‘คอมมิวนิสต์ไม่ได้เป็นกันง่ายๆ’ ปิดฉากชีวิตเลขา พคท.คนสุดท้าย ‘ธง แจ่มศรี’

‘สหาย’ ร่วมเรือนจำชั่วคราวบางเขน ถูกจองจำในพ.ศ.2510 (ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ.2513 ในวันที่ครอบครัวเข้าเยี่ยม) ธง แจ่มศรี นั่งแถวแรกคนที่ 2 จากซ้าย

ราวกับถนนทุกสายของ “สหาย” ร่วมอุดมการณ์ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือ พคท. จะมุ่งหน้าสู่วัดพระประโทณเจดีย์ เมืองนครปฐม สถานที่ตั้งหีบบรรจุร่างไร้ลมหายใจของ “ธง แจ่มศรี” หรือ “สหายประชา ธัญญไพบูลย์” เลขาธิการ พคท. คนสุดท้าย ซึ่งจากไปอย่างสงบที่โรงพยาบาลนครปฐม ในช่วงสายของวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา ด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ สิริอายุได้ 98 ปี

นับเป็นบุคคลสำคัญด้านการต่อสู้ทางความคิดและอุดมการณ์ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

โดยมีไทม์ไลน์และประวัติชีวิตอย่างละเอียดลออในวิทยานิพนธ์เรื่อง “บทบาทและความคิดของธง แจ่มศรี เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” โดย นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์

ธง แจ่มศรี เกิดเมื่อ 17 ธันวาคม พ.ศ.2464 ที่จังหวัดพิจิตร เป็นบุตรของนายเสา กับนางยอ ซึ่งเป็นชาวเวียดนาม เข้าร่วมกิจกรรมกับพรรคคอมมิวนิสต์ตั้งแต่เรียนมัธยมด้วยการเป็นเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน กระทั่งถูกจับในข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์ เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ.2479 ติดคุก 3 ปี 4 เดือน แต่ขออุทธรณ์สู้คดีด้วยตัวเอง จนกระทั่งได้รับการลดโทษกึ่งหนึ่ง แต่เนื่องจากถูกคุมขังมาแล้ว 1 ปี 8 เดือน ศาลจึงสั่งให้ปล่อยตัวทันที

Advertisement

จากนั้นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย มีมติรับเข้าเป็นสมาชิกพรรค ในขณะที่มีอายุเพียง 17 ปี

ธง แจ่มศรี ยังเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ใต้ดินภาษาไทยฉบับแรกของพรรคชื่อ “มหาชน” ในเดือนมีนาคม 2485 เคยดูแลงานกรรมกรในโรงงานยาสูบสะพานเหลือง บุกเบิกงานชาวนาภาคอีสานและเดินทางไปเขตจรยุทธประเทศลาว ในช่วง พ.ศ.2492-2494 ก่อนจะเดินทางไปศึกษายังสถาบันลัทธิมาร์กซ์”เลนิน สาขากรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ระหว่าง พ.ศ.2495-2500

ต่อมาใน พ.ศ.2504 ได้บุกเบิกงานที่เขตงานดงพระเจ้าจนกระทั่งถูกจับกุมในปี พ.ศ.2510 ถูกจองจำในคุกจนถึงปลายปี พ.ศ.2516 จึงได้รับการปล่อยตัวและหวนกลับเข้าป่าอีกในช่วงต้นปี พ.ศ.2517

ได้รับคัดเลือกเป็นเลขาธิการพรรคในปลายปี 2525 เป็นต้นมา

ธง แจ่มศรี เลขา พคท.คนสุดท้าย จากไปในวัย 98 ปี

ครั้นช่วงบั้นปลายชีวิต ยังออกถ้อยแถลงในโอกาสครบรอบการตั้งพรรค 1 ธันวาคม เผยแพร่ในเว็บไซต์ไฟลามทุ่ง โดยกล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองของไทยในช่วงเวลานั้นๆ อาทิ

ความขัดแย้งทางความคิดโดยขอให้ร่วมกันยึดมั่นหลักการอย่างเข้มแข็ง

นอกจากนี้ ยังเคยแสดงความเห็นอย่างชัดเจนในการ คัดค้านรัฐประหารทุกรูปแบบ รวมถึงการใช้อำนาจนอกระบบ

