ลงเสาเอก ‘บ้านมั่นคง’ เกียกกาย ความหวังหลังอดีตเจ็บปวด ‘ป้อมมหากาฬ’

พิธียกเสาเอกชุมชนบ้านมั่นคงเกียกกาย

ในที่สุด ก็ได้ลงเสาเอกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับ “บ้านมั่นคง” หรือที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “สหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงเกียกกายพัฒนา” ที่เป็นความหวังของหลากชุมชนซึ่งประสบปัญหาด้านที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะชุมชนป้อมมหากาฬ และชุมชนองค์การทอผ้า

ในการลงเสาเอกครั้งนี้ มีขึ้นเมื่อเช้าตรู่ของวันอังคารที่ 9 กรกฎาคม ที่ชุมชนบ้านมั่นคงเกียกกาย ถนนทหาร แขวงนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ สืบเนื่องจากกรณีสมาชิกชุมชนป้อมมหากาฬ จำนวน 20 ครัวเรือน ได้ย้ายออกจากชุมชนเพื่อเปิดพื้นที่จัดทำสวนสาธารณะป้อมมหากาฬ โดยสมาชิกทั้งชุมชนป้อมมหากาฬและชุมชนองค์การทอผ้า จำนวน 32 ครอบครัว ได้ร่วมกันจัดตั้งสหกรณ์เพื่อเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคง ซึ่งปัจจุบันมีการอนุมัติโครงการบ้านมั่นคงจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สมาชิกชุมชนจึงร่วมกันจัดพิธียกเสาเอกชุมชนบ้านมั่นคงเกียกกาย เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่สมาชิกบ้านมั่นคงเกียกกาย และเพื่อความเป็นสิริมงคลในการก่อสร้างชุมชนแห่งใหม่ โดยมี พล.ต.มนัส จันดี รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในกรุงเทพมหานคร (ผอ.รมน.กทม.), พ.อ.วิโรจน์ หนองบัวล่าง หัวหน้าการข่าว กอ.รมน.กทม., นายปรัชญา ดิลกสัตยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์ กรุงเทพมหานคร พื้นที่เขต 1 กรมส่งเสริมสหกรณ์, สำนักงานกรุงเทพมหานคร, สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน), กรมธนารักษ์, เครือข่าย สอช., เครือข่าย คพสต. ชุมชนแฟลตองค์การทอผ้า สก.องค์การทอผ้า และผู้รับเหมาก่อสร้าง ร่วมในพิธียกเสาเอก

พีระพล เหมรัตน์ แกนนำและคณะทำงานชุมชนบ้านมั่นคงเกียกกาย บอกว่าวันนี้เป็นฤกษ์ดีของเคหสถานบ้านมั่นคงเกียกกายพัฒนา จำกัด เนื่องจากชุมชนป้อมหากาฬมีผลกระทบเรื่องที่อยู่อาศัย และชีวิตความเป็นอยู่ ซึ่งปัจจุบัน 18 ครอบครัว ได้พักอาศัยอยู่ที่สถานพักพิงชั่วคราว การประปาแม้นศรี หรือบ้านอิ่มใจ และได้มีการพัฒนาความเป็นอยู่สืบมา อีกทั้งยังได้ร่วมกับชุมชนองค์การทอผ้าซึ่งเป็นครอบครัวขยายอาศัยอยู่ในแฟลตที่มีสภาพแออัด รวมกลุ่มจัดตั้งเป็นสหกรณ์เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2561 โดยเช่าที่อยู่กับกรมธนารักษ์จำนวน 1 ไร่เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2562 เป็นต้นมา ปัจจุบันได้งบประมาณสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. กว่า 11 ล้านบาท เป็นงบประมาณเพื่อช่วยในเรื่องของสาธารณนูปโภค และพัฒนากลุ่ม ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาเรื่องที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง มีการตอกเสาเข็ม ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานหลายภาคส่วน

Advertisement
พีระพล เหมรัตน์

“ที่ต้องกล่าวขอบพระคุณอย่างยิ่งคือ พล.ต.มนัส จันดีที่ได้จัดเตรียมเรื่องที่อยู่อาศัยและงบประมาณ มีการพูดคุยรวมตัวกันของชาวบ้านเพื่อมาอยู่ร่วมกันที่นี่ พร้อมส่งทีมงานเข้ามาช่วยเหลือสนับสนุนกระบวนการของชาวบ้านเพื่อให้อยู่เย็นเป็นสุข ในอนาคตโครงการบ้านมั่นคงของเรามีสมาชิกทั้งหมด 32 ครัวเรือน แบ่งเป็นโครงสร้างบ้าน 5 หลัง 1 ที่ 4 หลัง 1 ที่ และ 11 กับ 12 หลังที่มีเป็นโครงสร้าง 3 ชั้น”

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา พีระพลยอมรับว่ามีปัญหาอยู่บ้าง โดยชาวบ้านต้องปรับตัว ไหนจะแผลใจจากการต่อสู้ของชุมชนป้อมมหากาฬ นานกว่า 26 ปี

