ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องสองแผ่นดิน ‘พระนคร-ธนบุรี’ เปิดประวัติศาสตร์ 4 สถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน

"สถานีสนามไชย" ตั้งอยู่บนพื้นที่ด้านในของ "ป้อมวิไชยเยนทร์" ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

ได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม สำหรับรายการ “ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว” ตอน “กรุงเทพฯ-กรุงธน บนผืนดินเดียวกัน” เมื่ออังคารที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งอดีต 2 กุมารสยาม ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ชื่อดัง จูงมือย้อนอดีตยังหย่อมย่านเก่าแก่อันเป็นที่ตั้งสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน 4 แห่ง ได้แก่ วัดมังกร, สามยอด, สนามไชย และอิสรภาพ ซึ่งไม่เพียงเป็นการสร้างประวัติศาสตร์บทใหม่ของการคมนาคมไทย หากตัวสถานีเองยังตั้งอยู่ในพื้นที่สำคัญซึ่งมีความเป็นมาอันยาวนาน ชวนให้หมุนเข็มนาฬิกาย้อนกลับไปซึมซับเรื่องราวสุดลึกซึ้ง โดยมี รศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร ร่วมเดินทางและให้ข้อมูลเข้มข้น และชวนให้หัวใจเต้นเร็วไปกับภาพจินตนาการแห่งความทับซ้อนของพื้นที่ ผู้คน ชุมชนในย่านต่างๆ ก่อนกลายเป็นสถานีสำคัญทั้ง 4 แห่ง

เปิดรายการหน้า “สถานีสนามไชย” ท่ามกลางชุมชนที่คึกคักและมีสีสัน เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้ย่านปากคลองตลาด สน.พระราชวัง มิวเซียมสยาม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และอื่นๆ อีกมากมาย

จากซ้าย เอกภัทร์ เชิดธรรมธร พิธีกร “มติชนทีวี”, ขรรค์ชัย บุนปาน และสุจิตต์ วงษ์เทศ ถ่ายทำรายการ “ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว ตอน กรุงเทพฯ-กรุงธน บนผืนดินเดียวกัน” เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กมติชนออนไลน์, ข่าวสด, ศิลปวัฒนธรรมและยูทูบมติชนทีวี เมื่ออังคารที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา


“นี่เป็นมหัศจรรย์พรรค์ลึกความก้าวหน้าของกรุงเทพฯ อีกชั้นหนึ่ง”
สุจิตต์กล่าวถึงการสร้างสถานีสนามไชยซึ่งมีการสร้างอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาไปยังฝั่งธนบุรี ก่อนโชว์ภาพโค้งน้ำเจ้าพระยา มองเห็นฝั่งกรุงเทพฯ-กรุงธน แล้วเล่าว่า ทั้ง 2 ฝั่ง เดิมเป็น “แผ่นดินเดียวกัน” ครั้นล่วงสู่สมัยกรุงศรีอยุธยามีการขุดคลองลัดเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยา และสร้างป้อมคุมแม่น้ำจำนวน 2 ป้อม ต่อมา สมเด็จพระเจ้าตากสิน มาตั้งกรุงธนบุรี ซึ่งคุม 2 ฟากแม่น้ำ แต่ปัจจุบันเวลาเราพูดถึงพระเจ้าตาก มักนึกถึงแค่ฝั่งธนฯ ซึ่งไม่ใช่!

ขรรค์ชัย-สุจิตต์ยังร่วมเล่าถึงย่านนี้ในอดีต ซึ่งเป็น “ย่านเจ้านาย”

Advertisement

“ย่านนี้เดินเที่ยวได้สบายมาก การมาปักจุดสร้างรถไฟฟ้าตรงนี้ วิเศษ ชั้นหนึ่ง แถวนี้เป็นย่านเจ้านาย เขยิบออกไปตรงปากคลองตลาด บ้านหม้อ จึงจะมีราษฎรเยอะ วิกลิเกเต็มไปหมด มีแกรนด์เธียเตอร์ ของเจ้าคุณมหินทร์ มีวิกละครที่ได้รับอิทธิพลละครฝรั่ง”

ความสง่างามของ “สถานีสนามไชย” เสาตระหง่านระหว่างทางเดิน บัวจงกลหัวเสาปิดทองคำเปลวตามอย่างศิลปะไทยประเพณี