ยังคงปรากฏตัวในกิจกรรมรำลึกต่างๆ ทั้งยังเข้าร่วมงานฌาปนกิจ รศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ หรือ อาจารย์ยิ้ม อดีตอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี 2560

ชีวิตเข้มข้น พลิกผัน บ้าน คุก ป่า สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนราวกับวัฏจักรโดยมีจุดมุ่งหมายตามอุดมคติที่ดูเหมือนว่าถูกกำหนดโดยบางสิ่งที่อาจเหนือกว่าโชคชะตา แต่คือการเกิดและเติบโตในครอบครัวนักต่อสู้อย่างแท้จริง

ชะตาลิขิต? ชีวิต ‘จัดตั้ง’
จากแรกลืมตา จนลมหายใจสุดท้าย

ปรีดา ข้าวบ่อ แห่งนิตยสารทางอีศาน ผู้จัดพิมพ์หนังสือชีวประวัติมารดาของธง แจ่มศรี เรื่อง ผู้คนและเส้นทาง หลายคน หลายรุ่น หลายยุค บนเส้นทางเดินร่วมกัน เมื่อหลายปีก่อนโดยแปลจากภาษาเวียด มองว่า ธง แจ่มศรี “ถูกจัดการให้อยู่ในขบวนปฏิวัติตั้งแต่เกิด”

“ชีวิตลุงธงได้รับการหล่อหลอมจากการเป็นนักต่อสู้ทั้งพ่อและแม่ ยายยอ แม่ลุงธงเดินจากเวียดนามตอนกลางใช้เวลา 3 เดือนถึงท่าแขก เดินทางท่าแขกไปนครสวรรค์ พิจิตร และเริ่มทำงานที่นั่น พบรักกับพ่อลุงธงซึ่งเป็นลูกขุนนางที่เข้าร่วมการปฏิวัติแล้วออกมาเตรียมผู้คนเพื่อจะไปกู้ชาติ เดินทางไปนู่นมานี่ โดนจับถูกส่งไปขังคุกที่ลาวกาว มีฉากสะเทือนใจคือ ยายยอถูกจับที่เมืองไทยหลายครั้ง ครั้งหนึ่งจับที่อุดร ส่งเข้ากรุงเทพฯ ยายยอต่อสู้ตลอด ตอนอยู่อุดรขอเอาลูกคนเล็กมาด้วย เพราะไม่มีคนดูแล ตอนถูกส่งเข้ากรุงเทพฯก็เช่นกัน

พอมาถึง กำลังจะเข้าคุก แกก็เล่าเรื่องพี่ชายคนโตคือลุงธงให้ลูกคนเล็กฟังว่าเป็นคนต่อสู้อย่างไร และในขณะที่เข้าคุก ก็ชี้ให้ลูกคนเล็กดูว่านั่นคือพี่ชาย เขาอยู่ที่นั่น เก่งกล้ามาก แต่น้องคนเล็กไม่เห็นเพราะอยู่ในกำแพง

ตลอดแนวแม่น้ำโขง ยายยอเดินทางไปหมด ไปพบพี่น้อง ไปรักษาคนป่วย เยี่ยมญาติ ตอนลุงโฮมาก็มาอยู่กับยายยอ ในหนังสือก็พูดถึงตอนที่ลุงโฮพาพี่น้องเดิน ขณะที่เดินทางไป ก็เล่าเรื่องต่างๆ ให้สหายฟังเป็นเรื่องราวของโลกกว้างที่ลุงโฮไปเจอมา โดยเฉพาะวรรณกรรมเอกของโลกที่ลุงโฮได้อ่าน

ผมคิดว่า ลุงธงถูกจัดการให้อยู่ในขบวนปฏิวัติตั้งแต่เกิด โดยชีวิตครอบครัว ญาติมิตร การเรียน โตขึ้นมาหน่อยก็อยู่ร่วมขบวนการ ตอนแรกเป็นคนเฝ้าเวลาผู้ใหญ่ประชุม จนโดนจับ เติบโตมา ถือว่าเป็นมนุษย์มหัศจรรย์คนหนึ่ง พ่อแม่เป็นนักปฏิวัติกู้ชาติ ตัวเองโตมา แล้วเข้าร่วมจนกระทั่งสิ้นลมหายใจ การต่อสู้ทุกช่วงตอนลำบากทั้งนั้น ไม่ว่าจะบุกเบิก และรับผิดชอบหนักหนาสาหัส”

ถามว่า ชีวิตของ ธง แจ่มศรี มอบอะไรไว้ให้คนรุ่นหลังเรียนรู้ ?

