิชาการมองว่าไม่เพียงการรุมทำร้ายจ่านิวที่เท่านั้นที่เป็นสัญญาณน่าห่วง หากแต่ความคิดความเห็นที่แตกต่างอย่างสุดขั้วในสังคมไทยสะท้อนความแตกร้าวที่ลึกลงไปถึงขั้นอันตรายอย่างยิ่ง

หนามตำใจ หวังสั่งสอนใคร “อย่าลุกต่อต้าน”?

ก่อนไปถึงประเด็นอื่นใด คงต้องย้อนหลังไปเปิดโปรไฟล์วีรกรรมทำเพื่อประชาธิปไตยที่เชื่อกันว่าส่งผลให้จ่านิวถูกทำร้ายร่างกายในวันนี้

Advertisement

จ่านิวเป็นนักเคลื่อนไหวด้านการเมือง หนึ่งในแกนนำ “คนอยากเลือกตั้ง” ที่ปรากฏทางหน้าสื่อบ่อยครั้ง

จ่านิวชวนคนไทยเขียนจดหมายถึง ส.ว. ล่ารายชื่อปิดสวิตซ์โหวตนายกฯ ที่ลานโพธิ์ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ก่อนถูกทำร้ายครั้งแรก เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กระทั่งโดนซ้ำ 2 อาการยังสาหัส

เป็นผู้ถูกดำเนินคดีนับไม่ถ้วน ที่ผ่านมา เคยโดนทหารคุมตัวไปดำเนินคดี เหตุฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง จากการจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก” หน้าหอศิลปวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2558 ก่อนจะถูกปล่อยตัว พร้อมเงื่อนไขห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง ยังมีกิจกรรม “นั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง” ซึ่งทำให้โดนทหารคุมตัวเช่นเคย กระทั่งศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งจำหน่ายคดีดังกล่าวในเดือนกุมภาพันธ์ 2561

ไม่เข็ด เดินหน้าต่อ ตั้งโต๊ะ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีตามจุดต่างๆ ร่วมกับเพื่อนๆ นักกิจกรรม สุดท้ายโดยรุมทำร้ายอย่างไม่แน่ชัดว่าเกี่ยวพันกับกิจกรรมดังกล่าวหรือไม่ แต่สังคมไทยฝ่ายประชาธิปไตยไม่มีเหตุให้คิดเป็นอย่างอื่น

ในงาน “ดนตรีประชาธิปไตย 24 มิถุนา วันอะไร?” เมื่อค่ำคืนวันที่ 29 มิถุนายน ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน ซึ่งเป็นงานที่ บอล ธนวัฒน์ วงค์ไชย คู่หูร่วมอุดมการณ์บอกว่า จ่านิวตั้งใจกับงานนี้มากก่อนถูกดักฟาดหัว มีผู้คนมากมายแห่ร่วมเพื่อให้กำลังใจจ่านิว หนึ่งในนั้นคือ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งตั้งข้อสังเกตอย่างน่าสนใจว่า นี่ไม่ใช่แค่การทำร้ายจ่านิวแบบปัจเจกบุคคล หากแต่เป็นการสั่งสอนทุกคนว่า “อย่าลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจที่ไม่เป็นธรรม”

“…..จ่านิวได้ทำความระคายเคืองให้กับผู้มีอำนาจเป็นจำนวนหลายครั้ง ปฏิเสธไม่ได้ว่าการถูกทำร้ายร่างกายร่างกายอย่างอุกอาจ กลางวันแสกๆ ในครั้งนี้เป็นเพราะเขาเป็นหนามของผู้มีอำนาจ เขาเป็นหนามของผู้ที่ต้องการสืบทอดอำนาจ การทำร้ายจ่านิวครั้งนี้ไม่ใช่การทำร้ายจ่านิวแต่เป็นการสั่งสอนทุกคนว่าอย่าลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจที่ไม่เป็นธรรม

งานดนตรีประชาธิปไตย 24 มิถุนา วันอะไร? เมื่อเสาร์ที่ 29 มิ.ย. มีผู้เข้าร่วมคับคั่งเพื่อให้กำลังใจจ่านิว

