ภาษาคน ภาษาคอมพ์ ทุกศาสตร์ล้วนเกี่ยวเนื่อง

ทุกวันนี้ มหาวิทยาลัยในประเทศไทยมีหลักสูตร สาขาวิชาแปลกใหม่มากมาย ส่วนหนึ่งก็เพื่อตอบโจทย์ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

เช่นเดียวกับ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่บุกเบิก สาขาวิชาเทคโนโลยีภาษาและสารสนเทศ พร้อมบรรจุในหลักสูตรระดับปริญญาตรีเป็นครั้งแรก เริ่มต้นสิงหาคม ปีการศึกษา 2562 นี้ โดยมีรายวิชาที่น่าสนใจ อาทิ การแปลภาษาด้วยเครื่อง การแปลงให้อยู่ในรูปดิจิทัล

สาขาวิชานี้เป็นความร่วมมือของภาคภาษาศาสตร์กับภาคบรรณารักษ์ ซึ่งภาคบรรณารักษ์มีการเรียนการสอนด้านสารสนเทศ การออกแบบ จัดการ จัดเก็บข้อมูลที่จะดึงมาใช้ ตลอดจนด้านเทคโนโลยีการเขียนโปรแกรมอยู่ โดยนำมารวมกับภาคภาษาศาสตร์ที่สอนระบบและกลไกของภาษา เป็นการบูรณาการศาสตร์เพื่อเสริมสร้างความรู้ และทักษะที่จำเป็นสำหรับยุคข่าวสารข้อมูล โดย ดร.อรรถพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ผู้เชี่ยวชาญภาษาศาสตร์คอมพิวเตอร์ มีส่วนร่วมบุกเบิก

ดร.อรรถพลให้มุมมองอย่างน่าสนใจว่า ความจริงแล้วกำแพงที่แบ่งศาสตร์ระหว่างสายวิทย์กับสายศิลป์เป็นสิ่งลวงตา ทุกๆ ศาสตร์มีความเกี่ยวเนื่องกัน กล่าวคือ ศาสตร์ด้านภาษามีการเก็บตัวอย่าง สำรวจ สัมภาษณ์ เช่นเดียวกับวิทยาศาสตร์ ภาษาถูกนำมาศึกษาให้เป็นระบบระเบียบ โดยการนำความคิดทางวิทยาศาสตร์มารวมกับเนื้อหาของสิ่งที่เราต้องการจะศึกษา

Advertisement

ส่วนความแตกต่างของ “ภาษาศาสตร์” กับ “วิทยาศาสตร์ข้อมูล” นั้น ดร.อรรถพลอธิบายว่า วิทยาศาสตร์ข้อมูลเป็นการนำข้อมูลต่างๆ เช่น ข้อมูลตัวเลข รูปภาพ ภาพเคลื่อนไหว เสียง ไปวิเคราะห์เพื่อช่วยในการตัดสินใจ โดยครอบคลุมตั้งแต่การเขียนโปรแกรมให้ดึงข้อมูลที่เราต้องการมาเก็บไว้ จากนั้นวิเคราะห์ข้อมูลในแต่ละส่วนเข้าด้วยกัน และแสดงผลการวิเคราะห์ให้อยู่ในรูปแบบที่เข้าใจง่าย เพื่อช่วยในการตัดสินใจของเรา แต่ข้อมูลบางอย่างเป็นข้อมูลทางภาษา ภาษาศาสตร์คอมพิวเตอร์จึงเข้ามามีบทบาทในการหยิบข้อมูลทางภาษามาใช้ในการวิเคราะห์

“การวิเคราะห์ข้อมูลทางภาษาเป็นการวิเคราะห์หลักภาษา ไวยากรณ์ โครงสร้างประโยค รวมถึงการวิเคราะห์ความหมาย แต่อย่างที่รู้กันว่าการแปลภาษาต่างๆ มาสู่ภาษาไทยยังไม่ค่อยดีเท่าไหร่ สาขาวิชานี้จึงจะเข้าไปเติมเต็มให้เครื่องแปลภาษาทำงานอย่างสมบูรณ์ และถูกต้องตรงตามความหมายมากขึ้น”

ที่สำคัญคือ ประโยชน์ของภาษาศาสตร์คอมพิวเตอร์มีอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการพยากรณ์ราคาสินค้า เพราะโดยปกติแล้วนักวิเคราะห์จะต้องนั่งอ่านข่าวปริมาณมาก แต่หากผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์คอมพิวเตอร์คอยช่วยเหลือ ก็จะสามารถเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้ดึงข้อมูลมาจากอินเตอร์เน็ตทุกวัน เพื่อรวบรวมเป็นข้อมูลภาษา ใช้ในการพยากรณ์และสรุปราคาสินค้าได้ ด้วยวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าการใช้คีย์เวิร์ดค้นหา เพราะการพยากรณ์จะวิเคราะห์ความหมาย ตีความให้อัตโนมัติ

ทว่า แม้เทคโนโลยีจะก้าวล้ำเหนือความสามารถมนุษย์สักเพียงใด ดร.อรรถพลก็อยากให้มองว่า เทคโนโลยีไม่ได้เข้ามาแทนที่มนุษย์ แต่จะเข้ามาช่วยย่นระยะเวลา และกำลังของมนุษย์เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น

เพราะสิ่งสำคัญที่มนุษย์สามารถทำได้ดีกว่าเทคโนโลยี ก็คืองานทางด้านความคิดสร้างสรรค์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image