ซีเนียริตี้ ‘ตัดพี่ตัดน้อง’ อำนาจนิยม(ลี้ลับ)ที่เริ่มกลายพันธุ์?

การแสดงเหตุการณ์จำลองกิจกรรมรับน้องรุนแรงที่หอศิลป์ กทม. เมื่อเร็วๆ นี้

เคยเป็น “รุ่นพี่” แต่วันนี้ไม่ใช่อีกแล้ว!

คือประเด็นฮือฮาที่ทำเอาบรรดาสื่อรายงานข่าวพร้อมเอาไปพาดหัวให้เก็ตง่ายๆ ใน 4 พยางค์ว่า “ตัดพี่ตัดน้อง” หลัง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศกลางสภาว่า พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ไม่ให้เกียรติตน จึงไม่ขอนับเป็นรุ่นพี่อีกต่อไปแม้รู้จักกันมานานแถมแต่งงานวันเดียวกันอีกต่างหาก ครั้นเปิดหนังสือรุ่นขยายความคำว่ารุ่นพี่รุ่นน้องก็มีข้อมูลว่า “บิ๊กตู่” คือศิษย์เก่าเตรียมทหารรุ่น 12 ส่วน “วีรบุรุษนาแก” ซึ่งก็ชื่อตู่เหมือนกัน เข้าเรียนในรุ่น 8 เมื่อ พ.ศ.2508 กระทั่งโดนชาวเน็ตแซวว่า “นี่ไงเห็นมะ ระบบโซตัสกดดันน้องมากๆ น้องประยุทธ์ไม่เอารุ่นเลย 5555” ก่อนถูกแชร์อย่างถล่มทลาย

หันมองสังคมไทยในช่วงเวลาเดียวกัน มีข่าวเกี่ยวเนื่องกับรุ่นพี่รุ่นน้องในสถาบันการศึกษาที่พาให้เศร้าใจหลายต่อหลายข่าว ไม่ว่าจะเป็นรุ่นพี่เทคนิคฯย่านมีนบุรี “ซ่อม” รุ่นน้องด้วยการสั่งกลิ้งไปตามถนน แล้วเตะซ้ำ อ้างทำ “ด้วยความรัก” เพราะรุ่นน้องไม่ค่อยเข้าเรียน ไม่เพียงระดับอุดมศึกษาหรือช่างกล ยังเขยิบลงมาสู่โรงเรียนมัธยม ตามที่ปรากฏข่าวนักเรียน ม.ปลายในโรงเรียนดังเมืองนครปฐม ถูกรุ่นพี่ทำร้ายแลกสร้อยข้อมือ “23 มกราสถาปนา พระปฐมวิทยาลัย รุ่น 105” จนสมองบวมเสียชีวิตลงอย่างน่าสลดใจ

ชวนให้งุนงงสงสัยว่า เหตุใดสังคมไทยในศตวรรษที่ 21 ยังคงวนเวียนอยู่กับระบบอาวุโส หรือซีเนียริตี้ชนิดบ้าคลั่งกระทั่งเกิดความสูญเสีย ยิ่งในบางสถาบันนั้นสุดเข้มข้นจนถูกเรียกว่า “ประเพณี”

Advertisement
ชาวเน็ตแซวบิ๊กตู่ถูกรับน้องโหดในสภา

แม้ถูกต่อต้านจากกลุ่มคนรุ่นใหม่โดยมีเพจ “ANTI SOTUS” ที่ก่อตั้งโดย ภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย หรือ “เหน่อ หนองกระโดน” บัณฑิตรั้วแม่โจ้ จนกลายเป็นศูนย์รวมการ “ร้องเรียน” เรื่อง “รับน้อง” อย่างไม่สร้างสรรค์ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทว่า เรื่องราวเหล่านั้นก็ยังไม่หมดไป แต่กลับเกิดปรากฏการณ์บางอย่างที่น่าสนใจยิ่ง

ไวรัส ‘กลายพันธุ์’

จากมหา’ลัยสู่โรงเรียนมัธยม

“การทำอย่างหลบซ่อนเป็นวัฒนธรรมที่ส่งต่อกันไป เหมือนไวรัสแล้วเกิดการกลายพันธุ์ ที่รับน้องกันจนตาย เป็นสถาบันที่เพิ่งเกิดวัฒนธรรมรับน้องรุนแรงขึ้นมาไม่นาน ในขณะที่สถาบันซึ่งรับน้องรุนแรงมานานแล้ว กลับยิ่งน้อยลง คือเกิดการส่งต่อไปยังสถาบันที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น โรงเรียนมัธยม อยู่ดีๆ ใครจะมาทำแบบนี้ 10 ปีก่อน ใครจะคิดว่ามีโซตัสขนาดนี้ อย่างที่นครปฐมรับกันถึงตาย”

