อดีตหลอน ‘แพรวา’ 9 ปีโศกนาฏกรรมสะเทือนใจ สังคมไทย ‘ไม่ลืม’

กลับมาเป็นชื่อที่ถูกกล่าวถึงอีกครั้งอย่างร้อนแรง สำหรับ แพรวา เทพหัสดิน ณ อยุธยา ผู้ต้องหาคดีขับรถโดยประมาทส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง 9 ศพ บนโทลล์เวย์เมื่อปี 2553 ผ่านไป 9 ปี เหยื่อที่รอดชีวิตออกมาเล่าเหตุการณ์ผ่านโลกโซเชียล ทวงถามถึงการเยียวยาที่ (ยัง) ไม่ได้รับ กระทบใจผู้คนในสังคมไทยที่ก็ยังไม่ลืมเลือนอุบัติเหตุสะเทือนขวัญในครั้งนั้น โดยออกมาเป็นแนวร่วมทวงความเป็นธรรมอย่างเข้มข้น จนตระกูลเทพหัสดิน ณ อยุธยา ต้องออกมาวอนให้หยุดก่นด่าแบบเหมารวมยกนามสกุล

ชีวิตที่ถูกระบุว่า “ดี๊ดี” ของแพรวาผู้เปลี่ยนชื่อไปแล้วหลายหนในช่วงหลายปีถูกขุดคุ้ยอย่างหนัก จริงบ้าง เท็จบ้าง กระทั่งถึงขนาดมี “ข่าวปลอม” คล้ายเจตนายั่วยุให้ยิ่งเกลียดชัง

ภาพมารดาของ ดร.อนาคตไกลแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่นั่งร้อยพวงมาลัยขายนำความสะเทือนใจมาสู่สังคมที่ถามหาจิตสำนึกของผู้ก่อเหตุซึ่งแม้ศาลสั่งชดใช้ครอบครัวเหยื่อที่เสียชีวิตและบาดเจ็บรวมกว่า 25 ล้าน แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่ถึงมือ

สมบัติพัสถานที่ครอบครัวแพรวาครอบครองถูกค้นลึกถึงข้อมูลไม่ว่าจะเป็นที่ดินและบ้านหรูรวมแล้วหลายสิบล้าน ในที่สุดมีกระแสข่าวว่าเศรษฐีใจบุญยอมทุ่มซื้อหวังให้นำเงินไปมอบครอบ ครัวเหยื่อที่จากไปอย่างไม่มีวันกลับ

Advertisement

เหล่านี้คือสถานการณ์ที่เป็นอีกหนึ่งบทเรียนสำคัญ สะท้อนภาพบางประการซึ่งน่าสนใจยิ่ง

แม่ของ ดร.ศาสตรา เช้าเที่ยง หรือ ดร.เป็ด นักวิทยาศาสตร์ประจำ สวทช. ที่เสียชีวิตจากโศกนาฏกรรมดังกล่าว

นามสกุลดัง คอนเน็กชั่นดี ความเหลื่อมล้ำที่สังคมคาใจ?

ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คำว่า “ความเป็นธรรม” ถูกตั้งคำถามถี่ยิบ โดยเฉพาะเมื่ออดีตที่ผ่านมา “ท่าที” ของแพรวาและครอบครัว ไม่ได้เป็นไปอย่างที่สังคมมองว่าควรจะเป็น

จุฑาพร เอลิซาเบธ เกตุราทร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่า เป็นเพราะสังคมต้องการเรียกร้องหาความยุติธรรมคืนให้กับเหยื่อทั้ง 9 คน เนื่องจากการเยียวยาเกิดขึ้นล่าช้าหรือยังไม่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเมื่อไม่นานมานี้ได้เกิดเหตุการณ์ที่สามารถนำมาเทียบเคียงได้ นั่นคือ เสี่ยที่ขับรถเบนซ์ไปชนตำรวจกับภรรยา ที่มีการเยียวยาเป็นจำนวนเงินค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม ต่อให้ได้รับการชดเชยเป็นจำนวนเงิน ไม่ว่าจะกี่ร้อยหรือกี่พันล้าน ท้ายที่สุดก็ไม่สามารถทำให้ผู้เสียชีวิตฟื้นขึ้นมาได้ และไม่อาจทดแทนความสูญเสีย ความเจ็บปวดของบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่

