คนไทยไม่เข้าใจ ‘ซึมเศร้า’ ‘หลังคาแดง’ ชวนประกวดหนังสั้น ครบรอบ 130 ปี

“โรคซึมเศร้า” เป็นโรคที่คนไทยป่วยมากในโรคจิตเวช สาเหตุของโรคซึมเศร้าไม่ทราบชัดเจนว่าเกิดจากอะไร แต่ปัจจัยหนุนทำให้เกิดโรคมาจากหลายปัจจัย ทั้งร่างกายและชีววิทยา เช่น สารสมดุลของสมองที่เปลี่ยนแปลง ปัจจัยด้านจิตสังคม เช่น ไม่สามารถรับมือกับความเครียดได้ รวมถึงสภาวะสังคมก่อให้เกิดความเครียดในชีวิตประจำวัน ทำให้แต่ละปีมีผู้ป่วยจำนวนมากเข้ารักษาบำบัดอาการทางจิตกับสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา หรือที่รู้จักกันในชื่อ “หลังคาแดง” ซึ่งเป็นโรงพยาบาลจิตเวชแห่งแรกในประเทศไทย และปีนี้ให้การรักษาผู้ป่วยต่อเนื่องมาจนครบ 130 ปี

เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีงานแถลงข่าว โครงการ 130 ปี หลังคาแดง ชวนประกวดหนังสั้น “ภาวะซึมเศร้า” เนื่องในโอกาสครบรอบ 130 ปี ของสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยาในปี 2562 โดยมี คุณหญิงเอื้อปรานี เจียรวนนท์ ประธานมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นพ.ปรีชา ศตวรรษธำรง รองประธานมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาในพระราชูปถัมภ์ฯ นพ.ธรณินทร์ กองสุข รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา นายประพาฬพงษ์ มากนวล รองผู้อำนวยการกิจกรรมองค์กรเพื่อสังคม บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมแถลงข่าวที่ห้องประชุมคุณปลื้มจิตต์ กนิษฐสุต สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา

คุณหญิงเอื้อปรานี เจียรวนนท์

คุณหญิงเอื้อปรานีกล่าวว่า สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ร่วมกับมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ในพระราชูปถัมภ์ฯ สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และเครือข่ายพันธมิตร 8 องค์กร อาทิ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมจัดโครงการ 130 ปีหลังคาแดง ชวนประกวดหนังสั้นภาวะซึมเศร้า ซึ่งเป็นอีกกิจกรรมของมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาฯ เนื่องในโอกาสครบรอบ 130 ปี พร้อมจัดรายการพิเศษ 130 ปีหลังคาแดงออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ในวันที่ 3 กันยายน 2562 นอกจากนี้ ทางมูลนิธิยังได้จัดกิจกรรมเพื่อหารายได้สมทบทุนสร้างอาคารผู้ป่วยจิตเวช เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลเก่าแก่ อาคารผู้ป่วยจึงมีสภาพชำรุดทรุดโทรม มีขนาดเล็กและมีสภาพแออัด ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อใช้บำบัดรักษาผู้ป่วยนอกระบบประสาท ผู้ป่วยในจิตเวชสูงอายุ เป็นอาคารสูง 12 ชั้น โดยใช้งบประมาณก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 600 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนเมษายน 2561 ที่ผ่านมา

“สำหรับสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา เดิมชื่อ โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา เป็นโรงพยาบาลจิตเวชแห่งแรกของประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2432 โดยพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อให้บริการแก่ประชาชนผู้ป่วยด้วยโรคจิตเวช โรคสมองระบบประสาท และผู้มีปัญหาสุขภาพจิตต่อเนื่องยาวนานมาถึงปัจจุบันเป็นเวลา 130 ปี รวมถึงเป็นสถาบันการสอนและฝึกอบรมจิตแพทย์และพยาบาลจิตเวชแห่งแรกของประเทศไทย ทว่าผู้ที่เข้ารับบริการส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการทางจิตรุนแรง เรื้อรัง ฐานะยากจน ญาติที่ยากจนมักทิ้งผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาล ดังนั้น การดูแลผู้ป่วยลำพังจะใช้งบประมาณจากทางราชการอย่างเดียวไม่พอ จึงได้ก่อตั้งมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาขึ้น และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระเมตตารับมูลนิธิไว้ในพระราชูปถัมภ์” คุณหญิงเอื้อปรานีกล่าว