คือบทวิเคราะห์จากปาก กีรติ ปั้นมณี เลขาธิการกลุ่มแอนตี้โซตัสบนเวทีเสวนา “รับเพื่อนใหม่…เคารพสิทธิ มิตรภาพ”

Advertisement
โรงเรียนดังถูกศิษย์เก่าวิพากษ์จากการพานักเรียนเข้าค่ายในกองพันทหารราบเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา โดยมีการฝึกคล้ายทหาร ชี้สุดโต่งปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์

ณ ห้องอเนกประสงค์ 1 หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา โดยระบุว่าแม้สถานการณ์โดยรวมดีขึ้นหากเทียบกับ 7 ปีที่แล้ว เมื่อแรกก่อตั้งองค์กรแอนตี้โซตัส ซึ่งสมัยนั้นยังมีกิจกรรม “รับน้องโหด” อย่างกว้างขวาง แต่ปัจจุบันพื้นที่ของกลุ่มคนเหล่านั้นลดน้อยลง ยังคงเหลือแบบ “หลบๆ ซ่อนๆ” เท่านั้น อย่างไรก็ตาม กลับก่อเกิดสถานการณ์คล้ายไวรัสกลายพันธุ์ คือสถาบันเดิมที่เคยรับน้องหนักหน่วงค่อยๆ คลายลง แต่กลับส่งต่อไปยังสถาบันที่ไม่เคยปรากฏกิจกรรมเช่นนั้นมาก่อนนั่นเอง

“โซตัสไม่ใช่การเล่นของเด็กนักศึกษา แต่เป็นระบบความเชื่อคิดเอาเองว่ามันเป็นสิ่งที่ดี ทำให้น้องเคารพรุ่นพี่ มีวินัย แต่ท้ายที่สุดเป็นการนำคุณค่าพวกนี้มาสร้างความชอบธรรมในจิตใจให้กับการกระทำตัวเอง เช่น น้องไม่ไหว้รุ่นพี่ มือแข็ง เดี๋ยวโตขึ้นไปทำงานแล้วเจอหัวหน้างานแบน รุ่นพี่เลยคิดว่าต้องทำอะไรบางอย่าง ทั้งรุนแรงและไม่รุนแรง โดยบอกว่าโซตัสทำให้คนเป็นคนดี ถามว่าคำว่าคนดีคุณนิยามได้หรือเปล่า?” เลขาฯ แอนตี้โซตัสตั้งคำถามทิ้งท้าย

กล่อมให้ ‘รัก’ เสี้ยมให้ ‘เกลียด’

ชี้ทำเจ็บ อาย ‘ตกใจ’ เสี่ยงผิดอาญา

จากปมคำถามข้างต้น มาฟัง “คนใน” อย่าง “เอ” นามสมมุติ หนึ่งในเยาวชนที่ผ่านประสบการณ์รับน้องสายโหด โดยเล่าว่าถูกรุ่นพี่กล่อมให้รักสถาบันการศึกษาของตัวเอง ในทางตรงกันข้ามก็ถูกเน้นย้ำให้เกลียดชังคู่อริ ทั้งยังโดนปฏิบัติในกิจกรรมที่ทำ “เจ็บตัว” มาแล้วมากมาย ไม่เว้นแม้แต่บังคับให้กินของแปลกๆ ครั้นผ่านไปได้ รุ่นพี่จะนำเหล็กลนไฟร้อนฉ่ามาจี้ไหล่ ส่วนใคร “ไม่เอา” ระบบนี้ สุดท้ายจะถูกรุ่นพี่บีบให้อยู่ไม่ได้ กระทั่งต้องออกจากสถาบันการศึกษาไปเอง

มาถึงตรงนี้ เตชาติ์ มีชัย ตัวแทนเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน ออกมายืนยันบนเวทีเดียวกันว่า วาทกรรมมากมายถูกประดิษฐ์ขึ้นในกิจกรรมรับน้อง ไม่ว่าจะเป็น ให้รัก สามัคคี เคารพรุ่นพี่ ทั้งที่จริงแล้วเป็นเพียงการสร้างความชอบธรรมให้ตัวเองเท่านั้น ที่สำคัญพฤติกรรมรุนแรงหรือแม้กระทั่งบังคับอมปีโป้แบบ “ปากต่อปาก” ถูกว้ากให้ตื่นตกใจ ล้วนมีความผิดทางอาญาทั้งสิ้น

