แตกต่างปลายทางเดียว ‘ดนตรีกับการเมือง’ เมื่อเสียงที่หาย กลายเป็นซาวด์เคลื่อนสังคม

วง The ShockShuck ร่วมเวที ดนตรีประชาธิปไตย 24 มิถุนา วันอะไร

ว่ากันว่า “วรรณกรรม” แขนงหนึ่งของศิลปะ คือกระจกสะท้อนสังคม แล้ว “ดนตรี” จะถือเป็นส่วนหนึ่งในนั้นได้หรือไม่ เพราะหากมองย้อนไปจากศักราชนี้ จะเห็นว่าดนตรีถูกใช้ในการขับเคลื่อนสังคมอย่างไม่ลดละ

29 มิถุนาฯ ที่ผ่านมา มีการจัดงาน ดนตรีประชาธิปไตย 24 มิถุนา วันอะไร เพื่อประณามการใช้ความรุนแรงกับผู้เห็นต่างทางการเมือง น่าจับตามองว่าครั้งนี้วงดนตรีแนวพังก์ก็ยังยืนหยัดที่จะมาร่วมแสดงออก เท่านั้นไม่พอ ล่าสุดมีแรงกระเพื่อมระลอกใหม่ Headache Stencil ศิลปินสตรีทอาร์ตสัญชาติไทยผู้ตั้งคำถามกับสังคมการเมือง จับมือ Rap Against Dictatorship (RAD) กลุ่มศิลปินแร็พ ที่โด่งดังจากเพลงประเทศกูมี จัดงาน “Uncensored” เทศกาลศิลปะไร้ขอบเขต ไร้กรอบปิดกั้นเสรีภาพ ชวนศิลปินหลากแขนง ทั้ง กราฟฟิตี้ วาด เพนต์ ศิลปะกับการบำบัดความเครียดทางการเมือง ผู้กำกับหนัง ศิลปินแร็พ มาร่วมแสดงออกทางการเมือง เพราะเชื่อว่า “เมื่อมีเสียงก็ควรมีสิทธิที่จะพูด”

น่าสนใจว่าเหตุใดการต่อสู้ทางการเมืองจึงมีเรื่องของดนตรีเข้ามาเกี่ยวข้อง?

สอบถามไปยัง โคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า การขับเคลื่อนทางการเมืองมีหลายลักษณะ ถ้ามีนัยยะในเชิงอนุรักษ์หรือในเชิงแปรเปลี่ยนก็เป็นเรื่องการเมืองได้

Advertisement

“การต่อสู้ทางการเมืองที่ผ่านมาในอดีต มีทั้งโดยสันติและไม่สันติวิธี เฉพาะระยะหลัง ตั้งแต่ปี 2475 มีการยึดอำนาจและความพยายามที่จะยึดอำนาจรัฐโดยทหารเกิดขึ้นบ่อยครั้ง สำเร็จและไม่สำเร็จสูสีกัน แต่มี 1-2 ครั้งที่เป็นการต่อสู้ด้วยอาวุธจากฝ่ายที่ไม่ใช่ทหาร ได้แก่ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และขณะนี้ก็ยังมีการต่อสู้อยู่ โดยกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้”

งานดนตรีประชาธิปไตย 24 มิถุนา วันอะไร

“ในแง่การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย แทบทั้งหมดถือเป็นการต่อสู้โดย “สันติวิธี” ย้อนไปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการประกาศสันติภาพ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2488 ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญ เป็นการต่อสู้ทางการเมืองโดยไม่ใช้ความรุนแรง เพียงเพราะประกาศสันติภาพก็ทำสามารถให้สงครามอังกฤษและอเมริกาเป็นโมฆะ ทำให้เราไม่ตกเป็นผู้แพ้สงคราม และจุดนี้เองที่ทำให้ดุลยภาคทางการเมืองเปลี่ยน ที่อยู่ภายใต้การนำของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ต้องถอยออกไป