จุฑาพร เอลิซาเบธ เกตุราทร

“เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น เพราะคนมีความเชื่อมั่นและศรัทธาในกระบวนการยุติธรรมของไทยน้อยลง ทำให้สังคมโดยภาคประชาชนอยากออกมาเรียกหาความยุติธรรมตรงนี้ เมื่อเราไม่เชื่อมั่นอะไรบางอย่างก็จะเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการขับเคลื่อน เพื่อให้ได้มาซึ่งความยุติธรรมที่ยังรู้สึกว่าไม่สมเหตุสมผลอยู่ ประเทศไทยถูกจัดอันดับให้อยู่ลำดับต้นๆ ของโลกในด้านความเหลื่อมล้ำ คนรวย คนที่มีต้นทุนสูง คนที่มีคอนเน็กชั่น มีนามสกุล มักจะเป็นฝ่ายได้เปรียบ และอาจไม่ได้รับโทษในที่สุด”

สำหรับการที่ “ชาวเน็ต” ขุดคุ้ยชีวิตส่วนตัวของแพรวาอีกทั้งวิพากษ์อย่างหนัก เข้าข่ายรุกล้ำสิทธิเสรีภาพหรือไม่ อ.จุฑาพรมองว่า กรณีนี้ สังคมมีสิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ รวมถึงการแสดงความเห็นในประเด็นดังกล่าวด้วย

“เราอยู่ในยุคโซเชียลมีเดีย การหาข้อมูลต่างๆ เป็นไปได้ง่ายกว่าสมัยก่อนมาก จึงเป็นที่มาของนักสืบพันทิป หรือไม่ว่าจะหลายๆ กรณีในสังคม เวลามีเหตุการณ์เกิดขึ้นทำให้คนสามารถขุดคุ้ยข้อมูลตรงนี้ขึ้นมาได้ง่ายกว่าเมื่อก่อนมาก พื้นที่ส่วนตัวหรือ Privacy เลยน้อยลง ดังนั้น ในเรื่องนี้จึงคิดว่าทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ซึ่งเรื่องราวก็เกิดขึ้นมากว่า 9 ปีแล้ว ครอบครัวผู้เสียหายก็ยังไม่ได้รับการเยียวยา”

ขุดเรื่องจริง คุ้ยเรื่องเท็จ
‘อารมณ์ร่วม’ ต่อ ‘ตัวร้าย’ ในโซเชียล

ด้าน รศ.คณาธิป ทองรวีวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันกฎหมายสื่อดิจิทัล มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต มองลึกลงไปอีกว่า เรื่องนี้มีความซับซ้อนหลายระดับ โดยเรียกว่าเป็นปรากฏการณ์ระดับพฤติกรรมที่มีมานานของสื่อโซเชียล ซึ่งหากใครเป็น “ตัวร้าย” ของสังคมเมื่อไหร่ก็จะเกิดมาตรการและรูปแบบต่างๆ เพื่อตอบโต้ โดยในทางกฎหมายต้องแยกประเด็นว่า ตามกฎหมายไทยบุคคลดังกล่าวทำผิดอะไร ทางกฎหมายให้มีมาตรการตอบโต้อะไรบ้าง สำหรับประเด็นนี้คือแพรวาก่ออาชญากรรม และศาลตัดสินเรียบร้อยแล้ว

“เรื่องนี้เป็นเหตุการณ์ที่สังคมโซเชียลมีเดียเห็นว่าใครเป็นตัวร้าย หรือผู้กระทำผิด จนเกิดกระบวนการนอกเหนือกฎหมายขึ้นมา หรือที่เรียกว่ากระบวนการแซงก์ชั่นทางสังคม ซึ่งเกิดขึ้นทั่วไปในสื่อออนไลน์ และมีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยทั่วไปแล้ว พฤติกรรมการแซงก์ชั่นทางออนไลน์คือ 1.การด่า วิพากษ์วิจารณ์ ไม่พอใจที่เขาได้รับการลงโทษไม่เพียงพอ ตัวร้ายยังลอยนวล