เอกภัทร์ เชิดธรรมธร
พิธีกร “มติชนทีวี” เสริมข้อมูลว่า สถานีสนามไชยแห่งนี้ เชื่อมต่อไปยังฝั่งธนบุรีที่สถานีอิสรภาพโดยใช้อุโมงค์ ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแห่งแรกของไทย โดยช่วงที่ลึกสุด ลึก 38 เมตรจากผิวดินของแม่น้ำเจ้าพระยา จุดที่ยากสุดคือก่อนลอดใต้แม่น้ำ เพราะหน้าดินเป็นทรายที่มีน้ำมาก ต้องอัดฉีดน้ำยากันซึมชนิดพิเศษซึ่งเป็นเทคโนโลยีจากญี่ปุ่น ใช้เวลากว่า 6 เดือนกว่าจะขุดลงไปในชั้นดินได้ ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการก่อสร้างรถไฟฟ้าในไทยอย่างแท้จริง

Advertisement

ย้อนอดีต ‘สถานีสนามไชย’ ใน ‘ป้อมวิไชยเยนทร์’

จากนั้นถึงคิว รศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์สถาปัตย์ รั้วศิลปากร ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์พื้นที่ในกรุงเทพฯ-กรุงธนอย่างลุ่มลึก หลังลงบันไดเลื่อนของสถานีสนามไชยด้วยประตูทางเข้าในรั้วมิวเซียมสยาม ก็เริ่มต้นเล่าว่า ย่านนี้เคยเป็นจุดที่เป็น “ป้อมวิไชยเยนทร์” ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยพระนารายณ์

“บริเวณที่เป็นมิวเซียมสยามตอนนี้และครอบคลุมสถานีสนามไชยแต่เดิมคือป้อมแบบฝรั่ง หันหน้าลงแม่น้ำเจ้าพระยา ขนาดป้อมใหญ่มาก กินพื้นที่โรงเรียนราชินี มิวเซียมสยาม สน.พระราชวัง โรงเรียน วัดราชบพิธ และอาจจะกินบริเวณที่เป็นวัดโพธิ์ด้วย จุดที่เป็นสถานี อาจเป็นพื้นที่ด้านในของป้อมวิไชยเยนทร์”

รศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร ร่วมเดินทางวันเดย์ทริปที่ทำได้จริงด้วยรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินอันพาดผ่านเส้นทางประวัติศาสตร์ ทั้งฝั่งพระนครและธนบุรี

รศ.ดร.ชาตรียังชี้ชวนให้ชมแผนที่ พ.ศ.2430 ตรงกับกลางรัชสมัยพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 ซึ่งแสดงให้เห็นร่องรอยบริเวณที่เป็นสถานีสนามไชยว่าแต่เดิมประกอบด้วยกลุ่มวังท้ายวัดโพธิ์ 5 วัง โดยตำแหน่งทางขึ้นที่ 1 ซึ่งเป็นมิวเซียมสยามคือพื้นที่ของวังกรมหมื่นอดิศร อุดมเดช

“โลเกชั่นแถบนี้เป็นสี่แยกสำคัญ คือแม่น้ำเจ้าพระยาเจอกับปากคลองบางกอกใหญ่ ซึ่งมีสินค้าจากฝั่งธน และอื่นๆ จึงค่อนข้างเป็นคึกคักมาก ปลายรัชกาลที่ 5 ต่อ รัชกาลที่ 6 ถึงรัชกาลที่ 7 วังต่างๆ ถูกเปลี่ยนสภาพเป็นอาคารราชการ เป็นกระทรวง ทบวงกรมของรัฐ โรงเรียน ตลาด ยิ่งคึกคัก กรุงเทพฯก็พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ต่อมาสถานที่ราชการเหล่านี้ กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ เช่น มิวเซียมสยาม และการพัฒนาล่าสุดก็คือการเกิดขึ้นของรถไฟฟ้าสายนี้”

หงส์สีทองอร่าม มีมิติใน “สถานีอิสรภาพ” ยึดโยงความหมายเชื่อมร้อย “วัดหวงส์รัตนาราม” อารามเก่าแก่ในฝั่งธนบุรี

จาก ‘ร่องสวน’ เก่าสุดของกรุงเทพฯ สู่ ‘สถานีอิสรภาพ’

ไม่ให้อารมณ์ขาดตอน ไปต่อทันทีที่ “สถานีอิสรภาพ” ซึ่งโอ่โถง และงดงามโดดเด่นด้วยรูปหงส์สีทองอร่าม สอดคล้องชื่อวัดสำคัญในย่านนี้อย่าง “วัดหงส์รัตนาราม”

“ถ้าดูจากแผนที่ปี 2430 ช่วงกลาง รัชกาลที่ 5 จะเห็นว่ายังไม่มีถนนอิสรภาพ จุดที่เป็นสถานีอิสรภาพเดิมเป็นร่องสวน เป็นบ้านของชาวบ้านที่อยู่ระหว่างวัดหงส์รัตนาราม กับวัดราชสิทธาราม ต่อมา แผนที่ปี 2475 มีถนนอิสรภาพแล้ว เป็นถนนที่สัมพันธ์กับการสร้างสะพานพุทธซึ่งเชื่อมฝั่งพระนครกับฝั่งธนฯ” รศ.ดร.ชาตรีกล่าว

