ฟื้นตำนาน ‘โรงไฟฟ้าลอยน้ำขนอม’ สู่ศูนย์เรียนรู้ด้านพลังงาน ผสานชุมชน เพื่อสังคมที่ยั่งยืน

ศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม

อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช เป็นเมืองเล็กๆ ที่เงียบสงบ ในอดีตไม่มีถนนตัดผ่าน ต้องสัญจรโดยเรือ ผู้คนใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ทำมาหากินกันตามประสา บ้างก็ทำสวน ทำไร่ ทำนา ใครอยู่ริมน้ำก็ทำประมง

แต่เมื่อบ้านเมืองพัฒนา ความต้องการในการใช้ไฟฟ้าก็เพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งไฟฟ้าในภาคใต้ยังติดๆ ดับๆ ไม่เสถียร จึงมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแบบเร่งด่วน หลังจากสำรวจจนพบว่าปากน้ำขนอมคือที่มั่นเหมาะ เพราะไม่มีร่องน้ำลึกและสามารถขนเชื้อเพลิงได้สะดวก จึงเริ่มสร้างโรงไฟฟ้าประกอบที่ญี่ปุ่น และใช้เรือลากจูงมาที่โรงไฟฟ้าขนอมในระยะเวลาเพียง 2 ปี

15 ตุลาคม 2523 วันที่โรงไฟฟ้าลอยน้ำ กำลังผลิต 75 เมกะวัตต์ เดินทางมาถึง อ.ขนอม ชาวบ้านจากทั่วทุกสารทิศแห่แหนมาชมนับพันคน เรียกได้ว่าเป็นฮีโร่ในเวลานั้น เพราะมีส่วนช่วยแก้สถานการณ์ขาดแคลนไฟฟ้าของภาคใต้ได้เป็นอย่างดี ถือเป็นความภูมิใจของชาว อ.ขนอม เพราะเป็นที่แรกที่เดียวในไทยที่มีโรงไฟฟ้าบนเรือ

แม้ว่าตอนนี้โรงไฟฟ้าเรือลอยน้ำจะหยุดเดินเครื่องไปนานแล้ว แต่เครื่องผลิตไฟฟ้าที่หล่อเลี้ยงผู้คน ยังคงอยู่ ด้วย โรงไฟฟ้าขนอม ในเครือเอ็กโก กรุ๊ป มีวิสัยทัศน์ที่ยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจไฟฟ้าอย่างยั่งยืน คือการคำนึงถึงสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม เพราะเชื่อว่า “ต้นทางดี จะก่อกำเนิดผลลัพธ์ปลายทางที่ดี” หลังหมดสัญญาการเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ กอปรกับเวลานี้เป็นย่างก้าวที่ 25 ของเอ็กโก กรุ๊ป จึงสานต่อเจตนารมณ์ดังกล่าว โดยปรับโฉม โรงไฟฟ้าขนอมหน่วยที่ 1 อดีตโรงไฟฟ้าเรือลอยน้ำขนาดใหญ่ ให้เป็น “ศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ ตระหนักถึงความสำคัญ และสร้างจิตสำนึกใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่า

Advertisement

จากแนวคิดคงสภาพเดิมของโรงไฟฟ้าลอยน้ำ คงความเป็นประวัติศาสตร์พื้นที่

ในมุมการออกแบบ Industrial จึงเป็นสไตล์ที่ตอบโจทย์ที่สุด เพราะอาคารมีเรื่องราวในตัวเอง เครื่องจักรจึงถูกแปรสภาพเป็นสื่อ เปลี่ยนแปลงเฉพาะบางส่วนเพื่อจัดแสดง คงส่วนประกอบ คงฝ้า และปรับเพียงสีเพื่อให้อารมณ์ของที่แห่งนี้กลมกลืน