เดิมทีการด่ามีความผิดหลายอย่าง ทั้งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คอมพิวเตอร์ และหมิ่นประมาท ซึ่งกฎหมายใหม่ 2560 ตัว พ.ร.บ.คอมพ์มีการแก้ว่าไม่รวมการหมิ่นประมาท ดังนั้น ถ้าเกิดการด่าทั่วไปจึงไม่อยู่ใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แต่จะไปเข้ากฎหมายหมิ่นประมาทแทน ซึ่งต้องบอกว่า หากเป็นพฤติกรรมด่าเฉยๆ โดยหลักแล้วมีความเสี่ยงหมิ่นประมาทได้ เพราะคนมักคิดว่าถ้าตัวร้ายด่าได้ ตัวร้ายก็ต้องถูกด่าสิ เพราะเขาเป็นตัวร้ายไง แต่กฎหมายเขาแยกพฤติกรรมว่าคนร้ายนั้นร้ายอย่างไร ร้ายในส่วนรถชนก็ถูกลงโทษไป แต่เรื่องนี้ไม่มีกฎหมายไปให้อำนาจด่าคนร้าย ดังนั้น การไปด่าคนร้ายจึงไม่มี ไม่ใช่มาตรการหรือมีกฎหมายรองรับ แต่มีความเสี่ยงฐานหมิ่นประมาท ฉะนั้น การด่าจึงไม่ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แต่เสี่ยงหมิ่นประมาทได้

2.การขุดคุ้ยพฤติกรรมมาแฉ แบ่งเป็น 2 แบบ คือ ขุดคุ้ยเรื่องจริงและขุดคุ้ยเรื่องเท็จ ถ้าเป็นการขุดคุ้ยเรื่องเท็จ มีความเสี่ยงทางกฎหมายมากมาย หมิ่นประมาทก็ยังเป็นไปได้อยู่ แต่ถ้าเรื่องเท็จแล้วยังมีลักษณะตัดต่อรูปภาพต่างๆ เพิ่มเติม ภาพอินโฟกราฟิก ทำให้เกิดความเข้าใจผิด กลายเป็นเฟกนิวส์ แบบนี้เสี่ยงผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพราะคนเข้าใจว่า พ.ร.บ.คอมพ์ไม่เสี่ยงหมิ่นประมาทแล้ว แต่ยังมีอีกหลายช่องทางที่ด่ากันเกินเส้นเข้าไปผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์”

ล้ำเส้น เสี่ยงคุก เทรนด์ปลุก ‘บอยคอต’

ความเห็นของ รศ.คณาธิป เชื่อมโยงไปถึงประเด็นคู่สมรสของแพรวา ซึ่งมีตำแหน่งแห่งที่ทางสังคม แม้ทราบต่อมาว่าเลิกรากันไปแล้ว รวมถึงกระแสข่าวที่เจ้าตัวได้เข้ารับราชการทหารซึ่งสุดท้ายพบว่าบิดเบือนจากข้อเท็จจริง โดย พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม ออกมาชี้แจงว่า แพรวาเคยมาสอบจริง แต่ไม่ผ่าน

อ่านข่าว : ปลัดกลาโหมแจง ‘แพรวา’ เปลี่ยนชื่อ-สกุล มาสอบจริง แต่สอบไม่ผ่าน (คลิป)