ปรีดาบอกว่า สิ่งที่คนทุกรุ่นไม่ว่าจะคนรุ่นตน หรือคนรุ่นหลัง เรียนรู้ได้จากลุงธง คือความเป็นผู้อาวุโสที่สละชีวิตและทุกสิ่งเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศ

“เป็นสิ่งสูงสุดแล้ว ที่มนุษย์คนหนึ่งเกิดมาแล้วอุทิศตัวเองให้กับการเปลี่ยนแปลงสังคม”

คอมมิวนิสต์ ‘ไม่ได้เป็นกันง่ายๆ’
ลีลาปรับได้ แต่ไม่เปลี่ยนทิศทาง

อีกสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นที่รับรู้กันดี นั่นคือ ธง แจ่มศรี แม้อยู่ในวัยชราก็ยังคงเดินทางเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

วิชาญ ฤทธิธรรม อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เล่าว่า ธง แจ่มศรี เดินทางไปที่สกลนครบ่อยๆ ส่วนใหญ่เพื่อเยี่ยมในจุดที่เกี่ยวข้องกับ พคท. และงานรำลึก จิตร ภูมิศักดิ์ รวมถึง ครูครอง จันดาวงศ์ โดยมากับ “ป้าน้ำ” ผู้เป็นคู่ชีวิต สิ่งที่สัมผัสได้คือความเมตตา ความเด็ดเดี่ยว ซื่อตรง และมีความหวังกับเยาวชนเสมอ

“สิ่งที่ผมคารวะมากๆ คือ ท่านเป็นสายลมที่ไม่เปลี่ยนทิศตั้งแต่ยังหนุ่ม เป็นสมาชิก พคท. กระทั่งมาเป็นเลขาธิการพรรค จนถึงวันสุดท้ายในชีวิตก็ยังมั่นคงการต่อสู้เพื่อให้อำนาจเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ครั้งหนึ่งเคยถามท่านว่าเป็นคอมมิวนิสต์ มีความภูมิใจไหม ท่านบอกไม่ได้เป็นกันง่ายๆ คอมมิวนิสต์เป็นด้วยชีวิตทั้งชีวิตคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ไม่มีทางเป็นคอมมิวนิสต์ได้จริง การเป็นคอมมิวนิสต์ไม่ได้เป็นเพราะใครมาสวม มาครอบให้ มากล่าวหา คอมมิวนิสต์เป็นแล้วไม่หาย แต่ไม่ทราบว่าจริงไหม เพราะหลายคนก็ดูแปลกๆ ไป (หัวเราะ)”

อ.วิชาญยังบอกว่า นอกจากนี้ ไม่ว่าธง แจ่มศรี ไปอยู่ที่ไหน ก็สร้างนักปฏิวัติรุ่นใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ ไม่ได้เป็นคนที่มีอุดมการณ์เฉพาะตนแล้วจบตรงนั้น อีกทั้งมีการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรม โดยอุดมการณ์คงเดิม

“สกลนครเป็นพื้นที่สีชมพู ลุงธงก็ขับเคลื่อนโดยปรับตัวให้เข้าวัฒนธรรมอีสาน เป็นการทำงานที่ไม่แข็งขืน ทำไมอีสานมีคนที่ได้รับอิทธิพลจากสหายนักต่อสู้เก่าๆ ก่อเกิดเป็นนักคิด นักเขียนรุ่นเก่ารุ่นใหม่ ก็มาจากวิธีคิดการขับเคลื่อนวัฒนธรรมแบบลุงธง คือ การให้โอกาส และสร้างคนรุ่นใหมขึ้นมาเรื่อยๆ ปรับลีลาได้ แต่ไม่เปลี่ยนทิศทาง”

อาลัยแน่นเมรุวัดพระประโทณเจดีย์ นครปฐม

ยังมีประเด็นไม่ถามไม่ได้ ว่าในอดีตข้อหาคอมมิวนิสต์นั้นช่างร้ายแรง และไม่น่าเชื่อว่าเมื่อตัดฉากมายังการเมืองปัจจุบัน ยังมีผู้เผยแพร่ข้อมูลว่า ธง แจ่มศรี ไปเป็นกุนซือให้พรรคการเมืองหนึ่ง ร้อนถึงพรรคดังกล่าวออกมาปฏิเสธ พร้อมวอน “อย่าปลุกผีคอมมิวนิสต์”

