สัมผัส ‘กัมพูชา’ ตาม ‘แพทย์อาสา’ ฟื้นสุขภาพชาว ‘รัตนคีรี-มณฑลคีรี’

ผู้คนและเมืองรัตนคีรี

“รัตนคีรี” จังหวัดของกัมพูชา ห่างจากพนมเปญอันเป็นเมืองหลวงของประเทศเกือบ 700 กิโลเมตร การเดินทางต้องผ่านเส้นทางคดเคี้ยว ป่าเขาลำเนาไพร

เช่นเดียวกับ “มณฑลคีรี” จังหวัดซึ่งมีพื้นที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชา ทว่าประชากรเบาบางที่สุด ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่หลากหลาย

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานความช่วยเหลือตามคำกราบบังคมทูลจากสมเด็จอัครมหาเสนาบดี เดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา เพื่อแก้ปัญหาโรคมาลาเรียของชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ห่างไกลตั้งแต่ปี 2550 และสองจังหวัดนี้ ก็คือพื้นที่เป้าหมาย

หน่วยแพทย์เคลื่อนที่จากประเทศไทย จึงเดินทางไปให้บริการทางแพทย์ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในด้านสุขภาพให้กับชาวกัมพูชาใน 2 จังหวัด ระหว่างวันที่ 9-12 ก.ค.ที่ผ่านมา

Advertisement
พิธีเปิดโดย พล.อ.วิชิต ยาทิพย์ เป็นประธานเปิดที่ จ.มณฑลคีรี กัมพูชา

ผู้คนในสองจังหวัดชายแดนกัมพูชาซึ่งเชื่อมต่อกับเวียดนาม หอบลูกจูงหลานมาเข้ารับการดูแล โดยเด็กๆ หลายรายป่วยเป็นโรคขาดสารอาหาร ไข้หวัดเรื้อรัง ที่ต้องรับยาเร่งด่วน บางส่วนป่วยด้วยโรคทางเดินอาหารและไข้มาลาเรีย

พล.อ.วิชิต ยาทิพย์ ให้กำลังใจแพทย์พยาบาลรักษาชาวบ้าน จ.มณฑลคีรี

พล.อ.วิชิต ยาทิพย์ สมาชิกวุฒิสภา ประธานอำนวยการโครงการพระราชทานความช่วยเหลือราชอาณาจักรกัมพูชาฯ ซึ่งร่วมเดินทางไปด้วย เผยว่า การออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนในหมู่บ้านซึ่งด้อยโอกาสที่จะเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ได้มีสุขภาพอนามัยที่ดีขึ้น โดยเน้นการตรวจโรคทั่วไป ทันตกรรม และสายตา นอกจากนี้ยังมีจิตแพทย์ แพทย์แผนไทย และแพทย์แผนจีน มาให้บริการประชาชนด้วย โดยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่ให้การสนับสนุนคือ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งให้การสนับสนุนหน่วยแพทย์จากโรงพยาบาล 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศซึ่งเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ บริษัท ไทยนครพัฒนา จำกัด มูลนิธิวีระภุชงค์ สนับสนุนเวชภัณฑ์ยา สหพันธ์เยาวชนแห่งกัมพูชา (Union of Youth Federations of Cambodia) ซึ่งสนับสนุนยุวชน กระทรวงสาธารณสุขกัมพูชา จังหวัดรัตนคีรี และจังหวัดมณฑลคีรี

“ผมได้มอบหมายให้ พล.อ.อธิคม สุขสมสถาน ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษสำนักปลัดกระทรวงกลาโหม เลขานุการฯ นายสุรพล มณีพงษ์ อดีตทูตกัมพูชา กรรมการ นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รองผู้ว่าฯอุบลราชธานี นายแพทย์เศวต ศรีคีรี ผอ.โรงพยาบาล 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ ร่วมกับคณะแพทย์ รพ. 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ จ.อุบลราชธานี และ นางสาวปัทมา ผ่องศิริ ผู้อำนวยการวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สรรพสิทธิประสงค์ ร่วมเดินทางเข้าตรวจรักษาชาวกัมพูชา ในวันที่ 9-12 ก.ค.ที่ผ่านมาได้รับความสำเร็จเป็นอย่างดี”

Advertisement
อนุสาวรีย์เอกราชกรุงพนมเปญ

โครงการนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อพี่น้องในจังหวัดรัตนคีรีและมณฑลคีรี ซึ่งนอกจากการตรวจรักษาแล้ว ยังนำยารักษาโรคมาแจกจ่ายอีกด้วย โดยมีชาวบ้านเข้ารับการรักษาเป็นจำนวนมากกว่า 2,000 คน” พล.อ.วิชิตกล่าว

ด้าน นายแพทย์เศวต ศรีคีรี ผอ.รพ. 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ บอกว่า คนไข้ส่วนมากเป็นโรคทางเดินอาหารและโรคติดเชื้อ รวมถึงขาดสารอาหาร และมีหนอนพยาธิ ซึ่งทำให้เด็กๆ เจริญเติบโตช้า ส่งผลต่อพัฒนาการ เด็กต้องรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ถ้าหากผ่านช่วงนี้ไป แต่เด็กไม่ได้อาหารที่เป็นประโยชน์ก็จะเสียโอกาส สำหรับการเข้ารักษานั้น นอกจากการเข้าพบหน่วยแพทย์เคลื่อนที่แล้วหากประชาชนของสองจังหวัดนี้ รวมทั้งพระสงฆ์ ไปรักษาที่ รพ. 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ จะไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