เสวนารับเพื่อนใหม่ เคารพสิทธิ มิตรภาพ

“การรับน้องที่เกิดปัญหาเป็นการละเมิดสิทธิผู้อื่น ประดิษฐ์วาทกรรมมากมายที่พูดกันว่าทำเพื่อให้น้องรู้จักกัน  สามัคคี เข้าใจ เคารพรุ่นพี่รุ่นน้อง ให้มีความอดทนในสภาพสังคมที่มีการแก่งแย่งแข่งขัน จบไปจะได้ทำงานได้ ซึ่งจริงๆ เป็นเรื่องเพ้อเจ้อ เป็นความสะใจ เป็นการสร้างความชอบธรรมให้ตัวเอง การที่ไปบังคับ ไปว้ากให้ตื่นตกใจ มีความผิดทางอาญา” ตัวแทนเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชนกล่าว

‘คนเท่ากัน’ หนุนรับ ‘เพื่อนใหม่’ ไม่ละเมิดสิทธิ

จากเหตุการณ์ความรุนแรงในกิจกรรมรับน้องเพื่อ “เอารุ่น” และ “ให้รุ่น” ล่าสุด ตัวแทนนักศึกษา 60 สถาบัน และเครือข่ายเยาวชน มีการรวมตัวประกาศเจตนารมณ์หนุน “รับน้องสร้างสรรค์” ภายใต้สโลแกน “รับเพื่อนใหม่ เคารพสิทธิ มิตรภาพ” เน้นกิจกรรมเคารพสิทธิความเป็นมนุษย์ พร้อมเปิดเพจ “เครือข่ายเยาวชนปกป้องสิทธิ” รับเรื่องร้องเรียนต่างๆ และเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นประโยชน์

ด้าน สสส.ก็สนับสนุนเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรมการใช้ “อำนาจ” ของรุ่นพี่ต่อรุ่นน้อง ซึ่งหลายครั้งนำไปสู่ความสูญเสีย

ย้อนกลับไปดูความเห็นเกี่ยวระบบ “โซตัส” โดย ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ที่มองว่า ระบบดังกล่าวเทียบได้กับระบอบอาณานิคม

ภาพจากหนังสือ 8 วิธีหนีรับน้อง ถูกแชร์ในโลกออนไลน์ต่อเนื่องหลายปี ผลงานของอาจารย์มหาวิทยาลัยเก่าแก่ด้านศิลปะ

“รุ่นพี่ที่แท้จริงของน้องๆ คือคณาจารย์และผู้บริหารมหาวิทยาลัย พวกนี้คือคนที่อยู่เบื้องหลังพี่เชียร์ทั้งหลาย เพราะระบบห้องเชียร์นั้นคือเรื่องของการปกครองเยี่ยงอาณานิคม ที่เจ้าอาณานิคมนั้นจะส่งคนที่เขาไว้เนื้อเชื่อใจ ซึ่งอาจจะเลือกเอง หรือให้บรรดาผู้ใต้ปกครองนั้นเลือกขึ้นมา แต่ในขั้นตอนสุดท้ายก็จะต้องได้รับการเห็นชอบจากผู้ปกครองตัวจริงอยู่ดี”

ส่วนการที่ระบบโซตัสเข้มแข็งในสถาบันบางแห่งนั้น ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยระบุไว้ในบทความ “โซตัส คือดัชนีด้านกลับของกึ๋นมหาวิทยาลัย” ไว้ตอนหนึ่งว่า

การ์ตูนเสียดสีโดยเพจดัง Anti Sotus

“วิธีประเมินคุณภาพของมหาวิทยาลัยไทยนั้นไม่ยากอะไร ดูพิธีรับน้องว่าโหดมากน้อยกี่องศา การประชุมเชียร์เคร่งครัดและมากสักกี่ชั่วโมง พฤติกรรมรุ่นพี่ในการประชุมเชียร์ว่ากร่างและเหี้ยมแค่ไหน ฯลฯ ก็ประเมินได้เองว่ายิ่งมีสิ่งเหล่านี้มากเท่าไร มหาวิทยาลัยนั้นก็มีกึ๋นน้อยเท่านั้น”

อำนาจนิยมจากระบบอุปถัมภ์ความลี้ลับที่ครอบงำสังคมไทย?