การเปลี่ยนแปลงเพื่อประชาธิปไตยหลังจากนั้นต่อมา ไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งผลตามมาคือการถูกปราบปรามโดยฝ่ายที่มีอาวุธ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยอีกครั้งในปี 2535 ที่เรียกว่า “พฤษภาประชาธรรม” แต่ช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมานี้ชักจะมัวๆ มีการชุมนุมใหญ่ถึง 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 จัดโดย “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ครั้งที่ 2 จัดโดย “แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)” ครั้งที่ 3 จัดโดย กปปส. เป็นการพยายามต่อสู้ทางการเมืองที่แต่ละครั้งเกิดการสูญเสีย จะเรียกว่าสันติวิธีก็ไม่เนียนเท่าไหร่”

โคทมย้ำว่า ศิลปะเพื่อการต่อสู้ทางการเมืองมีทุกยุค ความจริงก่อนหน้านี้มีการใช้ศิลปะผ่าน “วรรณกรรม” ในลักษณะแฝงการเมืองอยู่บ้าง อย่าง เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ แม้ไม่ใช่นักดนตรีเต็มร้อย แต่เป็นกวีที่มีจิตสำนึกทางการเมืองสูง อาจเพราะไม่ชอบความอยุติธรรม หรือความฉ้อฉลทางการเมือง ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ ก็มีเแนวทางวิจารณ์เรื่องเหล่านี้มาโดยตลอด แต่พอมาถึงช่วง 14 ตุลา เกิดกระแสที่เรียกว่า “เพลงเพื่อชีวิต” แทนที่จะเป็นเพลงเพื่อสายลมแสงแดด หรือเป็นเรื่องความรักหนุ่มสาว ก็หันมาใช้ดนตรีเพื่อปลุกความรู้สึกผิดชอบต่อสังคม บางคนใช้ดนตรีเป็นวิธีต่อสู้ทางการเมือง ขณะเดียวกันฝ่ายอนุรักษนิยมก็ใช้ดนตรี เช่น “เพลงหนักแผ่นดิน” หรือเพลงในทำนองเดียวกัน เพื่อโจมตีฝ่ายเห็นต่างว่าเป็นคนไม่รักชาติ ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติวิธีระบุ ก่อนจะเผยถึงโลกดนตรีในชีวิตวัยหนุ่ม

“ในยุคผม Bob Dylan ก็ใช้ดนตรีร่วมต่อสู้กับสงครามเวียดนาม ถือเป็นสไตล์หนึ่งที่กินใจคนหนุ่มสาวในรุ่นปี 60-70 จนกระทั่งได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม เมื่อไม่นานนี้ สะท้อนว่าบทกวีของ Bob Dylan มีพลังพอสมควร ถึงได้รับรางวัลจากการแต่งบทกวีที่เอามาร้อง นักร้องหลายคนที่ผมชอบเป็นนักร้องประท้วงและล้อสังคม… ที่กลับกลอกหลอกลวง”

น่าจินตนาการไม่น้อย ถ้าในอนาคตผู้คนไม่ใช้ความรุนแรง แต่หันมาใช้เสียงเพลงในการขับเคลื่อนสังคม “โคทม” มองว่า เป็นสิ่งที่ทำได้และควรทำ ไม่เฉพาะเพลง แต่หมายรวมถึงศิลปะทุกแขนง “ศิลปะบนเส้นทางชีวิตของแต่ละคน”

“การที่เราจมปลักอยู่ในเกาะกำบัง ด้วยความกลัว หวาดวิตก หรือด้วยลักษณะที่ไม่ยอมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อคนจำนวนมากจะได้รับอรรถประโยชน์จากสังคมก็เป็นแนวอนุรักษ์ แต่ศิลปะสามารถนำมาใช้เพื่อการแปรเปลี่ยนสังคมได้” โคทมระบุ

“กวีก็ดี เพลงก็ดี คือกระจกส่องสังคม ถ้าสะท้อนสังคมอย่างตรงไปตรงมาก็จะมีอิทธิพลในเชิงแปรเปลี่ยน เพราะสังคมหลอกตัวเองอยู่เรื่อย ต้องอาศัยศิลปิน อาศัยกวี กระตุกต่อมจิตสำนึกของเราอีกเล็กน้อย”