Advertisement
ปรีชา ศตวรรษธำรง

นพ.ปรีชาเล่าว่า สำหรับมูลนิธิเกิดจากความต้องการช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชที่มีฐานะยากจน เมื่อ 19 ปีก่อน ด้วยเงินทุนจากที่ได้รับบริจาคเพียง 5 ล้านบาท จากนางถนอมฤดี แสงอุทัย มารดาของคุณหญิงส่องแสง เมฆสวรรค์ (แสงอุทัย) ขณะดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล เดิมคิดว่าหากนำเงินมาซ่อมแซมอาคาร เงินก็ต้องหมดไป แต่จะทำอย่างไรให้มีผู้บริจาคเพื่อดูแลผู้ป่วยทางจิต เพราะเป็นโรคทางจิตเวชรักษาไม่หายขาด โดยเฉพาะคนยากคนจน ต้องยอมรับว่าน่าเห็นใจที่สุด อดีตสื่อทีวีเป็นช่องทางการสื่อสารที่ได้รับความยอดนิยมสูงสุด ก่อนประสานความช่วยเหลือไปยังคุณหญิงเอื้อปรานี ช่วงแรกท่านก็ไม่ตอบรับ เพราะหาเงินยาก แต่ตนเรียนว่าเพียงอยากสื่อสารให้สังคมเข้าใจ อย่ากลัวโรงพยาบาลโรคจิต มีอะไรเจ็บป่วยก็ให้มารักษาตัวยังโรงพยาบาลได้ รวมทั้งอยากให้ทุกคนเข้าใจคนไข้โรคจิตว่าเป็นโรครักษาไม่หายขาด เกิดจากเคมีทางสมองผิดปกติ ทำให้มีความคิดเบี่ยงเบนต่างจากคนทั่วไป โดยคนไข้เหล่านี้ต้องได้รับยารักษาต่อเนื่อง ซึ่งคนรอบข้างและครอบครัวจะต้องช่วยพวกเขา เพราะเมื่อได้รับความกดดัน หรือขาดยาจะกลับมาป่วยเป็นโรคอีก

“มองว่าปัญหาสุขภาพจิตควรจะได้รับการใส่ใจจากสังคม เพราะเมื่อสุขภาพจิตไม่ดี ย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพหลายอย่าง หากมีความทุกข์จะส่งผลระยะยาว เพราะภูมิคุ้มกันตนเองไม่มี สิ่งสำคัญสุขภาพจิตไม่ดี กระทบต่อการทำงาน โดยองค์กรใด หากเจ้านายมีสุขภาพจิตไม่ดี องค์กรจะไม่เติบโตและนำไปสู่เป้าหมายยาก เช่นเดียวกับผลกระทบต่อครอบครัว ส่งผลเป็นปัญหาภายในครอบครัว ต่างจากคนสุขภาพจิตดีไม่ค่อยป่วย สุขภาพจิตไม่ดีทำให้เกิดโรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคเครียด โรคนอนไม่หลับ สัมพันธ์กับโรคทางกาย เช่น ไมเกรน กรดไหลย้อน อาการบ้านหมุน ทว่าหากสุขภาพกายดีและสุขภาพจิตดี นอนหลับดี อาการทางจิตหลายอย่างจะบรรเทาลง” นพ.ปรีชาเล่า