ตัดฉากมายัง ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ซึ่งขยายความคำว่า “อิสรภาพ” ว่าเป็นศัพท์บัญญัติใหม่ สมัยรัชกาลที่ถูกนำมาใช้ในความหมายที่พระเจ้าตากสร้างกรุงธนฯหลังจากอยุธยาแตก ไม่ได้เกี่ยวกับการประกาศอิสรภาพ

“ต้องนับว่านี่คือย่านเก่าแก่แห่งหนึ่งของความเป็นกรุงเทพฯในปัจจุบันซึ่งชุมชนเก่าสุดอยู่ฝั่งธนบุรี จุดเก่าสุดน่าจะอยู่แถบพื้นที่ที่สร้างสถานีรถไฟฟ้านี่เอง แถวนี้มีวัดวาอารามมากมาย อย่างวัดราชสิทธาราม สร้างสมัยรัชกาลที่ 1 บนพื้นที่วัดเดิมของชาวบ้านที่ชื่อว่าวัดพลับ มีจิตรกรรมสวยงามมาก รัชกาลที่ 3 ผนวชที่วัดนี้โดยมีสังฆราชสุก ไก่เถื่อนเป็นพระอุปัชฌาย์ แถวนี้ยังมีชุมชนมุสลิมมาตั้งแต่สมัยอยุธยา มีมัสยิดบางหลวง กุฎีเจริญพาสน์ มัสยิดต้นสน เป็นพื้นที่ของความหลากหลายทางวัฒนธรรม”

สองกุมารสยาม ผู้ผ่านพัฒนาการการคมนาคมไทยตั้งแต่ยุคเรือพายถึงรถไฟฟ้าใต้ดินยังหยิบยกข้อความจากนิราศยี่สารของ กศร.กุหลาบ เพื่อยืนยันถึงความงดงามในความหลากหลายในชาติพันธุ์ ศาสนาและภาษาที่หลอมรวมเป็น “คนฝั่งธน” ในวันนี้ ความตอนหนึ่งว่า

“ท้ายวัดหงส์พวกวงศ์ชวาอยู่ เป็นหมู่ๆ ต่างชาติต่างศาสนา

ตั้งบ้านเรือนแออัดสร้างวัดวา มีศาลาเรียกสุเหร่าเข้ากระฎี”

งดงามอย่างมีความหมาย “สถานีวัดมังกร” มุมมองจากบันได้เลื่อนให้ภาพคล้ายท้องมังกรที่เลื้อยพาด ผนังสีแดงสดอันเป็นสีแห่งความสิริมงคล ประดับสีทองและลวดลายประแจจีน พร้อมด้วยกระเบื้องลายมังกร และดอกบัว สื่อถึงชื่อวัดเล่งเน่ยยี่

เปิดมิติประวัติศาสตร์ ‘สถานีวัดมังกร’
พิสูจน์ ‘ไชน่าทาวน์’ที่ไม่ได้มีแค่ชาวจีน

อีกหนึ่งสถานีสำคัญที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ถูกกล่าวถึงอย่างมากมายในวินาทีนี้ คือ “สถานีวัดมังกร” ย่านเยาวราชซึ่งถึงคิว รศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ มารับไม้ต่อเล่าประวัติศาสตร์อีกครั้ง โดยมีประเด็นน่าสนใจที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง

“สำเพ็ง เยาวราช เจริญกรุง ไม่ได้มีแค่ชาวจีน แต่มีความหลากหลายของผู้คนและวัฒนธรรมสูงมาก เพราะเจริญกรุงเป็นที่อาศัยของฝรั่งนานาชาติที่มาตั้งสถานกงสุลเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ชาวญวนจากเวียดนามก็มาอยู่ ฝรั่ง จีน ไทย แขก ผสมผสาน ถนนสายนี้ตัดสมัยรัชกาลที่ 4 เดิมไม่มีชื่อ แต่เรียกว่านิวโรด ต่อมาพระราชทานนามว่าเจริญกรุง ถนนเส้นนี้ทำให้การสัญจรสะดวก พัฒนาเป็นย่านการค้า มีการสร้างตึกแถวสมัยใหม่แบบจีนผสมฝรั่ง คนไทยรู้จักในนามชิโนโปรตุกีส มีสร้างวัดเล่งเน่ยยี่ในต้นรัชกาลที่ 5 เมื่อปี 2414 และมีวัดไทยที่สำคัญ คือวัดคณิกาผล วัดกันมาตุยาราม เป็นต้น ส่วนถนนเยาวราช ตัดในปี 2433 ต่อมา ในปี 2450 มีถนน ซอกซอยมากขึ้น สำคัญคือถนนพลับพลาไชย ถนนแปลงนาม ซึ่งเดิมเรียกว่าตรอกป่าช้าหมาเน่า เพราะเป็นที่ทิ้งขยะ กลิ่นเหม็นมาก นี่คือสิ่งที่แสดงประวัติศาสตร์สังคมชาวจีนและหลายชาติ”