เสรีภาพคือแรงขับ เมื่อแร็พพูดการเมือง

ณัฐพงศ์ ศรีม่วง

ณัฐพงศ์ ศรีม่วง หรือ นัท ศิลปินแร็พ มือแต่งเพลงของ วง Liberate the People เข้าสู่วงการแร็พตั้งแต่ปี 2007 แต่ด้วยเป็นคนที่ตามการเมืองมาโดยตลอด เห็นสังคมที่มีปัญหาจึงอยากลองใช้แร็พพูดการเมือง

“ในแวดวงเพลงแร็พก็มีพูดการเมืองอยู่ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องคอร์รัปชั่น ยังไม่จับต้องประเด็นที่สำคัญ สำคัญในที่นี้อาจจะคนละความหมายกับแต่ละคน แต่ส่วนตัวมองว่าเรื่อง สิทธิเสรีภาพ สำคัญที่จะพูด เพลงแรกที่ออกมาคือเพลง Oxygen พูดถึงผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ทางการเมืองและการโดนจับของคนที่ออกมาพูดเรื่องการเมือง เพลงที่ 2 สิ่งที่ประเทศกูไม่มี เนื้อหายังคงเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพแต่ปัจจุบันขึ้น เช่น ชูสามนิ้วก็โดนจับ กินแซนด์วิชก็โดนจับ เพลงนี้เป็นแรงบันดาลใจของเพลง ประเทศกูมี

เพลงหนึ่งบอกว่าประเทศกูไม่มีเสรีภาพ อีกเพลงบอกว่าประเทศกูมีคนที่ทำให้ไม่มีเสรีภาพเกิดขึ้น”

นัทเปิดเผยว่า การเมือง 11 ปีที่ผ่านมา ทำให้ใครหลายเข้าใจมากขึ้นว่านี่ไม่ใช่แค่เรื่องของสีเสื้อ แต่การเมืองปัจจุบันมันเป็นเรื่องของ “คนที่ต้องการมีปากมีเสียง” เพื่อแสดงจุดยืนบางอย่างทางการเมือง หรือต้องการออกความเห็นแล้วมั่นใจว่าชีวิตเขาจะปลอดภัย อย่างงาน “Uncensored” ที่ไปร่วมโปรเจ็กต์ ก็เพราะเป็นงานที่สนับสนุนให้คนออกมาพูดกันมากขึ้น และที่เข้าร่วมกับงาน “ดนตรีประชาธิปไตย 24 มิถุนา วันอะไร” เพราะเป็นเวทีที่สามารถแสดงจุดยืนบางอย่างได้ แม้กระทั่งฝ่ายที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยเอง ถ้ามีงานที่รณรงค์เพื่อสิทธิเสรีภาพ ผมก็พร้อมไป เพราะมองว่าการยึดตัวบุคคลไม่เกิดประโยชน์ เราเริ่มจากหลักการอะไรมากกว่า

นัทย้ำจุดยืนอีกว่า ทุกคนสามารถทำอะไรเพื่อต่อสู้หรือแสดงมุมมองได้ อย่างแสดงความคิดเห็น ไม่จำเป็นต้องลงถนน ไม่จำเป็นต้องทำเพลง หรือทำอะไรที่ไม่ใช่ตัวเอง อย่างศิลปินกราฟฟิตี้เองก็ใช้การพ่นเพื่อเล่า การแสดงความคิดเห็นเป็นวิธีต่อสู้แบบสันติวิธี

บรรยากาศงาน Uncensored

“การยอมรับความเห็นที่แตกต่าง หรือหาฉันทามติร่วมกันได้ จะสำคัญต่อประเทศมากที่สุด เพราะสามารถหยุดความขัดแย้ง และนำไปสู่การแก้ไขที่แท้จริง ที่ออกมาร้องแม้แทบจะไม่ได้คาดหวังว่าจะเปลี่ยนอะไรได้ แต่ก็มีบ้างที่เชื่อว่าถ้าเพลงสามารถสื่อสารกับคนวงกว้าง ดนตรีน่าจะช่วยให้คนตื่นตัวได้บ้าง และคนเหล่านั้นอาจจะไปเปลี่ยนแปลงบางอย่างในสังคม..”