“วันนี้ถึงเวลาแล้วอยากให้ทุกคนมาทำงานร่วมกันเรียกร้องร่วมกันอย่าปล่อยให้คดีนี้ผ่านไปกับสายลมอีก อย่าปล่อยให้คดีนี้เป็นอีก 1 คดีที่ผู้กระทำความผิดไม่ต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่เกิดขึ้นครั้งแรก แต่เกิดขึ้นแล้วกับนักกิจกรรมอีกหลายคน ดังนั้นเดินหน้าต่อไป ข้อเรียกร้องของพวกเราก็คือคนที่ทำผิดจะต้องถูกลงโทษ มารณรงค์เรื่องนี้ด้วยกันเพราะไม่ใช่ความเป็นธรรมให้กับสิรวิชญ์คนเดียว แต่เป็นการเริ่มต้นของการคืนความเป็นธรรมให้กับคนทั้งสังคม” ธนาธรกล่าว

เตือนแรงๆ สั่งสอนดังๆ หรือ ‘หวังเอาชีวิต’ ?

ในขณะที่ยังไม่สามารถพาใครมาขึ้นโรงพักเพื่อสอบถามว่าทำไปเพราะใครสั่ง หรือเบื่อฟัง “ตัวจี๊ด” ทางการปราศรัยกลางแจ้งด้วยความเห็นแย้งกับ คสช.เป็นการส่วนตัว รังสิมันต์ โรม ส.ส.อนาคตใหม่ก็เผยแพร่ภาพวงจรปิดที่บันทึกเหตุการณ์ไว้ได้ ส่งผลให้อาวุธเจ้ากรรมจาก “ไม้เบสบอล” ถูกยกระดับเป็นกระบองเหล็กสั้น หรือ “Blackjack” ซึ่งสามารถพกพา สลัดแล้วยืดได้เหมือนในหนังแอ๊กชั่น ตัวกระบองยืดหยุ่นสูง ตรงปลายเป็นปุ่มหรือลูกตุ้มเหล็ก เวลาใช้ จะมุ่งฟาดไปที่ศีรษะเต็มแรงซึ่งจะทำให้เลือดคั่งในสมอง แม้ไม่ทำให้ตายทันที แต่คนที่โดนตีย่อมบาดเจ็บสาหัส

ประเด็นนี้ เปิดขึ้นโดย รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ตั้งข้อสังเกตว่า

ป้ายข้อความเรียกร้องยุติการคุกคามคนเห็นต่าง

“คนที่สามารถใช้ Blackjack ได้จะต้องฝึกฝนทักษะการต่อสู้มาพอสมควร จึงอาจเป็นตำรวจ ทหาร รปภ. หรืออันธพาลรับจ้างได้ทั้งนั้น ในหนังฮ่องกง Kill Zone : SPL ที่ดอนนี่ เยน เล่นเป็นตำรวจ มีเรื่องหนึ่งที่ดอนนี่ เยน ใช้อาวุธนี้สู้กับ อู๋ จิง ที่ใช้มีด แม้ไม่ใช่อาวุธมีคมแต่ถือว่าเป็นอาวุธอันตรายสำหรับคนที่ใช้เป็น คนจะใช้ Blackjack ได้คล่องน่าจะเป็นมืออาชีพ ไม่ใช่คนทั่วไป จากในคลิปคนกลุ่มนี้น่าจะดักรอทำร้ายจ่านิวหลังจากลอบติดตามจ่านิวมาได้หลายวันแล้ว อีกทั้งมากันสี่คน จักรยานยนต์สองคัน และสวมหมวกกันน็อกทุกคน”

จับไม่เคยได้ คาใจรัฐเพิกเฉย?

หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว มีหลายองค์กรออกแถลงการณ์ประณาม ที่ละเอียดลออและยกข้อมูลเชิงกฎหมายลงลึก คือแถลงการณ์จาก สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ซึ่งร่วมกับหลายองค์กรภาคี โดยจี้ประเด็นความเพิกเฉยของรัฐ ต่อคนทำร้ายนักกิจกรรม ทั้งที่รัฐบาลมีหน้าที่หลักในการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิในชีวิตของประชาชนทุกคน ที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างจากรัฐบาลโดยสันติวิธีตามรัฐธรรมนูญ

ข้อความส่วนหนึ่งในแถลงการณ์ มีดังนี้

แสดงออกเชิงสัญลักษณ์จี้หาผู้ทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย หลังไม่เคยจับผู้คุกคามนักกิจกรรมทางการเมืองได้เลย