นพ.ปรีชาเล่าต่อว่า ต่อมาคุณหญิงเอื้อปรานี ตอบรับและร่วมจัดรายการทีวีเพื่อขอรับบริจาคเงิน จนในที่สุดได้รับเงินบริจาคมาก่อสร้างอาคารผู้ป่วยในเมื่อปี 2503 จากพระราชดำรัสในหลวง ร.9 ขณะเดียวกัน สมเด็จพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ยังร่วมพระราชทานเพื่อก่อสร้างอาคารผู้ป่วยในปี 2555 ในชื่ออาคาร “สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9” และปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อใช้บำบัดรักษาผู้ป่วยนอกระบบประสาท ผู้ป่วยทางสมอง ผู้ป่วยในจิตเวชผู้สูงอายุ ที่มีผู้ป่วยแออัด และพบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอาการทางจิตในผู้สูงอายุ สาเหตุจากความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้าจากความสูญเสีย ความเหงา ความเครียดทางฐานะการเงิน

Advertisement

นพ.ปรีชากล่าวว่า ดังนั้น เนื่องในโอกาสครบรอบ 130 ปีของสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยาในปี 2562 จึงจัดโครงการ 130 ปี หลังคาแดง ชวนประกวดหนังสั้น “ภาวะซึมเศร้า” โดยมีเนื้อหาเชิงส่งเสริมสุขภาพจิตและสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการช่วยเหลือผู้ป่วยภาวะโรคซึมเศร้า และจะนำผลงานผู้ชนะเผยแพร่ทางรายการ 130 ปีหลังคาแดงทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในทุกกลุ่มวัย รวมถึงเพื่อเปิดรับความคิดคนรุ่นใหม่ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมในงานส่งเสริมสุขภาพจิตและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตประชาชน พร้อมอยากให้สังคมปัจจุบันไม่กลัวโรคจิต อยากให้เข้าใจผู้ป่วย ทั้งนี้ ปัญหาสุขภาพจิตเป็นภาระ ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายมาก โดยการรักษาผู้ป่วยให้หายจะช่วยลดความสูญเสียดังกล่าว

ธรณินทร์ กองสุข

ส่วน นพ.ธรณินทร์กล่าวถึงสถานการณ์โรคซึมเศร้าว่า ได้คลุกคลีกับโรคดังกล่าวมากว่า 15 ปี ยอมรับว่าคนไทยป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น ซึ่งในอดีตคนไทยยังไม่รู้จักโรคซึมเศร้า รู้จักเพียงแต่โรคจิต โรคประสาทเท่านั้น และในปี 2551 ได้รับงบวิจัยเพื่อสำรวจโรคซึมเศร้าทั่วประเทศ จากตัวอย่าง 19,000 คน พบคนไทยตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไปป่วยเป็นซึมเศร้าร้อยละ 2.7 หรือใน 100 คนจะมีผู้ป่วยซึมเศร้า 2-3 คน คาดว่าคนไทยป่วยเป็นซึมเศร้า 1.5 ล้านคน และในปี 2556 ได้สำรวจพบคนป่วยซึมเศร้าอีกครั้ง พบอัตราผู้ป่วยไม่แตกต่าง แสดงให้เห็นตัวเลขผู้ป่วยซึมเศร้าในอัตราสูงมาก แต่เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศพบมีอัตราป่วยมากกว่าคนไทยถึงร้อยละ 10 ส่วนการบำบัดรักษาพบคนไทยได้รับการรักษาอย่างถูกต้องเพียงร้อยละ 3 ส่วนที่เหลือพบผู้ป่วยฆ่าตัวตาย ซึ่งผู้ป่วยซึมเศร้ามีความเสี่ยงร้อยละ 20 ในการฆ่าตัวตาย และพบเป็นปัจจัยสำคัญนำไปสู่การฆ่าตัวตาย