อ.วิชาญมองว่า นี่คือท่วงทำนองเก่า คือวิธีการเดิมๆ ที่ยัดข้อหาคอมมิวนิสต์ จึงอยากฝากให้เรียนรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอีสาน ว่าทำไมชาวบ้านเชื่อใจ “สหาย” มากกว่าเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะเขาโหยหาความเป็นธรรม ความเท่าเทียมซึ่งไม่มีจากรัฐ ดังนั้น ฝ่ายรัฐจะต้องไม่ให้ระบอบราชการเป็นกลไกคุกคามประชาชน

“เพราะประวัติศาสตร์ของไทยจากนี้ไปจะเป็นประชาธิปไตย การที่ลุงธงจากไป จะเป็นที่รำลึกว่าเป็นผู้เสียสละเพื่อให้อำนาจเป็นของประชาชนจริงๆ ส่วนกองกำลังรัฐประหารจะถูกบันทึกว่าเป็นอุปสรรคของระบอบประชาธิปไตย เมื่อเวลาผ่านไปจะไม่มีใครกล้ายกย่องแน่นอน”

‘สหาย’ อาลัยแน่น
ระดมทุนพิมพ์ชีวประวัติผลงาน ‘อ.ยิ้ม’

ตัดฉากอีกครั้งมายังวันฌาปนกิจ เมื่อวันเสาร์ที่ 14 กรกฎาคมผู้คนมากมายแน่นศาลาวัดพระประโทณเจดีย์ กวาดสายตาพบหน้าทุกฝักฝ่าย เหลือง แดง ก้าวหน้า อนุรักษนิยม นปช. กปปส. พันธมิตร ฯลฯ

บ้างเคย “อันเฟรนด์” กันในเฟซบุ๊ก เมินหน้าหนีในโลกความจริง ทว่า มาสบตากันในวันประชุมเพลิง ธง แจ่มศรี ที่ตนต่างศรัทธา

ภาพการ “เช็กแฮนด์” โดยเอ่ยทักทายกันด้วยคำนำหน้าว่า “สหาย” อีกทั้งพูดคุยเรื่องราวเก่าๆ ครั้งเคยร่วมต่อสู้ คือบรรยากาศที่เกิดขึ้นในวันนั้น หลายท่านอายุเฉียดร้อย ต้องนั่งวีลแชร์ แต่ก็ยังมา เช่น “ป้าใหญ่” อายุ 95 ปี ผู้ร่วมขบวนการต่อสู้กับ พคท. มีบทบาทเป็นฝ่ายดูแลสตรีที่จังหวัดน่าน รวมถึง จังยู้ แซ่อุ่น หนึ่งในผู้ร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยถูกจำคุกในข้อหากบฏที่เรือนจำชั่วคราวบางเขนเมื่อ พ.ศ.2510

“เขาเป็นผู้อาวุโสที่สุดในกลุ่มที่ถูกจำคุกด้วยกัน นอกจากจิตใจที่กล้าหาญ และมุ่งมั่นในการต่อสู้เพื่อส่วนรวมแล้ว ข้อสำคัญคือเป็นผู้มีความรู้ ศึกษาเรื่องราวต่างๆ ทั้งแนวคิด ทฤษฎีอย่างลึกซึ้ง นอกจากนี้ ยังเป็นคน ‘จัดตั้ง’ เก่ง สามารถทำให้คนมีความสามัคคี รวมตัวกันได้ เราอยู่ด้วยกันในคุก สนิทกัน เตะตะกร้อด้วยกัน ไม่มีความเครียด เพราะทุกอย่างอยู่ที่จิตใจเราเอง ถ้าอยู่ที่ไม่ดี แต่จิตใจดี ก็ไม่ลำบาก ต้องเข้มแข็ง สำหรับคนยุคใหม่ ผมมีความคิดว่าอยากให้ทุกคนสนใจการเมือง เพราะถ้ารู้เรื่องการเมืองก็จะเข้าใจสังคม”