“ประเด็นที่ว่าคุณแพรวาเคยไปสอบราชการ ทำงานอยู่กรมกองหนึ่ง ซึ่งไม่จริง สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องเท็จ มีความเสี่ยงนอกจากผิดกฎหมายหมิ่นประมาทแล้ว ยังมีความเสี่ยง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ด้วย เช่น มาตรา 16 แต่ถ้าเป็นการขุดคุ้ยเรื่องจริง เช่น คนนี้ไปแต่งงานกับใคร ทำงานที่ไหน เคยทำผิด แต่ทำไมหน่วยงานนั้นยังรับ ถ้าเป็นเรื่องจริงก็ไม่ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพราะมาตรา 14 และ 16 ใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ อยู่บนพื้นฐานในสิ่งที่เรียกว่าความเท็จ โดยครบองค์ประกอบที่เรียกว่าเท็จปลอม บิดเบือน ดังนั้น ถ้าขุดคุ้ยแล้วเป็นเรื่องจริง และพิสูจน์ได้ว่าเป็นเรื่องจริงก็จะไม่ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้น่ากลัว เพราะมีกฎหมายคือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ที่ออกมาพร้อม พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งเป็นคู่กฎหมายที่น่ากลัวมาก โดยเฉพาะในกรณีแบบนี้อาจโดน พร.บ.นั้นด้วย ฐานนำข้อมูลส่วนบุคคลอื่นมาเผยแพร่ เพราะ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องเท็จหรือเรื่องจริง แต่นำข้อมูลของคนอื่นมาเผยแพร่ก็มีสิทธิแล้ว มีทั้งโทษทางอาญาและทางแพ่ง

ทั้งนี้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มีข้อยกเว้นกับสื่อมวลชนในมาตรา 4 แต่ถ้าชาวบ้านทั่วไป กฎหมายนี้ก็มีปัญหาว่าสื่อมวลชนจะตีความไปถึงผู้ใช้สื่อโซเชียลหรือไม่ ซึ่งผมมองว่ามันใช้สำหรับสื่อมวลชนวิชาชีพ ดังนั้น ผมจึงมองว่าถ้าเป็นการขุดคุ้ยเรื่องจริงก็ไม่ผิด พ.ร.บ.คอมพ์ แต่มีความเสี่ยงนำเข้า พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 2562 อย่างไรก็ตาม แม้ พ.ร.บ.ดังกล่าวจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว แต่ยังไม่มีผลปรับ เพราะต้องรออีก 1 ปี ถ้าวันนี้ฟ้องก็ยังไม่ได้ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงว่าถ้าพฤติกรรมแบบนี้ หาก พ.ร.บ.นี้มีผลใช้บังคับแล้ว โดยเป็นพฤติกรรมขุดคุ้ยจริง ก็จะโดนปรับทั้งทางแพ่งและอาญา

คณาธิป ทองรวีวงศ์

พฤติกรรมของผู้ใช้โซเชียลส่วนใหญ่อยู่ในลักษณะเหมือนสื่อพลเมือง ซึ่งมีปัญหาว่าจะไม่ได้รับการยกเว้นตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 2562 ซึ่งมีความเสี่ยงเรื่องการโดนปรับ”

รศ.คณาธิปยังวิเคราะห์เพิ่มเติมว่า ทุกวันนี้เวลาเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ คนไม่ได้โฟกัสเพียงแค่บุคคลที่เป็นข่าว แต่ลามไปถึงญาติพี่น้อง พ่อแม่ในลักษณะแบบนั้นด้วย ซึ่งก็เป็นเรื่องเสริมว่าอาจเป็นเรื่องผิด เกิดโจทก์เพิ่ม

“แพรวากลายเป็นบุคคลสาธารณะไปแล้วช่วงหนึ่ง เพราะอยู่ในความสนใจของสังคม แต่ควรจะวิจารณ์ได้อย่างมีขอบเขต บุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องก็น่ากังวล เพราะบุคคลนั้นไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวในตัวบริบท แต่อาจเคยไปแต่งงานกับคนคนนี้ ไม่ได้มีส่วนกับคดีนี้เลย แต่ถูกนำภาพมาเผยแพร่โดยไม่ได้เซ็นเซอร์ชื่อหรือใบหน้า กลายเป็นบุคคลที่ 3 ที่ได้รับผลกระทบ

ทุกวันนี้เวลาเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ คนไม่ได้โฟกัสเพียงแค่บุคคลที่เป็นข่าว แต่ลามไปถึงญาติพี่น้อง พ่อแม่ในลักษณะแบบนั้นด้วย ซึ่งก็เป็นเรื่องเสริมว่าอาจเป็นเรื่องผิด เกิดโจทก์เพิ่ม”

นักวิชาการท่านนี้ยังชี้ให้เห็นอีกประเด็นน่าสนใจในพฤติกรรมของสังคมคือการ “บอยคอต” ต่อบุคคลที่ไม่พึงใจ ซึ่งไม่ผิดกฎหมาย