สถานีวัดมังกร ตั้งอยู่ในย่านเก่าแก่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมสูง ไม่เพียงชาวจีนอย่างที่มักเข้าใจกัน

เมื่อการมาของ ‘สถานี’ นำไปสู่การค้นคว้ารากเหง้า ‘ชุมชนเจริญไชย’

ประเด็นน่าสนใจไม่กล่าวถึงไม่ได้ คือการมาถึงของโครงการสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งทำให้ผู้คนในย่านประวัติศาสตร์หันมาสนใจค้นคว้ารากเหง้าของตัวเอง

“ชุมชนสำคัญที่มาพร้อมวัดมังกรคือชุมชนเจริญไชย ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีว่ามีการศึกษาประวัติศาสตร์ตัวเองในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา จนมีภาพชัดเจนมากขึ้น การมาของแนวรถฟ้าใต้ดินนี้ ด้านหนึ่งในช่วงแรกนำมาซึ่งความตกใจว่าจะได้รับผลกระทบ แต่ในอีกทางหนึ่ง ทำให้คนกลับไปค้นหาประวัติศาสตร์ของตัวเอง เพื่อทำให้ชุมชนคงอยู่ได้ในพื้นที่ภายใต้การพัฒนาสมัยใหม่”กล่าวจบ มุ่งหน้า “สถานีสามยอด” ซึ่ง รศ.ดร.ชาตรีชี้เป้าว่าตัวสถานีมีตำแหน่งอยู่ในเขตกำแพงเมือง โดยเป็นจุดสำคัญในบริเวณที่เรียกว่า “ประตูสามยอด”

เสน่ห์ตึกย้อนยุคที่เข้าภูมิทัศน์ ถูกนำมาใช้ในการก่อสร้าง “สถานีสามยอด” ไม่เว้นแม้ซุ้มจำหน่ายบัตรโดยสารแบบวงโค้งที่ดูอ่อนหวาน


“ตรงนี้เป็นประตูเมืองที่สำคัญมากของกรุงเทพฯ เพราะสัมพันธ์กับย่านต่างๆ อาทิ สำเพ็ง เยาวราช และที่พักทูตฝรั่ง ริมถนนเจริญกรุง เดิมในสมัยรัชกาลที่ 1 มีกำแพงเป็นไม้ ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 3 เปลี่ยนเป็นประตูหอรบ ต่อมา รัชกาลที่ 5 ให้ทำเป็นประตูแบบยอด เดิมมียอดเดียว พอปลายรัชกาล มีการขยายถนนเจริญกรุงเลยขยายเป็นประตู 3 ช่อง โดย 2 ประตูให้รถวิ่ง อีกประตูหนึ่งให้รถรางวิ่ง แล้วทำเป็น 3 ยอด ปัจจุบันถูกรื้อไปแล้ว แต่ชื่อยังติดเป็นประวัติศาสตร์ของพื้นที่มาถึงทุกวันนี้”

ความรุ่งเรืองในอดีตของย่านนี้ ไม่ใช่ธรรมดา ทว่าเทียบชั้นสีลม สาทรในยุคนี้ โดยมากมายไปด้วย โรงหวย โรงบ่อน โรงน้ำชา

“ช่วง พ.ศ.2450 แถวสามยอดเป็นย่านขึ้นชื่อ ด้วยมูลค่าทางเศรษฐกิจของโรงหวย โรงบ่อนโรงน้ำชา และการค้าที่พีคสุด จึงถูกยกเป็นอำเภอหนึ่งเลย มีมูลค่าสูงมาก เป็นส่วนที่เชื่อมระหว่างพระนครชั้นใน กับเจริญกรุงที่จะต่อไปเยาวราช ต่อมา ในช่วง พ.ศ.2475 ยังเป็นย่านสำคัญ มีการสร้างโรงหนังเฉลิมกรุง เปลี่ยนเป็นย่านบันเทิงสมัยใหม่”

นับได้ว่า “สถานีสามยอด” แทรกตัวอยู่ในย่านประวัติศาสตร์ที่มีการซ้อนทับหลายชั้นตลอด 200 กว่าปีที่ผ่านพ้น

เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการเดินทางยุคใหม่ที่คู่ขนานไปกับภาพประวัติศาสตร์สังคมทุกช่วงชั้น ตั้งแต่เจ้านาย ไพร่ฟ้า สามัญชนคนธรรมดา ผู้เป็นส่วนหนึ่งของความเป็น “กรุงเทพมหานคร” ในศตวรรษที่ 21


QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image