เครื่องผลิตไฟฟ้ากังหันไอน้ำคืนชีพมาเล่าขั้นตอนผลิตไฟฟ้า

3 ชั้น 7 โซน ของศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม เริ่มที่ โซนแรก “ค้นพบเปลี่ยนโลก” วัลวิภา ทองทา ผู้นำชม เล่าว่า แต่เดิมห้องนี้คือห้องสวิตช์เกียร์ ใช้สำหรับตัดต่อวงจรไฟฟ้า บริเวณกลางห้องมีแบตเตอรี่สำรองไว้ใช้เมื่อไฟดับเพื่อให้เครื่องจักรสามารถทำงานต่อได้ ที่ห้องนี้ผู้เข้าชมจะได้เรียนรู้การกำเนิดพลังงานไฟฟ้า ใครเป็นผู้ค้นพบเหตุการณ์สำคัญที่เปลี่ยนโลก อีกฝั่งมีชุดอุปกรณ์ทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่ช่วยอธิบายการเกิดขึ้นของกระแสไฟฟ้าในเบื้องต้น

ถัดมาคือ ห้องภาพยนตร์ เพิ่มลูกเล่นให้ผู้เข้าชมดึงปลั๊กบริเวณหน้าจอเพื่อตามรอยการเดินทางของไฟฟ้า จากโรงผลิตสู่ครัวเรือน รวมทั้งความเป็นมาของกิจการไฟฟ้าในประเทศไทย

ขึ้นสู่ชั้นที่ 2 แรกเริ่มเดิมทีบริเวณนี้เป็นห้องควบคุม (control room) ภายหลังต่อเติมให้เป็นพื้นที่สำหรับเล่าประวัติศาสตร์ความเป็นมาของโรงไฟฟ้าขนอม 1 แบ่งเป็น 2 ส่วน เริ่มจาก “ย้อนอดีตโรงไฟฟ้าขนอมหน่วยที่ 1” ไปยังจุดเริ่มต้น

หวนสู่บรรยากาศวันแรกที่โรงไฟฟ้าเรือลอยน้ำแห่งแรกแห่งเดียวในประเทศไทย เดินทางมาถึงอำเภอขนอม จากนั้นสัมผัสประสบการณ์ทำงานของเจ้าหน้าที่โรงไฟฟ้า ในหนึ่งวันที่ไม่ธรรมดา กับภารกิจกู้ไฟฟ้าในวัน “Black Out day” เหตุการณ์จำลองสถานการณ์โรงไฟฟ้าขนอม 1 ในการปลดเครื่องออกจากระบบ เนื่องจากระบบสายส่งขัดข้อง ห้องนี้ถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะเป็นสมองกลของโรงไฟฟ้า คอยควบคุมและสั่งการจากแผงบอร์ดควบคุมทั้ง 3 ส่วน ประกอบด้วยบอร์ดควบคุมหม้อไอน้ำ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการผลิตกระแสไฟฟ้า บอร์ดควบคุมเครื่องกังหันไอน้ำ ที่จะเปลี่ยนพลังงานความร้อนของไอน้ำให้เป็นพลังงานกล และบอร์ดควบคุมเครื่องกำเนิดไฟฟ้า

ในโซนที่ 3 ตื่นตาตื่นใจกับ การฟื้นคืนชีพของเครื่องผลิตไฟฟ้ากังหันไอน้ำ หัวใจสำคัญของโรงไฟฟ้าขนอม 1 ซึ่งเล่าว่า “เราผลิตไฟฟ้าได้อย่างไร” พร้อมเรียนรู้พัฒนาการทางเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้า และกระบวนการทำงานของหม้อไอน้ำ

ห้องควบคุมโรงไฟฟ้า โซนที่ 2

มุ่งหน้าสู่โซนที่ 4 “ป่า เขา ทะเล คือเสน่ห์ของขนอม” แวะชมทัศนียภาพที่สวยงามรอบโรงไฟฟ้า ชมสภาพแวดล้อมธรรมชาติและชุมชนใกล้เคียงรอบโรงไฟฟ้าขนอมที่อยู่รวมตัวกันอย่างกลมกลืน

ต่อด้วยโซนที่ 5 “รักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นมากกว่าหน้าที่” เพลิดเพลินกับการเรียนรู้กระบวนการจัดการสิ่งแวดล้อมของโรงไฟฟ้าขนอม ความสำคัญของการสร้างสมดุลพลังงานเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชนิดต่างๆ และร่วมหาคำตอบว่าเหตุใดจึงจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าหลากหลายประเภท ข้ามสะพานจากโรงไฟฟ้าเข้าสู่ชุมชนขนอม ในโซนที่ 6 “บ้านของเรา” เปิดหน้าต่างบ้าน เรียนรู้วิถีชีวิตความเป็นอยู่และวัฒนธรรมของชาวขนอมผ่านเสียงบอกเล่าของตัวแทนชุมชน