“รัฐบาลมีหน้าที่หลักในการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิในชีวิตของประชาชนทุกคน ที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างจากรัฐบาลโดยสันติวิธีตามรัฐธรรมนูญ และตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม แต่ในห้วงที่ผ่านมารัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐกลับละเลยเพิกเฉยไม่ดำเนินการสืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดอย่างจริงจัง จนก่อให้เกิดความหวาดกลัวของคนที่มีความเห็นต่างจากรัฐและเกิดสภาวะบ้านป่าเมืองเถื่อนไร้ขื่อแป ทั้งอาจนำไปสู่ความรุนแรงจนยากที่จะหาข้อยุติโดยสันติเฉกเช่นที่สังคมไทยต้องเผชิญมาในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา”

แถลงการณ์ฉบับเดียวกัน ยังระบุว่า การที่จ่านิวและนักกิจกรรมอื่นๆ วิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบการทำงานของ คสช. ถือเป็นสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ได้รับการรับรองคุ้มครองไว้ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ อีกทั้งลักษณะการแสดงออกดังกล่าวของนายสิรวิชญ์ยังนับว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในด้านพลเมืองและการเมือง ตามปฏิญญาว่าด้วยสิทธิและความรับผิดชอบของปัจเจกบุคคล กลุ่มบุคคล และองค์กรของสังคมในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างสากล หรือ “ปฏิญญาว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” (human rights defenders)

สมาคมจึงเรียกร้องให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาและแถลงความคืบหน้าในการสืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดทั้งกรณีจ่านิว รวมถึงคดีของนักกิจกรรมคนอื่นๆ ที่โดยทำร้ายเช่นกัน รวมถึงแถลงให้สังคมได้ทราบเป็นระยะ ทั้งนี้เพราะการสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง จะมีผลในการยับยั้งไม่ให้คนร้ายกระทำผิดซ้ำอีก

บิ๊กป้อมสั่งการ ตำรวจแอ๊กชั่น สังคมจับตา

ท่ามกลางการตั้งคำถามอย่างหนักหน่วงต่อการที่ภาครัฐไม่อาจจับผู้คุกคามนักกิจกรรมมาดำเนินดคี ทั้งที่หลายครั้งมีภาพจากกล้องวงจรปิดอย่างชัดเจน ล่าสุด ในกรณนี้ “บิ๊กป้อม” ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่รอช้าสั่งตำรวจล่าคนทำร้ายจ่านิว พร้อมวอนทุกฝ่ายหยุดยั่วยุซึ่งกันและกัน

พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รับลูกทันที เดินทางเข้าประชุมคดีนี้โดยเฉพาะในวันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน ประกาศว่าต้องจับคนทำร้ายจ่านิวให้ได้ เพราะ “บิ๊กตู่” สั่งมา และบอกว่า “ไม่ต้องห่วง”

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปิดประวัติศาสตร์การคุกคาม ทำร้าย เข่นฆ่านักศึกษาที่เคลื่อนไหวทางการเมืองในอดีต คำว่า “ลอยนวล” ก็ผุดขึ้นมาในหน้ากระดาษทันที ดังเช่นที่ สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย เปิดเผยประวัติศาสตร์การใช้ความรุนแรงที่สุดท้ายไม่อาจจับคนร้ายได้ อาทิ กรณีนายแสง รุ่งนิดรกุล ผู้นำนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงถูกลอบยิงกลางป้ายรถเมล์ พระราม 4 เมื่อปี 2517, นายนิสิต จิรโสภณ ผู้นำนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถูกผลักตกจากรถไฟขณะลงพื้นที่ไปทำข่าวการต่อสู้ของประชาชนที่นครศรีธรรมราช เมื่อปี 2518, นายมานะ อิทสุริยะ ผู้นำนักเรียนโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย นครราชสีมา ถูกยิงดับขณะปิดโปสเตอร์ต่อต้านอเมริกา เมื่อปี 2518 เป็นต้น

สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว เป็นที่รู้จักจากการเคลื่อไหต้านอำนาจ คสช.ตลอดหลายปีที่ผ่านมา

โกรธแค้น ชิงชัง และความหวังที่ยัง “ติดหล่ม”

“เรายังอยู่ได้โดยแม้ว่าจะมีเรา มีเขา มีสลิ่ม มีเสื้อแดง มีเสื้อเหลือง มี กปปส. หมดยุคแล้ว เราคือประชาชน เราคือประชาชน เราคือประชาชน เลือดที่อยู่ริมฟุตปาธคือเลือดของประชาชน จ่านิวคือประชาชน เราคือจ่านิว เราคือจ่านิว”