แสง นามปากดี หรือ “สหายตรง” ซึ่งเคยทำงานใกล้ชิด เล่าว่าตนเข้าป่าใน พ.ศ.2508 แล้วออกจากป่าในยุคที่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ออกคำสั่ง 66/2523 เคยอยู่ในฝ่ายบังคับบัญชา ประจำการที่ภูพยัคฆ์ จังหวัดน่าน มีโอกาสได้ไปศึกษายังประเทศเวียดนาม และจีน ซึ่งลุงธงได้สอนให้ตนเรียนรู้ในการต่อสู้เพื่อผู้อื่น ให้การศึกษาเกี่ยวกับลัทธิมาร์กซ์

สำหรับสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน อดีตนักเคลื่อนไหวท่านนี้ระบุว่า ตนอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย สภาพบ้านเมืองในช่วง 5 ปีผ่านมา เห็นได้ชัดว่าการปฏิรูปประเทศล้มเหลว นับจากนี้ขอให้สังคมและภาคส่วนต่างๆ อย่า 2 มาตรฐานในการให้ความเป็นธรรม

“ป้าใหญ่”ผู้มีบทบาทดูแลสตรีระหว่างเคลื่อนไหวในจังหวัดน่าน

“ฝากถึงรัฐบาลประยุทธ์ 2 ให้แก้ปัญหาปากท้องของประชาชนจะดูว่าสามารถแก้ไขอะไรได้บ้าง เพราะ 5 ปีที่ผ่านมาแก้ไขไม่สำเร็จใช้อำนาจรุนแรงเกินไป วันนี้มีการปลดล็อกคำสั่ง คสช. แล้ว แต่ก็ต้องดูต่อไปว่าสิทธิเสรีภาพประชาชนจะคืนกลับมาได้มากแค่ไหน”

ธง พคท.คลุมโลง บทกวีกระหึ่ม
‘ชูสามนิ้ว’ ร่วมด้วย

ถึงเวลาเคลื่อนร่าง ธง พคท. โบกสะบัด อดีตทหารกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) คารวะศพ โดยการเชิญธงพรรคและเชิญชุด ทปท. จากนั้น ตัวแทน เขตงาน พคท. วางพวงหรีด อาทิ

เขตงานภูซาง, เขตงาน 3 จังหวัด, ผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์มลายา, เขตงานตะนาวศรี, เขตงานภูพยัคฆ์ ภูแว จังหวัดน่าน และชมรมมิตรสัมพันธ์ เป็นต้น

ระหว่างควันไฟลอยจากปล่องเมรุขึ้นสู่ท้องฟ้า

ธง พคท.คลุมหีบศพ กองทัพปลดแอกประชาชนฯ นำขบวน

“คนอยากเลือกตั้ง” อาทิ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ร่วมถ่ายภาพโดยยืนชู 3 นิ้ว นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งฉากซึ่งเป็นที่กล่าวถึงอย่างมาก เมื่อ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว ผู้มาด้วยการปิดตาที่บาดเจ็บ 1 ข้างเพื่ออ่านบทกวีอาลัย กำลังจะเดินทางกลับ ได้เข้าไปกล่าวอำลา สัมผัส พึ่งประดิษฐ์ ผู้ร่วมเคลื่อนไหวกับธง แจ่มศรี และเป็นนักศึกษารุ่นแรกของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) หลังการเปลี่ยนชื่อจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง (ม.ธ.ก.) เป็นปีแรกเมื่อ พ.ศ.2495

สัมผัส พึ่งประดิษฐ์ จับมือ “จ่านิว” ฝากอนาคตประเทศกับคนรุ่นใหม่

สำหรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้สำหรับเถ้ากระดูก ธง แจ่มศรี “ป้าน้ำ” ภรรยา วัย 91 บอกว่า จะนำส่วนหนึ่งไปรวมกับอนุสรณ์ผู้เสียสละ โดยไม่มีการสร้างอนุสาวรีย์ของตัวเอง เพราะต้องการความเรียบง่าย ตามอุดมการณ์สามีที่แน่วแน่ “ทุกข์อยู่หน้า สุขอยู่หลัง” ถูกจับหลายครั้งก็ “ไม่ขายตัว”

ปิดฉากชีวิตบุคคลสำคัญในขบวนการต่อสู้ที่แม้ยุติบทบาทไปแล้ว แต่ความคิดและอุดมคติเพื่อสังคมที่เป็นธรรมยังคงแพร่สะพัดต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image