นั่งพักฟัง “เสียงสะท้อนแห่งความสุข” ดูวิถีชีวิตชาวขนอมจากหนังกลางแปลง

ห้องภาพยนตร์
โซนที่ 6 จัดแสดงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาวขนอม

และในโซนสุดท้าย รู้จักอำเภอขนอมให้มากขึ้น ผ่าน “แหล่งเรียนรู้อำเภอขนอม” ที่สะท้อนผลลัพธ์จากความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่การสำรวจและจัดทำข้อมูลจากการมีส่วนร่วมของเด็กและชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อการเรียนรู้ ส่งเสริม และพัฒนาชุมชนให้ยั่งยืน

สืบศักดิ์ ชูฤทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตไฟฟ้าขนอม จำกัด ในกลุ่มเอ็กโก เปิดเผยว่า เราปรับวิธีคิด จากโรงไฟฟ้าที่ให้แสงสว่างในภาคใต้สู่การสร้างแสงสว่างแห่งการเรียนรู้ แก่ประชาชน และเยาวชน เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านพลังงานในรูปแบบโรงไฟฟ้าแห่งแรก รวมถึงการดูแลสิ่งแวดล้อม การอยู่ร่วมกับชุมชน เราเริ่มพัฒนาโครงการในปี 2559 ได้พันธมิตรความร่วมมือจากบริษัท EGCO ที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลโรงไฟฟ้าในการก่อสร้าง วิศวกรรม เพื่อปรับปรุงรูปแบบโรงไฟฟ้าให้กลายเป็นศูนย์เรียนรู้ และได้พันธมิตรจาก บริษัท ซีเอ็มโอ จำกัด (มหาชน) ที่เชี่ยวชาญด้านการออกแบบศูนย์เรียนรู้ ใช้เวลาในการก่อสร้าง 1 ปีเศษ และเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของเยาวชน ประชาชน และนักท่องเที่ยว ให้ได้ประโยชน์ทางด้านการดูแลสิ่งแวดล้อม เรียนรู้การผลิตไฟฟ้าในรูปแบบต่างๆ เปิดโอกาสให้คน อ.ขนอม มาทำงานร่วมกัน

เพราะ “เป้าหมายที่แท้จริงไม่ได้แค่ขายไฟฟ้า แต่เราจะดูแลและอยู่กับชุมชนอย่างไร”

สืบศักดิ์ ชูฤทธิ์

“ศูนย์เรียนรู้ที่เราตั้งขึ้นจะถ่ายทอดตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตไฟฟ้า การพัฒนาชุมชน การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบโรงไฟฟ้า รวมถึงเรื่องความปลอดภัยของโรงไฟฟ้า ว่ามีวิธีจัดการอย่างไร ชุมชนได้รับผลกระทบหรือไม่ เพราะชาวบ้านกลัวเรื่องความปลอดภัยมากที่สุด แต่เมื่อมาดูจะรู้ว่าโรงไฟฟ้าไม่น่ากลัวอย่างที่คิด แทบจะไม่มีมลพิษให้เห็น เพราะเรามีเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการจัดการ”

สืบศักดิ์ ยังบอกอีกว่า เรื่องเกษตรชีวภาพวันนี้เราส่งเสริมตั้งแต่ให้ความรู้เรื่องปุ๋ย ตอนนี้เรามีโมเดลปลูกพืชสาธิต ที่ให้เกษตรกรขนวัตถุดิบมาปลูกที่นี่ และทำปุ๋ยชีวภาพ เพราะเรามีพื้นที่และเครื่องไม้เครื่องมือมากพอ

“ในระยะยาว อยากให้ศูนย์เรียนรู้กลายเป็นที่ท่องเที่ยวของ อ.ขนอม ในอนาคต จะปรับพื้นที่ให้จอดรถได้ และจะทำเป็นโรงเรือนให้ขายของ เพราะชาวบ้านที่นี่อาชีพหลักคือประมงและเกษตร ช่วงฤดูกาลที่จับปลาได้เราอยากให้เขามาขายในนี้ เอาผักตามฤดูกาล ทำกะปิมาขาย เกิดการจับจ่ายใช้สอย ชุมชนได้ขายสินค้าโอท็อป เศรษฐกิจขนอมดีขึ้น พี่น้องชาวขนอมก็ได้ประโยชน์”