คือส่วนหนึ่งของบทกวีของ รอนฝัน ตะวันเศร้า ที่คล้ายจะเตือนสติประชาชนคนไทยทุกฝ่ายความคิดในช่วงเวลาที่สังคมอยู่ภายใต้ “ความขัดแย้งที่แหลมคม” ตามวลีจากปาก รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการกล่าวเปิดเสวนา “จากรัฐบาลลายพรางสู่ประชาธิปไตยอำพราง” ที่บังเอิญจัดขึ้นหลังจ่านิวถูกทำร้ายเพียง 1 วัน โดยแสดงความกังวลว่า แม้จะผ่านการเลือกตั้ง แต่สังคมไทยก็ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ มิหนำซ้ำยังเห็นได้ถึงความขัดแย้งที่ซึมลึก และขยายวงกว้างขึ้นอีก

“ประเทศไทยติดหล่มความขัดแย้งมานาน หลายฝ่ายตั้งความหวังว่าการเลือกตั้ง 24 มีนาคมที่ผ่านมาจะพากลับสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ตาม จนบัดนี้ยังไม่มีรัฐบาล แม้รู้แนวโน้มว่าจะเป็นใคร ไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวผู้นำ เพราะยังเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เหมือนเดิม ซึ่งไม่มีวี่แววว่าจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

เสื้อสกรีนลวดลายจากภาพเสื้อเชิ้ตสีขาวของจ่านิวที่โชกเลือดในวันถูกทำร้าย โดยกลุ่มบุคคลขี่จักรยานยนต ์ เมื่อ 28 มิถุนายน

นอกจากนี้สังคมไทยยังมีความขัดแย้งที่แหลมคม แม้เคยคิดกันว่าการมีรัฐบาลปกติ น่าจะช่วยคลี่คลาย แต่กลับไม่เป็นไปอย่างที่คิด ในทางกลับกัน ได้เห็นความขัดแย้งที่ซึมลึกและขยายวงกว้างขึ้น มีความโกรธแค้น เกลียดชังสั่งสมมากขึ้น เห็นได้ชัดที่สุดจากการที่นักกิจกรรมถูกคุกคาม อย่างกรณีจ่านิว ซึ่งมีการคุกคามที่เป็นแบบแผน คนทำผิดยังลอยนวล รัฐก็เพิกเฉย แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่าคือความสาแก่ใจ นี่คือสัญญาณที่น่ากังวลว่าสังคมไทยจะหลุดจากความขัดแย้งไปได้อย่างไร ยังไม่นับว่าเรากำลังกลายเป็นรัฐทหารไปเรื่อยๆ”

ในขณะที่ ดร.เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งยอมรับอย่างตรงไปตรงมากลางเสวนาว่า “หัวร้อน” เมื่อทราบข่าวดังกล่าว ด้าน ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยวิเคราะห์เชื่อมโยงเหตุการณ์ดังกล่าวกับประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยระบุว่า เรากำลังอยู่ในช่วง “การเปลี่ยนผ่านที่แสนยาวนาน”

“ยิ่งพิจารณาบริบทการเมืองไทย จะพบว่ามันพาเรากลับไปหลังปี 2500 เศษ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ผมเรียกว่าประชาธิปไตยฉบับ 1 สลึง เป็นประชาธิปไตยแค่ 1 ใน 4 เมื่อเทียบกับ ฉบับ 2521 หากดูบริบทการเมืองไทยหลัง 6 ตุลา 19 นักศึกษา ปัญญาชน คนทั่วไป จับอาวุธต่อสู้รัฐบาลอย่างน้อย 3 ปี มีการขนอาวุธ ผู้คนเจ็บจริง ตายจริง ผ่านไป 20-30 ปี ถึงเริ่มเก็บกระดูก ความขัดแย้งในสมัยนั้นเป็นความขัดแย้งที่เสี่ยงที่จะเปลี่ยนแปลงทำให้ชนชั้นนำต้องเลิกใช้ความรุนแรง ถามว่าเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลามารอบหนึ่งแล้ว ไม่อายอีกหรือ? สุดท้ายก็เกิดเหตุการณ์พฤษภาขึ้นอีก ล่าสุด ยังมีการทำร้ายกัน ทั้งที่เราอยู่ในปี 2562 แล้ว”

เป็นคำถามที่ยังไม่มีใครตอบ เช่นเดียวกับการจับตัวอาชญากรที่ทำร้ายคนเห็นต่าง ซึ่งยังต้องลุ้นว่าจะได้เห็นโฉมหน้าที่แท้จริงหรือไม่?      

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image