อีกหนึ่งประเด็นเล็กๆ แต่ไม่เล็กๆ ที่น่าสนใจและถูกตั้งคำถามเบาๆ มาเนิ่นนานในแวดวงสังคมวัฒนธรรมและหนอนหนังสือก็คือ เหตุใด “หนุ่มหน่ายคัมภีร์” ที่แต่งโดย สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ชื่อดัง ตั้งแต่ครั้งเป็นนักศึกษาโบราณคดีเมื่อ 50 กว่าปีก่อน ยังถูกตีพิมพ์ครั้งแล้วครั้งเล่า เปลี่ยนปกไปมาจนเจ้าตัวจำไม่ได้

จริงๆ แล้วคำตอบไม่ได้อยู่ที่ไหนไกล นั่นเพราะระบบโซตัสและอำนาจนิยมผ่านกิจกรรมรับน้องใหม่ตามที่ปรากฏในผลงานดังกล่าวยังคงอบอวลอยู่ในสังคมไทยจนกลายเป็นหนังสือที่อ่านเมื่อไหร่ก็เหมือนเพิ่งจรดปลายปากกาเมื่อวานนี้

สุจิตต์ ยังเป็นอีกคนที่เขียนถึงวัฒนธรรมดังกล่าวแบบจงใจผลิตซ้ำทุกฤดูกาลรับน้อง โดยชี้ว่า วัฒนธรรมอำนาจ ครอบงำสังคมไทยในนามระบบอุปถัมภ์ สร้างความสัมพันธ์แบบ ผู้ใหญ่-ผู้น้อย, หัวหน้า-ลูกน้อง, นาย-บ่าว ฯลฯ คนเป็นผู้น้อย, ลูกน้อง, บ่าว มีหน้าที่รับคำสั่งแล้วทำตามคำสั่งอย่างเคร่งครัดโดยไม่ปริปาก

ใครถาม แปลว่า เถียง ใครวิจารณ์ แปลว่า ด่า

ปฏิเสธไม่ได้ว่าประโยคข้างต้นชวนให้นึกถึงการวิพากษ์จากสังคม สื่อมวลชน และนักการเมืองที่มีต่อรัฐบาล คสช. ต่อท่าทีของนายกรัฐมนตรีคนก่อนหน้าและคนปัจจุบันซึ่งเป็นบุคคลคนเดียวกัน กระทั่งเจ้าตัวออกอาการ “ฟิวส์ขาด” มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง

“อำนาจนิยมและความไม่เท่าเทียมหยั่งรากลึกมากและนานมากในระบบการศึกษาไทยทุกระดับ ตั้งแต่ประถม, มัธยม, อุดมศึกษา ระบบอุปถัมภ์เป็นเครือข่ายความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ซึ่งเรียกทั่วไปว่าอำนาจนิยม นับเป็นต้นตอของความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียม คนไม่เท่ากัน แสดงออกด้วยระเบียบทางสังคมที่สะท้อนชนชั้นลดหลั่น เข้ากันได้ดีมากๆ กับระบบโซตัส แต่ไปด้วยกันไม่ได้กับความเป็นสมัยใหม่ในความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกไม่เหมือนเดิม

สำนึกอย่างนี้มีมากในมหาวิทยาลัยครูบาอาจารย์สอนให้นักเรียนนักศึกษาอยู่ในโอวาท ท่องจำคำสอนและคำตอบสำเร็จรูป โดยกีดกันและปิดกั้นการซักถามและถกเถียง ขณะเดียวกันก็ครอบงำย้ำว่าซักถามถกเถียงเป็นสิ่งชั่วร้าย เถียงครูไม่ได้ เถียงผู้ใหญ่ไม่ดี เด็กดีต้องไม่ถาม ไม่เถียง ไม่วิพากษ์วิจารณ์ นักการศึกษาสมัยใหม่ รวมทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองร่วมสมัย พยายามเรียกร้องปฏิรูปยกเลิกการเรียนการสอนแบบท่องจำตามครู แล้วกระตุ้นให้นักเรียนนักศึกษากล้าคิด กล้าแสดงความเห็น กล้าถาม กล้าเถียง กล้าวิพากษ์วิจารณ์อย่างสากลโลกแต่แล้วล้มเหลวถึงขั้นเจ๊งล้มละลาย” สุจิตต์ระบุ

ถามว่าทำไมระบบที่ดูเหมือนไม่เข้าท่า จึงยังดำรงอยู่ในสังคมไทยอย่างต่อเนื่องและยาวนาน

คอลัมนิสต์อาวุโสบอกว่า ปัญหามีขึ้นเพราะยังมีคนเลื่อมใสอำนาจนิยม เพราะได้ประโยชน์จากระบบอุปถัมภ์

จึงส่งผลให้เกิดอคติต่อผู้ต้องการให้สังคมไทยก้าวไปข้างหน้าอย่างมีอนาคตสดใสและเสมอภาค

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image