นพ.ธรณินทร์กล่าวว่า นอกจากนี้ พบหญิงไทยป่วยซึมเศร้ามากกว่าผู้ชาย 1.7 เท่า ก่อให้เกิดความสูญเสียสุขภาวะเป็นอันดับ 3 รองจากโรคหลอดเลือดสมองและโรคเบาหวาน ทำให้ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทุ่มงบประมาณในการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคซึมเศร้า และจัดโครงการรณรงค์ให้ความรู้ต่อเนื่องตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา ทำให้ตอนนี้คนไทยรู้จักโรคนี้มากขึ้น สำหรับสาเหตุของโรคเกิดจากสารเคมีบางตัวในสมองน้อยลง จะทำให้อารมณ์ไม่สดชื่น รู้สึกเปล่าเปลี่ยว ไม่อยากทำอะไร หรือสารเคมีในสมองเสียความสมดุล เช่น ความผิดหวัง การสูญเสียคนรัก อกหัก จะยิ่งกระตุ้นให้สารเคมีเปลี่ยน รวมถึงการติดสุราและสารเสพติดเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดซึมเศร้าด้วย โดยคนไทยป่วยซึมเศร้ามาก แต่รักษาอย่างถูกต้องน้อยมาก สาเหตุที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเข้ารับการรับการรักษาน้อย เนื่องจากขาดความรู้ ความเข้าใจและสังคม ครอบครัวยังอคติ

“ส่วนปีนี้ผู้ป่วยซึมเศร้าเข้าถึงการรักษาร้อยละ 61 โดยจำนวนผู้ป่วยที่มารักษาหลังคาแดงพบจำนวน 4,388 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และพบว่ามีผู้ป่วยซึมเศร้าในพื้นที่กรุงเทพฯ กว่า 100,000 ราย อย่างไรก็ตาม โรคซึมเศร้าสามารถรักษาให้หายได้ ด้วยการทานยาต้านอย่างต่อเนื่อง แต่คนไทยนิยมทานยาในช่วง 2-3 แรกเท่านั้น หลังจากอาการดีขึ้นก็หยุดทานยา ส่วนนี้จำเป็นต้องให้ความรู้และความเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทานยารักษาอย่างต่อเนื่อง โดยหวังว่าโครงการ 130 ปี หลังคาแดง ชวนประกวดหนังสั้น ‘ภาวะซึมเศร้า’ จะเป็นส่วนหนึ่งช่วยสร้างความรู้ให้แก่สังคม” นพ.ธรณินทร์กล่าว

ประพาฬพงษ์ มากนวล

นายประพาฬพงษ์กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพจิตยังเป็นปัญหาทางสังคมที่ควรได้รับการรับรู้จากสังคมเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะความเข้าใจในโรคซึมเศร้า ตลอดจนการรักษา ซึ่งอาการป่วยทางจิตไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะคนไทยป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น สัมพันธ์กับข้อมูลกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบในปี 2561 มีผู้ป่วยซึมเศร้า 1.5 ล้านคน ขณะที่ทุกๆ 2 ชั่วโมง จะมีคนไข้ฆ่าตัวตายสำเร็จเฉลี่ย 1 คน โดยหนึ่งในสาเหตุทำให้เกิดการฆ่าตัวตายคือ โรคซึมเศร้า ดังนั้น โครงการ 130 ปี หลังคาแดง ชวนประกวดหนังสั้น “ภาวะซึมเศร้า” จะช่วยสื่อสารให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในสังคมไทยมากขึ้น โดยนิสิต นักศึกษา หรือประชาชน สามารถส่งผลงานหนังสั้น มีความยาวไม่เกิน 7 นาที มายังกลุ่มสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา 112 ถนนสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กทม. 10600 ได้จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม และจะประกาศผลผู้ชนะเลิศในวันที่ 19 สิงหาคม โดยรางชนะเลิศจะได้รับรางวัล 60,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศ 30,000 บาท และรางวัลชมเชย 10,000 บาท จากนั้นจะนำผลงานผู้ชนะเผยแพร่ทางรายการ 130 ปีหลังคาแดงผ่านทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 และช่องทางต่างๆ ต่อไป

มีเพียงสองคำถามว่า สองสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่านมีอารมณ์เศร้า หรือท้อแท้หรือไม่ และท่านมีความรู้สึกเบื่อ ไม่อยากทำอะไร หรือไม่สนุก เพลิดเพลินหรือไม่ หากมีข้อใดข้อหนึ่งท่านอาจป่วยซึมเศร้า และควรเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image