“ก่อนออกจากป้อม เราเล็งเห็นแล้วว่า สู้กันมา 26 ปีแล้ว ชาวบ้านเหนื่อยล้า ทั้งการทำมาหากิน เศรษฐกิจครอบครัว ระหว่างการก่อสร้างบ้านมั่นคงที่ยังไม่แล้วเสร็จ ก็ยังอยู่ที่ประปาแม้นศรี หลังจากบ้านมั่นคงเสร็จ ยังคิดอยู่ว่าเรื่องอาชีพเดิมจะทำอย่างไร จะกลับมาทำไหม เดิมเคยปั้นเศียรพ่อแก่ ชุมชนก็ทำกรงนกปรอทหัวจุก ทำกรงนกเขาขายที่จตุจักร แต่ความเป็นชุมชนมันไม่ได้อยู่ด้วยกันเหมือนเดิมแล้ว บางคนไม่เอาโครงการนี้ เขาย้ายไปอยู่กับญาติพี่น้อง ส่วนกลุ่มที่ยังอยู่ด้วยกัน ในอนาคตจะพยายามเกาะกันให้ติด ที่สำคัญที่สุดการเงิน การบัญชีต้องตรงไปตรงมา ไม่มีนอกไม่มีใน มีการตรวจสอบได้ ก็จะพยายามเรียกประชุมบ่อยๆ กำหนดไว้

Advertisement

เบื้องต้นว่า 1 เดือน ต้องประชุม 1 ครั้ง หรือบ่อยกว่านั้น โดยเฉพาะช่วงที่บ้านมั่นคงใกล้จะเสร็จ ต้องร่วมแรงร่วมใจกัน อย่างอาหารที่นำมาเลี้ยงในงานพิธียกเสาเอกวันนี้ชาวบ้านก็ช่วยกันเอง รวมตัวกัน ไม่ได้ขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ”

ร่างทรงบรรพบุรุษคุยกับลูกหลานชุมชนป้อมมหากาฬ

ด้าน ศรินทิพย์ วรรณพาหุล อายุ 53 ปี อาชีพแม่บ้านอดีตชาวป้อมมหากาฬที่เคยอยู่อาศัยตั้งแต่ พ.ศ.2527 โดยซื้อบ้านที่นั่นในราคา 50,000 บาทในยุคนั้น

ศรินทิพย์บอกว่า รู้สึกดีใจและรอคอยเวลานี้มานานเพราะต้องอาศัยอยู่ที่ประปาแม้นศรีเกือบ 2 ปี ทั้งนี้เข้าใจดีว่าไม่สามารถย้ายมาอยู่ได้ทันที เพราะทุกอย่างจะต้องทำตามขั้นตอน ตั้งแต่ติดต่อกรมธนารักษ์ สำนักงานเขต และจ้างสถาปนิกเขียนแปลนบ้าน ทุกอย่างไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเป็นไปตามระเบียบราชการจึงใช้เวลาพอสมควร แต่เชื่อว่าสภาพความเป็นอยู่หลังจากนี้ก็น่าจะดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายที่จะตามมา

“ตอนนี้ พอช.ก็เข้ามาช่วยเรื่องให้กู้เงิน ตอนทำเรื่องที่จะย้ายออกก็ขอไปเดือนละ 3,000 บาท ได้ 6 เดือน 18,000 บาท ยังไม่อนุมัติ แต่คาดว่าจะได้แน่ เพราะเราเดือดร้อน ต้องย้ายออกจากบ้านเดิม ถามว่าหากบ้านมั่นคงเสร็จ คาดหวังกับชีวิตอย่างไร ตอบไม่ถูกเพราะไม่ได้ทำงานแล้ว มีลูกชายทำงานหาเลี้ยงครอบครัวกับลูกสะใภ้”

ย้อนถามถึงความรู้สึกที่ต้องย้ายออกจากชุมชนป้อมมหากาฬ เจ้าตัวยอมรับว่ารู้สึกเสียดาย เพราะแม้ไม่ได้เกิดที่นั่น แต่ก็ผูกพันมาก มีความเป็นชุมชน ได้พูดคุย เข้าประตูชุมชนมาก็เจอคนนั้นคนนี้ ยังนึกถึงความรู้สึกตอนอยู่ในชุมชนเสมอ

ชุมชนบ้านมั่นคงเกียกกาย

ในขณะที่ ภารนี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการอิสระด้านผังเมือง ที่เคลื่อนไหวช่วยเหลือชุมชนป้อมมหากาฬตลอดมา ก็มาร่วมพิธียกเสาเอกบ้านมั่นคงด้วย

ภารนีบอกว่า รู้สึกเจ็บปวดกับกรณีป้อมมหากาฬมาก สิ่งที่ต้องขบคิดกันต่อไปคือ ทำอย่างไรไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย มีป้อม 1 ป้อม 2 ป้อม 3 อีก

โดยควรมีการถอดบทเรียน ควรมีพื้นที่ให้คนมาคุยกัน คิดร่วมกันถึงจะบอกว่าพื้นที่ป้อมมหากาฬถูกจัดเป็นพื้นที่สีเขียวมีต้นไม้ แต่กลับไม่ได้มองเรื่องการมีอยู่ของผู้คน

ซึ่งดูเหมือนว่าป้อมมหากาฬอาจจะไม่ใช่แห่งสุดท้ายที่จะพบโศกนาฏกรรมเช่นนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image