“ถ้าวันนึงปากร้องไม่ได้ ผมก็คงเขียน”

วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ เมื่อพังก์ไม่จำเป็นต้องเดือดตลอดเวลา

ณัฐพล เข็มเงิน หรือ เจเจ ในวัย 26 ปี คือมือกีตาร์และเสียงประสาน วงดนตรีแนวพังก์ “Drunk all day” หนึ่งใน 2 วง ที่ไปร่วมแสดงออกทางการเมือง ที่งานดนตรีประชาธิปไตย 24 มิถุนา วันอะไร

พังก์ในความคิดของ เจเจ คือความ “ขบถ” ตั้งคำถามว่าทำไมเราต้อง “ทำ” หรือ “เป็น” เหมือนคนอื่น จนวันหนึ่งเริ่มเห็นร่องรอยความอยุติธรรมทางสังคม การเมืองที่บิดเบี้ยว สิทธิและเสียงที่เริ่มหายไป จึงตัดสินใจแต่งเพลงที่พูดถึงการเมือง จากความรู้สึกอัดอั้น จึงคิดหาวิธีระบายที่สร้างสรรค์และสนุก มาจบที่ดนตรีพังก์เพราะเหตุผลว่า 3 คอร์ดก็เล่นได้ คิดเนื้อหาง่าย

“เราไม่เก่งแค่อยากจะเล่น อยากจะร้อง วงพังก์อย่าง The clash หรือ Sex Pistol ก็พูดถึงเรื่องการเมือง เลยคิดว่าพังก์เหมาะที่จะเอามาเล่น” เจเริ่มเล่าถึงเหตุผลก่อนจะหยิบกีตาร์มาบรรเลง ค่อยๆ เผยถึงมุมมองอีกด้านของเพลงใต้ดินแขนงนี้

ณัฐพงษ์ เข็มเงิน ภาพโดย กิตติพัฒน์ แสงศรีสกุลชัย

“คนส่วนใหญ่จะคิดว่าพังก์คือ เพลงบ่น เพลงต่อต้าน แต่เมื่อเวลาเปลี่ยน คนเห็นโลกมากขึ้น เพลงก็เริ่มอิงไปทางวิถีชีวิตมากขึ้น อย่างเพลงของ Rancid ก็ไม่ได้มีแค่เรื่องขบถ ต่อต้าน หรือรุนแรงตลอดเวลา ยังมีเพลงที่เกี่ยวกับเพื่อน เช่น เพลง Fall Back Down เวลาเศร้าเรายังมีเพื่อนที่คอยบอกว่า เดี๋ยวมันก็ผ่านไป Everything is gonna be Alright”

เจเจยอมรับว่า เวลาเปลี่ยนมุมมองเปลี่ยน จากเด็กที่พร้อมชนตลอดเวลาเพราะเราไม่มีอะไรจะเสีย ยังอ่อนวุฒิภาวะ ยังไม่เห็นมุมกว้างก็คิดว่าเราสู้ได้ พร้อมที่จะพุ่งชน แต่ความจริงเราตัวเท่านี้จะพลิกปัญหาทั้งหมดเป็นเรื่องยาก

“เราไม่รู้ว่าสุดท้ายใครจะถูกใครจะผิด ในโลกโซเชียลบางคนพร้อมจะพลีชีพ แต่ในชีวิตจริงตบไหล่เบาๆ พรุ่งนี้ต้องทำงานนะเพื่อน นี่คือเหตุผลที่แต่งเพลง “คืนความสุกข์” เขาพูดว่าจะคืนความสุขให้เรา แต่เป็นสุขหลอกๆ ไม่ต้องพูดตรงๆ แต่คนฟังแล้วรู้ว่าไม่ใช่เรื่องความรักของคนสองคน เพราะตรงกับสถานการณ์ที่พบเจอ

“เราสนุกที่จะทำ ต่อให้อะไรจะเกิดขึ้น วันหนึ่งอาจจะมีเด็กยืนเปิดเพลงของเราแล้วบังเอิญไปเข้าหูคนที่เดินผ่าน หรือมีใครหลงเข้ามาฟังเพลง “นรกคนจน” ในยูทูบ แล้วเห็นภาพว่ายุคสมัยหนึ่งเป็นอย่างไร เผื่อเกิดแรงบันดาลใจเพราะเห็นเราไม่มีอะไร จอกๆ จ้อนๆ ก็ยังสู้ ยังทำ จะรู้สึกดีมากที่อย่างน้อยได้ขับเคลื่อนบางอย่าง”