ส่วนการควบคุมโรคมาลาเรียที่ผ่านมาในพื้นที่ที่โครงการรับผิดชอบร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่จึงทำให้ขยายไปถึงการควบคุมโรคไข้เลือดออกและโรคอื่นๆ ที่มียุงเป็นพาหะ โดยที่หมู่บ้านใกล้เคียงได้ให้ความสนใจและเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อนำไปพัฒนาใช้กับชุมชนของตนเอง

นอกจากนี้โครงการยังได้มุ่งเน้นด้านการพัฒนาบุคลากรโดยมีการพระราชทานทุนการศึกษาในประเทศไทยระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจนจบปริญญาตรีด้านที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุขศาสตร์และพยาบาลศาสตร์ ปัจจุบันมีนักเรียนจากจังหวัดรัตนคีรีและมณฑลคีรีที่กำลังศึกษาอยู่และสำเร็จการศึกษาแล้วกว่า 80 คน

รถทำฟันเคลื่อนที่

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการพัฒนาบุคลากรตามมาตรฐานสากลด้านการสาธารณสุขอย่างต่อเนื่องโดยจัดอบรมทั้งในกัมพูชาและประเทศไทยตั้งแต่ชาวบ้าน อาสาสมัคร เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในทุกระดับไปจนถึงระดับชาติ

บ้านเรือนใน จ.มณฑลคีรี

นอกเหนือจากการช่วยเหลือด้านการควบคุมโรคแล้ว ทางโครงการยังได้มอบสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ได้แก่ อาคารสำนักงานมาลาเรีย 2 แห่ง ศูนย์สุขภาพ 3 แห่ง รถพยาบาล 2 คัน เพื่อการส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลประจำจังหวัดไปยังโรงพยาบาลปลายทางในกรุงพนมเปญหรือประเทศเวียดนาม รวมถึงรถกระบะ 2 คัน เพื่อให้สามารถเข้าถึงพื้นที่ทุรกันดารได้ นอกจากนี้ ยังมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับใช้ในศูนย์สุขภาพและโรงพยาบาลประจำจังหวัด

นอกจากนี้โครงการยังมีแผนงานที่จะสร้างศูนย์สุขภาพในพื้นที่ทุรกันดารอีกหนึ่งแห่งหนึ่งในจังหวัดมณฑลคีรีอีกด้วย

ศุภศิษย์ กอเจริญยศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า พี่น้องบางคนที่จังหวัดรัตนคีรีและจังหวัดมณฑลคีรี มีบ้างที่ไม่ค่อยคุ้นเคยกับการต้องมาพบแพทย์เพื่อรักษาอาการป่วย

ผู้คนและเมืองรัตนคีรี

“ระหว่างทางที่จังหวัดมณฑลคีรี คณะเราได้แวะที่โรงพยาบาล พบว่ายังมีประชาชนป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกจำนวนหนึ่ง ผมเองได้มีโอกาสพบพูดคุยปรึกษาหารือกับรองผู้ว่าฯจังหวัดรัตนคีรี ว่าน่าจะมีการต่อยอด ไม่ใช่มารักษาโรคอย่างเดียว น่าจะมีการปลูกพืช เลี้ยงไก่ เพราะเด็กๆ ยังขาดสารอาหาร ต้องแนะนำในการสร้างอาหารให้ครบหมู่” รองผู้ว่าฯเมืองอุบลกล่าว

ปัทมา ผ่องศิริ ผู้อำนวยการวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สรรพสิทธิประสงค์ เปิดเผยว่า ประชาชนในจังหวัดรัตนคีรีและจังหวัดมณฑลคีรียังมีปัญหาเรื่องสุขภาพอยู่มาก ยังต้องได้รับการช่วยเหลือ ประชาชนป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคไต และเบาหวาน ส่วนเด็กๆ มีปัญหาเรื่องฟัน บางส่วนป่วยเป็นโรคไข้มาเลเรีย มีพี่น้องหลายชาติพันธุ์ในทั้ง 2 จังหวัดนี้ บางส่วนไม่เคยเข้าตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลเลยหนึ่งในนั้นคือ

ยายตรง คุณยายอายุ 70 ปี ที่บอกว่า มาตรวจสุขภาพครั้งนี้ เพราะได้ข่าวจากผู้ใหญ่บ้าน และได้รับรู้ว่า จะต้องให้คุณหมอตรวจก่อนแล้วค่อยรับยามากิน

ยายตรง อายุ 70 ปี ชาวบ้านรัตนคีรี
รถทำฟันเคลื่อนที่

ด้าน ซึม กาน รองผู้ว่าราชการจังหวัดรัตนคีรี ระบุว่า ชาวบ้านต่างดีใจกันมากที่มีโครงการนี้ ทำให้แพทย์เข้ามารักษาถึงในท้องถิ่น เพราะอยู่ห่างไกลโรงพยาบาล ถ้าจะเดินทางไปรักษาก็มีค่าใช้จ่ายสูงในขณะที่ชาวบ้านมีฐานะยากจน

นับเป็นโครงการดีๆ ที่สร้างประโยชน์ต่อผู้คนอย่างไร้ข้อจำกัดทางเชื้อชาติ ภาษา สะท้อนความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างไทย-กัมพูชา ที่เส้นพรมแดนมิอาจกั้น

คณะแพทย์ทำฟันให้ชาวบ้านมณฑลคีรี
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image