ชุดอุปกรณ์ทดลองผลิตกระแสไฟฟ้าในครัวเรือน

ด้าน พินทุ์สุดา เปี่ยมปิติ ผู้จัดการส่วนกิจกรรมองค์กรและสังคม บมจ.ผลิตไฟฟ้า ในเครือเอ็กโก เปิดเผยว่า สต๊าฟของศูนย์เกือบ 100 ชีวิต เป็นคนในพื้นที่ เพราะการที่จะส่งต่อข้อมูลในพื้นที่สู่วงกว้างได้ดีที่สุด ต้องเป็นคนในเพราะมีความรักและผูกพัน จึงให้โอกาสกับคนในพื้นที่มาเป็นอันดับ 1

บุณฑริกา ใจเหมาะ เจ้าหน้าที่นำชมศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม ในวัย 26 ปี เล่าว่า อาศัยอยู่ใน ต.ขนอม อ.ขนอม เป็นคนขนอมตั้งแต่เกิด แม้จะเรียนจบด้านธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ จาก ม.สงขลานครินทร์ แต่ด้วยนิสัยส่วนตัวที่เป็นคนชอบพูดคุย และถ่ายทอดเรื่องราว จึงหันมาทำงานด้านนี้ แม้จะไม่มีความรู้เรื่องไฟฟ้าหรือสิ่งแวดล้อม แต่ก็ได้ศึกษาศึกษาข้อมูลจากพี่ๆ ในโรงไฟฟ้า เรียนรู้ตั้งแต่กระบวนการผลิต จนสามารถส่งต่อเรื่องราวได้

“ที่บ้านห่างจากที่ทำงานเพียง 5 กิโลเมตร เช้าๆ ก็ขับรถมาทำงานเอง ด้วยความที่เป็นคนขนอมที่ไปเรียนต่างถิ่น แต่ได้กลับมาทำงานที่บ้านเกิดอีกครั้ง รู้สึกภูมิใจมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งได้กลับมาบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชุมชน อ.ขนอม ได้ถ่ายทอดความรู้ให้กับเยาวชนและประชาชนทั่วไปได้ทราบถึงสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นที่นี่

“ตอนที่ยังเป็นเด็กไม่รู้เลยว่าโรงไฟฟ้าได้ทำกิจกรรมเพื่อชุมชนมากมายแค่ไหน แต่พอเข้ามาทำงานจุดนี้ ทำให้รู้ว่าโรงไฟฟ้าขนอมมีส่วนร่วมสร้างรอยยิ้มให้กับชาว อ.ขนอม อย่างมาก ส่งเสริมทั้งการศึกษาและด้านสิ่งแวดล้อม ที่สัมผัสได้อีกอย่างคือโรงไฟฟ้าจะมีการคำนึงถึงประชาชนรอบโรงไฟฟ้าอยู่ตลอดเวลา เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน” บุณฑริกาย้ำ และเล่าอีกว่า

บุณฑริกา ใจเหมาะ

ที่ อ.ขนอม มีชายหาดที่สะอาดและยาวที่สุดใน จ.นครศรีธรรมราช โรงไฟฟ้าขนอมก็มีชายหาดที่เปิดสาธารณะเพื่อให้เป็นจุดพักผ่อนของคน อ.ขนอม

“เย็นๆ ชาวบ้านจะมาออกกำลังกายและนั่งพักผ่อนกัน มีคนมาตกปลา ถ้าเลิกงานช่วงย็นๆ ไม่ได้ไปไหนก็จะมานั่งพักผ่อนที่นี่ เพราะมีแม่ค้ามาขายของ โชคดีหน่อยบางวันโลมาก็จะโผล่มาให้เห็น”

นับเป็นอีกหนึ่งแหล่งเรียนรู้ที่น่าสนใจยิ่ง ทั้งสำหรับชาวบ้านและผู้คนต่างถิ่นที่เดินทางไปเยี่ยมเยือน

 


ศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม

เปิดวันอังคาร-เสาร์

ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น.

จองคิวเข้าเยี่ยมชมได้ที่ www.egco.com/th/khanom-learningcenter

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image