บอย (ซ้าย) และวง The shockshuck

พังก์ ขบถ ขยะสังคม แต่ไม่เบียดเบียนใคร

บอย มือเบส วง The ShockShuck ผู้ไม่ประสงค์เปิดเผยชื่อจริง บอกว่า ที่ผ่านมาได้ขึ้นเวทีแสดงออกทางการเมือง คือ “จะ 4 ปี แล้วนะ…” และ “ดนตรีประชาธิปไตย 24 มิถุนา วันอะไร”

เพลงที่เป็นที่รู้จักของ The ShockShuck อย่าง ขยะสังคม เป็นการเปรียบเทียบมุมมองของคนในสังคม ไม่เฉพาะกลุ่มพังก์ แต่หมายรวมถึงทุกสังคมที่มีการแบ่งแยกชนชั้น

“เอาชีวิตของคนใกล้ตัวเป็นหลัก เราอาจทำตัวต่ำ แต่เราไม่ได้ไปเบียดเบียนใคร เพลงที่ 2 Fight Real Life พูดถึงการสู้กับความจริงในชีวิต

ท่อนนึงในเพลงร้องว่า “ความเป็นจริงมันถูกกดดัน มันถูกปิดกั้น ห้ามแสดงมันออกมา” มาจากช่วงปีที่มีการชุมนุมประท้วง พวกผมเห็นว่าสื่อบางสื่อก็นำเสนอความจริงไม่ได้และยังเป็นอยู่ทุกวันนี้

ส่วนเพลงที่ 3 nation sick แปลว่า ประเทศป่วย พูดถึงทุกคนไม่ได้เจาะจงว่าจะเป็นนักการเมือง สังคมบ้านเราทำอะไรไม่ได้ ได้แต่ปากพูด มือพิมพ์ ไม่มีการกระทำอะไรที่ชัดเจน เราได้แต่แสดงความคิดเห็น ส่วนน้อยที่จะมีคนลงมือทำ เหมือนตอนหาเสียงที่ผ่านมา หรือทุกปีในการเลือกตั้ง นโยบายของแต่ละพรรค พูดดี แต่พอเวลาผ่านมาก็ทำไม่ได้”

บอยมองว่า ดนตรีคือการแสดงออก ไม่ได้คาดหวังว่าจะเป็นหนทางต่อสู้ที่นำมาซึ่งชัยชนะ เพียงแต่อยากเล่นดนตรีเพื่อแสดงออกความรู้สึก ในมุมเล็กๆ ก็อาจจะมีบ้างกับคนใกล้ตัว ที่ความคิดเห็นไม่ตรงกัน ความสัมพันธ์ก็ห่าง แต่บอยยืนยันว่าเพลงที่เขียน “กลั่นกรองมาจากความคิด จากชีวิตที่เราเจอ”

“ส่วนตัวยังพูดได้ไม่เต็มปากว่าต่อสู้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะบางทีสภาพแวดล้อม ทำให้เราต้องอยู่เฉยๆ บางทีเราก็ต้องเงียบ พูดไม่ได้ แต่ตนดรีมีส่วนเล็กๆ ที่จะกระเพื่อมสังคม ถ้าฟังเพลงแล้วตามเนื้อหาก็อาจจะทำให้ฉุกคิดได้บ้าง อยากให้คนฟังดนตรีพังก์ตีความหมาย ไม่ใช่มองแค่ภายนอก”

“พังก์ต้องอยู่กับความเป็นจริงให้ได้ ใช้ชีวิตแบบไม่ได้แสดง ต้องรู้สึกจริงๆ เราอาจจะแข็งข้อบ้าง แต่ไม่เคยทำอะไรที่ล้ำเส้น บางคนอาจจะมองว่าพังก์จะต้องแต่งตัวประหลาดและทำตัวกเฬวราก ใช้ชีวิตข้างถนน แต่ผมมองว่าชีวิตมีหลายรูปแบบ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เราเปลี่ยนแปลงได้ แต่สิ่งที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด คือเรื่องความยุติธรรมและความเหลื่อมล้ำทางสังคม ที่ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกันไม่ว่าจะรวยหรือจน ไม่ได้เป็นระบบอุปถัมภ์อุ้มชู อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image