“แม้ว่าคุณแพรวาอาจไม่โดนในกรณีนี้ แต่ก็อยู่ในกลุ่มพฤติกรรมแซงก์ชั่น ซึ่งเกิดขึ้นจริงในยุคปัจจุบัน คือ ไม่ซื้อสินค้าและบริการสำหรับผู้ที่เป็นเป้าหมาย ซึ่งเป็นเทรนด์ใหม่ โดยสิ่งนี้ไม่ผิดกฎหมาย สามารถทำได้ หากต่อไป แพรวาจะไปขายสินค้าหรือให้บริการอะไร อาจเกิดการตามไปบอยคอตหรืออาจเป็นไปได้ เช่น ญาติเขาทำธุรกิจอะไรก็ตาม แล้วตามไปบอยคอตก็อาจเกิดขึ้นได้ เพราะมันมีกรณีเกิดขึ้นแล้ว เช่น นักแสดงหลายราย” รศ.คณาธิปกล่าว

เปลี่ยนชื่อ-ซึมเศร้า สิ่งเร้าปม ‘แพรวา’

อีกหนึ่งมุมที่ได้รับความสนใจจากสังคมหลังมีการเปิดเผยจากอดีตสามีรวมถึงมารดาของแพรวาว่าเจ้าตัวป่วยเป็น “โรคซึมเศร้า” โดย 9 ปีที่ผ่านมาเหมือน “ตายทั้งเป็น” วอนสังคมเห็นใจและยืนยันว่าไม่ได้ประวิงเวลาหรือเจตนาหลีกเลี่ยงการเยียวยา แต่หาเงินไม่ทัน

สอบถามไปยัง อ.นพ.กานต์ จำรูญโรจน์ ภาควิชาจิตเวช ศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ว่าสาเหตุการป่วยของแพรวา อาจเกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุเมื่อ 9 ปีก่อนหรือไม่

“กรณี น.ส.แพรวาไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าคือสาเหตุที่ทำให้เป็นโรคซึมเศร้า แต่เหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อจิตใจอย่างมาก ก็อาจจะเป็นตัวกระตุ้นหนึ่งที่ทำให้คนที่มีแนวโน้มจะเป็นโรคซึมเศร้าอยู่แล้วเป็นโรคซึมเศร้าได้ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคน

ณ ตอนนี้เราไม่สามารถบอกได้ว่าอะไรเป็นสาเหตุหลักเพียงอย่างเดียวเวลาเกิดโรค เพราะการเจอเหตุการณ์ที่รุนแรง หรือเหตุการณ์ที่มีผลกระทบกับจิตใจอย่างรุนแรงก็เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคได้”

สำหรับการที่สังคมโซเชียลไปขุดรูปและประวัติส่วนตัวมาประณาม รวมทั้งวิพากษ์วิจารณ์หน้าตาของแพรวา จะเป็นปมให้เครียดกว่าเดิม จนอาการแย่ลงหรือไม่นั้น อ.นพ.กานต์มองว่า เป็นไปได้ หากมีการขุดข้อมูลหรือมีความตั้งใจที่จะทำให้เกิดความเสื่อมเสีย เช่นนี้ก็ส่งผลให้เจ้าตัวรู้สึกว่าเป็นการกดดัน สามารถทำให้รู้สึกเครียดมากขึ้น ซึ่งถ้ามีอาการของโรคซึมเศร้าอยู่แล้วก็อาจจะส่งผลให้แย่ลงได้

“โรคซึมเศร้าเกิดจากสาเหตุอะไร ไม่ทราบแน่ชัด แต่จากการศึกษาในปัจจุบันพอจะบอกได้ว่าคนที่เป็นโรคซึมเศร้าจะมีการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาท สารสื่อประสาทชนิดต่างๆ ที่ควบคุมเรื่องอารมณ์เสียสมดุล เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า ส่วนปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เรื่องของพันธุกรรม หรือปัจจัยทางด้านจิตวิทยาและสังคม ตัวอย่างเช่น ความสามารถในการปรับตัวต่อความเครียด หรือการอยู่ในสังคมที่แตกต่างกันก็ทำให้คนมีแนวโน้มเป็นโรคซึมเศร้าที่แตกต่างกันด้วย”

ถามว่าปัจจัยทางด้านสภาพแวดล้อมมีส่วนมากน้อยแค่ไหนที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า?

“เป็นส่วนประกอบร่วมกันทั้ง 3 ส่วน ทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม อาจจะเกิดครบทั้ง 3 ปัจจัยหรือไม่ครบก็ได้ โดยส่วนมากจะต้องเป็นคนที่มีแนวโน้มทางด้านร่างกายที่จะเกิดโรค เช่น เป็นพันธุกรรม มีคนในครอบครัวเป็นอยู่เดิมค่อนข้างมาก หรือมีแนวโน้มทางร่างกายที่จะเกิดโรคซึมเศร้า

ดังนั้น ปัจจัยทางด้านร่างกายก็มีส่วนสำคัญ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะบางคนต้องเจอกับเรื่องกดดันที่มีผลกับจิตใจอย่างมาก แม้คนในครอบครัวจะไม่มีใครเป็น ก็สามารถเป็นโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน”

ส่วนกรณีที่แพรวามีการเปลี่ยนชื่อหลายครั้ง โดยล่าสุดใช้ชื่อ รวินภิรมย์ อรุณวงศ์ ทางจิตวิทยาเป็นการกำลังหลบหนีอดีตหรือพยายามสร้างตัวตนขึ้นมาใหม่หรือไม่ ?

อ่านข่าว : โซเชียลแชร์ว่อน ‘แพรวา’ เปลี่ยนชื่อ-แต่งงาน

อ.นพ.กานต์ระบุว่า เรื่องนี้ทางจิตวิทยาบอกไม่ได้ เพราะเราไม่รู้ว่าโดยเหตุการณ์จริงๆ แล้วเกิดอะไรขึ้น แพรวาจึงเปลี่ยนชื่อ และถ้าเปลี่ยนชื่อแล้วจะทำให้รู้สึกดีขึ้นหรือไม่นั้น มองว่าคงไม่ได้เกี่ยวข้องเหมือนกัน การเปลี่ยนชื่อมีเหตุและปัจจัยได้หลายอย่าง ต้องฟังจากเจ้าตัว ถึงจะรู้ว่าเขาไปทำเพื่ออะไร เพราะอะไร

อ.นพ.กานต์ จำรูญโรจน์

สำหรับกรณีที่คนรอบตัวเป็นโรคนี้ แต่เจ้าตัวก็มีส่วนทำความผิดอยู่ เราควรที่จะบอกหรือปฏิบัติตัวกับเขาอย่างไรโดยที่ไม่ให้กระทบจิตใจ หรืออาการแย่กว่าเดิม

“ตอบยาก เพราะขึ้นอยู่กับแต่ละคน ที่สำคัญคงเป็นในแง่ของความตั้งใจ หรือแรงจูงใจที่ต้องการจะบอก

ถ้าเราต้องการจะบอกด้วยความหวังดี ด้วยความเป็นห่วงกับผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้า ถ้าเรามีสติและเท่าทันจะไม่แสดงออก

ไปในเชิงที่ยิ่งเป็นการกดดันหรือทำร้ายจิตใจเขา เช่น เราจะบอกว่าเขาทำไม่ถูกต้อง ถ้าเราไม่มีสติก็จะบอกไปด้วยน้ำเสียงที่อาจจะเป็นการเอาชนะ พยายามจะบังคับ หรือเป็นการกดดัน แต่ถ้าเราบอกด้วยความมีสติ 1.รู้เท่าทันตัวเอง 2.รู้เท่าทันว่าเขากำลังรู้สึกอย่างไร เราจะลดความคาดหวังจากเขา อาจจะพูดด้วยความเป็นห่วงพร้อมกับคอยดูแลจิตใจเขาไปพร้อมๆ กัน” อ.นพ.กานต์กล่าว

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในความคิดความเห็นต่อประเด็นปรากฏการณ์ทางสังคมกรณีเงื่อนปม “แพรวา” ในหลากมิติ ในวันที่สังคมไทยยัง “ไม่ลืม”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image